แท็งก์ความคิด : ฟังแล้วมีหวัง

แท็งก์ความคิด : ฟังแล้วมีหวัง รับฟังข้อมูลจากการสัมมนา “ปลุกพลังส่งออก

รับฟังข้อมูลจากการสัมมนา “ปลุกพลังส่งออก พลิกเศรษฐกิจไทย” ที่จัดขึ้นเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาสนุกมาก
ยิ่งได้รับทราบว่า การส่งออกของไทยกำลังเป็นความหวัง ยิ่งสนุก

เริ่มแรกได้ฟัง นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ปาฐกถา
ฟังแล้วเห็นภาพเมื่อมีการเปรียบเทียบ

จากปี 2561 รายได้ประเทศไทยที่พึ่งพาการส่งออกและการท่องเที่ยว
แยกเป็นรายได้จากการท่องเที่ยว 11.37 เปอร์เซ็นต์ของจีดีพี
ขณะที่รายได้จากการส่งออกทั้งสินค้าและบริการเท่ากับ 59.74 เปอร์เซ็นต์ของจีดีพี

เมื่อแยกรายได้จากการส่งออก พบว่า เป็นรายได้จากการส่งออกสินค้า 44.69 เปอร์เซ็นต์ และรายได้จากการส่งออกบริการ 15.05 เปอร์เซ็นต์

Advertisement

นี่คือข้อมูลเมื่อปี 2561 ก่อนที่โรคโควิด-19 ระบาด

หลังจากนั้น โรคโควิด-19 แผลงฤทธิ์ ทำให้โลกหยุดชะงัก รายได้จากการท่องเที่ยวหล่นวูบ
จาก 11.37 เปอร์เซ็นต์ของจีดีพี เหลือเพียง 1.87 ของจีดีพี
แต่รายได้จากการส่งออกทั้งสินค้าและบริการกลับยังมั่นคง

การส่งออกยังคงเป็น 55.31 เปอร์เซ็นต์ต่อจีดีพี
แยกเป็นรายได้จากการส่งออกสินค้า 50.83 เปอร์เซ็นต์ของจีดีพี และรายได้จากการส่งออกบริการ 4.48 เปอร์เซ็นต์ของจีดีพี

Advertisement

เมื่อโฟกัสเฉพาะ “การส่งออกสินค้า” จะเห็นการเติบโตที่ชัดเจน
และเมื่อตรวจสอบยอดการส่งออกในปี 2564 พบว่า 5 เดือนที่ผ่านมาตัวเลขมีแต่เพิ่มขึ้น

การส่งออกจึงเป็นความหวังขับเคลื่อนเศรษฐกิจ
รอให้การท่องเที่ยวกลับคืนมา รายได้ของประเทศก็จะมีมากขึ้น

ไทยเราคงจะไปต่อได้

ข้อมูลจากการสัมมนาระบุว่า ปีนี้ยอดการส่งออกน่าจะทำให้ทุกคนชื่นใจ

สำหรับการส่งออก สถานการณ์ในปีนี้อยู่ในช่วงขาขึ้น
วงเสวนาทั้งภาครัฐและภาคเอกชน จึงมองข้ามช็อตไปปีหน้าแล้ว

มองว่าปี 2565 การส่งออกของไทยต้องเผชิญหน้ากับอะไร
ภาครัฐและภาคเอกชนต้องปรับตัวเพื่อรับมือกับการแข่งขัน
เพราะในขณะที่ไทยเริ่มฟื้นตัว ประเทศอื่นๆ เขาก็เริ่มฟื้นตัวเช่นกัน
ดังนั้น ความพร้อมในการเข้าสู่การแข่งขันค้าขายในปี 2565 จึงสำคัญ

ทราบว่า กระทรวงพาณิชย์โฟกัส 4 ประเด็นใหญ่ๆ ที่จะเกิดขึ้นในปีหน้าเอาไว้

หนึ่ง คือ การผนึกกำลังระหว่างรัฐกับเอกชน
ยึดนโยบาย “รัฐหนุน เอกชนนำ” เป็นหลัก
จัดทีมเซลส์แมนระดับชาติและระดับจังหวัด
ผลักดันให้เกิด มินิ เอฟทีเอ

สอง คือ ผลักดันให้เอกชนปรับตัวตามกระแสโลก
โดยเฉพาะการกีดกันทางการค้าที่มิใช่ภาษี
การสร้างมาตรฐานด้านต่างๆ ขึ้นมา ไม่ว่าจะเป็นแรงงาน สิทธิมนุษยชน และโลกร้อน หากไม่ปรับตัวอาจมีปัญหาในการค้าขาย
นอกจากนี้ ยังต้องจับตาการใช้ความมั่นคงมาผูกพันกับการค้า
ดั่งเช่นสหรัฐอเมริกาจับมือกับอังกฤษและออสเตรเลีย รวมไปถึงการที่จีนส่งสัญญาณเข้าร่วม “ซีพีทีพีพี”
ทุกอย่างกระทบต่อไทย

สาม คือ ผลักดันให้เอกชนใช้ประโยชน์จากเอฟทีเอ

และ สี่ คือ ส่งเสริมภาคบริการให้มากขึ้น ทั้งคอนเทนต์ โลจิสติกส์ ท่องเที่ยว

ทางด้านเวทีภาคเอกชนก็แสดงทรรศนะการส่งออกในสถานการณ์โรคโควิด-19 ระบาด
ภาคเอกชนนำเสนอในมุมมองที่ต้องอยู่กับโควิด-19
และมีมุมมองน่าสดับฟัง เพราะเป็นมุมมองที่คอยพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาส
และบอกเล่าวิธีการเผชิญหน้ากับโรคระบาดที่ส่งผลเขย่าโลก
ฟังแล้วทำให้ได้คิด
ถ้าจะเอาชนะอุปสรรค ต้องมองปัญหาในด้านบวก

เห็นปัญหาเป็นโอกาส และนำโอกาสมาสร้างสรรค์ ผลักดันให้ความฝันเป็นความจริง
ฟังการสัมมนาครั้งนี้แล้วมีกำลังใจเพิ่มขึ้น
อย่างน้อยก็มองเห็นหนทางขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศต่อไป
และยังได้เห็นหัวใจของฝ่ายรัฐและฝ่ายเอกชนที่ไม่ย่อท้อต่ออุปสรรค
แม้ต้องเผชิญหน้ากับสถานการณ์วิกฤตก็ยังสู้

งานสัมมนาครั้งนี้สำเร็จเสร็จสิ้นลงไปได้ด้วยความร่วมมือจากทุกฝ่าย

นายจุรินทร์ หัวเรือใหญ่กระทรวงพาณิชย์ถือธงนำการส่งออก

นายภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า นายเอกฉัตร ศีตวรรัตน์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ดร.รักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการผู้จัดการธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) มีข้อแนะนำที่ทุกฝ่ายต้องนำกลับไปทำการบ้านต่อ

ขณะที่ ดร.พจน์ อร่ามวัฒนานนท์ รองประธานสภาหอการค้าไทย และนายกสมาคมอาหารแช่เยือกแข็งไทย นายยุทธนา ศิลป์สรรค์วิชช์ นายกสมาคมอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มไทย และ ดร.การัณย์ อังอุบลกุล ประธานกรรมการ บริษัท ศรีไทยซุปเปอร์แวร์ โคราช จำกัด คือผู้ปฏิบัติในสถานการณ์จริง

ทุกฝ่ายทำงานร่วมกัน จนการส่งออกประสบผล
ทุกคนบนเวทีได้นำประสบการณ์มาถ่ายทอด
ทำให้สังคมได้รู้ และเกิดความมั่นใจว่าเศรษฐกิจไทยยังมีทางไป
ความหวังของประเทศยังมีอยู่เสมอ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image