อธิบดีกรมพลศึกษา นิวัตน์ ลิ้มสุขนิรันดร์ เปิดแผนคืนพื้นที่จุฬาฯ ปักหมุดที่ใหม่ ‘บางปิ้ง’

ยืดเยื้อมาเป็นระยะเวลายาวนาน สำหรับการปฏิบัติการขอคืนพื้นที่เช่ากว่า 100 ไร่ ใจกลางเมือง แขวงวังใหม่ เขตปทุมวัน ที่ตั้ง “สนามกีฬาแห่งชาติ” และ “กรมพลศึกษา”

ระหว่างสำนักงานจัดการทรัพย์สิน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (PMCU) เจ้าของที่ดินให้กรมพลศึกษาเช่าตั้งแต่ปี 2478

เมื่อเจ้าของอยากได้พื้นที่ “พัฒนา” ขณะที่ผู้เช่า “อยากอยู่ตลอดกาล” จึงกลายเป็นปมถกกันไม่จบสรุปสุดท้ายจะย้ายเมื่อไหร่ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา

นับจากสัญญาสิ้นสุดเมื่อวันที่ 30 กันยายน 2555

Advertisement

ผนวกกับสำนักงานจัดการทรัพย์สินจุฬาฯ ขอขึ้นค่าเช่าจาก 3.3 ล้านบาทต่อปี เป็น 153 ล้านบาทต่อปี ทำให้การเจรจาต่อรองสัญญาไร้ข้อยุติ นำไปสู่การต่อสัญญาชั่วคราวแบบปีต่อปี

โดยสำนักงานจัดการทรัพย์สินจุฬาฯ มองว่า “กรมพลศึกษา” ยังใช้ประโยชน์พื้นที่ยังไม่เต็มประสิทธิภาพ จึงขอพื้นที่คืน เพื่อนำไปพัฒนาตามผังแม่บท แต่ยังคำนึงถึงประโยชน์ต่อสังคมเป็นหลัก

จะพัฒนาให้เป็นพื้นที่สาธารณะที่สังคมสามารถใช้ประโยชน์ร่วมกัน เป็นแหล่งออกกำลังกายใจกลางเมืองที่มีความทันสมัย พร้อมยกระดับ “สนามศุภชลาศัย” ให้ได้มาตรฐานระดับโลก ส่วนพื้นที่อื่นจะพัฒนาเป็นพื้นที่จัดกิจกรรม เช่น คอนเสิร์ตฮอลล์ เวิร์กช็อป

Advertisement

จึงเป็นจุดเริ่มต้นการทำแผนคืนพื้นที่ร่วมกันเมื่อปี 2557 และเริ่มมีการขอคืนมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2559 เริ่มจากสนามเทนนิส อาคารจันทนยิ่งยง ลานอเนกประสงค์ สนามฟุตบอลจินดารักษ์ หอพักนักศึกษา ล่าสุดสนามเทพหัสดิน

ในปี 2564 ต้องคืนพื้นที่ลานอเนกประสงค์หน้าอาคารนิมิบุตรและอาคารนิมิบุตร และในปี 2565 จะต้องคืนพื้นที่สนามศุภชลาศัย

แต่ด้วยความไม่พร้อมและข้อจำกัดด้านงบประมาณ ที่ผ่านมา “กรมพลศึกษา” พยายามต่อรองขอขยายเวลาส่งมอบพื้นที่ออกไปอีกจากเดดไลน์วันที่ 1 ตุลาคม 2565

ล่าสุด “นิวัตน์ ลิ้มสุขนิรันดร์” อธิบดีกรมพลศึกษาคนที่ 30 รับไม้ต่อภารกิจ เดินหน้าเจรจาสำนักงานจัดการทรัพย์สินจุฬาฯ ขอต่อเวลา และหาพื้นที่ปักหมุดบ้านหลังใหม่ มั่นใจสิ้นปีนี้มีความชัดเจน

•ความคืบหน้าการคืนพื้นที่ให้สำนักงานจัดการทรัพย์สินจุฬาฯ?

ปัจจุบันสำนักงานจัดการทรัพย์สินจุฬาฯให้กรมเช่าเป็นปีต่อปี ที่ผ่านมาก็พยายามขอพื้นที่คืน กรมก็ต่อรอง ครั้งแรกจะขอคืนทั้งหมด จากนั้นมีข้อตกลงคืนปีละแปลง หลังหมดสัญญาวันที่ 30 กันยายนของทุกปี เช่น วันที่ 1 ตุลาคม 2562 คืนสนามเทพหัสดิน วันที่ 1 ตุลาคม 2563 คืนสระว่ายน้ำ วันที่ 1 ตุลาคม 2564 ขอคืนอาคารนิมิบุตร และคืนทั้งหมดวันที่ 1 ตุลาคม 2565

ปัจจุบันอาคารนิมิบุตรปรับเป็นศูนย์แรกรับและส่งต่อ หลังปิดบริการแล้ว สำนักงานจัดการทรัพย์สินจุฬาฯ จะขอคืนพื้นที่เลย ผมบอกว่ายังไงก็ไม่ได้ กรมยังมีพันธกิจที่ต้องปฏิบัติ ถ้าไม่เช่นนั้นจะทำพันธกิจต่างๆ ไม่ได้เลย ยังต่อรองอยู่จนถึงทุกวันนี้ว่ากรมยังจำเป็นต้องใช้พื้นที่จัดกิจกรรมอยู่ตามพันธกิจ

ถ้าคืนไปทั้งหมดจะไม่มีพื้นที่จัดกิจกรรมเลย ถูกตัดแขน ตัดขาไปหมด ทุกวันนี้ก็เหมือนแขนด้วนไปบางส่วนแล้ว ถ้าหากว่ากรมทำอย่างนั้น จะกลายเป็นว่ากรมไม่มองพันธกิจหน้าที่ตัวเอง แสดงว่าปล่อยไปตามยถากรรม ผมคงรับไม่ได้ ผมเลยบอกว่าขอเวลาอีกนิดหนึ่ง

ผมเป็นลูกหม้อกรมมากว่า 30 ปี ประเมินแล้วถ้าคืนตามข้อตกลงเดิม สิ่งต่างๆ ที่คืนไปในหลายๆ ครั้งที่บอกว่ากรมสามารถเข้าไปใช้ได้ แต่จริงๆ มีประเด็นปัญหาที่ไม่สามารถขอใช้ได้ ถ้าขอใช้ต้องจ่ายค่าใช้สาธารณูปโภค ซึ่งกรมไม่สามารถจะไปตั้งค่าเช่าเป็นรายครั้งที่ไปใช้ได้ เพราะไม่ใช่เอกชน

สำหรับพื้นที่ส่งคืนไปแล้วก่อนหน้านี้ ยังไม่มีพัฒนาอะไรเป็นรูปธรรมชัดเจน อย่างอาคารจันทนยิ่งยง ขอคืนไปตั้งแต่ 2555 ถึงวันนี้ยังไม่ได้ทำอะไร จะขอคืนทีละแปลงไม่มีประโยชน์ เพราะสำนักงานจัดการทรัพย์สินจุฬาฯ มีแผนจะพัฒนาเป็นทั้งแปลง ในอดีตเคยขอคืนทั้งหมด แต่ไม่ได้เลยปรับขอคืนทีละแปลง

ขณะเดียวกันยังมีประเด็นเรื่องที่มีคนทูลเกล้าฯถวายฎีกาไม่ให้คืนพื้นที่ให้สำนักงานจัดการทรัพย์สินจุฬาฯ เนื่องจากอยู่กับกรมยังเข้ามาใช้พื้นที่ได้ ไม่เสียค่าใช้จ่าย ก่อนหน้านี้ทางกรรมาธิการด้านกีฬาสภาผู้แทนราษฎร ได้มีการประชุมหารือและให้ทั้งหมดมาเจรจาตกลงกัน

•ที่ผ่านมาได้มีการเจรจากันบ้างหรือยัง?

หลังผมมารับตำแหน่งได้เข้าไปพบท่านอธิการบดี รองอธิการบดี และคณะกรรมการสำนักงานจัดการทรัพย์สินจุฬาฯ ขอเจรจาเช่าพื้นที่ต่อไปก่อน จนกว่าจะหาพื้นที่ใหม่ได้ และช่วงนี้เกิดสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ประกอบกับกรมยังไม่ได้รับจัดสรรงบประมาณที่เสนอขอไปเพื่อทำการย้ายไปยังพื้นที่ใหม่ และกรมยังมีความจำเป็นต้องใช้พื้นที่ในการจัดกิจกรรมสำหรับเด็ก เยาวชนและประชาชนทั่วไป

จึงขอความกรุณาสำนักงานจัดการทรัพย์สินจุฬาฯ ในส่วนของพื้นที่ที่คืนไปแล้ว ก็ไม่ไปขอคืน แต่ที่ยังเหลืออยู่ มีสนามศุภชลาศัย สระว่ายน้ำวิสุทธารมณ์ อาคารนิมิบุตร สนามวอร์ม 200 เมตร ขอเช่าต่อไปก่อน ภายใต้สถานการณ์ความจำเป็น สถานการณ์ปัจจุบัน ก็ขอความเห็นใจ จริงๆ ไม่ได้บอกว่าเราดื้อแพ่ง จากเดิมมีข้อตกลงไว้ว่าจะต้องส่งคืนพื้นที่ให้ทุกปีจนครบในปี 2565 เพราะสำนักงานจัดการทรัพย์สินจุฬาฯ มีแผนจะพัฒนาแต่ในสถานการณ์โควิดแบบนี้ก็ยังพัฒนาอะไรไม่ได้เช่นกัน

•กรมได้พื้นที่ใหม่ที่จะย้ายไปแล้วหรือยัง?

แผนเดิมจะย้ายไปที่สนามกีฬาเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ 60 พรรษา คลองหก อ.ธัญบุรี จ.ปทุมธานี ที่เหมาะสำหรับเป็นสนามแข่งขัน ฝึกซ้อม ศูนย์ฝึกอบรม หน่วยย่อย ไม่ได้สร้างมารองรับสำหรับการใช้เป็นสนามกีฬาแห่งชาติแห่งใหม่ และปัจจุบันยังไม่มีสนามกีฬาหลัก

หากย้ายไปที่ใหม่ มีปัญหาอาคารสำนักงานที่ใช้ปฏิบัติงานของบุคลากร การเดินทาง สิ่งอำนวยความสะดวก ก่อนที่ผมจะมาทางอธิบดีหลายๆ ท่านก็ได้มีการทดลอง ถ้าย้ายไปอยู่ธัญบุรีแล้วจะเป็นยังไง พบว่ายังมีปัญหาการเดินทางและไม่ตอบโจทย์การเป็นสถานที่ปฏิบัติราชการ ตอนนี้ผมกำลังหาพื้นที่ใหม่ ล่าสุดอยู่ระหว่างเจรจากับกรมธนารักษ์ว่ามีพื้นที่ไหนที่เดินทางได้สะดวก มีทางด่วนและรถไฟฟ้าสามารถเดินทางเข้าไปได้

•มองไว้พื้นที่ไหนและมีแนวโน้มที่กรมธนารักษ์จะให้ใช้ประโยชน์หรือไม่

กรมจะขอใช้ที่ราชพัสดุตรงบางปิ้ง จ.สมุทรปราการ มีอยู่ประมาณ 1,200 ไร่ กรมขอใช้พื้นที่ประมาณ 500-600 ไร่ กำลังเร่งเจรจากับอธิบดีกรมธนารักษ์ (ยุทธนา หยิมการุณ) อย่างเต็มที่เพื่อให้ได้ข้อสรุปและเซ็นข้อตกลงร่วมกันภายใน 2-3 เดือนนี้

เมื่อได้พื้นที่แน่นอนแล้ว จากนั้นไม่เกินกลางปีหน้าจะเร่งทำแผนเพื่อขอนุมัติคณะรัฐมนตรี (ครม.)

เหตุผลที่ขอใช้พื้นที่บริเวณนี้ เพราะมีรถไฟฟ้าสายสีเขียว (แบริ่ง-สมุทรปราการ) วิ่งไปถึงแล้ว อีกทั้งกรมเคยไปดูพื้นที่และทำการศึกษามาครั้งหนึ่งแล้วเมื่อหลายปีที่ผ่านมา ขณะนั้นขอใช้พื้นที่ประมาณ 1,000 ไร่ ปัจจุบันพื้นที่ดังกล่าวยังไม่ได้ใช้ประโยชน์ จากเดิมเป็นพื้นที่ที่วิทยุการบินเคยขอใช้

และจังหวัดสมุทรปราการยังไม่มีสนามกีฬาหลัก กรมไปสร้าง ถ้าเป็นเจ้าภาพมหกรรมต่างๆ ด้านการคมนาคมก็สะดวกจากสนามบินสุวรรณภูมิสามารถเดินทางเข้ามาง่าย หรือจะไปชลบุรี พัทยาก็สะดวก เพราะมีโครงข่ายคมนาคมเชื่อมต่อการเดินทางได้เป็นอย่างดี

ปัจจุบันกำลังเร่งจัดทำผังพัฒนา ออกแบบการใช้งานต่างๆ อยากจะพัฒนาเป็นพื้นที่ outdoor เปิดโล่ง มีสนามกีฬากลางแจ้ง เน้นเรื่องสิ่งแวดล้อม พื้นที่สีเขียว เช่น สวนสาธารณะ

หากได้พื้นที่ในอนาคตผมจะเสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬาและรัฐบาลว่าต่อไปในการที่ประเทศไทย มีนโยบายจะเสนอตัวเป็นเจ้าภาพมหกรรมกีฬาใหญ่ๆ จะให้สร้างสนามกีฬาหลักมารองรับ และใช้ประโยชน์เป็นสนามกีฬาแห่งชาติสำหรับประเทศต่อไปในอนาคต ถ้ากรมดูแลจะทำได้ง่าย เพราะยังเป็นของราชการอยู่ หน่วยงานองค์กรกีฬา สมาคมกีฬาต่างๆ มาใช้จะมีความคล่องตัวสูง

จากการหารือในหลักการกับกรมธนารักษ์ มีแนวโน้มไปในแนวทางที่ดี ถ้าได้พื้นที่จะเป็นการร่วมมือระหว่างรัฐต่อรัฐ กรมจะได้ใช้ประโยชน์พื้นที่โดยไม่ต้องจ่ายค่าเช่า มีเฉพาะค่าก่อสร้าง เพราะกรมธนารักษ์จะจัดสรรพื้นที่ให้กับราชการไปใช้ประโยชน์ให้กับประชาชนอยู่แล้ว

•วางรูปแบบการพัฒนาไว้อย่างไรบ้าง?

ผมคิดไว้จะพัฒนาเป็นรูปแบบมิกซ์ยูส ใช้พื้นที่ผสมผสาน แบ่งออกเป็น 4 ส่วน ส่วนแรกเป็นระยะเร่งด่วนที่กรมต้องดำเนินการเอง ปรับปรุงดูแลระบบสาธารณูปโภค สร้างอาคาร ตั้งใจจะทำเป็นอาคารยิมเนเซียม เป็นลักษณะชาเลนเจอร์ ทำแล้วสามารถใช้ได้อเนกประสงค์ เป็นยิมขนาดใหญ่สามารถใช้ได้หลายๆ ยิม ถ้ามีมหกรรม งานจำเป็นจริงๆ สามารถเปิดโล่งได้ทั้งหมด นอกจากนี้จะมีชาเลนเจอร์คล้ายเมืองทองอีก 1 อาคารและสระว่ายน้ำ

ส่วนที่ 2 เป็นสนามกีฬาแห่งชาติ หรืออื่นๆ ตั้งใจว่าจะรอเข้าแผนที่ประเทศไทยเสนอตัวเป็นเจ้าภาพมหกรรมกีฬา ไม่ว่าจะเป็นเจ้าภาพเวิลด์คัพที่เสนอตัวร่วมกับอาเซียน ทางทีมงานกำลังศึกษาข้อมูลกันอยู่ หรือแนวคิดเสนอตัวเป็นเจ้าภาพจัดกีฬายูธโอลิมปิกเกมส์ ซึ่งเดิมเสนอที่พัทยา แต่มีคอมเมนต์ว่าอาจจะไม่เหมาะสำหรับเด็ก

ส่วนที่ 3 เป็นส่วนที่สมาคมกีฬายังไม่มีสถานที่จริงๆ มาสร้าง มาอยู่ มาใช้ประโยชน์ร่วมกัน เช่น กลุ่มกีฬาทางน้ำ อาจจะทำแผนของบประมาณจากการกีฬาแห่งประเทศไทย (กทท.) หรือสมาคมจัดหามาเอง

ส่วนสุดท้ายเป็นโครงการ PPP เปิดให้เอกชนเข้าร่วมลงทุน เช่น กรณีประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดมหกรรมกีฬาต่างๆ กรมอาจจะเจรจากรมธนารักษ์ว่าเราจะเปิด PPP ให้เอกชนมาลงทุนโรงแรมเพื่อรองรับการแข่งขัน เป็นต้น แทนที่กรมจะต้องไปสร้างเองทุกอย่างเพราะถ้าทำแบบนั้นต้องใช้งบประมาณจากรัฐอย่างเดียว และคงใช้งบประมาณเป็นหมื่นล้านบาท

•จะใช้ระยะเวลาดำเนินการกี่ปี?

ถ้าได้พื้นที่เฟสแรก ภายใน 7 ปีนี้กรมพร้อมส่งมอบพื้นที่คืนสำนักงานจัดการทรัพย์สินจุฬาฯได้ หลังพัฒนาเฟสแรกเสร็จจะย้ายไปเลย เพราะสามารถรองรับได้พอสมควรแล้ว ส่วนเฟส 2 ขึ้นอยู่กับประเทศไทยจะเสนอตัวอย่างไรในการเป็นเจ้าภาพจัดมหกรรมต่างๆ ต้องเป็นภาพรวมของประเทศจริงๆ

ส่วนเฟส 3 พื้นที่สมาคมต่างๆ เป็นตัวแทรกเข้ามา สามารถแทรกได้ตั้งแต่เฟสแรกและเฟสที่ 2 สุดท้ายเฟส 4 ผมมองว่าต้องขึ้นอยู่กับหลักการว่าประเทศไทยเป็นเจ้าภาพมหกรรมการแข่งขัน เราถึงจะเชิญชวนเอกชนมาร่วมลงทุนก่อสร้างและพัฒนาพื้นที่ เพราะเอกชนจะต้องมีการวิเคราะห์วิจัยว่าลงทุนไปแล้วจะคุ้มหรือไม่

คาดว่าแผนการพัฒนาจะเดินหน้าได้เร็ว ซึ่งกรมได้หารือกับบริษัท ธนารักษ์พัฒนาสินทรัพย์ จำกัด (ธพส.) บริษัทลูกของกรมธนารักษ์ มาบริหารจัดการโครงการให้ ซึ่งจะมีความคล่องตัวมากกว่า การลงทุนช่วงแรกไม่ต้องรองบประมาณ สามารถให้ ธพส.มาลงทุน เช่น สร้างอาคาร ถ้าใช้งบประมาณจากรัฐอาจจะใช้เวลา 2 ปี แต่ถ้า ธพส.มาดำเนินการ ไม่เกิน 1 ปีครึ่งก็แล้วเสร็จ

โดย ธพส.ได้รับสิทธิพิเศษในการพัฒนาพื้นที่ของกรมธนารักษ์ ส่วนราชการที่มาขอใช้ ถ้ามอบให้ ธพส. ดำเนินการ เมื่อมีข้อตกลงแล้วว่ารูปแบบเป็นแบบไหน ธพส.สามารถจ้างบริษัทออกแบบก่อสร้างได้เลย ซึ่งกรมเป็นส่วนราชการไม่ต้องมานั่งเปิดประมูลเอง ทาง ธพส.จะบริหารจัดการให้ทั้งหมด กรมมีหน้าที่เมื่อหลังก่อสร้างเสร็จ จะต้องขอจัดสรรงบประมาณจากรัฐ ผูกพันแต่ละปี มาผ่อนชำระคืน ธพส.

•สรุปกรมจะขอเวลาสำนักงานจัดการทรัพย์สินจุฬาฯอยู่ต่ออีกกี่ปี?

กรมกำลังพยายามเจรจาต่อรอง ขอให้เห็นใจ เพราะพื้นที่คืนไปก็เยอะพอสมควรแล้ว จากเดิม 114 ไร่ ตอนนี้เหลือ 70 กว่าไร่ ขอเวลาอีกหน่อย ถ้าได้พื้นที่ประมาณ 5-7 ปี มีแนวโน้มความเป็นไปได้ที่จะคืนพื้นที่ให้ได้ จริงๆ แล้วการจะคืนพื้นที่จะตอบในกี่ปีได้ ต้องอยู่ที่ว่าหาพื้นที่ที่เหมาะสมได้ กรมพลศึกษาไม่เหมือนกับหน่วยงานทั่วๆ ไปที่มีตึกสำนักงานก็ใช้ได้แล้ว ถ้าแบบนี้กรมไปใช้พื้นที่ศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะก็จบ ต้องยอมรับว่าถ้าทำแบบนี้ กรมจะไม่สามารถจัดกิจกรรมตามพันธกิจอะไรแทบไม่ได้เลย

สำนักงานจัดการทรัพย์สินจุฬาฯ ก็เร่งรัดอยากจะได้คำตอบว่าแผนจะส่งคืนพื้นที่ทั้งหมดภายในกี่ปี เพราะจะได้นำไปพัฒนาได้ ความชัดเจนตรงนี้กรมเข้าใจนะ แต่สำนักงานจัดการทรัพย์สินจุฬาฯ ก็ต้องเข้าใจว่าการที่มีคนถวายฎีกาและองคมนตรีให้มาเจรจากัน ผมก็บอกว่า เพิ่งปีเดียว ผลเจรจาตอบโจทย์ผู้ถวายฎีกาอะไรไม่ได้ กรรมาธิการและ ส.ส.หลายคนก็ติดตามอยู่เรื่องนี้

ใน 1 ปีที่เจรจาทางสำนักงานจัดการทรัพย์สินจุฬาฯ ก็ยังมีจุดยืนเหมือนเดิมว่าต้องเอาพื้นที่คืนเมื่อนั้น เมื่อนี้ ตอบโจทย์สังคม ประชาชนไม่ได้ ขณะที่กรมไม่มีงบประมาณเพิ่มขึ้น งบประมาณจะย้ายก็ไม่มี กำลังเจรจาหาพื้นที่อยู่ เมื่อสถานที่ยังไม่ชัดเจน ผมจะไปสัญญาสุ่มสี่สุ่มห้าก็ไม่ได้ ขอเวลาหายใจหายคอนิดหนึ่ง

เมื่อได้ที่ดิน จะเร่งทำแผน ก่อสร้างอาคารสิ่งที่จำเป็นก่อน อย่างสนามฟุตบอล คงยังไม่จำเป็นสร้างเป็นสเตเดียมใหญ่ สร้างเป็นสนามกลางแจ้งก่อน ดังนั้นผมก็สามารถดำเนินการ ที่จะวางแผนส่งคืนได้ ถ้าเป็นไปตามแผนก็สามารถส่งคืนได้ทั้งหมด จริงๆ สถานการณ์เศรษฐกิจในปัจจุบันก็ยังไม่เอื้อที่จะนำที่ดินตรงนี้ไปพัฒนาได้รวดเร็วขนาดนั้น ก็ขอให้กรมใช้พื้นที่ไปก่อน

•ค่าเช่าจะคิดในอัตราเท่าไหร่เมื่อต่อสัญญา?

อัตราค่าเช่าปัจจุบันทางสำนักงานจัดการทรัพย์สินจุฬาฯ บอกว่าคิดอัตราพิเศษให้แล้ว จากอัตราค่าที่ดินในปัจจุบันต้องเป็น 100 ล้านบาทต่อปี ขณะนี้ที่ดินตรงนี้ราคาประเมินเกินตารางวาละ 5-6 แสนบาท ซึ่งสำนักงานจัดการทรัพย์สินจุฬาฯ เคยขอปรับค่าเช่ามาแต่ตอนนั้นถ้ากรมให้ไป สำนักงบประมาณคงไม่จัดสรรงบประมาณให้

ที่ผ่านมามีปรับขึ้นมาเป็นระยะ จากหลักหมื่น เป็นหลักแสน และหลักล้าน วันนี้กรมจ่ายอยู่ที่ปีละ 15 ล้านบาทเศษ แม้ตอนนี้พื้นที่จะลด แต่ค่าเช่ายังเท่าเดิม กรมจะยืนยันไปว่ามีงบประมาณจ่ายได้เท่านี้ปีละ 15 ล้านบาท เพราะในปี 2565 กรมถูกตัดงบประมาณเหลือเพียง 580 ล้านบาทเท่านั้น จากปี 2564 ได้รับจัดสรรอยู่ที่ 1,200 ล้านบาท

•ช่วงที่ขอใช้พื้นที่ต่อก่อนส่งคืนจะปรับปรุงอะไรหรือไม่?

จะปรับปรุงใหญ่ไม่ได้ ดูแลให้อยู่ในสภาพที่ดี ทั้งนี้สนามศุภชลาศัย มีอายุใช้งานมากว่า 80 ปี ได้จดทะเบียนเป็นอาคารอนุรักษ์แล้ว คงจะปรับปรุงหรือทุบสร้างอะไรใหม่ไม่ได้ เพราะมีประวัติศาสตร์มากมายที่ต้องอนุรักษ์ไว้

•ปัญหาสนามกีฬาที่อื่นที่กรมดูแล?

กรมพลศึกษาตั้งขึ้นเมื่อปี 2476 เป็นหน่วยแรกของหน่วยงานราชการที่เป็นทางการของประเทศ ก่อนประเทศไทยเป็นเจ้าภาพเอเชี่ยนเกมส์ มีการแยกหน่วยงานที่จะดูแลบางส่วนไปตั้งเป็นองค์การส่งเสริมการกีฬาแห่งประเทศไทย สุดท้ายเปลี่ยนเป็น กทท. เป็นรัฐวิสาหกิจในปัจจุบัน

ในปี 2545 มี พ.ร.บ.กระจายอำนาจ แบ่งหน่วยงานความผิดชอบใหม่ ให้ กทท.ดูแลสมาคมกีฬาแห่งประเทศไทยและสนามกีฬาจังหวัด ส่วนกรมพลศึกษาดูสนามกีฬาประจำอำเภอกับหมู่บ้านและให้กระจายให้ท้องถิ่นทั้งหมด

กรมพลศึกษาที่ดูแลวิทยาลัยพลศึกษาขอสงวนสินธิ์ในสนามวิทยาลัยพลศึกษา สนามศุภชลาศัย สนามกีฬาเฉลิมพระเกียรติฯที่ธัญบุรี ส่วน กทท.ขอสงวนสิทธิ์สนามกีฬาหัวหมาก และสนามศูนย์ต่างจังหวัด เช่น เชียงใหม่ สงขลา โคราช

สนามจังหวัดอื่นๆ ยกให้องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ดูแล รวมทั้งงบประมาณในการขอสร้างสนามกีฬาใหม่ๆ ให้ท้องถิ่นเป็นผู้ดำเนินการ ในปีนั้นทั้งสนามกีฬาและอุปกรณ์กีฬา ที่ กทท.และกรมเคยของบประมาณสนับสนุนไปก็โอนให้ท้องถิ่นหมด

แต่โอนไปแล้ว ท้องถิ่นไม่ได้ทำ เพราะต้องการลาน ถนนมากกว่า

ในปี 2545 ครม.มีมติให้กรมช่วยทำสนามกีฬาระดับอำเภอในหมู่บ้าน ให้ทำแผน 5 ปี แต่งบประมาณจำกัด สร้างอะไรไม่ได้มาก สร้างเสร็จโอนให้ท้องถิ่น หรือหน่วยงานต้นสังกัดดูแล ปัญหาเมื่อสร้างเสร็จท้องถิ่นไม่ได้ใช้ กลายเป็นที่ร้างหลายแห่ง กรมก็ไม่มีบุคลากรเข้าไปดูแล

ตอนนี้พยายามแก้ปัญหา ยังเหลือ 10-20 แห่งที่สร้างแล้วใช้งานไม่เต็มที่ กำลังพิจารณาต้นปีหน้าจะลงไปดูพื้นที่ และขอให้กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาและต่างจังหวัดเข้าไปดูแล ถ้าปล่อยไปจะมีปัญหา และต้องขออนุมัติ ครม.เปลี่ยนแปลงมติเดิมเรื่องถ่ายโอนอำนาจใหม่ด้วย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image