ปรุงชีวิต ให้สุข ประวัติ (ศาสตร์) การค้า สามัญชน ผ่านความทรงจำ ‘คุณแม่บุญเรือน คิดชอบ’

เปิดร้าน ‘บุญศิริ’ ก่อนขยายสาขาจนมีฐานะมั่นคง

‘การบันทึกถึงเรื่องราวของคุณแม่บุญเรือนจึงประหนึ่งการยกกล้องเล็งไปที่ใบไม้ใบหนึ่งแล้วบันทึกภาพเอาไว้ คนทั้งหลายย่อมเข้าใจได้ว่าใบไม้นั้นมิได้ลอยอยู่ในอากาศ แต่มีก้าน กิ่ง และลำต้นของไม้นั้นช่วยยึดโยงเอาไว้ มีใบไม้อื่นๆ อีกมากมายระดะดื่นอยู่บนต้น เหมือนเรื่องราวของคุณแม่บุญเรือนที่มิได้ลอยอยู่อย่างเอกเทศ แต่มีฉากเหตุการณ์ในสังคมร่วมอยู่ด้วย’

กับคุณพ่อสำเริง คู่ชีวิตพร้อมด้วยลูกๆ ซึ่งทั้งคู่สนับสนุนการศึกษาเป็นอย่างดีทั้ง 5 คน

คือข้อความตอนหนึ่งในส่วน ‘เปิดเล่ม’ โดย วีระพงศ์ มีสถาน นักวิชาการสถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย มหาวิทยาลัยมหิดล ผู้รับฟังและเรียบเรียงเรื่องราวชีวิตของ บุญเรือน คิดชอบ สตรีสามัญชนผู้ผ่านชีวิตมาถึงปีที่ 91 ดุจไม้ใหญ่แผ่กิ่งก้านสาขามั่นคง เป็นร่มเงาให้ลูกหลาน โดยมีประวัติศาสตร์สังคมโลดแล่นเป็นฉากหลังอันตื่นตา บนความเปลี่ยนแปลง และก้าวผ่านในแต่ละห้วงเวลาสู่ความร่วมสมัย นับแต่เมืองหลวงของไทยยังชื่อบางกอก เมื่อครั้งไทยแลนด์ ยังถูกเรียกขานจากโลกว่าสยาม

ถ่ายทอดลงในปึกกระดาษ 236 หน้า ในชื่อ ‘ปรุงชีวิต ให้สุข’ พ็อกเก็ตบุ๊กที่บอกเล่าเรื่องราวของคุณแม่บุญเรือน มารดาของลูกๆ ทั้ง 5 คน ที่ประสบความสำเร็จในชีวิตและหน้าที่การงาน ‘ซีอีโอ’ ของครอบครัว นักธุรกิจหญิงผู้มุมานะโดยเริ่มต้นจากแผงค้า ‘แบกะดิน’ ณ ท้องสนามหลวง จนถึงตลาดโบ๊เบ๊ กระทั่งเข้าสู่ยุคบุกเบิกการค้าในย่านสยามสแควร์

นับเป็นความทรงจำอันล้ำค่าทุกตัวอักษร ผ่านการกลั่นกรอง ปะติดปะต่อเรื่องเล่า ค้นคว้าประวัติศาสตร์ในช่วงเวลาเดียวกันมาช่วยแต่งเติมภาพชีวิตครั้งเก่าให้ฉายภาพชัดเจนยิ่งขึ้น รวมถึงนำภาพถ่ายเก่าจากหอจดหมายเหตุแห่งชาติและแหล่งอื่นๆ มาประกอบอย่างน่าสนใจ

Advertisement
เปิดร้าน ‘บุญศิริ’ ก่อนขยายสาขาจนมีฐานะมั่นคง

‘…ไม่รู้จักความกลัว’

ประจักษ์พยานจากสยามเป็นไทยและภัยสงครามโลก

คุณแม่บุญเรือนเกิดเมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2473 ที่พระนครจำความได้ก็มีบ้านอยู่ในย่านวัดหัวลำโพง สามย่าน หากนำแผนที่ปัจจุบันมาซ้อนทับ คือบริเวณจามจุรีสแควร์ มารดานามว่า บุญไทยเป็นชาวแปดริ้ว บิดา นามว่า ‘จีนย้ง’ หรือ เถ้าแก่ย้ง ทำกิจการโรงฟอกหนัง

Advertisement

ต่อมา ย้ายไปอยู่ย่านคลองเตย ในเรือนคหบดี 2 ชั้นสร้างด้วยไม้ทั้งหลัง หน้าต่าง 2 ชั้นเป็นบานกระทุ้ง ตั้งอยู่ใกล้โรงฟอก
หนัง มีเรือนพักของคนงานชาวจีนอยู่ไม่ไกล มีลักษณะเป็นโรงเรือนขนาดใหญ่ สูง มุงด้วยตับจาก มีบ่อซีเมนต์สำหรับหมักหนัง ยุคนั้น คนงาน
เป็นคนจีน ผลผลิตจากโรงฟอกหนังจะถูกนำไปส่งหรือขายต่อที่ร้านย่านเยาวราช

“มีร้านรับซื้ออยู่ที่เยาวราช ร้านนี้เขาทำกระเป๋า ทำรองเท้า ภาษาจีน เขาเรียกว่า จั่น แปลว่าห้างขายหนัง จะเป็นแผ่นๆ” คุณแม่บุญเรือนย้อนเล่าถึงประวัติศาสตร์ความทรงจำที่ยาวนานหลายทศวรรษได้อย่างแม่นยำ

ชีวิตวัยเด็กจวบจนวัยรุ่น คุณแม่บุญเรือนให้นิยามตัวเองว่า ‘ซน’ ชอบเดินทางไปไหนต่อไหนคนเดียว ทั้งด้วยรถราง รถไฟสายปากน้ำ ค่าโดยสาร ‘ตังค์สองตังค์’ เรียนชั้นประถมที่โรงเรียนศรีอักษร ใกล้สะพานดำ ย่านคลองเตย ต่อมา เข้าเรียนที่โรงรียนพระหฤทัยคอนแวนต์

พ.ศ.2482 ในช่วงวัยเด็กตอนปลาย ย่างเข้าสู่วัยรุ่น รัฐบาลเปลี่ยนชื่อทางการของประเทศ จาก ‘สยาม’ เป็นประเทศไทย ในยุคจอมพล ป.พิบูลสงคราม

ต่อมา เกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 ชาวบางกอกขุดหลุมหลบภัย เช่นเดียวกับครอบครัวคุณแม่บุญเรือน มีการขุดหลุมใกล้บ้านย่านคลองเตย แต่แม่บุญเรือนไม่ยอมเข้า ในคืนที่ทางการประกาศว่าจะมีเครื่องบินบี 29 บรรทุกระเบิดมาทิ้ง แม่บุญเรือนและมารดากลับนำเสื่อมาปูนอน

“…นอนปูเสื่อ หนุนหมอน นอนดูไฟฉายเต็มท้องฟ้าเลย…ไม่รู้จักความกลัว”

อย่างไรก็ตาม หลังจากนั้น เถ้าแก่ย้งพาครอบครัวและคนงานบางส่วนลงเรือกระแชงอพยพไปอยู่คลองสวน เมืองแปดริ้วเพราะรถไฟและหัวรถจักรเสียหายจากระเบิด

คุณแม่บุญเรือนจึงได้รู้ถึงเรื่องราวเปี่ยมสีสันอย่างการหุงหาข้าวปลาเลี้ยงโจร จนเปลี่ยนใจไม่ปล้น โดยป้าสะใภ้ของแม่บุญไทย ผู้เป็นมารดา

“อันนี้เป็นตำนานของครอบครัว….ป้าอยู่แถวเทพราช ที่จะเข้าคลอง คลองขุนพิทักษ์ ท่าถั่ว ท่าถั่วที่ถัดไปจากคลองสวน…..สมัยนั้น เข้าใจว่า (โจร) คงจะมีหลายคน ที่เวลาปล้น (จะตะโกนว่า) ไอ้เสือ เอาวา”

คุณแม่บุญเรือนขายสินค้าในตลาดโบ๊เบ๊ อย่างขันแข็ง มีความคิดสร้างสรรค์และกล้าทดลองทำ

ฉายภาพการค้า แผงขายผ้าสนามหลวง-โบ๊เบ๊

เมื่อแรกลองตัด ‘เสื้อยกทรง’

จากช่วงต้นของชีวิต มาสู่วัยรุ่น หนังสือเล่มนี้ ได้พาผู้อ่านมาถึงจุดเปลี่ยนสำคัญของชีวิตสตรีสามัญชนผู้นี้ นั่นคือการได้พบชายคนหนึ่งนามว่า ‘สำเริง’

“เค้าเป็นคนตลก”

คือนิยามจากห้วงคิดคำนึงของคุณแม่บุญเรือน เมื่อเอ่ยถึงคู่ชีวิต คือ ‘คุณพ่อสำเริง’ ผู้มีพื้นเพเดิมอยู่ที่ปากน้ำโพ นครสวรรค์ มีเสน่ห์ด้วยมนุษยสัมพันธ์ และความสามารถทางดนตรีอย่างน่าอัศจรรย์ เมื่อแต่งงานแล้ว ช่วยกันทำกิจการค้าขายผ้า เช่าห้องแถวในซอยวัดบรมนิวาส ตอนกำลังเริ่มขยายกิจการ คุณแม่บุญเรือนนั่งร้านแผงขายที่ตลาดโบ๊เบ๊ คุณพ่อสำเริงช่วยขายโดยนำห่อผ้าโดยสารจากหัวลำโพงไปขายที่อยุธยา

เมื่อ พ.ศ.2492 เมื่อมีลูกคนแรกแล้ว ก็ตามแม่สามีไปเฝ้าร้านแบกะดินขายผ้าที่ตลาดนัดสนามหลวง

“ส่วนมากจะเป็นผ้าถุง ผ้าขาวม้า ใส่สามล้อถีบ สมัยนั้นยังไม่มีสามล้อเครื่อง”

คุณแม่บุญเรือนยังบอกเล่าถึงบรรยากาศการขายผ่านย่านโบ๊เบ๊ในสมัยยังสาวอย่างเห็นภาพ กลายเป็นบันทึกประวัติศาสตร์สังคมที่ชวนให้เรียนรู้

“เริ่มแรก ซื้อผ้ามาเป็นพับๆ แล้วก็จะมาขึง แล้วก็มีมีด (ใช้ตัว) หนีบ หนีบแล้วก็จะมีเตียง เตียงตัดผ้าซึ่งทำเอง สมัยนั้นไม่ได้ซื้อ เตียง……”

วีระพงศ์ ยังนำข้อมูลทางประวัติศาสตร์มาประกอบสร้าง ช่วยให้เรื่องเล่าเหล่านี้ปรากฏภาพชัดขึ้นในไทม์ไลน์ประวัติศาสตร์ โดยย่านโบ๊เบ๊นี้ มีข้อสันนิษฐานว่า เกิดจากชาวจีนอพยพเข้ามาในเมืองสยาม เข้ามารับจ้างขายแรงงานขุดคลองผดุงกรุงเกษมในสมัยรัชกาลที่ 4 โดยก่อนหน้านั้น ก็มีการขุดคลองแสนแสบในรัชกาลก่อนหน้าโดยแรงงานส่วนใหญ่ก็เป็นชาวจีนเช่นกัน

จากบันทึกและเอกสารโบราณ บ่งชี้ว่าตลาดโบ๊เบ๊ น่าจะมีผู้คนคึกคักมาตั้งแต่ก่อน พ.ศ.2489 คลาคล่ำด้วยพ่อค้าแม่ค้าที่นำข้าวของเครื่องใช้โดยเฉพาะเสื้อผ้ามาขายบริเวณริมคลองผดุงกรุงเกษมตัดกับคลองมหานครเรื่อยไปถึงสะพานยศเส

คุณแม่บุญเรือนที่ออกเรือนมาอยู่บ้านเช่าซอยวัดบรมนิวาสกับครอบครัวฝ่ายสามี เมื่อราวปี 2491 ได้เห็นพัฒนาการของตลาดโบ๊เบ๊เรื่อยมา ทั้งยังเป็นหนึ่งบุคคลที่โลดแล่นในไทม์ไลน์ประวัติศาสตร์การค้า โดยเป็นหนึ่งใน ‘สังคมชาวตลาด’ เมื่อปี 2495 เนื่องจากขยับจากการขายผ้าแบกะดินที่ตลาดนัดสนามหลวงสู่การขายเสื้อผ้าซึ่งนอกจากรับจากแหล่งค้าส่งแล้ว ยังผลิตเองด้วยการสังเกต ครูพักลักจำ แล้วทดลองทำขึ้นมา

“…แม่ซนไง ชอบเรียนรู้ ชอบอะไร ตัวเองไม่เคยเรียนทางด้านนี้เลย คิดเลย แบบเสื้อชั้นใน แล้วก็มาทดลอง ทดลองตัดลองเย็บ ทดลองด้วยตัวเอง เสื้อยกทรง (กลั้วหัวเราะ) ออกมาทรงแหลมเปี๊ยวเลย (หัวเราะขำมาก)….”

จับกระแสแฟชั่น จาก ‘บุญศิริ’ ถึง ‘ท็อต’ ยุคบุกเบิกสยามแสควร์

การค้าขายเสื้อผ้าในตลาดโบ๊เบ๊ช่วงหลังสงครามและก่อนปี พ.ศ.2510 เป็นเวลาทองของการค้า นับว่าเป็นช่วงรุ่งเรืองเฟื่องฟูอย่างรวดเร็ว ถึงแม้จะมีร้านค้าจำนวนมาก แต่ด้วยความคิดแปลก ทำแตกต่าง สินค้าของคุณแม่บุญเรือนจึงขายดีมากเป็นพิเศษ

จากการเช่าแผงขายแบบแบกะดิน ไม่นานก็สามารถมีร้านห้องแถวเป็นของตัวเองได้ โดยร้านแรกอยู่บริเวณสะพาน 2 ข้ามคลองผดุงกรุงเกษม ต่อมาก็สามารถเซ้งและซื้อร้านอีก 2 คูหาที่สะพาน 4 ตั้งชื่อร้าน ‘บุญศิริ’ จากคำต้นของชื่อ บุญเรือน ส่วนศิริ เน้นให้จดจำได้ง่าย

“ตอนนั้นก็….เราค้าขายกับคนต่างจังหวัด แม่ก็เลยคิดตั้งชื่อ แม่ชื่อบุญเรือน ก็ให้คนต่างจังหวัดเขาจำได้ ก็เลยชื่อบุญศิริ”

คราวเปิดร้านบุญศิริ เป็นงานใหญ่ในตลาดโบ๊เบ๊ในยุคนั้น รวมถึงในวงการค้าผ้า ช่วงเช้าทำพิธีเปิดร้าน ทำบุญเลี้ยงพระ ตกเย็นฉลองที่ ‘ศาลาไคเซ็คชนม์’ สถานที่ออกหน้าออกตาแห่งยุคสมัย แขกเหรื่อ ญาติพี่น้อง ลูกค้าเครือข่ายต่างร่วมยินดี เป็นงานที่ถูกกล่าวขวัญ ชวนให้ลองหลับตาจินตนาการย้อนคืนวันแห่งความสุข

กิจการของร้านบุญศิริ เติบใหญ่ขึ้นตามลำดับ เมื่อลูกๆ ทยอยเข้าเป็นนิสิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คุณแม่บุญเรือนก็ขยายกิจการจากโบ๊เบ๊ บุก (เบิก) ตลาดสยามสแควร์ ตั้งชื่อร้านเป็นภาษาอังกฤษว่า TOT (ท็อต) แปลว่า เด็ก ต่างจากบุญศิริ ที่มีกลุ่มเป้าหมายหลักอยู่ที่เสื้อผ้าผู้ใหญ่ต่างจังหวัด โดยมีน้องสาวคู่บุญ นามว่า ‘เบญจางค์’ หรือยายจางค์ของหลานๆ ร่วมเป็นดีไซเนอร์ เน้นเสื้อผ้าเด็ก ต่อมา ยังสั่งซื้อของใช้เด็กอ่อนและของเล่นเด็กยี่ห้อดังจากเมืองนอกมาขายด้วย

ย่านดังกล่าวสะท้อนแฟชั่นจากต่างประเทศมาตั้งแต่ช่วงต้น พ.ศ.2500 คุณแม่บุญเรือนเห็นกระแสนี้มาตลอด และนับเป็นผู้ทำธุรกิจรุ่นแรกของสยามแสควร์ มีการใช้กลยุทธ์ส่งเสริมการขาย ทั้งคุณแม่บุญเรือนและคุณพ่อสำเริงจ้างทำโฆษณาร้านท็อตทางทีวี ทำถุงสินค้าโดยมีโลโก้ร้าน ซึ่งวิธีนี้เคยทำมาตั้งแต่ตอนอยู่โบ๊เบ๊

ไม่เพียงเท่านั้น คุณแม่ยังเป็นนักเล่นหุ้น ตั้งแต่ยุคแรกๆ ที่มีการซื้อขายหุ้นในประเทศไทย ครั้งยังไม่มีตลาดหุ้น หรือตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยซึ่งเพิ่งก่อตั้งใน พ.ศ.2517

คุณแม่บุญเรือนนุ่งผ้าถุงไปซื้อหุ้นที่ธนาคาร คนในตลาดโบ๊เบ๊ระแคะระคาย

“แล้วมีคนที่ตลาดโบ๊เบ๊ไปแอบถ่ายรูปแม่ไปเล่นหุ้น (หัวเราะ)” ทั้งยังเล่าว่า “แม่ซื้อขายครั้งละไม่น้อย ใจกล้ามาก….แต่เวลาแม่เลิก แม่จะตัดฉับเลยนะ…”

ด้วยความมุมานะพยายาม ความขยันทำงานหามรุ่งหามค่ำถึงขนาดปักผ้าจนเป็นลม จนถึงความคิดสร้างสรรค์ คิดต่าง กล้าทดลองทำสิ่งใหม่ๆ ไม่ใช่บุญวาสนาหรือโชคชะตาใดๆ ที่นำความสำเร็จมาให้ หากแต่มาจากความสามารถ และน้ำพักน้ำแรงของหญิงสามัญชนโดยแท้

มาถึงบรรทัดนี้ ไม่อาจปฏิเสธได้ว่า ความทรงจำของคุณแม่บุญเรือนคือคำให้การประวัติศาสตร์สังคม การค้า และเรื่องราวของสามัญชนคนธรรมดาที่มักถูกหลงลืมจากประวัติศาสตร์กระแสหลักทั้งที่เป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนสังคมไทยตั้งแต่อดีตจนถึงวันนี้

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image