คุยกับทีมแพทย์ฉุกเฉิน กลางวิกฤตโควิด เพราะทุกนาทีคือ‘ชีวิต’ ไม่มีสแตนด์อินและการสั่งคัต

วินาทีชีวิตอาจเป็นคำคุ้นหูในข้อเขียนและบทสารคดี

ทว่า ในโลกแห่งความเป็นจริง ผู้ที่เห็นคุณค่าของเสี้ยววินาทีนั้นอย่างจริงแท้ ย่อมเป็นผู้มีประสบการณ์ตรงต่อเหตุการณ์ที่ความตายอยู่เบื้องหน้า

แน่นอนว่า หนึ่งในนั้นคือ ‘ทีมแพทย์ฉุกเฉิน’ ผู้ต้องคลุกคลีอยู่กับความเป็นและความตาย โดยเฉพาะในสถานการณ์โควิดที่ยอดผู้ติดเชื้อในแต่ละวันของไทยยังทะลุหลักหมื่น

ย๊ะหยา มั่นคง, ศุภกิตติ์ เวียนเสี้ยว, ณัฐกิต ศรีเนาเวช และสุรศักดิ์ แต้มครบุรี 4 หนุ่มตัวแทนแห่งหน่วยปฏิบัติการฉุกเฉินการแพทย์โรงพยาบาลรามาธิบดีจักรีนฤบดินทร์ มาร่วมแชร์แนวคิดและประสบการณ์ในฐานะนักปฏิบัติการฉุกเฉินการแพทย์ที่ต้องรับมือกับนาทีชีวิตในทุกวัน

Advertisement

กายพร้อม ใจก็ต้องพร้อม

เพราะชีวิตจริงไม่มีสแตนด์อินและการสั่งคัต

“สิ่งที่ทำให้พวกเรามาอยู่ร่วมกันในทีมนี้ได้ เพราะมีเป้าหมายเดียวกัน คืออยากทำงานที่รักและมีโอกาสได้ช่วยเหลือคนอื่น อาจดูเป็นแนวคิดทั่วๆ ไป แต่การที่ทำงานอยู่ตรงนี้ได้ การมีจิตใจที่เข้มแข็งเป็นเรื่องสำคัญมาก เพราะเราพบเจอความเป็นความตายในทุกๆ วัน บางครั้งคนที่เราช่วยเสียชีวิตลงระหว่างทางไปโรงพยาบาลก็มี แต่แน่นอนว่าทุกครั้งที่ออกปฏิบัติงานเป้าหมายคือการช่วยเหลือชีวิตคนให้เกิดการสูญเสียน้อยที่สุด

Advertisement

นอกจากจิตใจที่ต้องเตรียมพร้อมและตื่นตัวอยู่เสมอเวลาที่ลงเวรแล้วร่างกายก็ต้องพร้อมด้วย ยิ่งตอนนี้การออกทำงานในแต่ละครั้งมีขั้นตอนเพิ่มขึ้น ทั้งการใส่ชุด PPE การเฝ้าระวังโควิด ทุกความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นล้วนแล้วแต่เป็นอุปสรรคในการทำงาน” 4 สมาชิกทีมแพทย์ฉุกเฉินร่วมกันเล่า ก่อนลงรายละเอียดถึงเหตุการณ์ที่เคยประสบพบเจอ

“สถานการณ์ฉุกเฉินที่ทีมเราเคยได้เข้าไปช่วยเหลือมีหลากหลายรูปแบบมาก มีทั้งช่วยเหลือคนคลอดลูกภายในบ้าน การเคลื่อนย้ายผู้ป่วยติดเตียงผ่านทางเรือ หรือการช่วยเหลือเคลื่อนย้ายผู้ป่วยโควิดในสถานที่ที่รถเข้าไม่ถึง มีเคสหนึ่งเมื่อเร็วๆ นี้ที่ทีมได้เข้าไปช่วยเหลือคุณยายอายุ 98 ปี ที่ติดเชื้อโควิดและพักอาศัยอยู่คนเดียวในบ้านไม้หลังเล็กๆ ที่ทางเดินไปนั้นต้องเดินข้ามคลองโดยมีไม้กระดานแผ่นเดียว ทำให้ต้องจอดรถพยาบาลทิ้งไว้แล้วแบกอุปกรณ์แล้วเดินเท้าไปอุ้มคุณยายออกมา แต่เราก็สามารถช่วยเหลือออกมาได้”

นับเป็นเรื่องราวที่จบอย่างน่าประทับใจในการทำหน้าที่ได้อย่างประสบผลสำเร็จ

A-B-C-D คีย์เวิร์ดสำคัญในสถานการณ์‘แข่งกับเวลา’

ถามถึงขั้นตอนการปฏิบัติงานเพื่อช่วยชีวิตโดยมุ่งหมายให้เกิดความสูญเสียน้อยที่สุด ในเหตุการณ์ที่ทีมปฏิบัติการฉุกเฉินต้องแข่งกับความเร่งด่วนเวลา ได้คำตอบว่า ทีมเวิร์กและการวางแผนแบ่งหน้าที่คือคีย์เวิร์ดสำคัญ

“ในการปฏิบัติงานทุกครั้งเราจะจัดทีมออกไปเฉลี่ยครั้งละประมาณ 3-4 คน แล้วแต่ความรุนแรงของสถานการณ์ซึ่งเราจะมีตัวย่อเรียกชื่อตำแหน่งความรับผิดชอบของแต่ละคนดังนี้ A-Airway ดูแลทางเดินหายใจผู้ป่วย, B-Breathing การช่วยกระตุ้นเรื่องระบบการหายใจ, C-Circulation ดูแลเรื่องการไหลเวียนเลือดและการให้น้ำเกลือผู้ป่วย, และ D-Disability การประเมินและเช็กความรู้สึกตัวของผู้ป่วย ซึ่งทุกคนต้องทำหน้าที่ประสานงานควบคู่กันไปเพื่อให้การช่วยเหลือผู้ป่วยอย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด ซึ่งในทีม 4 คนนี้จะรวมคนที่ทำหน้าที่ขับรถด้วย อย่างคนที่จะมารับหน้าที่ขับรถพยาบาลได้ก็จำเป็นจะต้องเรียนผ่านหลักสูตร Ambulance Driver ก่อน เพราะการขับรถพยาบาลจำเป็นจะต้องมีความเชี่ยวชาญในการประเมินเส้นทางและวางแผนการเดินทางรับผู้ป่วยจากที่เกิดเหตุเพื่อมาส่งที่โรงพยาบาลโดยใช้เวลาที่น้อยที่สุด” ทีมแพทย์ฉุกเฉินเล่า

‘เวชศาสตร์ฉุกเฉิน’จากสิ่งใหม่วงการแพทย์ไทย

สู่ภารกิจด้านสาธารณสุข

ผศ.ดร.นพ.พงศกร อธิกเศวตพฤทธิ์

ผศ.ดร.นพ.พงศกร อธิกเศวตพฤทธิ์ รองผู้อำนวยการโรงพยาบาลรามาธิบดีจักรีนฤบดินทร์ หรือ ‘อาจารย์บอลลูน’ ของเหล่านักศึกษาแพทย์ในส่วนของเวชศาสตร์ฉุกเฉินพร้อมควบตำแหน่งดูแลหน่วยปฏิบัติการฉุกเฉินการแพทย์ บอกเล่าเป้าหมายแน่วแน่หลังเรียนจบแพทย์จนตัดสินใจมาเรียนต่อด้านเวชศาสตร์ฉุกเฉินในทันที

“ย้อนกลับไปหลายปีที่แล้วภาควิชาเวชศาสตร์ฉุกเฉินถือเป็นสิ่งใหม่มากในวงการแพทย์ของไทย ผมเองเป็นรุ่นที่ 2 ที่เข้าเรียนสาขานี้หลังจากที่รามาธิบดีเปิดสอน ผมมองว่าจุดร่วมสำคัญของแพทย์ที่ตัดสินใจเรียนต่อด้านเวชศาสตร์ฉุกเฉิน คือการเป็นคนที่ชอบทำงานแข่งกับเวลา ถนัดในการทำหัตถการในเวลาที่จำกัด และต้องเป็นคนที่คิดไวกล้าตัดสินใจในสถานการณ์ที่กดดันและต้องรับมือกับความเครียดได้ดี อีกอย่างที่สำคัญคือการที่เราต้องจัดการอารมณ์ได้ดี เพราะนอกจากความเครียดของการทำงานแล้วการรับมือกับอารมณ์ของผู้ป่วยของญาติก็เป็นสิ่งสำคัญ”

ทั้งนี้ ในแต่ละปีประเทศไทยจะเปิดฝึกอบรมแพทย์สาขาวิชานี้ประมาณ 150 คนต่อปี โดยที่คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดีก็มีการผลิตแพทย์เวชศาสตร์ฉุกเฉินปีละประมาณ 14 รายต่อปี

“หากเป็นสมัยก่อนตอนที่ยังไม่มีการผลิตแพทย์เวชศาสตร์ฉุกเฉิน หมอส่วนใหญ่ที่มาลงเวรในห้องฉุกเฉินก็จะเป็นหมออายุรกรรม, หมอศัลยกรรม หมอสูตินรีเวช หรือแพทย์ใช้ทุนเป็นส่วนใหญ่ ดังนั้น ตอนที่ภาควิชาเวชศาสตร์ฉุกเฉินเริ่มพัฒนาหลักสูตรและให้โอกาสผมได้เรียนต่อ รวมทั้งเข้ามาเป็นอาจารย์ประจำภาควิชานี้ จึงเปรียบเสมือนการสานต่อความฝันทำให้ผมได้ถ่ายทอดแนวคิดการทำงาน การใช้ชีวิตและปลูกฝังการเป็นแพทย์ที่ดีต่อไปในอนาคต ยิ่งในตอนนี้ที่บุคลากรทางการแพทย์อย่างเราๆ ต้องรับมือกับการดูแลผู้ป่วยโควิดไม่เว้นในแต่ละวัน ผมมองว่าคนเป็นแพทย์เองก็ต้องเข้มแข็งขึ้นเพื่อให้เราสามารถเป็นที่พึ่งให้กับผู้ป่วยได้” อาจารย์บอลลูนกล่าวอย่างแน่วแน่

การพัฒนาบริการด้านสุขภาพและการยกระดับการเรียนการสอนของหลักสูตรแพทย์ นับเป็นภารกิจสำคัญที่จะช่วยให้ระบบสาธารณสุขไทยก้าวไกลยิ่งขึ้น โดยผู้มีจิตศรัทธาสามารถร่วมบริจาคเพื่อสนับสนุนการทำงานของแพทย์ในทุกภารกิจได้ผ่านมูลนิธิรามาธิบดีฯ

ทีมข่าวเฉพาะกิจ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image