พิษโควิดล็อกดาวน์จนนักดนตรีบ่น‘ลืมเนื้อ’ เสียงจาก‘ห้องซ้อม’ วอนรัฐเลิกร้องเพลงผิดคีย์

พิษโควิดล็อกดาวน์จนนักดนตรีบ่น‘ลืมเนื้อ’ เสียงจาก‘ห้องซ้อม’ วอนรัฐเลิกร้องเพลงผิดคีย์

พิษโควิดล็อกดาวน์จนนักดนตรีบ่น‘ลืมเนื้อ’
เสียงจาก‘ห้องซ้อม’
วอนรัฐเลิกร้องเพลงผิดคีย์

หลังวิกฤตยาวนานนับปีของสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 ที่ส่งผลให้แทบทุกสาขาอาชีพได้รับผลกระทบไม่มากก็น้อย รวมถึงกลุ่มศิลปิน นักร้อง นักดนตรี และคนกลางคืน ตลอดจนผับ บาร์ คาราโอกะที่โดน ‘ปิดก่อน-เปิดทีหลัง’ กระทั่งต้องปิดกิจการกันไปมากมาย เมื่อสายป่านทางการเงินยาวไปไม่ถึงวันที่สถานการณ์คลี่คลาย

ล่าสุด 27 กันยายนที่ผ่านมา คณะกรรมการบริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 มีมติ ‘เห็นชอบ’ ให้มีการ ‘เล่นดนตรีในร้านอาหาร’ ได้ เริ่มตั้งแต่ 1 ตุลาคม เป็นต้นไป

ตลอดระยะเวลากว่า 1 ปีที่ไร้งาน ขาดรายได้ คนเหล่านี้ไม่เคยอยู่นิ่งเฉย ไม่ใช่แค่พยายามดำเนินตามมาตรการรัฐเพื่อสกัดโควิดให้อยู่หมัดได้เร็วที่สุด ยังพากันรวมตัวจัดทำข้อเสนอ รวมถึงยื่นหนังสืออย่างเป็นทางการขอผ่อนปรนและการเยียวยาจากภาครัฐตามสิทธิที่ควรได้

Advertisement

ในการชุมนุมทางการเมือง ศิลปินหลายรายขึ้นเวทีปราศรัย หนึ่งในนั้นคือ เอ้ เดอะวอยซ์ ซึ่งเคยปล่อยมุขทีเล่นทีจริงว่า ‘ลืมเนื้อร้อง’ เพราะตกงานมานานนับปี ทั้งหมดนี้สะท้อนความเดือดร้อนที่ไม่อาจมองข้าม

อย่างไรก็ตาม อีกหนึ่งธุรกิจในวงการดนตรีที่กลับไม่ถูกกล่าวถึงมากนัก อย่าง ‘ห้องซ้อม’ ย่อมเจอผลกระทบอย่างหนัก เพราะถ้านักดนตรีไม่มีงานให้เล่น ก็ไม่มีใครมาใช้บริการ

แม้ ‘พรุ่งนี้’ จะเป็นวันแรกของการกดปุ่มไฟเขียวให้ร้องเพลงในร้านอาหารได้ แต่ก็ยังไม่อาจการันตีว่าธุรกิจห้องซ้อมดนตรีจะฟื้นตัวได้มากน้อยเพียงใด

Advertisement
สันติ ปัญจขันธ์ และ กันตา แซ่ตั้ง เจ้าของห้องซ้อม Music group ย่านดินแดง

‘นักดนตรีไม่มีงานก็ไม่มีใครมา(ห้อง)ซ้อม’
กลับมาเปิดก็เหมือน‘เริ่มใหม่’

สันติ ปัญจขันธ์ และ กันตา แซ่ตั้ง เจ้าของห้องซ้อม Music Group เล่าถึงสถานการณ์ที่ทำให้ลูกค้าและรายได้ที่หายไปอย่างฉับพลันจากการระบาดของโควิด-19

ห้องซ้อมแห่งนี้นับเป็นขวัญใจของเหล่านักดนตรี เปิดให้บริการทั้งมือสมัครเล่นไปจนถึงศิลปินชื่อดังมาเป็นเวลากว่า 30 ปี โดยเช่าพื้นที่ ‘แฟลต (ย่าน) ดินแดง’ มาทำเป็นห้องซ้อม

แม้ไม่ได้ถูกสั่งปิดโดยตรง แต่ด้วยบรรยากาศและสถานการณ์โรคระบาด ทำให้จำนวนลูกค้าที่มาใช้บริการลดลงอย่างเห็นได้ชัด แม้มีมาตรการคัดกรองลูกค้าก่อนเข้าใช้บริการ จากที่เคยปิดบริการไปช่วงหนึ่ง แม้กลับมาเปิดหลังคลายล็อก แต่ยังคงเงียบเหงา

“เปิดมา 34-35 ปี คนมาซ้อมเยอะ ส่วนมากเป็นวงอินดี้ซ้อมไปอัดเพลง ทำเพลง วงนักเรียนก็เยอะ บางทีเยอะจนขี้เกียจ วันละ 14-15 วง บางวงจองยาวๆ 10.00 น. ถึง 20.00 น. อัดส่งงานอะไรอย่างนี้ ช่วงนี้กลับมาเปิดก็เหมือนเริ่มใหม่หมด มาวันละ 1-2 วง ยังไม่ค่อยมีใครมาซ้อม คนยังกลัว บางวันไม่มีเลย มาตรการของร้านส่วนใหญ่จะรับเฉพาะคนที่รู้จัก คุ้นเคยกัน จองผ่านเพจเฟซบุ๊ก ให้ลูกค้าล้างมือบ่อยๆ ใส่หน้ากากอนามัย เช็กอุณหภูมิ ยังไม่มีการตรวจเอทีเคในตอนนี้” สันติเล่า

กันตา เสริมด้วยว่า วิกฤตนี้กระทบหนัก ถ้าคิดเป็นเปอร์เซ็นต์จากร้อยเหลือแค่ 5 ถ้าเป็นอย่างนี้ต่อไปอีกสักปีก็อาจต้องปิดกิจการ

“อาจเปลี่ยนไปทำอย่างอื่นเพราะอายุมากแล้ว มีน้องนักดนตรีบางคนอัพรูปในเฟซบุ๊ก กลับไปทำไร่ที่บ้านแล้วก็มี ไปอยู่ต่างจังหวัด กระจัดกระจายกันหมด”

ระลอก 3 ทำรายได้เป็นศูนย์
‘เรียนออนไลน์’ อีกเหตุลูกค้าหาย

อีกหนึ่งห้องซ้อมที่ได้รับผลกระทบหนักถึงขั้นรายได้เป็นศูนย์จากโควิดระลอก 3 คือ Soundspace ห้องซ้อมและห้องอัดย่านปิ่นเกล้า ซึ่งก่อนหน้าการมาถึงของไวรัสโคโรนา 2019 มีนักเรียน นักศึกษามาใช้บริการแทบทุกวัน กระทั่งธุรกิจต้องพลิกผันอย่างไม่ทันตั้งตัว

มนัส ศรยุทธเสนี หรือเดฟ แห่ง Soundspace
สฐิร จุฬาพงษ์วนิช เจ้าของห้องอัดและห้องซ้อม Soundspace ย่านปิ่นเกล้า

สฐิร จุฬาพงษ์วนิช หรือเป้ และ มนัส ศรยุทธเสนี หรือเดฟ เจ้าของกิจการ เล่าว่า ในช่วงที่มีการปิดผับ ปิดร้านอาหาร นักดนตรีไม่สามารถเล่นดนตรีได้ จึงไม่ได้มาซ้อม พอไม่มีผับ ไม่มีร้านอาหาร ไม่มีความบันเทิง ศิลปินไม่มีงานให้เล่น ก็ไม่มีความจำเป็นที่ต้องมาซ้อม

“เปิดร้านมาเป็นปีที่ 8 แล้ว กลุ่มลูกค้ามีทั้งนักดนตรีอาชีพ วงนักเรียน คนทั่วไป ที่นี่มีบริการทั้งห้องซ้อมและห้องอัด เมื่อก่อนมีคนใช้บริการ 1-3 วงต่อวัน แต่จะมีทุกวัน พอเกิดโควิด เปลี่ยนแบบทันทีเลย ไม่ใช่ค่อยๆ เปลี่ยนนะ แบบหายไปเลยเป็นศูนย์ ตอนรอบแรกรอบสอง ยังไม่หนักมาก ยังพอมีลูกค้าใกล้ๆ เด็กมหา’ลัยใกล้ๆ มาซ้อม แต่พอมารอบสามมันหนักขึ้น รายได้เป็นศูนย์มา 2 เดือนแล้ว จากมีลูกค้าทุกวัน ตอนนี้ไม่มีเลย”

ที่น่าสนใจคือ เป้และเดฟยังบอกด้วยว่า การ เรียนออนไลน์ ยังเป็นหนึ่งในสาเหตุที่ห้องซ้อมไม่อยู่ในลิสต์ของวิถีชีวิตของเยาวชน

“เด็กนักเรียนทยอยหายไป ยิ่งเรียนออนไลน์เด็กไม่ได้เจอกัน ไม่ได้มีกิจกรรมวันปีใหม่ ไม่มีงานโรงเรียนให้เด็กแสดงความสามารถ เมื่อไม่มีความจำเป็นต้องเล่นทำให้ไม่มีใครมาใช้บริการ”

สำหรับมาตรการของทั้งห้องซ้อมและห้องอัด ทั้งคู่บอกว่า ดูแลตั้งแต่ความสะอาด จนถึงการจำกัดจำนวนผู้เข้าใช้บริการ

“ก่อนเปิดห้องซ้อมจะมีการฉีดฆ่าเชื้อ เช็ดทำความสะอาด และจำกัดจำนวนคน ไม่ให้เกินจำนวนเครื่องดนตรีที่เล่น ไม่ให้มีผู้ติดตาม ส่วนที่ใบฉีดวัคซีนหรือผลตรวจเอทีเค ไม่ได้ถาม เพราะถามไปก็คงไม่มีใครพร้อมมาให้ทุกคน บางคนเขาก็ไม่สะดวกให้ การไปตรวจมันแพงเกิน บางคนมาซ้อมตกคนละไม่เกิน 50 บาท แต่ไปตรวจชุดละ 200-300 บาท คงไม่มีใครยอมเสียเงินมากกว่าค่าห้องซ้อม ยิ่งเราจี้ถามหรือมีกฎเยอะเกินไป ก็เหมือนไล่ลูกค้า…แบบที่นี่เข้มงวดจังเลย ส่วนการคัดกรองใช้ความคุ้นเคย คุ้นหน้า ขาจรจะไม่รับเลย พวกขาประจำถามว่าเสี่ยงไหมที่รับมาก็เสี่ยง แต่ก็ยอมรับความเสี่ยงได้เพราะทุกคนก็พยายามดูแลตัวเอง ใครไม่เอาหน้ากากอนามัยมา ที่นี่ก็มีให้ เอาจริงๆ ต่างคนก็ต่างไม่มั่นใจกันเอง เรากลัวลูกค้า ลูกค้าก็กลัวเรา” เจ้าของ Soundspace ทั้งสองร่วมกันเปิดใจ

1 ตุลาฯ ขยับเคอร์ฟิว เล่นดนตรีได้
(ไม่) ช่วยแก้ปัญหา?

สำหรับความคืบหน้าล่าสุดที่ภาครัฐอนุญาตให้เล่นดนตรีในร้านอาหารได้ และขยับเวลาเคอร์ฟิวเป็น 22.00 น. จากเดิมขีดเส้น 3 ทุ่มตรง ถามว่า จะส่งผลดีต่อธุรกิจความบันเทิงได้มากน้อยแค่ไหน ?

ทาง Soundspace มองว่า มีแค่นักดนตรีบางกลุ่มที่จะสามารถทำงานได้ และเวลาเพียง 1 ชั่วโมงก็ไม่เพียงพอกับรูปแบบการทำงานของนักดนตรี

“มันก็เป็นแค่วงดนตรีบางประเภทที่ไปต่อได้ อย่างพวกวงอะคูสติก หรือร้องกับแบ๊กกิ้งแทร็ก ส่วนวงที่เล่นเต็มวง วงร็อกไม่สามารถเล่นได้ หรือการจ้างศิลปินไปเล่น แต่เพิ่มเวลาแค่ชั่วโมงเดียว ไม่เพียงพอกับการโชว์ของเขา คนที่ไปนั่งรับประทานอาหารที่ร้านเองก็อาจจะยังไม่วางใจที่จะออกจากบ้านนานๆ อาจไปแค่ครึ่งชั่วโมงแล้วกลับ ไม่ได้ไปนั่งฟังเพลง ประชาชนยังไม่มั่นใจกับการจัดการปัญหาของรัฐ เลยคิดว่าการคลายล็อกคงไม่ช่วยอะไรมากนัก รัฐบาลต้องให้ความมั่นคงทางวัคซีนและความปลอดภัยให้คนไทยก่อน จากนั้นทุกอย่างจะตามมาเองอย่างเป็นธรรมชาติเลย”

ถอดสมการพลาด ร้องเพลงผิดคีย์
รัฐบาลยังแก้ไม่ถูกจุด

ส่วนโอกาสและแนวโน้มที่ธุรกิจดนตรีที่จะกลับมาคึกคักอีกครั้งหนึ่งนั้น เจ้าของกิจการห้องซ้อม-ห้องอัดทั้ง 2 แห่ง แสดงความเห็นตรงกันว่า ขึ้นอยู่กับการจัดการของรัฐบาล หากแก้อย่างตรงจุดและถูกต้อง นักดนตรีก็จะสามารถกลับมาทำงานได้และธุรกิจดนตรีก็จะเดินหน้าได้เช่นกัน

“ถ้ารัฐบาลคลายล็อกร้านเหล้า ผับบาร์ หรือคอนเสิร์ต ก็คิดว่าเราก็น่าจะมีคนมาซ้อมเยอะขึ้น ถ้ามีงานวงก็มาซ้อม ช่วงนี้โควิดคนก็เซฟเงินกัน นอกจากจำเป็นต้องซ้อมทำเพลง มีงาน ส่วนใหญ่เป็นวงจริงจังมากกว่า วงเล่นๆ ก็มีบ้าง รัฐบาลยังแก้ไม่ตรงจุด อย่างร้านอาหารเปิดให้นั่งกินเมื่อก่อนแค่คนละโต๊ะก็ยังดี คนยังขายของได้ คนละโต๊ะดีกว่าคนละเตียง” สันติ เจ้าของห้องซ้อม Music Group กล่าวพร้อมยิงมุขตบท้าย

ส่วน สฐิร แห่ง Soundspace บอกว่า ได้แต่หวังให้รัฐบาลแก้ปัญหาตรงจุด

“ถ้าถามว่านักดนตรีจะกลับมาทำงานกันแบบจริงๆ จังๆ เมื่อไหร่ ไม่รู้เลย ในเมื่อรัฐบาลทำงานกันแบบนี้ โจทย์ปัญหาการถอดสมการ โจทย์มันต้องถูกตั้งแต่แรก เราจึงจะหาค่า x ได้ แต่ตั้งโจทย์มาผิดยังไงเราก็ไม่มีวันหาค่า x ได้ ก็ได้แต่หวังว่ารัฐจะแก้ปัญหาได้ตรงจุดสักที จากการระบาดรอบแรกคนรู้วิธีป้องกันตัวเองมากขึ้น แต่ความปลอดภัยในประเทศน้อยเท่าเดิม

ประเพณีการเกิดวงดนตรีมันเป็นวงจร ถ้ารุ่นหนึ่งหายไปมันชอร์ตหมด มันก็จะหายไปเรื่อยๆ งานโรงเรียน งานแสดงสดหรือคอนเสิร์ตไม่มี เด็กรุ่นใหม่ไม่มีต้นแบบก็จะไม่มีแรงบันดาลใจให้เล่นดนตรี มันจะเกิดการล่มสลายของวงดนตรี”

เมื่อไหร่รัฐบาลเลิกร้องเพลงผิดคีย์ ตีกลองให้ถูกจังหวะ เมื่อนั้นธุรกิจดนตรีและความบันเทิงก็อาจฟื้นคืนจากความป่วยไข้ได้เร็วยิ่งขึ้นเท่านั้น

พรสุดา คำมุงคุณ

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image