โควิดวิกฤตไม่เท่ากัน ในวันที่แรงงานอาหารทะเลไทยถูกซ้ำเติม

ในทุกวิกฤต แรงงานมักเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบอันดับแรกมาโดยตลอด ยิ่งเป็น ‘แรงงานข้ามชาติ’ ด้วยแล้ว พวกเขามักจะถูกหลงลืมโดยภาครัฐและสังคมไทยอยู่เสมอ นโยบายช่วยเหลือเยียวยาหลายๆ อย่างก็มักเลือกปฏิบัติต่อพวกเขา ทำให้ชีวิตแรงงานข้ามชาติที่มีความเปราะบางอยู่แล้วในภาวะปกติ ยิ่งตกอยู่ในความเสี่ยงมากขึ้นไปอีกในภาวะวิกฤต

การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งกำลังเกิดขึ้นในทุกพื้นที่ของประเทศไทยตอนนี้คือตัวอย่างที่ชัดเจน จากการทำงานและเก็บข้อมูลในพื้นที่ เราพบว่าแรงงานข้ามชาติในอุตสาหกรรมอาหารทะเลไทยกำลังประสบปัญหาหลากหลายด้าน ตั้งแต่เรื่องรายได้ที่ไม่เพียงพอต่อการดำรงชีวิต เงื่อนไขการจ้างงานที่ไม่เป็นธรรม กฎหมายไม่เอื้ออำนวยให้หารายได้เสริม หรือเปลี่ยนอาชีพ และการเข้าไม่ถึงสิทธิประโยชน์หรือสวัสดิการตามกฎหมายต่างๆ ตามที่ควรจะเป็น

พวกเราในนาม ‘ภาคีเครือข่ายภาคประชาสังคมเพื่ออาหารทะเลที่เป็นธรรมและยั่งยืน’ ซึ่งเป็นการรวมตัวกันของภาคประชาสังคม 14 องค์กร ได้พยายามทำความเข้าใจต่อสิ่งที่เกิดขึ้นผ่านงานวิจัย ‘ชีวิตไม่มั่นคงและโรคระบาด : บทสำรวจปัญหาค่าจ้างและผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ต่อแรงงานข้ามชาติในอุตสาหกรรมอาหารทะเลไทย’ ครอบคลุมแรงงาน 4 กลุ่ม คือ ประมง ประมงต่อเนื่อง โรงงานแปรรูปอาหารทะเล และฟาร์มกุ้งในพื้นที่ 8 จังหวัดทั่วประเทศไทย

Advertisement

ปัจจัยสำคัญที่สุดที่เรามองคือเรื่องรายได้ของแรงงาน ซึ่งค่าแรงขั้นต่ำของประเทศไทยกำหนดเป็นอัตรารายวัน โดยเรานำค่าแรงขั้นต่ำรายวันมาคูณด้วย 30 วันก่อน โดยจะเรียกว่า ‘ค่าแรงขั้นต่ำคิดเป็นรายเดือน’ เพื่อใช้เป็นเกณฑ์ชี้วัดว่าแรงงานแต่ละคนควรมีรายได้อย่างน้อยที่สุดเท่าไรจึงจะเพียงพอต่อการมีชีวิตรอดได้ตลอดทั้งเดือน โดยค่าแรงขั้นต่ำคิดเป็นรายเดือนของทั้ง 8 จังหวัดที่เราสำรวจนั้นเฉลี่ยแล้วอยู่ที่ 9,699 บาท

แต่ผลสำรวจของเรากลับพบว่าแรงงานอาหารทะเลมากกว่าครึ่งหนึ่ง (58%) มีรายได้ต่ำกว่าเกณฑ์ค่าแรงขั้นต่ำคิดเป็นรายเดือน โดยเฉพาะแรงงานในกลุ่มประมงต่อเนื่องและแปรรูปอาหารทะเล ยิ่งไปกว่านั้น แรงงานประมาณ 1 ใน 5 ยังมีรายได้น้อยกว่า 70% ของเกณฑ์ดังกล่าวด้วย หมายความว่าใน 30 วัน พวกเขาอาจไม่มีเงินพอใช้สำหรับดำรงชีวิตถึงประมาณ 9 วันต่อเดือนเลยทีเดียว

นอกจากนี้ ยังพบว่าอุตสาหกรรมอาหารทะเลไทยมีการจ้างงานแบบไม่เป็นทางการอยู่มาก (ยกเว้นกลุ่มประมงที่มีกฎหมายคุ้มครองโดยเฉพาะอยู่แล้วในปัจจุบัน) เช่น การใช้สัญญาปากเปล่า ไม่มีสัญญาจ้างงานเป็นลายลักษณ์อักษร การให้ทำงานไม่เป็นเวลา ไปจนถึง ‘การจ้างทำของ’ ซึ่งนายจ้างจะจ่ายตามน้ำหนัก หรือปริมาณที่แรงงานผลิต หรือแปรรูปได้เท่านั้น เงื่อนไขทั้งหมดนี้นับเป็นการผลักความเสี่ยงทางเศรษฐกิจเกือบทั้งหมดไปให้แรงงานอย่างไม่เป็นธรรม

ปัญหานี้ยิ่งชัดเจนขึ้นเมื่อเราพิจารณาช่องว่างทางรายได้ระหว่างแรงงานผู้ชายกับแรงงานผู้หญิงประกอบ ผลวิจัยของเราพบว่าแรงงานผู้หญิงมีรายได้น้อยกว่าผู้ชายประมาณ 30% หรือราวๆ 3,000 บาทต่อเดือน โดยในกลุ่มประมงต่อเนื่อง ซึ่งมีการจ้างงานแบบไม่เป็นทางการมากที่สุด พบว่ามีแรงงานผู้หญิงมีรายได้น้อย
กว่าผู้ชายถึง 41% นอกจากนี้ แรงงานผู้หญิงจำนวนมากเข้าไม่ถึงสิทธิลาคลอด และหลายคนถูกให้ลาออกจากงานเมื่อตั้งครรภ์

จากการทำงานในพื้นที่จังหวัดสมุทรสาคร ซึ่งเป็นศูนย์กลางของแรงงานข้ามชาติที่ทำงานในอุตสาหกรรมอาหารทะเลไทยและเป็นคลัสเตอร์ใหญ่ของผู้ติดเชื้อเมื่อช่วงต้นปี 2564 ที่ผ่านมา นอกเหนือจากปัญหาค่าแรงและเงื่อนไขการจ้างงานต่างๆ ที่พบในงานวิจัยแล้ว เราพบว่าพวกเขายังต้องประสบปัญหาเฉพาะหน้าที่เกี่ยวข้องกับโรคระบาดอีกมากมายด้วย

จะเห็นว่าเมื่อรายได้ไม่พอประทังชีวิตในแต่ละเดือนดังกล่าวมาข้างต้น แรงงานส่วนใหญ่จึงมักจะอยู่รวมกันหลายๆ คนในห้องเช่าเล็กๆ เพื่อประหยัดค่าใช้จ่าย เลือกกินอาหารราคาถูก ส่วนสุขภาพอนามัยคงไม่ต้องพูดถึง เพราะไม่มีเงินเหลือมาดูแลตัวเองในส่วนนี้ เมื่อเกิดโรคระบาดอย่างโควิด-19 จึงไม่น่าแปลกใจเลยว่าทำไมพวกเขาถึงติดเชื้อกันมากมายจนกลายเป็นคลัสเตอร์

สถานที่ทำงานของแรงงานอาหารทะเลก็มักไม่เอื้ออำนวยให้พวกเขาป้องกันตัวเองจากการติดเชื้อ ยกตัวอย่างเช่น สายพานการผลิตในโรงงาน ซึ่งแรงงานจำนวนมากต้องยืนใกล้ๆ กันเป็นเวลานานในระบบอากาศปิด ไม่สามารถเว้นระยะห่างได้จริง สิ่งที่เกิดขึ้นคือแรงงานหลายคนติดเชื้อซ้ำมากกว่าหนึ่งครั้ง หลายคนรักษาหายแล้ว พอกลับไปทำงานก็ติดเชื้ออีก

ยิ่งไปกว่านั้น เมื่อติดเชื้อโควิด-19 แล้ว พวกเขาจะถือว่าเป็นคนป่วย ก็ต้องลาป่วย แต่ตามกฎหมายไทยระบุให้แรงงานลาป่วยแบบได้รับค่าจ้างได้ 30 วัน หมายความว่าถ้าแรงงานคนหนึ่งติดเชื้อเกินสองครั้ง รักษา
ตัวครั้งละ 14 วัน รวมเป็น 28 วัน แรงงานคนนั้นก็จะต้องลาป่วยแบบไม่ได้รับค่าจ้างแทน แม้ว่าจะสามารถขอเงินชดเชยจากประกันสังคมได้ แต่ก็ได้แค่ 50% ทำให้ไม่เพียงพอกับค่าใช้จ่ายที่จำเป็นอยู่ดี

มาตรการเยียวยาต่างๆ ที่ภาครัฐประกาศออกมาก็เป็นสิ่งที่แรงงานข้ามชาติเข้าไม่ถึง เพราะมีการกำหนดคุณสมบัติว่าต้องมีสัญชาติไทยถึงจะได้รับการเยียวยา นี่เป็นความไม่เป็นธรรมอีกเรื่องที่แรงงานข้ามชาติกำลังเผชิญที่มาจากนโยบายภาครัฐโดยตรง

ทางภาคีเครือข่ายฯ ขอใช้โอกาสนี้เรียกร้องไปยังรัฐบาลไทยเร่งปรับเปลี่ยนนโยบายเพื่อให้แรงงานข้ามชาติเข้าถึงบริการด้านสาธารณสุข วัคซีน และการช่วยเหลือเยียวยาอย่างเหมาะสมและมีมนุษยธรรม นอกจากนี้ รัฐบาลไทยยังควรกำหนดค่าแรงขั้นต่ำใหม่เพื่อสร้างหลักประกันว่าแรงงานทุกคนจะมีรายได้เพียงต่อการดำรงชีวิตตลอดเดือน ซึ่งเรื่องนี้จะเป็นประโยชน์ต่อแรงงานทุกคน ไม่ใช่แค่แรงงานข้ามชาติ

สำหรับนายจ้างในอุตสาหกรรมอาหารทะเลไทยเอง ทางภาคีเครือข่ายฯ ก็พร้อมที่จะร่วมมือและส่งเสริมให้เกิดการจ้างงานอย่างเป็นทางการมากขึ้น มีสัญญาเป็นลายลักษณ์อักษร ด้วยค่าแรงที่เหมาะสม เป็นธรรม และมีชีวิตอยู่ได้จริงตลอดเดือนสำหรับแรงงาน เพราะสุดท้ายแล้ว ถ้าทั้งภาครัฐและเอกชนยังคงปล่อยให้สถานการณ์เป็นแบบนี้ต่อไป แรงงานก็จะไม่รอด อุตสาหกรรมเองก็จะไม่รอด เศรษฐกิจและสังคมไทยในภาพใหญ่ก็จะได้รับผลกระทบไปด้วยเช่นกัน

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image