1 ตุลาคม วันชาติจีน 72 ปี ‘สร้างโลกใหม่’ สู่พรุ่งนี้บน ‘เรือลำเดียวกัน’

เบื้องหน้าประชาชนนับแสน ณ จัตุรัสเทียนอันเหมิน

1 ตุลาคม พ.ศ.2492 หรือวันนี้เมื่อ 72 ปีที่แล้ว

‘เหมา เจ๋อตง’ กดปุ่มอัญเชิญธงชาติสีแดงฉานพร้อมดวงดาว 5 ดวงขึ้นสู่ยอดเสา

ประกาศต่อมนุษยชาติว่า สาธารณรัฐประชาชนจีน ได้ถือกำเนิดขึ้นแล้ว

Advertisement

1 ตุลาคม พ.ศ.2564 72 ปีที่ผ่านพ้น นับจากวันเริ่มต้น ผ่านมรสุม ฝ่าอุปสรรค กระทั่งเติบโตอย่างก้าวกระโดด ขจัดความยากจนแร้นแค้นที่เคยเปรียบเสมือนมรดกตกทอด สู่จีนยุคใหม่ที่ผู้คนอยู่ดีกินดี

สีจิ้นผิง ประธานาธิบดีสาธารณรัฐประชาชนจีน ยืนโบกมือข้างนายกรัฐมนตรี หลี่เค่อเฉียงและอดีตประธานาธิบดีหูจิ่นเทา หลังสิ้นสุดงานเฉลิมฉลอง 100 ปี การก่อตั้งพรรคคอมมิวนิสต์จีนที่จัตุรัสเทียนอันเหมิน 1 กรกฎาคม พ.ศ.2564 (เอเอฟพี)

จากผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศหรือ GDP เพียง 30,000 ล้านดอลลาร์ใน 7 ทศวรรษที่แล้ว ทะยานสู่ประเทศที่มีระบบเศรษฐกิจใหญ่
อันดับต้นๆ ของโลกในวันนี้

ทิ้งภาพจำแต่เก่าก่อนครั้งเสื่อผืนหมอนใบโยกย้ายถิ่นฐานไว้เบื้องหลัง สู่ความทรงจำใหม่ที่ผู้คนต่างมีเงินหยวนอยู่ในกระเป๋าให้จับจ่าย กระทั่งขึ้นแท่น 1 ใน ‘มหาอำนาจ’

Advertisement

และแม้ต้องเผชิญวิกฤตใหญ่หลวง เมื่อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 อุบัติขึ้น ก็เร่งจัดการอย่างอยู่หมัด ทั้งยังเป็นหนึ่งในแหล่งผลิตวัคซีน อาวุธร้ายฟาดฟันศัตรูแห่งมนุษยชาติที่มาในนามโรคระบาดแห่งศตวรรษ

วันชาติจีนในปีนี้ จึงอยู่บนเส้นเวลาที่ท้าทาย ท่ามกลางสถานการณ์โลกรอบด้าน ขณะเดียวกัน ศักราชนี้ ยังเป็นวาระครบรอบ 100 ปี พรรคคอมมิวนิสต์จีนซึ่งมีการเฉลิมฉลองอย่างยิ่งใหญ่ไปเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคมที่ผ่านมา

ตัวเลข 1949 ปีก่อตั้งสาธารณรัฐประชาชนจีน เป็นฉากหลังของพาเหรดทหาร 15,000 นาย เมื่อครั้งฉลองวันชาติจีน 70 ปี เมื่อ 1 ตุลาคม 2562

ถือเป็นห้วงเวลาที่น่าจับตา ทั้งในการย้อนมองกลับหลังไปยังประวัติศาสตร์จีนร่วมสมัย ทั้งการเพ่งพินิจ คาดคะเนความเป็นไปในวันพรุ่งนี้ที่ไม่ได้ดำรงอยู่เพียงลำพัง หากแต่ย่อมส่งแรงกระเพื่อมบนห่วงโซ่ความสัมพันธ์ที่โลกไม่อาจปฏิเสธ

สร้างชาติ‘ปฏิรูป’ประเทศสู่เวทีสากล

ย้อนเวลากลับไปเมื่อพรรคคอมมิวนิสต์ภายใต้การนำของ ‘ประธานเหมา’ สถาปนา The People’s Republic of China หรือ สาธารณรัฐประชาชนจีน ส่งผลให้ 1 ตุลาคมของทุกปี คือ ‘วันชาติจีน’

ศาสตราจารย์ ชยานันต์ ศุกลวณิช ผู้เชี่ยวชาญอาวุโสด้านการต่างประเทศ เคยแสดงความเห็นว่า ประเด็นที่น่าสนใจที่สุดของการสถาปนาประเทศในวันนั้น คือการที่จีนได้บรรลุขั้นตอนการก่อตั้งประเทศแบบทันสมัย ซึ่งนักวิชาการตะวันตกเรียกว่า ‘nation-state building’ หลังจากนั้น ได้เข้าเป็นสมาชิกสมัชชาใหญ่ สหประชาชาติใน ค.ศ.1971 และในที่สุดก็ผลักบานประตูสู่โลกสากลเมื่อ ค.ศ.1978

“ปีแรกของการปฏิรูปทุกอย่างเริ่มต้นที่ศูนย์ และสามารถก้าวสู่เวทีสากลโดยยึดถือ คติพจน์ของพรรคคอมมิวนิสต์จีนคือ ค้นหาสัจธรรมจากความเป็นจริง ทำให้คนจีนส่วนใหญ่ได้หลุดพ้นจากความยากจนและมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นตามลำดับ ย้อนมองอดีตเมื่อ 70 ปีก่อน ประเทศจีนอยู่บนเส้นทางเลี้ยวลดคดเคี้ยว ประสบพบพานอุปสรรคนานาประการ อาทิ พัฒนาเศรษฐกิจสังคม การปฏิรูปทางวัฒนธรรมเป็นต้น”

ไม่เพียงเท่านั้น ศาสตราจารย์ ชยานันต์ มองว่าเมื่อครั้งเกิดวิกฤตเศรษฐกิจเอเชียใน พ.ศ.2540 จีนได้กู้สถานการณ์ไว้ ‘จากหนักให้เป็นเบา’ และเมื่อเดือนกันยายน 2008 หรือ พ.ศ.2551 ท่ามกลางเศรษฐกิจที่วอลสตรีทพังทลาย จีนใช้มาตรการสร้างงาน เพื่อทำการกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศ และสัมฤทธิผล ทำให้ชาวโลกพลอยได้รับอานิสงส์ไปด้วย

โจวเอินไหล และม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ลงนามสถาปนาความสัมพันธ์สาธารณรัฐประชาชนจีนและราชอาณาจักรไทย 1 กรกฎาคม พ.ศ.2518

ศาสตร์และศิลป์ ‘สีจิ้นผิง’

จากดิจิทัลถึงดาวอังคาร

ความเจริญรุดหน้าของจีนในห้วงเวลาเพียงชั่วอายุคนนี้ จุมพล ถาวรชอบอาจารย์สาขาวิชาภาษาจีน มหาวิทยาลัยรังสิต เผยแพร่บทความในวารสารคณะศิลปศาสตร์ ระบุว่า จีนเปลี่ยนแปลงไปอย่างมากในทุกมิติ นับตั้งแต่มีนโยบายปฏิรูปเศรษฐกิจและการเปิดประเทศใน พ.ศ.2521 จนถึงปัจจุบัน การก้าวขึ้นเป็นมหาอำนาจของโลกในระยะเวลาอันสั้น เป็นสิ่งที่น่าศึกษาและถอดบทเรียนมาปรับใช้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง วิสัยทัศน์และการวางนโยบายของประธานาธิบดี สีจิ้นผิง

ข้อเขียนดังกล่าว ได้อ้างอิงผลงานหนังสือ China 5.0 ของ ดร.อาร์ม ตั้งนิรันดร อาจารย์คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งวิเคราะห์ศาสตร์และศิลป์ของ ‘สีโคโนมิกส์’ หรือ เศรษฐศาสตร์อุปทานของสีจิ้นผิง ไม่มีหลักตายตัว แต่ผสมผสานให้เหมาะสมกับสภาพเศรษฐกิจของจีนเน้นแก้ปัญหาการผลิตส่วนเกินจากนโยบายเศรษฐกิจในอดีต การส่งเสริมให้ผู้ประกอบการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ส่งเสริมการผลิตสินค้าที่มีคุณภาพ มูลค่าเพิ่ม และสร้างสรรค์

จรวดลองมาร์ช-2เอฟซึ่งขนส่งยานเสินโจว-12พร้อมด้วยนักบินอวกาศ
3 นาย (เอเอฟพี)

นอกจากนี้ ยังกล่าวถึงวิสัยทัศน์ สี จิ้นผิง ที่กล้าหาญ ตัดสินใจเด็ดเดี่ยว ตั้งองค์กรปราบคอร์รัปชั่น มีหน้าที่ตรวจสอบเจ้าหน้าที่รัฐทั้งหมด เป็นการ ‘ปราบคอร์รัปชั่นตั้งแต่แมลงวันยันพญาเสือ’ จึงได้รับคะแนนนิยมสูงมากจากประชาชน

ดร.อาร์ม มองว่า สีจิ้นผิง เป็นผู้นำที่มีเสน่ห์ มีชีวิตชีวา เข้าถึงชาวบ้าน ทั้งยังดูสง่างามในเวทีโลก แนวคิดที่ชัดเจนคือการกลับมาปลุกกระแสชาตินิยม ส่งสารว่าพรรคและผู้นำที่แข็งแกร่งจะพาจีนแข็งแกร่งไปด้วย นอกจากนี้ ยังประกาศพาจีนแข็งแกร่งในทุกด้านอย่างเต็มภาคภูมิภายใน ค.ศ.2050 ซึ่งตรงกับ พ.ศ.2593 หรืออีก 29 ปีข้างหน้า

หันมองความเห็นจากสื่อตะวันตก สำนักข่าวรอยเตอร์ กล่าวถึง ประธานาธิบดี สีจิ้นผิง ว่าเป็นผู้นำที่ได้ชื่อว่ามีอิทธิพลสูงสุดนับตั้งแต่เหมา เจ๋อตง และ เติ้งเสี่ยวผิง พร้อมเผยแพร่คำปราศรัยเนื่องในพิธีเฉลิมฉลองครบรอบ 100 ปีของการก่อตั้งพรรคคอมมิวนิสต์จีนเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคมที่ผ่านมา ณ จัตุรัสเทียนอันเหมิน ต่อหน้าประชาชนที่ได้รับเชิญมาเป็นพิเศษ 70,000 คน โดยยืนยันว่า “สังคมนิยมเท่านั้นที่จะช่วยให้จีนอยู่รอด” และแสดงความชื่นชมต่อประชาชนจีนซึ่งปัจจุบันมีถึง 1,400 ล้านคนว่า “ไม่ได้มีดีแค่การทำลายล้างโลกเก่า แต่ยังสามารถรังสรรค์โลกใหม่ขึ้นมาได้อีกด้วย”

ในขณะที่เวปไซต์ ‘ไทม์’ ระบุในตอนหนึ่งว่า แม้สีจิ้นผิงจะบอกว่าความสำเร็จของจีนขึ้นอยู่กับพรรคคอมมิวนิสต์ แต่จริงๆ ทุกอย่างเกิดขึ้นได้ก็เพราะตัวเขาเอง พรรคคอมมิวนิสต์และประเทศจีนมีความเปลี่ยนแปลงหลายอย่างภายใต้การนำของสีจิ้นผิง โดยดำเนินการกวาดล้างเจ้าหน้าที่ทุจริตกว่า 100,000 คน ประกาศว่า สามารถขจัดความยากจนขั้นสุดขีดได้ เปลี่ยนจีนจาก ‘โรงงานของโลก’ ไปสู่แนวหน้าของเทคโนโลยีการเปลี่ยนแปลงเช่น AI และ 5G

บนความท้าทายในยุคที่เทคโนโลยีก้าวล้ำแบบติดจรวดของจีน จากยุค 4.0 คือ ดิจิทัล สู่ปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI จีนยังส่งหุ่นยนต์นาม ‘จู้หรง’ (Zhurong) ลงจอดบนดาวอังคารสำเร็จเป็นชาติที่ 2 ของโลก ขับเคลื่อนด้วย 6 ล้อ ลงจอดสู่พื้นที่ราบ ‘ยูโทเปียแพลนิเทีย’ เมื่อเดือนพฤษภาคมนี้ ตามด้วยการกลับมาเหยียบแผ่นดินจีน ณ ทะเลทรายโกบีอย่างปลอดภัยเมื่อกลางเดือนกันยายนที่ผ่านมาของ ‘นักบินอวกาศ’ 3 รายซึ่งโดยสารยาน ‘เสินโจว-12’ ไปปฏิบัติภารกิจบนสถานีอวกาศเทียนกงนานถึง 90 วัน นับเป็นความก้าวหน้าอีกขั้นที่โลกต้องหันมอง

แสนยานุภาพกองทัพอากาศจีนในนิทรรศการการบินและอวกาศนานาชาติจีน เมืองจูไห่ มณฑลกวางตุ้ง (รอยเตอร์)

จากค้าสำเภา ถึงวัคซีน

สัมพันธ์จีน-ไทย ในวันที่ ‘เราลงเรือลำเดียวกัน’

จากความยิ่งใหญ่ในยุทธศาสตร์ชาติจีน กลับมามองเรื่องใกล้ตัวอย่างความสัมพันธ์จีน-ไทย ซึ่ง โจวเอินไหล นายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐประชาชนจีนและหม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช นายกรัฐมนตรีคนที่ 13 ของไทย จรดปากกาลงนามในแถลงการณ์สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ.2518 ในขณะที่ความเป็นไปในประวัติศาสตร์สังคมวัฒนธรรม ทั้ง 2 ประเทศสัมพันธ์แน่นแฟ้นมาอย่างยาวนานตั้งแต่ต่างฝ่ายยังไม่เกิดรัฐชาติ ปรากฏหลักฐานทางประวัติศาสตร์โบราณคดีไม่ขาดสาย ตั้งแต่ตำนานพระเจ้าสายน้ำผึ้งกษัตริย์อโยธยาและพระนางสร้อยดอกหมาก ธิดาพระเจ้ากรุงจีน ก่อนการสถาปนากรุงศรีอยุธยาโดยพระเจ้าอู่ทองเมื่อ พ.ศ.1893 จนถึงจิตรกรรมพ่อครัวจีนในกรุพระปรางค์วัดราชบูรณะ ยุคต้นกรุงศรีอยุธยา และชุมชนชาวจีนซึ่งมีบทบาททางการค้าทั้งในอาณาจักร และการค้าทางเรือสำเภา อีกทั้งตำแหน่งแห่งที่ในราชสำนักครั้งกรุงเก่า ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวจีนฮกเกี้ยน ส่วนชาวจีนแต่จิ๋ว รวมถึงจีนแคะและไหหลำมีจำนวนและบทบาทมากขึ้นในยุคต่อมา คือ ธนบุรี-รัตนโกสินทร์

‘ข้าว’ คือสินค้าสำคัญที่ส่งไปเมืองจีนยุคอยุธยาตอนปลาย ไม่น้อยกว่าปีละ 65,000 หาบ ส่วนสินค้านำเข้าจากจีน ส่วนใหญ่เป็นของชนชั้นสูง เช่น เครื่องเคลือบ และผ้าไหมแพรพรรณอย่างดี

สีจิ้นผิง ชื่นชมประชาชนจีนที่สามารถรังสรรค์ ‘โลกใหม่’ ได้สำเร็จ

คำว่า ‘พี่น้อง’ ถูกใช้เป็นนิยามความสัมพันธ์ระหว่างจีน-ไทย ชาวจีนโพ้นทะเลที่เข้ามาตั้งรกรากทำมาค้าขายสร้างครอบครัวเป็นปึกแผ่นในนาม ‘คนไทยเชื้อสายจีน’ ซึ่งข้อมูลจาก ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) ระบุว่า มีกว่า 10 ล้านคน คิดเป็น 11-14% ของจำนวนประชากรทั้งหมดในประเทศ (พ.ศ.2555) ทั้งยังมีอีกจำนวนมากจนไม่อาจนับได้ เพราะกลมกลืนกับคนไทยโดยการแต่งงาน นับเป็นสายเลือดที่ผสมผสานแทบเป็นหนึ่งเดียว

นอกจากนี้ พระบรมวงศานุวงศ์ของไทยหลายพระองค์ ได้เสด็จเยือนสาธารณรัฐประชาชนจีนทั้งอย่างเป็นทางการและไม่เป็นทางการ

สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงรับเหรียญเกียรติคุณ ‘ทูตมิตรภาพ’ จาก ประธานสมาคมมิตรสัมพันธ์ระหว่างประเทศแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2547

ประจักษ์ชัดถึงความสัมพันธ์ในทุกระดับ เสริมรากฐานมั่นคงระหว่าง 2 ชาติ

ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.เขียน ธีระวิทย์ กล่าวไว้ในหนังสือ ‘จีนใหม่ในศตวรรษที่ 21’ ว่า นอกจากการหารือในเวทีต่างๆ ทั้งทวิภาคีและพหุภาคี จีนและไทยยังช่วยเหลือเกื้อกูลกันเสมอมา ทั้งยุควิกฤตเศรษฐกิจระหว่าง พ.ศ.2540-2543 ครั้งจีนประสบอุทกภัยใหญ่ใน พ.ศ.2541 และเมื่อไทยประสบมหันตภัยสึนามิในปลายปี 2547 เป็นต้น

กระทั่งวิกฤตโควิด-19 ในวันนี้ วัคซีนจากจีนนับสิบล้านโดสส่งถึงคนไทย โดยสถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทย ยืนยันว่ายังคงยินดีสนับสนุนและจัดหาวัคซีนให้แก่ประเทศไทยต่อไป พร้อมจับมือกันต่อสู้กับการแพร่ระบาดและเอาชนะความยากลำบากไปด้วยกัน

หาน จื้อเฉียง เอกอัครราชทูตวิสามัญผู้มีอำนาจเต็มสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำราชอาณาจักรไทย ซึ่งเข้ามารับตำแหน่งอย่างเป็นทางการเมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา เผยแพร่ถ้อยแถลงผ่านเว็บไซต์สถานทูตจีน ตอนหนึ่งว่า

‘…….ภายใต้การเอาใจใส่และผลักดันโดยตรงจากผู้นำทั้งสองประเทศ ความร่วมมือฉันมิตรในทุกมิติระหว่างจีน-ไทยได้มีการพัฒนาอย่างมั่นคงและรวดเร็ว มิตรภาพที่สืบทอดจากสมัยโบราณตามคำกล่าวที่ว่า ครอบครัวเดียวกัน ได้ขึ้นสู่อีกระดับหนึ่ง และความสัมพันธ์หุ้นส่วนความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์อย่างรอบด้านระหว่างจีน-ไทยได้เพิ่มนัยยะใหม่ๆ ของยุคสมัยอย่างต่อเนื่อง….’

ท่านทูตจีนคนใหม่ ยังระบุด้วยว่า ปัจจุบัน ประเทศจีนได้เข้าสู่กระบวนการใหม่ในการพัฒนาประเทศสังคมนิยมสมัยใหม่อย่างรอบด้าน การพัฒนาอย่างลุ่มลึกของความสัมพันธ์จีน-ไทยกำลังเผชิญกับโอกาสใหม่

‘…..เรายินดีที่จะกระชับความร่วมมือกับฝ่ายไทยในการปฏิบัติตามฉันทามติอันสำคัญที่บรรลุโดยผู้นำสองประเทศ เพิ่มพูนความไว้เนื้อเชื่อใจกันทางการเมือง กระชับความร่วมมือที่เป็นรูปธรรม ส่งเสริมการแลกเปลี่ยนทางด้านวัฒนธรรมและสังคม ขยายการประสานงานระดับพหุภาคี ผลักดันให้ความสัมพันธ์จีน-ไทยพัฒนาอย่างมั่นคงและรวดเร็ว เพื่อนำความผาสุกให้แก่ประเทศและประชาชนทั้งสองประเทศไทยมากยิ่งขึ้น…’

22 กันยายนที่ผ่านมา ฯพณฯ หาน จื้อเฉียง พร้อมคณะทำงาน พบกับ ขรรค์ชัย บุนปาน ประธานเครือมติชน และ ปานบัว บุนปาน กรรมการผู้จัดการบริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) พร้อมด้วยทีมงาน ‘มติชน-ข่าวสด’ ผ่านระบบสื่อสารออนไลน์ เพื่อทำความรู้จักและสานต่อความร่วมมืออย่างใกล้ชิดระหว่างสถานทูตจีนและเครือมติชนในฐานะสื่อมวลชนที่เผยแพร่ข่าวสารทั้งทางหนังสือพิมพ์และสื่อออนไลน์ รวมถึงข้อมูลต่างๆ ระหว่างความสัมพันธ์จีน-ไทย โดยเฉพาะด้านวัฒนธรรมระหว่างผ่านหนังสือเล่มของ ‘สำนักพิมพ์มติชน’

ท่านทูตยังกล่าวถึงสถานการณ์โควิด-19 ด้วยว่าจีนพยายามช่วยเหลือประเทศร่วมภูมิภาครวมถึงไทยและประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆ ผ่านการมอบวัคซีนและเวชภัณฑ์ต่างๆ บนพื้นฐานว่า ‘เราลงเรือลำเดียวกัน’ และจะฝ่าฟันให้ผ่านพ้นอุปสรรคไปให้ได้ ด้วยความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นมากขึ้น กรณีของไทย จีนได้เริ่มขยายการนำเข้าสินค้าเกษตรจากไทยมากขึ้น และในอนาคตเมื่อสถานการณ์คลี่คลายแล้วจึงหวัง เป็นอย่างยิ่งว่าคนไทย-คนจีนจะไปมาหาสู่ระหว่างกันอีกครั้ง

สภาวัฒนธรรมไทย-จีน

สะพานเชื่อมสัมพันธภาพ

จากคำกล่าวของท่านทูตในประเด็นขยายการนำเข้าสินค้าเกษตร บทสัมภาษณ์ล่าสุดของ พินิจ จารุสมบัติ อดีตรองนายกรัฐมนตรี และอดีตรัฐมนตรีหลายกระทรวง ในฐานะประธานสภาวัฒนธรรมไทย-จีนและส่งเสริมความสัมพันธ์ ย้ำชัดว่า วันนี้เราต้องอ่านอนาคตจากความจริงว่าจีนคือตลาดการค้า ต้องพัฒนาความสัมพันธ์ให้แน่นแฟ้น เสริมสร้างมิตรภาพไม่ให้มีช่องโหว่ สนับสนุนให้การไปมาหาสู่ พูดคุย แลกเปลี่ยน สัมมนา โรดโชว์ แนะนำสินค้า และอีกมากมาย โดยทางสภา จะทำหน้าที่เป็นสะพานเชื่อมสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นอยู่แล้ว ให้ยิ่งก้าวกระโดด โดยเน้นในด้านเศรษฐกิจการลงทุนทุกมิติ

“เราจะทำหน้าที่เป็นสะพานเล็กๆ แต่เป็นสะพานที่ใช้เสาศิลาปักอยู่อย่างคงทน และมั่นคงในการเชื่อมสัมพันธภาพ”

พินิจ ระบุว่า อาจจะต้องคุยกันว่าจะร่วมมือกันอย่างไรให้สินค้าไทยไปถึงจีนให้มากที่สุด
ส่วนการท่องเที่ยวก็ต้องดูว่าจะเป็นไปได้เมื่อไหร่ รวมถึงการศึกษา ซึ่งยังมีนักเรียนที่ตกค้างอยู่ ว่าจะจัดระบบอย่างไรให้เดินไปได้ นอกจากนี้ ในด้านการคมนาคม ควรเปิดช่องทางเชื่อมระหว่างไทย-จีน โดยผ่านประเทศที่สาม อย่างลาว หรือเมียนมาก็แล้วแต่ นี่คือสิ่งจำเป็นมาก ต้องเปิดฮับ ให้มากขึ้น

“ตอนนี้รถไฟความเร็วสูงของจีนจากคุนหมิงมาถึงเวียงจันทน์แล้ว จะเปิดเที่ยวปฐมฤกษ์ในวันชาติลาว 2 ธันวาคมนี้ จีนดำเนินโครงการต่างๆ ด้วยมิตรภาพ เพราะอยากยกระดับความช่วยเหลือในภูมิภาคนี้มากกว่ากำไร ขาดทุน หลังสถานการณ์โควิด ไทยและจีน ต้องร่วมมือกันอย่างใกล้ชิดว่าประชากรจีนต้องการบริโภคสินค้าอะไรจากไทยบ้างเรามีสินค้าอะไรบ้างที่จะส่งไปขายให้จีน เพื่อฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ” ประธานสภาวัฒนธรรมไทย-จีนกล่าว

นับเป็นห้วงเวลากว่า 7 ทศวรรษ ของการสร้างโลกใหม่ที่มีประเทศไทยอยู่บนไทม์ไลน์แห่งมิตรภาพอันมั่นคงไม่แปรเปลี่ยน

พันธุ์ทิพย์ ธีระเนตร

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image