อาศรมมิวสิก : “เชวาลิเยร์ เดอ แซงท์-จอร์จส์ : เมื่อ ‘ดำ’ พลิกเป็น ‘ขาว’ ประวัติศาสตร์จึงต้องถูกชำระ”

ประวัติศาสตร์เป็นเรื่องที่น่าจะได้รับความน่าเชื่อถือมากที่สุด เพราะเป็นเรื่องราวในอดีตที่ให้บทเรียนอันมีค่าแก่ผู้คนในยุคต่อมา แต่ก็เป็นไปไม่ได้เลยว่าข้อมูลทางประวัติศาสตร์จะได้รับการบันทึกไว้อย่างครบถ้วนบริบูรณ์ ประวัติศาสตร์เป็นเพียงการบันทึกเรื่องราวบางช่วง, ในบางแง่มุม อีกทั้งยิ่งเมื่อเราต้องมาเผชิญกับคำพูดที่ว่า “ผู้ชนะเท่านั้นที่จะได้เขียนบันทึกประวัติศาสตร์” ก็ยิ่งทำให้เราต้องพิจารณาเรื่องราวในประวัติศาสตร์ให้รอบด้าน อีกทั้งไม่ปักใจเชื่อหรือยึดมั่นมากเกินไป และก็ต้องพร้อมที่จะรับการเปลี่ยนแปลงความเชื่อเดิมๆ เมื่อพบข้อมูลความรู้ใหม่ๆ นี่จึงเป็นที่มาของคำว่า “ชำระประวัติศาสตร์” ซึ่งในทางประวัติศาสตร์ดนตรีก็เช่นเดียวกัน เรื่องราวของนักประพันธ์ดนตรีคลาสสิกผิวดำนามว่า “โยเซฟ โบโลญ” (Joseph Bologne) ที่มีบรรดาศักดิ์ห้อยท้ายว่า “เชวาลิเยร์ เดอ แซงท์-จอร์จส์” (Chevalier de Saint-Georges) สุภาพบุรุษผิวสีแห่งศตวรรษที่ 18 ผู้เปี่ยมด้วยพรสวรรค์รอบด้านอย่างไม่น่าเชื่อคืออีกหนึ่งตัวอย่างที่ทำให้ประวัติศาสตร์ดนตรีต้องถูกแก้ไขเพิ่มเติมในบางด้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อความเป็นเลิศของเขาได้รับการนำไปเปรียบเทียบกับ “วอล์ฟกัง อมาเดอุส โมซาร์ท” (Wolfgang Amadeus Mozart) และมอบฉายานามยกย่องเขาว่า “โมซาร์ทดำ” (Black Mozart)

หากพิจารณาถึงตำแหน่งแห่งที่ในปัจจุบัน “โยเซฟ โบโลญ” ถูกจัดอยู่ในกลุ่มนักประพันธ์ดนตรีคลาสสิกระดับ “กระแสรอง” ยิ่งเมื่อเขาเป็นนักแต่งเพลงคลาสสิกผิวดำคนแรกในประวัติศาสตร์สถานะกระแสรองก็ดูจะเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้มากขึ้น เมื่อโลกดนตรีคลาสสิกดูจะถูกผูกขาดสำหรับคนผิวขาวมาแต่ไหนแต่ไร ผู้เขียนคิดว่าในการที่จะเข้าใจเรื่องราวของดุริยกวีผิวสีท่านนี้ได้แจ่มชัดมากขึ้น เราคงต้องใช้จินตนาการหลับตาย้อนหลังนึกไปถึงภาพของกรุงปารีส (Paris) ประเทศฝรั่งเศสในศตวรรษที่ 18 สมัยที่ฝรั่งเศสเป็นเสมือนเมืองแห่งแสงสว่างทั้งทางศิลปวัฒนธรรมและ “แสงสว่างทางปัญญา” (The Age of Enlightenment) ยุคสมัยที่โมซาร์ทยังเป็นหนุ่มน้อยในวัยเพียง 20 ต้นๆ ยังกำลังเรียนรู้แสวงหาประสบการณ์ทางดนตรีด้วยการออกตระเวนแสดงดนตรีทั่วยุโรป ต้องดิ้นรนหาโอกาสในการนำผลงานดนตรีของตนเองออกแสดงนั้น โยเซฟ โบโลญ ก็กำลังโด่งดังอยู่ในกรุงปารีส เป็นหนึ่งในบุคคลที่เป็นแบบอย่างของสุภาพบุรุษแห่งศตวรรษที่ 18 เป็นแขกรับเชิญที่ได้รับเชิญไปปรากฏตัวตามงานสังคมชั้นสูง รวมถึงได้รับเชิญไปแสดงดนตรี ณ พระราชวังแวร์ซายส์ (Versailles)

หากจะพูดสรุปแบบสั้นๆ ในยุคสมัยนี้ในทำนองว่า “โยเซฟ โบโลญ เกาะ โมซาร์ทดังขึ้นมา” ก็จะยิ่งน่าขมขื่นซ้ำขึ้นไปอีก เพราะเขาเกิดก่อนโมซาร์ทถึง 11 ปี (เกิดในปี ค.ศ.1745 เสียชีวิตในปี ค.ศ.1799 ด้วยวัย 54 ปี) ในช่วงเวลาที่โมซาร์ท เดินทางไปพำนักในประเทศฝรั่งเศสนั้น ในช่วงคริสต์ทศวรรษ 1770 (ราวๆ ช่วงปีที่เบโธเฟน ถือกำเนิด) มีศิลปะดนตรีชนิดหนึ่งที่ถือกำเนิดขึ้นมาและได้รับความนิยมอย่างสูงในประเทศฝรั่งเศส มันคือบทประพันธ์แบบลูกผสมระหว่างบทเพลงซิมโฟนี (Symphony) และบทเพลงคอนแชร์โต (Concerto) เรียกชื่อกันว่า “Symphonie Concertante” (ซิมโฟนีคอนแชร์ตานเต) บทเพลงที่ผสมการเดี่ยวเครื่องดนตรีอวดฝีมือแบบคอนแชร์โต กับการแสดงเนื้อหาความคิดทางดนตรีล้วนๆ แบบเพลงซิมโฟนีเข้าด้วยกัน บทเพลงชนิดนี้ไม่ต้องการเน้นการอวดความเป็นเลิศของผู้แสดงเดี่ยวเครื่องดนตรี จึงกำหนดให้แนวเดี่ยวเครื่องดนตรีมีตั้งแต่ 2 คนขึ้นไปบรรเลงในเชิงสนทนาหรือประชันกับวงออเคสตรา ซึ่งก็อาจมีอะไรๆ ที่คล้ายกับบทเพลง “คอนแชร์โตใหญ่” (Concerto Grosso) ในสมัยบาโรค (Baroque) หากแต่มีสีสันและสำนวนดนตรีที่พัฒนามากขึ้นไปตามยุคสมัย

อีกทั้งในช่วงครึ่งหลังของศตวรรษที่ 18 นี้ อาจเรียกได้ว่ากรุงปารีสเป็นเสมือนศูนย์กลางของศิลปะบทเพลงซิมโฟนีอีกด้วย และ “โยเซฟ โบโลญ” ก็คือ นักแต่งเพลง, วาทยกร และศิลปินเดี่ยวไวโอลินชั้นนำผู้มีบทบาทสำคัญต่อวงการดนตรีซิมโฟนีของฝรั่งเศสในขณะนั้น

Advertisement

ในปี ค.ศ.1778 ในตอนที่โมซาร์ท ไปพำนักในกรุงปารีส โมซาร์ทได้มีโอกาสเปิดหูเปิดตาเรียนรู้ศิลปะดนตรีซิมโฟนีของฝรั่งเศส โดยเฉพาะบทเพลง “ซิมโฟนีคอนแชร์ตานเต” ลูกผสมดังกล่าวนี้ มันคือ ซิมโฟนีคอนแชร์ตานเต ในบันไดเสียง จี เมเจอร์, ผลงานลำดับที่ 13,
หมายเลข 2 สำหรับบรรเลงเดี่ยวไวโอลิน 2 คัน ร่วมกับวงออเคสตราของ โยเซฟ โบโลญ ซึ่งบรรดาผู้รู้ทางดนตรีทั้งหลายพบความคล้องจองอย่างไม่ธรรมดา กับบทเพลง “Sinfonia Concertante” สำหรับบรรเลงเดี่ยวไวโอลินและวิโอลาร่วมกับวงออเคสตรา ผลงานลำดับที่ 364 (K.364) ที่โมซาร์ทได้ประพันธ์ขึ้นในปีถัดมา (ค.ศ.1779) อาทิ ลักษณะการไล่ขึ้นของชุดลำดับตัวโน้ตที่ค่อยๆ วิ่งขึ้นทีละขั้นๆ ของบทเพลงของ โยเซฟ โบโลญ ในท่อนแรกกับแนวทำนองรอนโด (Rondo) ของโมซาร์ทในท่อนสุดท้าย การวิ่งไล่ขึ้นเสียงสูงลิ่วของแนวเดี่ยวไวโอลินแล้ว “ตกตุ้บ” ลงมาสู่เสียงต่ำอย่างรวดเร็วทันทีที่คล้ายคลึงกัน ผู้ที่มี “หูทางดนตรี” สัมผัสความละม้ายคล้ายคลึงกันของบทเพลงคู่นี้อย่างอดยิ้มที่มุมปากมิได้ นี่คือแบบอย่างทางดนตรีที่โมซาร์ท น่าจะได้รับมาจากบทเพลงชนิดเดียวกันที่โยเซฟ โบโลญ เขียนขึ้นเมื่อ 2 ปีก่อน และโมซาร์ทได้ไปสดับมา นี่ไม่ใช่เรื่องน่าอายแต่ประการใดในวงการศิลปะต่างรับรู้กันเป็นอย่างดีเสมอมาว่า การได้รับอิทธิพล, รูปแบบ หรือการหยิบยืม (แม้แต่ขโมยมาใช้) เป็นเรื่องธรรมดามาก ความขมขื่นบังเกิดขึ้นเมื่อคนยุคเรากลับเอาโมซาร์ทเป็นตัวตั้ง แล้วเอา โยเซฟ โบโลญ เป็นตัวเปรียบ และเรียกเขาว่า “Le Mozart Noir” (โมซาร์ทดำ)

ณ ปัจจุบันศตวรรษที่ 21 การเหยียดสีผิว, เหยียดเชื้อชาติ ยังคงมีให้เห็นอยู่ดาษดื่น เราจึงไม่ต้องสงสัยว่า โยเซฟ โบโลญ จะต้องฝ่าด่านปราการเรื่องนี้มากแค่ไหนในศตวรรษที่ 18 เมื่อเขาต้องใช้ชีวิตในกรุงปารีสที่ได้ชื่อว่ากำลังเป็นศูนย์กลางวัฒนธรรม (ผู้ดี) ของยุโรป การได้รับบรรดาศักดิ์ “อัศวินแห่งแซงท์จอร์จส์” (Chevalier de Saint-Georges) ต้องเป็นเรื่องที่ไม่ธรรมดา และถ้าเราจะเปรียบเทียบเขากับโมซาร์ท ก็อาจเปรียบเทียบพ่อของเขากับพ่อของโมซาร์ทได้อีกในเรื่องของความรักลูก, เชื่อและศรัทธาในอัจฉริยภาพของลูก ซึ่งในกรณีนี้ผู้เขียนคิดว่าพ่อของโยเซฟ โบโลญ อาจต้องทำงานหนักกว่าในอันที่จะผลักดันลูกชายผิวดำให้กลายเป็นบุคคลโดดเด่นในแวดวงผู้ดี, ชนชั้นสูงของฝรั่งเศส บิดาของโยเซฟ โบโลญ มีนามว่า “จอร์จ โบโลญ” (George de Bologne) เป็นขุนนางผู้รับใช้หน้าห้องบรรทมของพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 และไปทำไร่กาแฟ ไร่อ้อยในแถบหมู่เกาะกัวเดอลูป์ (Guadeloup) แถบทะเลคาริบเบียนอันเป็นอาณานิคมของฝรั่งเศส เขาไปได้ภริยารองนามว่า “นานอง” (Nanon) เธอเป็นเพียงข้าทาสผิวสีที่ทำงานในไร่ของเขา (เชื่อกันว่าเธอมีเชื้อสายเซเนกัล)

ครอบครัวใหญ่ของ “จอร์จ โบโลญ” ที่กรุงปารีสมิได้รังเกียจเดียดฉันท์ ในสองแม่ลูกนี้หลังบุตรชายผิวสีเลือดผสมผู้นี้ถือกำเนิดขึ้นมา เขาเล็งเห็นพรสวรรค์ล้นเปี่ยมในตัวบุตรชาย จึงนำสองแม่ลูกเดินทางมายังกรุงปารีสและนำลูกชายผู้นี้ออกเปิดเผยต่อสาธารณชน อีกทั้งให้ใช้นามสกุลของเขาอย่างถูกต้องตามกฎหมาย นำโยเซฟ โบโลญ เข้าโรงเรียนประจำที่กรุงปารีส สถาบันแห่งนี้เป็นที่ฝึกฝนความเป็นผู้ดีมีการศึกษาอันเปี่ยมด้วยรสนิยม ซึ่งนอกจากวิชาสามัญแล้ว โยเซฟได้ร่ำเรียนในวิชาที่เสริมความเป็นสุภาพบุษให้เด่นชัดขึ้นด้วยวิชาการฟันดาบและขี่ม้าที่เป็นหนึ่งในคุณสมบัติที่แสดงความเป็นชนชั้นสูง ซึ่งโยเซฟมีความเป็นเลิศ โดยเฉพาะศิลปะการฟันดาบนั้นแทบจะกล่าวได้ว่าเขาเป็นหนึ่งในยุโรปทีเดียว “เฮนรี อังเจโล” (Henry Angelo) ปรมาจารย์สอนวิชาดาบกล่าวถึงโยเซฟว่า “แซงท์-จอร์จส์ ได้ผสมผสานเอาความสง่างามของมารดาและความกำยำกระฉับกระเฉงมั่นใจแน่วแน่ของทางฝ่ายบิดา มาไว้ในตัวเขาอย่างลงตัว”

Advertisement

น่าเสียดายเป็นอย่างยิ่งที่ว่าแม้จะเป็นผู้มีอิทธิพลทางดนตรีซิมโฟนีเป็นอย่างมากแห่งสำนักฝรั่งเศส แต่ประวัติการศึกษาทางดนตรีของเขากลับไม่ได้รับการบันทึกไว้อย่างแน่ชัดมีเพียงการคาดเดากันไปต่างๆ นานา ว่าเขาอาจเป็นลูกศิษย์ทางดนตรีของปรมาจารย์อย่าง “ฟรองซัวส์ โยเซฟ กอสเซ็ค” (Francois-Joseph Gossec), “คาร์ล ชตามิทซ์” (CarlStamitz) และสำคัญที่สุดก็คือผู้ที่ได้ชื่อว่าเป็นตัวแทนปรมาจารย์ไวโอลินผู้ดีแห่งสำนักฝรั่งเศสอย่าง “ฌอง มารีย์ เลอแคลร์” (Jean-Marie Leclair) ยิ่งเราพิจารณาความจริงในแง่ที่ว่าประเทศฝรั่งเศสในช่วงครึ่งหลังของศตวรรษที่ 18 เป็นศูนย์กลางของดนตรีซิมโฟนีก็จะยิ่งเห็นภาพของเขาชัดจนยิ่งขึ้น มีการแสดงซิมโฟนีคอนเสิร์ตสำหรับประชาชนทั่วไปที่มีชื่อเสียงที่จัดโดยองค์กรอย่าง “Concert Spirituel” และต่อมาก็มีอีกองค์กรหนึ่งที่จัดว่าเป็นคู่แข่งสำคัญคือ “Concert de Amatuers” ซึ่ง ฟรองซัวส์ กอสเซ็ค เป็นผู้ควบคุมวงประจำ

ต่อมา ฟรองซัวส์ กอสเซ็ค ได้ลาจากตำแหน่งนี้เพื่อไปรับตำแหน่งที่ Concert Spirituel ทำให้ โยเซฟ โบโลญ ได้เข้ารับตำแหน่งนี้แทน และก็ต้องยุบวงไปในเวลาไม่นานนักด้วยเหตุผลที่ไม่แน่ชัด

หลังการยุบวง “Concert de Amatuers” ไป โยเซฟ โบโลญตั้งวงใหม่ขึ้นมาทันที (คาดกันว่าคงเป็นนักดนตรีกลุ่มเดิมเกือบทั้งหมด และเปลี่ยนชื่อวงใหม่) วงดนตรีวงนี้ทรงอิทธิพลมากยิ่งขึ้นกว่าเดิม ในชื่อว่า “Concert de la Loge Olympique” ภายใต้การอุปถัมภ์ของเครือข่ายสมาคม (ลับ) ฟรีเมสัน (Freemason) แห่งกรุงปารีส (Masonic Loge Olympique) ชื่อเสียงและบทบาทของวงดนตรีวงนี้แผ่ไกลไปยิ่งกว่าเดิม และที่เป็นเรื่องที่จารึกไว้ในประวัติสาสตร์ดนตรีคลาสสิกก็คือ โยเซฟ โบโลญ ผู้นี้เองที่ได้ติดต่อไปยัง “ฟรันซ์ โยเซฟ ไฮเดิน” (Franz Joseph Haydn) เพื่อว่าจ้างด้วยค่าจ้างมหาศาลให้ไฮเดินเขียนซิมโฟนีชุดใหม่จำนวน 6 บท (หมายเลข 82-หมายเลข 87) ในชื่อชุดปารีสซิมโฟนี (Paris Symphonies) อันกลายเป็นผลงานซิมโฟนีชุดสำคัญในศิลปะบทเพลงซิมโฟนีของโลกนี้ และนำออกแสดงโดยวงดนตรีขนาดใหญ่วงนี้ของเขา ซึ่งโยเซฟ โบโลญ ผู้นี้คือวาทยกรที่ควบคุมการบรรเลงซิมโฟนีชุดนี้ในรอบปฐมทัศน์ที่กรุงปารีสด้วยตัวเขาเอง

ความสำเร็จทางดนตรีของโยเซฟ โบโลญ ทั้งในฐานะนักไวโอลิน, ผู้อำนวยเพลงและนักประพันธ์ดนตรีทำให้ผลงานดนตรีของเขาได้รับการตีพิมพ์เป็นจำนวนมากในช่วงทศวรรษ 1770 ไม่ว่าจะเป็น “ซิมโฟนี คอนแชร์ตานเต” อันยอดนิยมในขณะนั้น, สตริงควอเต็ท (เขาคือผู้บุกเบิกรสนิยมด้านนี้คนแรกๆ ของฝรั่งเศส) และเพลงบรรเลงเดี่ยวแบบโซนาตาทั้งหลาย เขาเริ่มไต่ระดับขึ้นไปสู่การประพันธ์ละครอุปรากร (Opera) จนในราวปี ค.ศ.1775 ก็ได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงตำแหน่งผู้อำนวยการคณะอุปรากรแห่งราชสำนัก (Paris Opera) และก็ต้องเจอตอชิ้นใหญ่ เมื่อมีคณะสุภาพสตรี 3 นางแห่งอุปรากรร่วมกันยื่นฎีการ้องเรียนไปยังพระราชินีมารี อองตัวเน็ต (Marie Antoinette) ในใจความที่ว่า “เกียรติยศ และธรรมชาติอันละเอียดอ่อนในกมลสำนึกของพวกข้ากระหม่อม มันคงจะเป็นไปไม่ได้เลย ที่จะต้องถูกปกครองอยู่ใต้การบังคับบัญชา ของพวกมูลัตโต” (Mulatto = ข้าวนอกนา, คำใช้เรียกอย่างเหยียดหยามสำหรับพวกลูกครึ่งเลือดผสมผิวขาว-ผิวดำ) ราชสำนักจำต้องโอนอ่อนผ่อนตามแม้จะต้องทิ้งตำแหน่งนี้ให้ว่างลงไปด้วยเหตุผลที่หาผู้ที่มีคุณสมบัติเหมาะสมคู่ควรกับตำแหน่งมิได้ นี่คือบาดแผลลึกในใจแห่งการเหยียดสีผิวอย่างเปิดเผยที่ โยเซฟ โบโลญ ต้องทนรับเอาไว้

ในบั้นปลายชีวิต โยเซฟ โบโลญ เข้าร่วมอุดมการณ์ปฏิวัติฝรั่งเศสหลังปี ค.ศ.1789 เขาเป็นผู้ควบคุมกองกำลังอาสาสมัครผิวดำ ในประเทศอังกฤษ ใช้พรสวรรค์ทางวิชาเพลงดาบ ในการสู้รบจนภาพวาดของเขากลายเป็นภาพที่สวมเครื่องแบบทหารและถือดาบจนเป็นที่ชินตา และหนึ่งในทหารเสือคู่ใจของเขาระหว่างภารกิจทางการทหารก็คือ Thomas Alexandre Dumas บิดาของนักเขียนนวนิยายชื่อดัง Alexandre Dumas ที่เขียนเรื่อง “สามทหารเสือ” (The Three Musketeers) อันโด่งดัง และก็ไม่น่าจะผิดพลาดหากเราจะเชื่อกันว่า “ดาตายัง” (d’Artagnan) พระเอกของเรื่องก็คือ โยเซฟ โบโลญ เชวาลิเยร์ เดอ แซงท์จอร์จส์ ผู้ที่เรากำลังอ่านเรื่องราวของเขาอยู่นี่เอง หลังศตวรรษที่ 20 เรื่องราวและผลงานดนตรีของ “โมซาร์ทดำ” ผู้นี้เริ่มได้รับการรื้อฟื้นคืนความเป็นธรรมให้หลังความตาย และถ้าป็นเช่นนี้ “วอล์ฟกัง อมาเดอุส โมซาร์ท” ของเรา ควรได้รับฉายาใหม่ดีไหมว่าป็น “White Saint-Georges” หรือ “White Bologne”

บวรพงศ์ ศุภโสภณ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image