อาศรมมิวสิก : บันทึกเพลงสยาม ต่อยอดยืดลมหายใจและทางรอด

ผมได้รับทุนวิจัยดนตรีจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษาฯ (อว.) ใช้เวลาลงพื้นที่ในท้องถิ่นต่างๆ ตั้งแต่เชียงราย น่าน ลำปาง เชียงใหม่ สุโขทัย อุบลราชธานี บุรีรัมย์ สุรินทร์ ขอนแก่น ร้อยเอ็ด เลย นครพนม กาญจนบุรี สุพรรณบุรี พระนครศรีอยุธยา กรุงเทพฯ นครศรีธรรมราช ภูเก็ต กระบี่ สตูล พัทลุง ยะลา สงขลา ปัตตานี ได้สำรวจและบันทึกเสียงเพลงพื้นบ้านกับศิลปินคนสำคัญ แล้วนำเพลงมาถอดเป็นตัวโน้ต จากนั้นได้คัดเลือกเพลงนำไปเรียบเรียงเสียงให้วงไทยซิมโฟนีออเคสตรา เพื่อนำเพลงกลับไปแสดงตามพื้นที่เป้าหมาย อาทิ วัดพระราม พระนครศรีอยุธยา และร้านเรือนไม้ กระบี่ เสร็จไปเมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ.2564 วงไทยซิมโฟนีออเคสตรายังเคยแสดงเพลงสมัยพระนารายณ์ที่วังนารายณ์ เมื่อวันที่ 5 กันยายน พ.ศ.2562

เมื่อการระบาดของโรคโควิดหนักขึ้น ทำให้การแสดงต้องชะงักลง การจะไปแสดงในสถานการณ์ใหม่จึงมีความเสี่ยงในภาวะที่โรคโควิดเปลี่ยนสายพันธุ์ จึงได้ตัดสินใจใช้วิธีบันทึกภาพและเสียงถ่ายทอดโทรทัศน์ช่องไทยพีบีเอส โดยเลือกบันทึกที่สตูดิโอ 28 วันที่ 8 ตุลาคม พ.ศ.2564 เพื่อให้รายการน่าสนใจมากขึ้นจึงได้เลือกเพลงเด่นของแต่ละพื้นที่ขึ้นมาแสดงในรายการ

พื้นที่ภาคกลาง เลือกไว้ 4 เพลง คือ เพลงสายสมร ขับร้องโดย กมลพร หุ่นเจริญ เป็นเพลงอยู่ในบันทึกของลาลูแบร์ ทูตชาวฝรั่งเศสที่เข้ามาสมัยอยุธยา เพลงยินดีต้อนรับชาวสยาม (Entr?e des Siamois) กับเพลงเสียงชาวสยาม (e air des Siamois) เป็นเพลงที่นักดนตรีของราชสำนักพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ประพันธ์ขึ้นเพื่อต้อนรับพระยาโกษาธิบดี (ปาน)

เพลงสำคัญคือโยสลัม เป็นเพลงยอดฮิตของโปรตุเกส เป็นต้นแบบเพลงไทยสมัยนิยม อาทิ ยวนย่าเหล นางใจ ความรักเจ้าขา เกลียดห้องเบอร์ 5 น้ำตาโนราห์ ชุมทางเขาชุมทอง สมศรี 1992 คุณนายโรงแรม และเพลงล่าสุด “นะจ๊ะ” ของหนังตะลุงศักดิ์ เสรีศิลป์ ทั้งหมดใช้ทำนองเพลงโยสลัมที่สั่งสมอยู่ในสังคมสยามมานาน

Advertisement

วัฒนธรรมตะวันตกที่มาพร้อมพวกฝรั่งสู่ภูมิภาค อุษาคเนย์ ไม่ได้มีเฉพาะเพลงโยสลัมหรือเพลงรองเง็งเท่านั้น แต่ฝรั่งยังได้นำพืชอาหารมาจากโลกที่ค้นพบใหม่ (New World) คืออเมริกา อาทิ พริก มะม่วงหิมพานต์ มะละกอ ถั่วลิสง น้อยหน่า อะโวคาโด
มันฝรั่ง มันเทศ ฝรั่ง มะเขือเทศ ละมุดฝรั่ง เป็นต้น ยังมีวิธีการทำอาหาร เทคโนโลยีการก่อสร้าง การใช้เครื่องมือ การต่อเรือ การสร้างที่อยู่อาศัย สามารถหาข้อมูลได้จากบันทึกของฝรั่ง หนังสืออาหารอินเดีย เผยแพร่เป็นอาหารในภูมิภาคอาเซียนอีกทอดหนึ่ง

ได้เลือกเพลงจากอีสานมา 6 เพลง มีลำเพลิน-ลายใหญ่-ลายน้อย เล่นพิณโดย คำเม้า เปิดถนน หมอพิณคำเม้าเป็นหมอพิณที่มีฝีมือสูง ได้รับเชิญไปแสดงในยุโรปบ่อยๆ กับวงเดอะพาราไดซ์บางกอก เดี๋ยวนี้ได้เปลี่ยนฉายาใหม่เป็น คำเม้า พิณพระอินทร์ เดี่ยวลายลำเพลินจากลำของศิลปินอีสานซึ่งมีจังหวะสนุกสนาน โดยเอาพิณมาเล่นแทนคำร้อง ส่วนเพลงอะไย แอกแครง แฮปปียา เป็นเพลงร้องจากสุรินทร์ บุรีรัมย์ ศรีสะเกษ ขับร้องโดย น้ำผึ้ง เมืองสุรินทร์ และช่างซอ (เขมร) อาจารย์กิ่ง (วิชา นิลกระยา) จากหมู่บ้านดงมัน โดยมี พันเอก ประทีป สุพรรณโรจน์ เป็นผู้ควบคุมวงดนตรี

เพลงจากพื้นที่ปัตตานีและศรีวิชัยเลือกมา 3 เพลง มีลาคูดูวอ เดี่ยววิโอลากับวงโดย จักรกฤษ เจริญสุข บุหงาตันหยง และเพลงสีนวล เดี่ยวเชลโลโดย ตปาลิน เจริญสุข ใช้เครื่องดนตรีสากลถ่ายทอดสู่สาธารณะแบบใหม่ เพราะว่าต้นฉบับเป็นเพลงของชาวตะวันตก

Advertisement

ส่วนเพลงของล้านนา มีลาวเสี่ยงเทียน ขับร้องโดย กมลพร หุ่นเจริญ เพลงล่องน่าน ใช้ทำนองลับแลงและกำเบ้อ (เพลงลูกทุ่งหนุ่มลำปางตามเมีย ซึ่งใช้ทำนองเพลงกำเบ้อ) ล่องแม่ปิง ใช้ทำนองเพลงของเมืองน่าน

เดิมนั้นได้นัดช่างสะล้อจากเมืองน่านและช่างซึงจากลำปาง โดยช่างทั้ง 2 คนจะลงมาบันทึกเสียงด้วย แต่แล้วก็มาไม่ได้ เพราะท่านเป็นครูดนตรีสอนในสถาบันการศึกษา จึงต้องขออนุญาตจากผู้ว่าราชการจังหวัดเสียก่อน เพราะเมื่อกลับขึ้นไปเมืองเหนือจากกรุงเทพฯ ซึ่งเป็นพื้นที่สีแดง ก็ต้องกักตัว 14 วัน ก่อนที่จะกลับไปทำงานในโรงเรียนได้อีก สรุปว่าก็ต้องตัดช่างสะล้อและช่างซึงออกไปก่อน เพื่อให้สะดวกและสบายใจ

การทำงานช่วงโควิดต้องปรับตัวเปลี่ยนไปตามสภาพ ยอมรับสภาพที่ต้องตัดศิลปินพื้นบ้านออกก่อน โควิดทำให้การดำเนินชีวิตอยู่ยากและทำงานได้ยาก ซึ่งต้องทำในสิ่งที่มี ยอมรับในสิ่งที่ทำ สิ่งใดเป็นปัญหาและสร้างภาระหรือเป็นอุปสรรคในการทำงานก็ต้องตัดออกไป จึงใช้เสียงวงออเคสตราเล่นเพลงเมืองน่านแทน

ลาวเสี่ยงเทียนเป็นเพลงที่มีชื่อเสียง ทำนองเก่าสำเนียงลาว นิยมนำทำนองเพลงไปประกอบละครร้องเรื่องพระลอนรลักษณ์ ลาวเสี่ยงเทียนเป็นเพลงยอดฮิต มีทำนองอยู่ 2 ท่อน ถูกนำไปใส่เนื้อร้องใหม่มีอยู่หลายสำนวน ลาวเสี่ยงเทียนบันทึกเสียงโดย พูลศรี เจริญพงษ์ อีกสำนวนหนึ่งบันทึกเสียงโดยวงจันทร์ ไพโรจน์ เนื้อร้องเดิมของลาวเสี่ยงเทียน “ธูปเทียนทองสองมือถือไว้ ตั้งใจวันทา…”

ลาวเสี่ยงเทียน ยังถูกนำไปใส่เนื้อร้องเป็นเพลงลูกทุ่ง “กลับมาทำไม” ผลงานของสุชาติ เทียนทอง ขับร้องโดย สังข์ทอง สีใส (พ.ศ.2491-2527) มีนักร้องอีกหลายคนนำไปเป็นเพลงประกอบภาพยนตร์เรื่องแหยม ยโสธร มีเอกราช สุวรรณภูมิ หม่ำ จ๊กมก
เป็นต้น

การนำเพลงพื้นบ้านซึ่งเป็นรากฐานของสังคมมาเรียบเรียงใหม่ เพื่อพัฒนาสิ่งใหม่ให้เป็นพื้นฐานของสังคม แล้วนำไปแสดงกับวงไทยซิมโฟนีออเคสตรา เป็นการสร้างมาตรฐานโดยการนำเพลงเก่ามานำเสนอให้กับสังคมใหม่ การเชิญศิลปินพื้นบ้านมาร่วมบันทึกเสียง ใช้เครื่องดนตรีพื้นบ้านห่อเสียงด้วยเสียงของวงไทยซิมโฟนีออเคสตรา เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้ศิลปินพื้นบ้าน ยกมาตรฐานเพลงพื้นบ้านให้มีความภูมิฐาน

การทำงานธรรมดาไม่ได้ซับซ้อนอะไรนัก ซึ่งต้องอาศัยองค์ความรู้ ประสบการณ์ อาศัยความกล้าหาญ ต้องตั้งใจและเชื่อมั่นในสิ่งที่ทำ อาศัยความศรัทธาจากเครือข่ายทุกฝ่าย แม้ว่าจะมีความพร้อมมากแล้วก็ตาม แต่การฝ่าวิกฤตโรคระบาดโควิดที่ไม่ได้เป็นมิตรกับใคร จึงต้องเตรียมตัวและป้องกันอย่างรัดกุม เป็นวิธีทำงานดนตรีนำวงไทยซิมโฟนีออเคสตราให้อยู่รอด เป็นการต่อสู้เพื่อรักษาอาชีพนักดนตรีให้มีงานทำ

เมื่อทำเพลงเสร็จแล้ว ปัญหาก็ตกอยู่ที่เวทีการแสดง การสื่อสารเพลงในปัจจุบันเกี่ยวข้องกับเทคโนโลยี เพราะการบันทึกเสียงและการสื่อสารเพลงได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างสิ้นเชิง การฟังเพลงหรือเสพงานเพลงของคนเปลี่ยนไปหมดแล้ว เวทีการแสดงของวงซิมโฟนีออเคสตราก็แทบไม่เหลืออยู่ วิทยุโทรทัศน์ไม่ใช่พื้นที่ของเพลงและไม่ได้เป็นสื่อหลักอีกต่อไป การทำงานเพลงแบบโลกเก่า ไม่มีทั้งลูกค้าและไม่มีตลาด แต่สิ่งที่ยังมีดีอยู่ในการทำงานเพลงก็คือ ดนตรีเป็นรากฐานและเป็นพื้นฐานของสังคมที่ยังมีอยู่ ในการทำงานดนตรีที่สร้างคุณภาพยังสามารถสร้างมาตรฐานของงานซึ่งเป็นหัวใจที่สำคัญ เชื่อว่าคุณภาพและจิตวิญญาณเพลงพื้นบ้านยังมีชีวิตอยู่ และเพลงพื้นบ้านยังไม่ตาย

อีกไม่นาน “วงสิงคโปร์ซิมโฟนีออเคสตรา” จะได้นำเพลง “ลาวดวงเดือน” ไปแสดงในฐานะเพลงของท้องถิ่นอาเซียนเพื่อให้นักท่องเที่ยวได้ฟัง วงโตเกียวฟีลฮาร์โมนิกเล่นเพลง “ลาวเสี่ยงเทียน” เพื่อใช้ต้อนรับแขกบ้านแขกเมืองหรือนักท่องเที่ยวจากเมืองไทย หนังเกาหลีนำเอาเพลงค้างคาวกินกล้วยไปประกอบภาพยนตร์เกี่ยวกับเมืองไทย คนไทยก็คงจะตื่นเต้นไม่น้อย และจะหันกลับไปฟังเพลงไทยกันอีกครั้ง ซึ่งเล่นโดยวงคนอื่น

วันนี้สิงคโปร์สร้างพิพิธภัณฑ์อารยธรรมอาเซียน (Asian Civilizations Museum) ต้องสนับสนุนส่งเสริมให้สิงคโปร์รวบรวมเครื่องดนตรีและเพลงที่มีในท้องถิ่นของภูมิภาคอุษาคเนย์เข้าไปเก็บรักษาไว้ในมิวเซียมและจัดการแสดงเอาไว้ด้วย เพื่อรักษาและสร้างบรรยากาศในมิวเซียมอาเซียน

สนามบินสิงคโปร์นั้นมีความทันสมัย การเดินทางภายในประเทศรวดเร็ว สะดวก และปลอดภัย ในเมื่อสิงคโปร์มีศักยภาพและความพร้อมสูง มีความสามารถในการจัดการอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งยังสามารถรองรับนักท่องเที่ยวจากทั่วโลกได้ เมื่อสิงคโปร์ประกาศตัวเป็นประตูสู่อาเซียนโดยการขาย “อารยธรรมอาเซียน”

ก่อนที่นักท่องเที่ยวจะแยกตัวไปเที่ยวตามเมืองต่างๆ ในภูมิภาคอาเซียน นักท่องเที่ยวก็ควรได้แวะไปสำรวจข้อมูลดูเสียก่อน ได้เห็นภาพวิถีชีวิตวัฒนธรรมท้องถิ่นในพิพิธภัณฑ์อารยธรรมอาเซียน เป็นการอุ่นเครื่องก่อนที่นักท่องเที่ยวจะสัมผัสวิถีชีวิตและวัฒนธรรมของจริงของอาเซียน

วันนี้ทางรอดของดนตรีและศิลปวัฒนธรรมไทย ต้องอาศัยเพื่อนบ้านช่วยปกป้องดูแลรักษาและสืบทอด อาศัยให้เพื่อนบ้านเอาไปปรุงแต่งขายต่อ ทั้งเกาหลี จีน ญี่ปุ่น และสิงคโปร์ เพราะลำพังตัวเราเองนั้น ก็ตกอยู่ในสภาพที่ช่วยตัวเองไม่ได้ แถมยังไม่เห็นคุณค่าของดนตรี ต้องคอยให้ศิลปินอื่นหรือศิลปินเพื่อนบ้านเอาไปทำใช้แล้วเราก็โวยวายแสดงความเป็นเจ้าของวัฒนธรรม คนทำเท่านั้นที่เป็นเจ้าของ

สุกรี เจริญสุข

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image