‘จุรินทร์’นำ‘พณ.-เอกชน’ ปลุกพลังส่งออก พลิกเศรษฐกิจไทย โดย นวลนิตย์ บัวด้วง

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ปาฐกถาพิเศษเรื่อง “ความหวัง ส่งออกไทย ในมรสุมโควิด”

สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ยืดเยื้อลากยาวข้ามปี เป็นสิ่งเกินคาดของทุกประเทศทั่วโลก รวมถึงประเทศไทย ด้วยเป็นวิกฤตที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วและเหตุการณ์ที่รุนแรงในรอบกว่า 100 ปี แรกๆ ทุกประเทศเตรียมรับมือไม่ทัน ก็ประคองกันไปตามวิถีที่คิดว่าดีที่สุด เมื่อการระบาดทิ้งช่วง ก็เป็นจังหวะที่ทุกประเทศปรับเปลี่ยนและหาวิธีการอยู่รอด

ซึ่งตามหลักพื้นฐานการขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศ ต้องยึดการบริโภค การลงทุน การท่องเที่ยว และการส่งออก ด้วยวิกฤตครั้งนี้รุนแรงกระทบวงกว้างกับทุกภาคส่วน หนักสุดเจอทันทีคือหยุดการเดินทาง ก็เหมือนหยุดท่องเที่ยว ชะลอลงทุนและบริโภคตามมา

สำหรับประเทศไทยถือว่าโชคดี แม้เครื่องจักรขับเคลื่อนเศรษฐกิจ 3 ตัวติดขัด แต่ก็มีภาคส่งออก ที่ยังแล่นไปได้ อัตราขยายตัวเป็นบวกต่อเนื่อง 5-6 เดือนที่ผ่านมา เป็นภาคที่ยังสร้างรายได้และส่งเงินเข้าระบบเศรษฐกิจช่วยพยุงตัวเลขจีดีพีเป็นบวก

เพื่อขยายภาพส่งออกของไทยที่กำลังเกิดขึ้น กำลังเกิดขึ้นในช่วงที่เหลือปี 2564 และทิศทางปี 2565 จะไปต่ออย่างไร หนังสือพิมพ์มติชน ได้จัดสัมมนาหัวข้อ “ปลุกพลังส่งออก พลิกเศรษฐกิจไทย” รูปแบบไลฟ์สตรีมมิงผ่านเฟซบุ๊ก เวลา 09.00-12.00 น. ณ อาคารสํานักงาน บริษัท มติชน จํากัด (มหาชน)

Advertisement

ภายในงานสัมมนา แบ่งออกเป็น 3 ช่วง ช่วงแรก นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ปาฐกถาพิเศษเรื่อง “ความหวัง ส่งออกไทย ในมรสุมโควิด” ที่ขอนำคำกล่าวบางส่วนมานำเสนอ “เศรษฐกิจไทยเดินมาถูกทางแล้ว เพราะที่ผ่านมาเราไม่ได้พึ่งพาเศรษฐกิจขาเดียว ในการนำรายได้เข้าประเทศ แต่อย่างน้อยมี 2 ขา คือ การท่องเที่ยวและการส่งออก เมื่อขาหนึ่งเดี้ยงเศรษฐกิจเราก็ยังเดินหน้าต่อได้ เมื่อไหร่อีกขาหนึ่ง ซ่อมเสร็จ สถานการณ์เอื้ออำนวยก็จะยิ่งไปโลด ก่อนโควิด-19 ระบาด ภาคท่องเที่ยวทำรายได้เข้าประเทศสัดส่วน 11.33% ของจีดีพี ภาคส่งออกประมาณ 45% รวมเป็นสัดส่วน 66% ในการขับเคลื่อนประเทศ ตอนนี้ท่องเที่ยวเหลือแค่ 1.87% แต่ส่งออกขยับเป็นสัดส่วน 50.83% เมื่อนำส่งออกบวกท่องเที่ยว ช่วงเกิดโควิดสัดส่วนเหลือ 52% ก็ไม่ถึงกับเลวร้าย โดยภาคส่งออกยังเป็นความหวังการเดินหน้าของเศรษฐกิจ หลักสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศ ….ปีนี้ทำส่งออกทำนิวไฮติดกัน 2 เดือน คือ พฤษภาคมบวก 41% มิถุนายนบวก 43% ต่อเดือนนำเงินเข้าประเทศกว่า 7 แสนล้านบาท ล่าสุด 8 เดือนส่งออกขยายได้ถึง 15.25% สูงกว่าเป้าตั้งไว้ที่ 4% ถึง 4 เท่าตัว”

จากนั้นรองนายกฯจุรินทร์ ก็กล่าวถึงแนวทางผลักดันภาคส่งออก ตั้งแต่การใช้ยุทธศาสตร์ รัฐหนุน เอกชนนำ ผลักดันให้เอกชนเป็นพระเอกเป็นกองหน้าหารายได้ เหมือนเกมฟุตบอล ส่งลูกให้เอกชนยิงประตู พร้อมกับเร่งทูตพาณิชย์หาตลาดใหม่ จัดตั้ง กรอ.พาณิชย์ หรือกระทรวงพาณิชย์จับมือเอกชนเพื่อรับฟังและแก้ปัญหาได้ทันที เช่น ปัญหาตู้คอนเทนเนอร์ขาด ขาดเรือขนส่งขนาดใหญ่ ค่าระวางเรือสูง ต้นทุนกระป๋องแพง เร่งเปิดด่านชายแดน โหมกิจกรรมส่งเสริมการส่งออก เป็นต้น

“สิ่งที่ต้องติดตามและกระทบต่อการส่งออกโลก รวมถึงไทย มีหลายเรื่อง คือ มาตรการการกีดกันทางการค้าในรูปแบบที่ไม่ใช่ภาษีรุนแรงและมีรายการเพิ่มขึ้น ส่วนใหญ่จากประเทศพัฒนาแล้วตั้งมาตรการกีดกันทางการค้าแบบใหม่ เช่น แรงงานสิทธิมนุษยชน สุขอนามัย สิ่งแวดล้อม เป็นต้น อีกเรื่อง คือ ผลจากสหรัฐ อังกฤษ และออสเตรเลีย จับมือกันตั้งไตรภาคีเพื่อความมั่นคงในอินโดแปซิฟิก และการที่จีนจะเข้าร่วมเครือข่ายซีพีทีพีพี ต่อไปโลกไม่ได้แบ่งค่ายเฉพาะทางการเมือง แต่ยังเอาเศรษฐกิจการค้าระหว่างประเทศมามัดติดกับการเมืองและแบ่งค่ายกัน เพื่อสร้างอำนาจต่อรองการค้าโลก….” นายจุรินทร์ ทิ้งท้ายให้ทุกฝ่ายได้คิดต่อไปว่าจะรับมือกันอย่างไร

Advertisement
เสวนาหัวข้อ “2021 สู่ 2022 ทิศทางส่งออกไทย”

จากนั้นก็เข้าช่วงที่สอง เสวนาเรื่อง “2021 สู่ 2022 ทิศทางส่งออกไทย” ดำเนินรายการโดย จอมขวัญ หลาวเพ็ชร์ เริ่มที่ นายภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) ตอนหนึ่งกล่าวว่า “สิ่งสำคัญที่ภาคการส่งออกไทยต้องคำนึงถึงมากสุดคือ ความปลอดภัยภายใต้การระบาดโควิด-19
ไปพร้อมกับปรับต้วให้ทันกับสถานการณ์ของโลกที่เปลี่ยนไป จะเกิดเมกะเทรนด์อีกหลายเรื่องที่มีส่วนขับเคลื่อนการส่งออก อาทิ ดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชั่น ส่วนแนวโน้มเดือนที่เหลือปี 2564 ส่งออกยังสามารถขยายตัว ได้ แม้ตัวเลขอาจชะลอตัวลงบ้าง เพราะฐานเริ่มปรับสูงขึ้นช่วงปลายปี 2563 คาดว่าส่งออกทั้งปี 2564 ขยายตัวได้ 2 หลัก สินค้าขยายตัวได้ทั้งเกษตร อุตสาหกรรม ของใช้ภายในบ้าน สินค้าเพื่อผู้สูงวัย ส่วนปี 2565 สถานการณ์การระบาดโควิดน่าจะเริ่มดีขึ้น วัคซีนเริ่มกระจายได้มากขึ้น แม้โควิดยังคงอยู่กับเราต่อไป แต่ภาคการส่งออกยังมีทิศทางการเติบโตได้ต่อ แต่อาจไม่ได้โตสูงๆ เหมือนปีนี้ เพราะฐานสูง…”

จากนั้น นายเอกฉัตร ศีตวรรัตน์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ กล่าวถึงยุทธศาสตร์นำพาส่งออกขยายตัวได้ดี คือ ดำเนินการในลักษณะ “3 พ 1 ป” นั่นคือ 3 การพัฒนา ประกอบด้วย 1.พัฒนาช่องทางการตลาดในยุคดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชั่น เช่นใช้วิธี Mirror-Mirror Project 2.พัฒนาเพิ่มมูลค่าด้วยนวัตกรรม และ 3.พัฒนาบุคลากรเกี่ยวข้องกับการค้าระหว่างประเทศ ส่วน 1 ป คือ ประชาสัมพันธ์สินค้าให้ตรงเป้าหมาย ส่วนปี 2565 วัคซีนเป็นตัวสำคัญ จะขับเคลื่อนได้มากแค่ไหน และเชื่อว่าการท่องเที่ยวจะกลับเข้ามา สินค้าด้านนี้ก็จะขายได้มาก…

เสวนาหัวข้อ “มุมมองผู้ส่งออก ความหวังเศรษฐกิจไทย”

อีกคนในช่วงนี้ คือ ดร.รักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการผู้จัดการธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (เอ็กซิม แบงก์) ย้ำให้เห็นว่าโลกเปลี่ยนไปแล้ว เปรียบเหมือนมีแม่น้ำสี่สาย ปิง วัง ยม และน่าน มาบรรจบกัน คือ 1.ค่าเงินบาทดี 2.เศรษฐกิจโลกฟื้น 3.สินค้าไทยเป็นที่ต้องการ และ 4.ความอัดอั้นที่ต้องการสินค้าจำนวนมาก ดังนั้น ปี 2565 จึงเป็นความท้าทาย สิ่งสำคัญคือ การปรับตัว ปี 2565 ถึงเวลาที่ต้องปรับตัว ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน รู้ให้ทันสิ่งเกิดขึ้น เช่น จำนวนเอสเอ็มอีไทยมากแต่มูลค่าส่งออกต่ำกว่าเวียดนาม หนี้ครัวเรือนสูง พฤติกรรมผู้บริโภคในโลกอนาคต รักง่าย หน่ายเร็ว และสังคมสูงวัยเพิ่มขึ้น เหล่านี้จะเตรียมพร้อม

“โควิดไม่ใช่ความเสี่ยง แต่ความเสี่ยงคือ ความไม่รู้ และความกลัว ซึ่งเมื่อรวมความไม่รู้กับความกลัว ทุกอย่างก็จะเสี่ยงไปหมด” ดร.รักษ์กล่าว

ในช่วงที่สาม เสวนาเรื่อง “มุมมองผู้ส่งออก ความหวังเศรษฐกิจไทย” โดยเชิญผู้บริหารระดับสูงที่เป็นตัวแทนจากภาคเกษตรและเกษตรแปรรูป ภาคอุตสาหกรรม ภาคสินค้าอุปโภคบริโภค-สินค้าทั่วไป ดำเนินรายการโดย ชัยรัตน์ ถมยา

ดร.พจน์ อร่ามวัฒนานนท์ รองประธานกรรมการ หอการค้าไทย ในฐานะนายกกิตติคุณ สมาคมอาหารแช่เยือกแข็งไทย เปิดฉากวิเคราะห์สถานการณ์การส่งออกไทยไตรมาส 4/2564 ไว้ว่า เชื่อว่า 3 เดือนส่งท้ายปีนี้ จะยังขยายตัวได้ในตัวเลข 2 หลักแน่นอน แม้เดือนสิงหาคมจะถูกดิสรัปชั่นจากการมีประเด็นตู้คอนเทนเนอร์ และการเดินเรือที่ไม่สามารถเดินเรือได้ตามปกติ หากเดินเรือได้ตามปกติส่งออกบวกได้อีก 10-20% แน่นอน เนื่องจากมีคำสั่งซื้อเข้ามาแล้ว รวมกับอานิสงส์ค่าเงินบาทอ่อนค่าต่อไป จะหนุนเดือนกันยายน-ตุลาคมส่งออกสินค้ารับเทศกาลคริสต์มาสถึงเทศกาลตรุษจีนได้มากขึ้น ดังนั้น รัฐต้องแก้เรื่องขนส่งให้ได้ตามปกติ รวมถึงลดปัญหาค่าระวางแพง เพราะอย่างไรสินค้าไทยยังเป็นที่ต้องการ

“การแพร่ระบาดของโควิด-19 ปัญหา อุปสรรค ที่มีอิทธิพลต่อการดำเนินธุรกิจขนาดใหญ่ พร้อมแนะนำทางออกรวมถึงประเด็นที่ภาครัฐต้องให้การสนับสนุน เพื่อให้ผู้ประกอบการและภาคส่งออกยังคงเป็นเครื่องยนต์ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย ผมมองว่ายังสามารถโตผ่านไปได้เรื่อยๆ โดยปักธงไว้ว่าเราต้องการเติบโตที่เท่าใด อาทิ ในปี 2565 ต้องการโตเท่าใด แต่ไม่อยากให้คิดปีหน้า อยากให้วางยุทธศาสตร์ในการส่งออก 5 ปีต่อจากนี้ ว่าในแต่ละอุตสาหกรรมต้องการโตที่เท่าใด แม้จะ
ไม่ถึงก็ไม่เป็นไร แต่เป้าหมายที่วางไว้ถือเป็นจุดสูงสุดไว้ แม้ประเด็นการเมืองก็ยังเห็นการเติบโตมาตลอด ขอเพียงอย่างเดียวคือ ไม่สนับสนุนก็อย่าขวาง หรือหากจะสนับสนุนด้วยก็จะดีมาก” ดร.พจน์กล่าว

พร้อมกันนี้ นายยุทธนา ศิลป์สรรค์วิชช์ นายกสมาคมอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มไทย ฉายมุมมองในฐานะเอกชนว่า เหลือเวลา 3 เดือน ถ้ามองฝั่งของการส่งออกมีความเป็นไปได้จะเติบโตอีก 10% ในภาวะโรงงานเปิดปกติ ปีนี้มีสิทธิถึง 2.5 แสนล้านบาท ถ้าเติบโต 10% ในหลานสินค้า จะเป็นนิวไฮตัวใหม่มากกว่าปีก่อนเกิดโควิด แต่อย่างไรก็ตาม สินค้าไลฟ์สไตล์รวมเครื่องนุ่งห่มและสิ่งทอ ภาพรวมปีนี้จะบวกได้ 10-12% จากติดลบ 16-18% ปีก่อน ส่วนที่เกิดขึ้นตอนนี้ คือ ยอดสั่งล่วงหน้า 6 เดือน เหลือ 3-4 เดือน ตอนนี้ต้องออนไลน์ ที่บอกว่าเป็น “นิวนอร์มอล” ตอนนี้ต้อง “นิวนิวนอร์มอล”

“เอสเอ็มอีอยู่ในสภาวะการแข่งขันที่ไม่เหมือนเดิม หากราคาถูก ไม่เร็ว ลูกค้าก็ไม่ซื้อ ต้องถูก ต้องเร็ว คุณภาพดี เซอร์วิสดี ทุกอย่างต้องไปพร้อมกัน ภาพอยากจะเห็นรัฐและเอกชนร่วมกันวิจัยเพิ่มมูลค่าสินค้า อะไรที่เป็นอุปสรรคเอาออกไป อนาคตต้องวางแผนระยะยาว ขาดแค่การวิจัยในอุตสาหกรรม ใช้เงินแค่หลักร้อยล้าน แต่เพิ่มมูลค่าได้เป็นแสนล้าน จะดันให้การส่งออกสูงขึ้น ต้องเป็นเรื่องฟังก์ชั่น ฟิวเจอร์ของสินค้า อนาคตรัฐและเอกชนต้องร่วมกัน เพื่อให้ทันโลกเปลี่ยนเร็วมาก จะก้าวกระโดด แค่เปลี่ยนไม่ได้ ต้องกระโดด สปริงบอร์ด โดยประเด็นท้าทายปีหน้า คือ ต้องหาโอกาสทางธุรกิจให้เจอ ต้องอัพสกิลคนในองค์กรให้เขาเปลี่ยนแปลงตัวเองให้ทันและการใช้เทคโนโลยี ไม่ได้ใช้มาก่อนมาเป็นองค์ประกอบ” นายยุทธนากล่าว

อีกมุมมองจากผู้บริหารสินค้าที่ใช้ในชีวิตประจำวัน นายการัณย์ อังอุบลกุล ประธานกรรมการบริษัทศรีไทย ซุปเปอร์แวร์ โคราช จำกัด กล่าวไว้ว่า กลุ่มของใช้บนโต๊ะอาหารอุตสาหกรรมนี้เติบโตมาตลอด และไตรมาส 4 ปีนี้ คาดว่าจะขยายตัวได้อีกมาก หากไม่มีการระบาดของโควิดที่รุนแรงขึ้นกว่านี้ คาดว่าส่งออกจะขยายตัวได้ไม่ต่ำกว่า 30%

“หลายเมืองเริ่มมีกิจกรรม ในสหรัฐ ยุโรป เห็นเล่นดนตรี จัดกิจกรรมบันเทิง ยอดซื้อสินค้าทั่วไปเริ่มมาต่อเนื่อง ปีนี้อารมณ์การฉลองปีใหม่น่าจะดีกว่าปีก่อน คนเริ่มอยู่ได้เป็นกับการระบาดของโควิด-19 ซึ่งคำสั่งซื้อที่เคยชะลอตัวก็เกิดในช่วงที่โควิดระบาดใหม่ๆ ส่วนปัญหาที่ยังต้องเผชิญ ก็หนีไม่พ้นการกีดกันทางการค้า ทำให้ซัพพลายเออร์ต้องหาทางเลือกใหม่ๆ ในการสั่งสินค้า ซึ่งเอกชนต้องทำงานในเชิงรุกมากขึ้นในการเข้าหาลูกค้า รวมทั้งต้องผลิตและส่งมอบให้ได้ตามที่ลูกค้ากำหนด แต่ปัญหาเรื่องการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ ค่าระวางเรือ ความแออัดของท่าเรือยังเป็นปัญหา ก็หวังภาครัฐเร่งช่วยเหลือและมั่นใจว่าคลี่คลายได้ในอนาคต” นายการัณย์ ทิ้งท้ายไว้

นี่คือหลากหลายไอเดีย สร้างโอกาสในวิกฤตโควิด

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image