อาศรมมิวสิก : ชีวิตนักดนตรีในสังคมที่ขาดพื้นฐาน ลำบากเมื่อมีโควิดระบาด

อาศรมมิวสิก : ชีวิตนักดนตรีในสังคมที่ขาดพื้นฐาน ลำบากเมื่อมีโควิดระบาด

อาศรมมิวสิก : ชีวิตนักดนตรีในสังคมที่ขาดพื้นฐาน ลำบากเมื่อมีโควิดระบาด

โควิด-19 ระบาดมายาวนาน เข้าเดือนที่ 18 แล้ว (มีนาคม 2563 ถึงกันยายน 2564) อาชีพนักดนตรีเข้าสู่ภาวะเกรียมกรอบมาก เนื่องจากไม่มีงานทำ ไม่มีเงินรายได้ ไม่มีใครจ้าง ไม่มีพื้นที่แสดง ไม่มีเวทีทำมาหากิน ไม่มีเงินเลี้ยงชีพและครอบครัว ที่สำคัญก็คือไม่มีองค์กรใดมารองรับที่จะให้การช่วยเหลือ สำหรับโครงการที่รัฐแจกเงิน อาทิ เราชนะ คนละครึ่ง เราไม่ทิ้งกัน ม.33 เรารักกัน เป๋าตัง และโครงการล่าสุด (12 กันยายน 2564) “ทางรัฐ-เข้าถึงบริการภาครัฐได้ง่ายแค่ปลายนิ้ว” นักดนตรีก็เข้าไม่ถึงโครงการ

เมื่อโรคระบาดมาครั้งแรก เมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2563 นักดนตรีไม่ได้รับแจกและเข้ากับโครงการไม่ได้ เพราะไม่มีคุณสมบัติใดรองรับ ไม่มีที่ทำงานเป็นหลักแหล่ง แต่ละแหล่งที่ทำงานก็อยู่ได้ไม่นาน เมื่อหมดสัญญาก็ต้องย้ายที่ทำงานใหม่ โดยแต่ละแหล่งงานมีเงื่อนไขที่แตกต่างกัน

การระบาดเกิดขึ้นต่อเนื่อง ถึงต้นเดือนธันวาคม 2563 รัฐบาลมีโครงการเราชนะและหมอชนะ เมื่อลามระบาดครั้งใหญ่ ซึ่งมีคนตายและมีคนติดโรคระบาดมาก รัฐเอาไม่อยู่ วันที่ 3-10 เมษายน 2564 เป็นการแพร่ระบาดเชื้อโรคโควิดที่ยาวนาน จากสถานบันเทิงซอยทองหล่อ (คริสตัลคลับและเอมเมอรัลด์ผับ) ในกรุงเทพฯ พื้นที่เกาะช้าง ที่ชลบุรี ที่สระแก้ว ผู้มีชื่อเสียง นักร้อง ดารา อธิบดี รัฐมนตรี ทูต ติดเชื้อโรคโควิด ซึ่งมีเชื้อโควิดรวมแล้ว 39 สายพันธุ์ แพร่ระบาดจากแรงงานต่างชาติผ่านผู้คนในสังคม เข้าไปในที่ทำงาน ไปบ่อนการพนัน มีคนตายไปแล้วกว่า 12,000 คน มีคนติดเชื้อกว่า 1,200,000 คน ซึ่งมีการเปิดเผยจากหมอ (ศบค.) ว่า คนไทยอาจติดเชื้อโควิดมากถึง 10% ของประชากร หมายถึง 6-7 ล้านคน

Advertisement

การปิดเมือง (Lock down) 8 เดือน เป็นเรื่องใหญ่สำหรับผู้ที่ประกอบอาชีพทางดนตรี ซึ่งเป็นอาชีพที่ขึ้นอยู่กับรายได้วันต่อวัน อาชีพหาเช้ากินค่ำหรือหาค่ำกินเช้า หมดหนทางทำมาหากิน นักดนตรีก็ผูกคอตาย ต้องเปลี่ยนอาชีพไปขายผลไม้ ขับมอเตอร์ไซค์ส่งของ ขายอาหาร ปลูกต้นไม้ขาย ขายเครื่องสำอาง ขายของออนไลน์ ซึ่งขึ้นอยู่กับว่าจะมีอาชีพอะไรให้ทำได้บ้าง แม้กระทั่งการจำนำอุปกรณ์หรือขายเครื่องดนตรี ซึ่งเป็นทางเลือกสุดท้าย

เมื่อรัฐแจกคนละ 5,000 บาท ตามกฎหมายมาตรา 33 และ 40 ให้สิทธิผู้ประกันตนจากประกันสังคมเพื่อช่วยบรรเทาทุกข์ให้แก่ประชาชน แต่กลุ่มนักดนตรีไม่สามารถเข้าถึงความช่วยเหลือได้ ทุกโครงการที่รัฐบาลแจกเงิน นักดนตรีก็ไม่ได้รับแจก เพราะเป็นบุคคลที่ไม่มีคุณสมบัติและไม่มีหลักประกันสังคม นักดนตรีเป็นพวกหาค่ำกินเช้า เป็นพวกนอนกลางวันทำงานกลางคืน เมื่อใดที่ตกงานก็ไม่มีเงินทันที เพราะรายได้ที่มีก็พอแค่ประทังชีวิตไปวันๆ การเสียภาษีนั้นก็เสียโดยการหักภาษี ณ ที่จ่าย เหลือเงินได้แค่ไหนก็รับไปแค่นั้น เมื่อได้เงินมาแล้วก็กลายเป็นเงินที่ต้องรีบจ่าย เพราะมีรายการรอจ่ายอยู่มาก

มูลนิธิอาจารย์สุกรี เจริญสุข เป็นผู้รับผิดชอบวงไทยซิมโฟนีออร์เคสตร้า ทำหน้าที่สร้างโอกาสให้แก่นักดนตรี สร้างพื้นที่และพัฒนาศักยภาพความเป็นเลิศทางดนตรี สร้างงานให้แก่อาชีพนักดนตรี เพื่อจะหล่อเลี้ยงให้นักดนตรีอดทนที่จะอยู่ต่อไปให้ได้ รอคอยเมื่อโอกาสอำนวยก็จะได้ทำงานในฐานะนักดนตรี เพื่อบันทึกเสียงเพลงของท้องถิ่น เพลงของภูมิภาค เพลงประกอบการ์ตูนแอนิเมชั่น หรือเพื่อการแสดง ต้องเตรียมตัวและเตรียมขั้นตอนอย่างรอบคอบและรัดกุม โดยเฉพาะการตรวจโรคระบาดโควิด-19

Advertisement

เริ่มจากการประสานให้นักดนตรีทุกคนได้ฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิดเสียก่อน ซึ่งทางมูลนิธิเป็นผู้ดูแลจัดการรับผิดชอบเรื่องค่าใช้จ่ายให้ หากนักดนตรีคนใดตกหล่นก็ต้องรับผิดชอบตัวเอง เพื่อเตรียมตัวให้พร้อมที่จะจัดการแสดงหรือการบันทึกเสียง

คนทำงานและนักดนตรีทุกคนจะต้องฉีดวัคซีนเสียก่อน จึงเข้าร่วมงานบันทึกเสียงได้ ส่วนนักดนตรีหรือคนทำงานที่ตกหล่นนั้น ต้องรับผิดชอบการฉีดวัคซีน (2 เข็ม) เอง ราคาค่าใช้จ่ายเข็มละ 1,650 บาท รวมเป็นเงิน 3,300 บาท ไม่ว่าจะเป็นวิธีไหน จัดการให้หรือรับผิดชอบเอง ก็ต้องทำให้เสร็จ เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการทำงาน…

วันที่ 10 กันยายน 2564 เป็นวันนัดบันทึกเสียง โดยกระบวนการทำงานต้องตรวจหาเชื้อโควิด-19 เป็นการพัฒนาการทำงานเชิงรุก ใช้ระบบการตรวจหาเชื้อโรค (Antigen Test Kit-ATK) ซึ่งมีค่าใช้จ่ายเพิ่มอีกชุดละ 400 บาท มีอุปกรณ์พร้อมพยาบาลผู้ตรวจที่เป็นมืออาชีพ ซึ่งทางมูลนิธิเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายให้ ถือว่าเป็นการสร้างความอุ่นใจ สร้างความเชื่อมั่น และสร้างราคาความน่าเชื่อถือในการทำงาน

ก่อนที่นักดนตรีจะเข้าห้องบันทึกเสียง ก็ต้องเสียเวลาตรวจคนละ 5-15 นาที หากพบว่ามีนักดนตรีคนใดติดเชื้อ ก็ต้องบอกให้กลับบ้านไปเก็บตัว รอการรักษา หากไม่มีเชื้อก็สามารถเดินเข้าห้องบันทึกเสียงได้ เมื่อทุกคนมีความมั่นใจ การทำงานก็จะตัดปัญหาความกังวลใจออกไปได้

ในการบันทึกเสียงก็ต้องมีนักดนตรีสำรองรออยู่ ซึ่งขึ้นอยู่กับจำนวนที่รัฐอนุญาต การบันทึกเสียงใช้นักดนตรีรวมกลุ่มได้จำนวนจำกัด (25 คน) กระบวนการทำงานก็มีขั้นตอนมากขึ้น แต่ทุกขั้นตอนก็จะต้องทำให้ครบกระบวนการ ทั้งนี้ เพื่อความปลอดภัยและความสบายใจของทุกคน

วิถีชีวิตนักดนตรีใหม่ที่ได้มากับโรคระบาดโควิดก็คือ ได้ความสะอาด ความมีระเบียบ ทั้งตัวบุคคลและอาคารสถานที่ รวมทั้งอุปกรณ์เครื่องใช้ สะอาดทั้งโดยสายตาและมีกลิ่นที่สะอาด นักดนตรีมีความรับผิดชอบในหน้าที่สูง มีความพร้อมในการทำงาน ตรงต่อเวลา รวมทั้งมีความศรัทธาในอาชีพ ความเป็นมืออาชีพทั้งหมดได้มาพร้อมกับโรคระบาดโควิด เมื่อตัวนักดนตรีเองมีความพร้อมสูง การบันทึกเสียงก็ทำให้มีคุณภาพได้ง่ายขึ้น

ระหว่างโรคระบาดได้พบความจริงที่น่าอนาถ เนื่องจากการทำงานในสังคมไทยนั้นขับเคลื่อนด้วยเงิน การทำงานก็ทำเพื่อเงิน แม้หัวใจจะทำงานเพื่ออุดมการณ์อยู่บ้าง แต่ก็ต้องใช้เงิน หากไม่มีเงินก็ทำงานได้ยากขึ้น อีกมิติหนึ่งนั้น ไทยเป็นสังคมที่ต้องใช้เส้น สังคมคุณคือใคร คุณสำคัญอย่างไร

หากคิดจะพึ่งรัฐสถานเดียวคงยาก เพราะการให้บริการสาธารณะของรัฐอ่อนแอ ยิ่งในช่วงวิกฤตโควิด พบว่าการจะอยู่ให้รอดได้ก็ต้องใช้เส้น ต้องมีพวก ต้องวิ่งเต้น ไม่ว่าจะใช้เส้นหมี่ เส้นเล็ก เส้นใหญ่ เส้นกวยจั๊บ หรือใช้สายพานโรงสีก็ตาม เมื่อถึงจุดที่ต้องตัดสินใจ ชีวิตอยู่บนเส้นด้าย อยู่กับความเป็นความตาย ในที่สุดก็ต้องหาพวก ต้องใช้เส้น เมื่อต้องใช้สายสัมพันธ์ก็ต้องใช้เงินหล่อเลี้ยง

ชีวิตยังอยู่ก็ถือว่าโชคดีที่มีโอกาสต่อสู้ได้ทำงานต่อไป การซื้ออุปกรณ์ป้องกันโรคระบาดนั้นต้องใช้เงิน อาทิ หน้ากากอนามัย แผงกั้นหน้า แอลกอฮอล์ล้างมือ อุปกรณ์ตรวจวัดเชื้อ อุปกรณ์พ่นยาฆ่าเชื้อ เครื่องวัดอุณหภูมิ ถังออกซิเจน เสื้อป้องกันการติดเชื้อ (PPE) พรมเช็ดเท้าชนิดฆ่าเชื้อ แผงกั้นน้ำลาย แผงกั้นลมหายใจ ทั้งยาไทยยาฝรั่ง เป็นต้น อุปกรณ์และเครื่องมือต่างๆ นั้นจำเป็นต้องมี เพราะต้องใช้เพื่อความปลอดภัยและความอบอุ่นใจ ซึ่งที่บ้านก็กลายเป็นโรงพยาบาลสนาม เพียงแต่ทุกคนต้องดูแลกันเอง

วันนี้ ถ้าชีวิตเจ็บป่วยหนักหรือติดโรคโควิด ก็ต้องหาพรรคพวก หาญาติ หาช่องทาง ต้องใช้เส้นและต้องใช้สายสัมพันธ์ เพื่อจะเข้าถึงการรักษาพยาบาล การหารถพยาบาล การหาเตียงผู้ป่วย รวมทั้งการหาหมอรักษา สภาพการนอนรอความช่วยเหลืออย่างยถากรรมก็จะตายทั้งสองลูก สิ่งที่ดีที่สุดก็คือการเตรียมตัวที่ดี ดูแลรักษาตัวเอง แก้ปัญหาด้วยตัวเองให้ได้มากที่สุด ยุคโควิดเป็นยุคที่ต้องพัฒนาตนเองให้เป็นที่พึ่งให้ได้

เมื่อผ่านขั้นตอนการตรวจเชื้อนักดนตรีและคนทำงานครบแล้ว ก็เป็นขั้นตอนของการบันทึกเสียง เพลงที่จะบันทึกมีเวลา 25 นาที ต้องใช้เวลาบันทึกเสียงถึง 5 ชั่วโมง เพราะว่านักดนตรีได้ห่างหายไปจากการเล่นรวมวงออร์เคสตร้ากันนาน เพลงแรกใช้เวลาในการบันทึกเสียงมากกว่าเพลงอื่น เพื่อให้นักดนตรีได้ปรับตัว ปรับเสียง ปรับเครื่อง ปรับอุปกรณ์ เมื่อได้บันทึกเพลงแรกเสร็จแล้ว เพลงที่เหลือก็บันทึกได้ง่ายขึ้น

อาชีพดนตรีในสังคมไทยแม้ว่าจะเป็นงานที่สร้างสรรค์ เนื่องจากรากฐานของสังคมไทยไม่ได้สนใจและให้คุณค่าด้านวัฒนธรรมงานสร้างสรรค์ทางดนตรีมากนัก นอกจากการเอาดนตรีไปรับใช้พิธีกรรมและอำนาจ ชีวิตนักดนตรีในสังคมจึงขาดพื้นฐานชีวิตที่ดี ชีวิตนักดนตรีที่ได้มาตรฐานก็แทบไม่มีอยู่จริง งานดนตรีมาตรฐานก็สูงสุดสอยไกลเกินเอื้อม ดนตรีกลายเป็นอาชีพที่เพ้อฝัน พบว่าจากการระบาดของโรคโควิดครั้งนี้ สร้างโอกาสให้นักดนตรีที่มีฝีมือออกไปทำมาหากินที่อื่น ส่วนที่เหลืออยู่ในเมืองไทยก็ต้องสงบยอม เพราะไม่มีพื้นที่ทำกิน

สุกรี เจริญสุข

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image