ChAMPโครงการติวเข้ม ก้าวเพื่อการพัฒนาของ’บัญชีจุฬา’

ยังคงอยู่ในยุคที่เศรษฐกิจนับเป็นเรื่องน่าเป็นห่วงอย่างยิ่ง-สำหรับประเทศไทย

หลายมหาวิทยาลัยและหลายสถานศึกษาจึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะศึกษาสถานการณ์และวิถีทางในการให้ความรู้แก่นิสิตนักศึกษา

ที่ คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เองก็รับรู้ถึงความท้าทายจากการเปลี่ยนแปลงของปัจจัยต่างๆ ซึ่งอยู่นอกรั้วมหาวิทยาลัยเป็นอย่างดี ทำให้พื้นที่ภายในคณะนี้ไม่ใช่เพื่อผลิตบัณฑิตที่มีความสามารถออกไปอย่างเดียวเท่านั้น แต่ยังมีการเสริมทักษะด้านต่างๆ เพื่อใช้ชีวิตนอกรั้วมหาวิทยาลัยอีกด้วย

นี่จึงเป็นที่มาของโครงการ ChAMP หรือ Chulalongkorn Alumni Mentorship Program ซึ่งดำเนินมาจนถึงปีที่ 4 จากจุดเริ่มต้นเมื่อปี 2555 ที่ศิษย์เก่ากลุ่มหนึ่งร่วมมือกันตั้งโครงการเพื่อดูแลและให้คำปรึกษารุ่นน้องที่เข้าร่วมโครงการ ผ่านประสบการณ์ตรงของรุ่นพี่ รวมถึงกระบวนการคิด มุมมองในการเลือกสายอาชีพและความเข้าใจในตนเองของนิสิต

Advertisement

“โครงการนี้เกิดจากความคิดของรุ่นพี่ว่าทำอย่างไรจึงจะมีส่วนช่วยพัฒนานิสิตในคณะ เพราะฟีดแบ๊กที่เราได้รับเสมอมาคือความอดทนของนิสิตที่จบไปนั้นยังต้องได้รับการพัฒนาอยู่ ขณะที่เรื่องความรู้หรือทฤษฎีนั้นเป็นเรื่องที่ไม่มีปัญหา” รศ.ดร.พสุ เดชะรินทร์ คณบดีคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาฯ ให้ความเห็นต่อกระบวนการเรียนการสอนของคณะ

“และ ChAMP คือการให้พี่ๆ ศิษย์เก่ามาเป็น Mentor ให้น้องๆ ซึ่งเรามีกระบวนการคัดนิสิตที่จะมาเข้าโครงการด้วย”

“แน่นอนว่าเรามีระบบอาจารย์ที่ปรึกษาที่ช่วยให้ข้อมูลด้านวิชาการว่าควรเรียนอะไร ลดหรือเพิ่มอะไร แต่เรื่องการใช้ชีวิต เป้าหมายของชีวิตนั้น บางทีนิสิตก็ยังต้องการโค้ชเพื่อจะได้มีทักษะและเครือข่ายด้วย”

Advertisement
บรรณ เกษมทรัพย์, สุรยุทธ ทวีกุลวัฒน์, พสุ เดชะรินทร์, ธนธรณ์ โพดาพล
บรรณ เกษมทรัพย์, สุรยุทธ ทวีกุลวัฒน์, พสุ เดชะรินทร์, ธนธรณ์ โพดาพล

ขณะที่ สุรยุทธ ทวีกุลวัฒน์ ผู้อำนวยการใหญ่สายการเงิน บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) และเป็นประธานโครงการ ChAMP ซึ่งยังรับตำแหน่งเป็น Mentor ให้รุ่นน้องนั้น อธิบายเพิ่มเติมว่า เงื่อนไขของการสมัครเข้าโครงการคือ ต้องเป็นนิสิตที่มีผลการเรียนดี, มีผลงานด้านกิจกรรม, แนวคิดในการเขียน Essay ดี และแนะนำตัวเองได้น่าสนใจ

“ที่ผ่านมาก็ได้ยินหลายคนในวงการธุรกิจการเงิน ชมว่าเด็กบัญชีจุฬาฯสัมภาษณ์งานได้ดีขึ้น เก่งขึ้น เวลารับเด็กเข้าทำงานก็เริ่มรับเด็กจากคณะนี้ได้มากขึ้น”

“บอกตรงๆ ว่าดีใจมากๆ” สุรยุทธกล่าวอย่างเขินๆ “ไม่อยากทึกทักเอาเองว่าเป็นผลงานของโครงการเรา แต่ขอเหมาว่า ChAMP มีส่วนสำคัญแน่นอน”

และในฐานะ Mentor เขาเล็งเห็นว่า ที่ผ่านมาความสัมพันธ์ระหว่างรุ่นพี่และรุ่นน้องในโครงการดำเนินไปได้ด้วยดีและสม่ำเสมอ “เรายังมีการติดต่อ นัดหมายกับรุ่นพี่ที่จบไปแล้ว พบปะกันอย่างต่อเนื่อง ก็เป็นไปตามความมุ่งหมายที่โครงการอยากเห็นเป็นความสัมพันธ์ตลอดชีวิต”

เช่นเดียวกับที่เจ้าของตำแหน่ง Mentor อีกคนอย่าง บรรณ เกษมทรัพย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอสซีจี เทรดดิ้ง จำกัด รุ่นพี่ศิษย์เก่าที่มาร่วมเป็น Mentor ในโครงการ ChAMP ที่ชอบอกชอบใจโครงการนี้อย่างมาก ด้วยเหตุผลที่ว่า คำแนะนำของ Mentor แต่ละคนนั้นจะแตกต่างกันไปตามประสบการณ์ ซึ่งความแตกต่างหลากหลายนี้เองที่จะเกิดประโยชน์ให้นิสิตในโครงการ

“คนที่ประสบความสำเร็จก็ฝ่าฟันอะไรมาเยอะ ทั้งเข้มแข็ง ทุ่มเท และต้องผ่านความเหนื่อยยากมาทั้งนั้น และนั่นคือสิ่งที่เราแนะนำน้องๆ ได้”

ธนธรณ์ โพดาพล ผู้จัดการฝ่ายธุรกิจใหม่ Google สิงคโปร์ Mentee รุ่นแรก ที่เข้าร่วมในโครงการ ChAMP ออกความเห็นในฐานะนิสิตที่เข้าโครงการเป็นรุ่นแรกว่า สำหรับเขาแล้ว โครงการนี้ตอบปัญหาของนิสิตปี 4 ที่กำลังเผชิญได้อย่างดีเยี่ยม ทั้งประเด็นที่ว่าเรียนจบแล้วจะทำอะไร หรือควรย้ายสาขาหรือไม่

“เรามีปัญหาและอยากได้คำตอบ ก็มีคนแนะนำให้ ซึ่งมันไม่ใช่แค่การถามตอบระหว่างรุ่นพี่รุ่นน้อง แต่เขาจะให้ข้อมูลเรามาแล้วเรานำกลับไปคิดวิเคราะห์ ตัดสินใจเอง สุดท้ายก็ได้กับเราเพราะเราชัดเจนในตัวเองมากขึ้นว่าอยากทำอะไร แล้วต้องทำอย่างไร”

“คือการเรียนในรั้วมหาวิทยาลัยนั้น เราไม่อาจรู้เรื่องการทำงานกับผู้ใหญ่ แต่โครงการนี้ทำให้รู้ประเด็นนี้และคุยกับผู้ใหญ่เป็น”

สำหรับธนธรณ์ การเข้าโครงการ ChAMP นั้นมากน้อยแล้ว เปรียบเสมือนเรือลำใหญ่ที่ช่วยให้เขาได้ค้นหาตัวเอง-“และได้ช่วยให้เราเดินไปตามเส้นทางสายน้ำของชีวิตตัวเองได้ราบรื่นขึ้นครับ” เขากล่าวปิดท้ายพร้อมรอยยิ้ม

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image