#ลอยนวลพ้นผิด ในประวัติศาสตร์การเมืองไทย จาก 6 ตุลาสู่คนรุ่นใหม่ หวัง‘ให้จบที่รุ่นเรา’

‘ประตูแดง’ จุดแขวนร่าง 2 ช่างไฟฟ้าที่นครปฐมก่อนเหตุการณ์ 6 ตุลา 19 จัดแสดงในนิทรรศการ ‘แขวน’ เมื่อเดือนตุลาคม 2563 ที่หอประชุมใหญ่ ม.ธรรมศาสตร์

#ลอยนวลพ้นผิด ในประวัติศาสตร์การเมืองไทย จาก 6 ตุลาสู่คนรุ่นใหม่ หวัง‘ให้จบที่รุ่นเรา’

วัฒนธรรมพ้นผิดลอยนวล

กลายเป็นคำที่ถูกพูดถึงบ่อยครั้งขึ้นทุกที โดยเฉพาะเมื่อเหตุการณ์มากมายตั้งแต่อดีตเริ่มได้รับการเปิดเผยอย่างต่อเนื่องในยุคข้อมูลข่าวสารที่ไม่อาจปิดกั้น

ความเชื่อมั่นต่อภาครัฐลดน้อยถอยลงตามลำดับ คลิป ภาพ เสียง ที่ประกอบขึ้นด้วยความรุนแรงของเจ้าหน้าที่รัฐที่กระทำต่อประชาชนไม่ว่าจะในการสลายชุมนุม หรือระหว่างสืบสวนสอบสวน ‘เค้นความจริง’ ที่ต่างจาก ‘ค้นความจริง’

ย้อนไปก่อนหน้านี้ ยังมีประเด็นการ ‘อุ้มหาย’ ต้าร์ วันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ กลางกรุงพนมเปญ กัมพูชา ซึ่งเมื่อวันที่ 5 กันยายนที่ผ่านมา สิตานัน ผู้เป็นพี่สาวออกมาบอกว่าเวลาที่พ้นผ่านไปถึง 1 ปี 3 เดือน ยังสรุปไม่ได้ว่าใครทำสำนวนคดี เรียกได้ว่า แทบไม่มีความคืบหน้า

Advertisement

ในขณะที่สภารับหลักการร่าง พ.ร.บ.ป้องกันการทรมานและอุ้มหาย เมื่อวันที่ 16 กันยายน ตั้ง กมธ.วิสามัญ 25 คน โดยพรรคเพื่อไทยได้เสนอชื่อ สมบัติ บุญงามอนงค์ หรือ บก.ลายจุด นักเคลื่อนไหวทางการเมือง
ด้วย ส่วนประชาธิปัตย์เสนอ สมชาย หอมลออ ประธานมูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา ขณะที่พรรคเสรีรวมไทย เสนอ อังคณา นีละไพจิตร ซึ่งไม่เพียงเป็นอดีตคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) แต่ยังเป็นภรรยาผู้สูญเสีย ทนายสมชาย นีละไพจิตร เหยื่ออุ้มหายใน พ.ศ.2547

เรื่องราวเหล่านี้ เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องในประวัติศาสตร์การเมืองไทย ท่ามกลางเสียงเรียกร้องความเป็นธรรมที่ยังไม่ได้รับคำตอบที่น่าพอใจ

คดี‘ถูกพับ’ แขวนคอ 2 ช่างไฟฟ้าก่อน 6 ตุลา ฝ่ายขวาลอยนวล

ย้อนไปในช่วงก่อน 6 ตุลาคม 2519 เหตุการณ์ที่ วิชัย เกษศรีพงศ์ษา และ ชุมพร ทุมไมย 2 ช่างไฟฟ้า ถูกซ้อมจนเสียชีวิตและถูกนำไปแขวนคอที่ ‘ประตูแดง’ ในวันที่ 24 กันยายน ไม่กี่วันก่อนธรรมศาสตร์กลายเป็นทุ่งสังหาร ปัจจุบันผู้กระทำความผิดซึ่งชัดเจนว่าเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจหลายรายในจังหวัดนครปฐม ก็ไม่ถูกดำเนินคดีอย่างจริงจัง เบื้องต้นมีผู้สืบทราบว่าได้รับโทษทัณฑ์เพียงการถูก ‘สั่งย้าย’ ไปประจำในพื้นที่ห่างไกล

Advertisement

ทั้งญาติและวิญญาณเหยื่อ ไม่ได้รับความเป็นธรรม การติดโปสเตอร์ประท้วงต่อต้านพระถนอม กิตติขจร ของช่างไฟฟ้าทั้ง 2 นำพาพวกเขาไปสู่ความตาย

24 กันยายน 2564 วันครบรอบ 45 ปีเหตุการณ์ดังกล่าว กลุ่ม ‘ราษฎรนครปฐม’ จัดคลับเฮาส์ ‘เหตุเกิดที่ประตูแดง : 45 ปี ประวัติศาสตร์การขับไล่เผด็จการ’

ในตอนหนึ่ง รศ.ดร.พวงทอง ภวัครพันธุ์ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า เหตุการณ์ที่ช่างไฟฟ้า 2 คนถูกแขวนคอเป็นข่าวใหญ่ทั่วประเทศ ในช่วงก่อนเหตุการณ์ 6 ตุลา พลังนักศึกษายังเข้มแข็ง นำไปสู่การแจ้งข้อหาตำรวจในนครปฐม แต่หลัง 6 ตุลา สื่อหนังสือพิมพ์ทุกฉบับถูกปิด 3 วัน สิ่งที่เกิดขึ้นต่อมาคือรัฐบาลเผด็จการเต็มตัว เสรีภาพสื่อไม่มี ขบวนการนักศึกษาถูกปราบ ต้องหนีเข้าป่า การจัดงานรำลึกในช่วง 19 ปีแรกมีเพียงพิธีกรรมทางศาสนาที่อยู่ใต้ปีกงานรำลึก 14 ตุลา 2516 กระทั่งปีที่ 20 จึงมีการจัดงานใหญ่ กระตุ้นให้คนกล้าพูดเรื่องนี้ คืนความเป็นมนุษย์ให้ผู้ถูกกระทำ

“20 ปีแรก 6 ตุลา ถูกพูดกันเฉพาะนักกิจกรรม แม้แต่นักศึกษาก็ไม่รู้เท่าไหร่ คนในสังคมไทยรู้น้อยมาก เหตุแขวนคอ 2 ช่างไฟฟ้า คดีถูกพับเก็บ ฝ่ายขวาลอยนวล นักศึกษาเข้าป่า” รศ.ดร.พวงทองกล่าว

ด้าน รศ.ดร.ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ ม.รังสิต เล่าถึงบรรยากาศในช่วงเวลานั้นว่า ขณะเกิดเหตุแขวนคอช่างไฟฟ้า 2 รายที่นครปฐม ตนอยู่ ป.7 เรียนหนังสือที่วัดไผ่ล้อม ไม่ห่างจากจุดเกิดเหตุมากนัก แต่ไม่ทราบเรื่อง ความรับรู้ไม่มี ครูก็ไม่เคยพูดถึง เหมือนเป็นเรื่องที่ห่างจากตัวเรามาก การแขวนคอในเช้าวันนั้น เป็นช่วงเริ่มต้นของการต่อต้านการกลับมาของจอมพลถนอม 1 ใน 3 ทรราชย์ 14 ตุลา โดยมีการชุมนุมต่อต้าน การอภิปรายที่สนามหลวง มีการรณรงค์ติดโปสเตอร์ การสื่อสารในยุคนั้นคือการติดโปสเตอร์ ในขณะที่โทรทัศน์ วิทยุ ถูกอำนาจรัฐคุม นสพ. เผยแพร่ให้บ้าง แต่น้อย

“การติดโปสเตอร์คงมีเครือข่ายในต่างจังหวัด ช่างไฟ 2 คนนั้น ติดโปสเตอร์ แล้วโดนซ้อม เอาศพมาแขวนที่ประตูแดง เมื่อครั้งที่ผมเข้าเรียนธรรมศาสตร์ในปี 2524 เรื่องของ 6 ตุลา ยังเป็นเรื่องแบบกระซิบ เหมือนไม่อาจเล่าอย่างเปิดเผย ไม่ได้เปิดเวทีอภิปรายยิ่งใหญ่ กระทั่งครบรอบ 20 ปี 6 ตุลา มีบรรยากาศเป็นประชาธิปไตยมากขึ้นหลังเหตุการณ์พฤษภา 35 มีการจัดกิจกรรมนับแต่นั้นมา และกลายเป็นหลักหมาย มีผู้คนออกมาพูดมากขึ้น ต่อมา อาจารย์ชาญวิทย์ เกษตรศิริ ชวนผมมาเป็นบรรณาธิการหนังสือ ชื่อ จาก 14-6 ตุลา ในวาระ 25 ปี 6 ตุลา” รศ.ดร.ธำรงศักดิ์ย้อนอดีต

นอกจากนี้ ยังนำหนังสือพิมพ์ในช่วงเวลานั้นมาอ่านในคลับเฮาส์ อาทิ ข่าวใน นสพ.ฉบับวันที่ 5 ตุลาคม ระบุว่าจับกุมตำรวจ 7 คนที่สังหารช่างไฟฟ้าทั้ง 2 คนได้แล้ว และมองว่าอาจต้องมาขบคิดว่าจะทำอย่างไรให้คนนครปฐมรับรู้ถึงเหตุการณ์ดังกล่าว

อาชญากรรมโดยรัฐที่ถูกลืม ‘คนรุ่นใหม่’หวัง วัฒนธรรมพ้นผิด‘จบในรุ่นเรา’

อัฐิวีรชนพฤษภา 35 ปัจจุบันบรรจุในอนุสรณ์สถานพฤษภาประชาธรรม ถนนราชดำเนิน กรุงเทพฯ

อีกหนึ่งเหตุการณ์สำคัญที่เกิดขึ้นในเดือนพฤษภาคม พ.ศ.2535 อย่างพฤษภาทมิฬ หรือที่มีการรณรงค์ให้ใช้ชื่อว่า ‘พฤษภาประชาธรรม’ แทนนั้น ก็ไม่แตกต่างกันมากนัก กล่าวคือผู้กระทำความผิด ยังคงไม่ได้รับผลทางคดี

18 พฤษภาคม 2564 ครบรอบ 29 ปีของเหตุนองเลือด กลุ่มคนรุ่นใหม่ที่เคลื่อนไหวในนาม ‘ราษฎร’ ต่อต้านรัฐบาลเผด็จการยุค พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ออกมาเรียกร้องความเป็นธรรมให้ผู้สูญเสีย ทั้งยังย้ำชัดว่าขอให้วัฒนธรรมลอยนวลพ้นผิด ‘จบในรุ่นเรา’

‘17 พฤษภาคม 2535

29 ปีพฤษภาประชาธรรม อาชญากรรมโดยรัฐที่ถูกลืม

เหตุการณ์พฤษภาคม 2535 เกิดขึ้นเมื่อราว 3 ทศวรรษก่อน แต่กลับถูกพูดถึงในสื่อต่างๆ น้อยเมื่อเทียบกับ 14 ตุลาฯ สำหรับคนรุ่นใหม่อาจจะยังสับสนงุนงงเกี่ยวกับเหตุการณ์ครั้งนี้ ว่าเกิดขึ้นได้อย่างไร ข้อเรียกร้องของผู้ชุมนุมคืออะไร แล้วชนวนที่ทำให้เกิดความรุนแรงมาจากไหน

มีหลายเรื่องราวยังไม่ได้รับการชำระสะสาง ผู้สั่งการยังคงลอยนวล ญาติผู้สูญเสียยังไม่ได้รับความยุติธรรม เราจึงอยากชวนทุกคนกลับไปทบทวนเหตุการณ์พฤษภาประชาธรรมอีกครั้ง มาลองดูกันว่าการต่อสู้ของคนรุ่นพ่อแม่คล้ายคลึงหรือแตกต่างจากปัจจุบัน เพราะเหตุใดวงจรอุบาทว์การเมืองไทยไม่เคยสิ้นสุดลงเสียที’

คือถ้อยแถลงของคนรุ่นใหม่

พ.ร.บ.ป้องกัน‘อุ้มฆ่า-ทรมาน’ กฎหมายที่เจ้าหน้าที่รัฐไม่ต้องการ?

การผลักดันพ.ร.บ.อุ้มหายฯ ล่าสุด สภารับหลักการ เมื่อวันที่ 16 กันยายน

นอกจากการย้อนรำลึกและเรียกร้องความเป็นธรรมให้วีรชน แน่นอนว่าสิ่งที่ต้องผลักดันและจับตาต่อไปคือแง่มุมด้านกฎหมาย เพื่อไม่ให้การพ้นผิดลอยนวลเกิดซ้ำ หรือยิ่งไปกว่านั้นคือต้องป้องกันไม่ให้เกิด

25 กันยายนที่ผ่านมา สถาบันเพื่อการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม (สป.ยธ.) ร่วมกับคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) และคณะกรรมการนักนิติศาสตร์สากล (ICJ) จัดเสวนาผ่านระบบ Zoom ในหัวข้อ ‘กฎหมายป้องกันการอุ้มฆ่า ทำทารุณ คุ้มครองประชาชนได้จริงหรือไม่?’

อาดิลัน อาลีอิสเฮาะ ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ ในฐานะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน เปิดประเด็นด้วยการเล่าถึงการใช้กฎหมายพิเศษและพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน (พ.ร.ก.ฉุกเฉิน) ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งสุ่มเสี่ยงให้เจ้าหน้าที่รัฐละเมิดประชาชนในพื้นที่ เพราะมาตรฐานในการคุ้มครองสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนน้อยกว่าที่ญัตติไว้ในกฎหมายอาญาปกติ จึงเป็นที่มาของการได้รับข้อร้องเรียนมาโดยตลอด

“พฤติการณ์ที่มิชอบด้วยกฎหมายของเจ้าหน้าที่บางคนบางกลุ่ม มีเหตุการณ์ที่เราทราบดี ไม่ว่าจะเป็นสภาพปัญหาของการใช้กฎหมายพิเศษในจังหวัดชายแดนภาคใต้ตั้งแต่ พ.ศ.2547 หลังจากเหตุการณ์ปล้นปืน หลังจากนั้นมีการใช้พระราชบัญญัติกฎอัยการศึก จนกระทั่งมีการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ก่อนหน้านี้หลายภาคส่วนพยายามเรียกร้องให้มีกฎหมายเฉพาะในการคุ้มครองสิทธิโดยเฉพาะในเรื่องของกฎหมายป้องกันปราบปรามการทรมานและการทำให้สูญหาย ในส่วนของเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานเราเคยได้ยินบ่อยว่ากฎหมายฉบับนี้เป็นกฎหมายที่ทำให้เจ้าหน้าที่ทำงานยากขึ้นใช่ไหม จึงเป็นกฎหมายที่เจ้าหน้าที่ไม่ต้องการ เป็นกฎหมายที่ทำให้ผู้กระทำผิดได้รับการคุ้มครอง ได้รับการปกป้อง ซึ่งความคิดนี้เป็นชุดความคิดที่พยายามส่งต่อกันมโดยตลอดเพื่อไม่อยากให้มีกฎหมายฉบับนี้ แต่กลับกันผมมองว่ากฎหมายฉบับนี้แหละคุ้มครองเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติตามกฎหมาย ไม่ต้องให้ถูกครหาว่าละเมิดกฎหมาย ใช้กฎหมายโดยไม่สุจริต” อาดิลันกล่าว

สถานะประเทศไทยใน‘บทนิยาม’ ที่ไม่ตรงกับ‘สากล’

ไม่ใช่แค่มุมมองในประเทศ สิ่งสำคัญคือความเป็น ‘สากล’ ที่ยังมีปมปัญหาบางประการ ดังที่ สัณหวรรณ ศรีสด คณะกรรมการนักนิติศาสตร์สากล (ICJ) ได้อธิบายถึงสถานะของประเทศไทยในการเป็นสมาชิกของอนุสัญญาต่อต้านการทรมานว่า ไทยแลนด์เป็นสมาชิกตั้งแต่ปี พ.ศ.2550 แล้ว นับนิ้วมาถึงปีนี้ ถือว่ายาวนาน ทว่า ปัจจุบันเราก็ยังไม่มีกฎหมาย โดยในปี พ.ศ.2555 ประเทศไทยไปลงนามเพียงอย่างเดียวแต่ยังไม่มีการเซ็นเป็นสมาชิกโดยสมบูรณ์

“กระทรวงการต่างประเทศบอกว่าขอออกกฎหมายภายในก่อนจึงจะเซ็นเป็นสมาชิก กฎหมายระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชน หัวใจหลักของกฎหมายระหว่างประเทศมีอนุสัญญาอยู่แค่ 9 ข้อ ด้านสิทธิมนุษยชน ซึ่งสามในเก้าข้อคือ อนุสัญญาว่าด้วยการต่อต้านการทรมาน, อนุสัญญาต่อต้านการอุ้มหาย และกติกาสากลว่าด้วยสิทธิพลเมือง สิทธิทางการเมือง ดังนั้น ในทางกฎหมายระหว่างประเทศเรื่องนี้เป็นหัวใจหลักอยู่แล้ว

สิ่งที่เกิดขึ้นหลังจากประเทศไทยไปลงนามคือรัฐบาลกลับมาแก้ประมวลกฎหมายอาญาก่อนและกลับไปรายงานสหประชาชาติ (UN) ในปี 2557 ว่าเราแก้ไขแล้ว ปรากฏว่า UN ในปี 2557 ก็วิพากษ์วิจารณ์ร่างแก้ประมวลกฎหมายอาญารอบนั้นว่าบทนิยามเราก็ยังไม่ตรงกับของเขา บทนิยามเจ้าหน้าที่รัฐก็ยังไม่ตรง กลไกการป้องกันก็ยังไม่มีเขียนไว้ อายุความมันต้องไม่มี นอกจากนั้น UN บอกว่านอกจากเรื่องแก้กฎหมายแล้วต้องไปสอบสวนให้เห็นความจริง ต้องแก้ปัญหาในสามจังหวัด รวมถึงแก้กฎหมายพิเศษคือกฎอัยการศึกและ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เพราะสหประชาชาติมองว่ากฎหมายพิเศษเป็นตัวที่เปิดช่องว่างให้มีการทรมานและการอุ้มหาย โดยเฉพาะมาตราที่ยอมให้มีการจับกุมคุมขังคนได้ยาวนาน” สัณหวรรณอธิบาย

‘อำนาจสอบสวน’ประเด็นใหญ่กลไกระดับชาติ ต้อง‘บาลานซ์’ภาคประชาชน

ย้อนกลับมาที่การพิจารณาร่างกฎหมายดังกล่าว ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่าย ณัฐวุฒิ บัวประทุม ส.ส.พรรคก้าวไกล มองว่าประเด็นใหญ่คือ อำนาจในการสืบสวนสอบสวน

“เราต้องยอมรับว่ากรณีการกระทำทรมานหรือการกระทำให้บุคคลสูญหายนั้นหนีไม่พ้นว่าเกี่ยวข้องกับเจ้าหน้าที่ของรัฐ อาจจะเกิดขึ้นภายใต้การยินยอมของเจ้าหน้าที่ของรัฐ หรืออาจจะเกิดขึ้นจากการสั่งการของเจ้าหน้าที่ของรัฐ ฉะนั้นเราเองต้องทำให้ไกลหรือหนีไปกว่าการที่ให้อำนาจการสอบสวนปกติของพนักงานสอบสวน…”

นอกจากนี้ ณัฐวุฒิ ยังมองว่า สิ่งที่น่าห่วงคือกลไกระดับชาติที่ต้องขอเรียกร้องให้มีความสมดุล ไม่ใช่เน้นไปที่ภาครัฐ

“สิ่งที่เราห่วงอย่างยิ่งก็คือคณะกรรมการที่จะดูเรื่องการกระทำทรมานหรือการกระทำให้สูญหายในระดับชาติ ตรงนี้ต้องบาลานซ์ภาคประชาชน บาลานซ์ในส่วนของผู้เสียหาย บาลานซ์ในส่วนของผู้ที่เคยได้รับผลกระทบจากการทรมานหรือการกระทำให้บุคคลสูญหาย…”

บังคับสูญหายคือ‘ฆาตกรรมอำพราง’ จี้รัฐจริงใจคุ้มครองเสรีภาพ

วันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ ถูกอุ้มหายที่กรุงพนมเปญ กัมพูชาไม่ทราบชะตากรรม คดีไม่คืบ

ด้าน พ.ต.อ.วิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร เลขาธิการ สป.ยธ. มองว่ากฎหมายนี้ควรออกมาตั้งนานแล้ว แต่รัฐบาลแต่ละยุคสมัยไม่มีความจริงใจที่จะออกมาเพื่อคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชน ทั้งรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งและไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง

“ปัญหามันอยู่ที่ความจริงใจของรัฐบาลแต่ละยุคสมัย ไม่มีความจริงใจที่จะออกมาเพื่อคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชน ประเทศเราก็อยู่ในบรรยากาศของรัฐบาลที่ไม่ได้มีความเป็นประชาธิปไตยมาช้านาน แม้กระทั่งรัฐบาลในช่วงที่มาจากการเลือกตั้งแท้ๆ ก็ยังไม่มีการสนับสนุนให้มีกฎหมายนี้ เพราะว่าตนเองก็ได้มีการละเมิดอยู่เสมอๆ

ท่านต้องเข้าใจว่าการทรมานหรือการบังคับให้บุคคลสูญหาย จริงๆ ก็คือฆาตกรรมอำพรางมันเกิดจากเจ้าพนักงานของรัฐและไม่ใช่เจ้าพนักงานของรัฐระดับตำรวจ จ่า ดาบ มันเกิดจากนโยบายของรัฐหรือการกระทำของเจ้าหน้าที่ระดับสูงด้วยกันภายใต้การรู้เห็นของรัฐบาลอาจจะคิดอย่างนั้นก็ว่าได้” พ.ต.อ.วิรุตม์ฟันธง

ปิดท้ายด้วยมุมมองของ ดร.น้ำแท้ มีบุญสล้าง ผอ.สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาการสอบสวนและการดำเนินคดี สำนักงานอัยการสูงสุด ที่ยิงหมัดในประเด็น ‘อายุความ’ ตอนหนึ่งว่า

“อาจารย์สอนกฎหมายพยายามจะสอนว่าต้องมีอายุความเพื่อให้เจ้าหน้าที่รัฐเร่งรัดในการดำเนินคดี เนื่องจากกลัวพยานหลักฐานสูญหาย ผมยืนยันว่าเจ้าหน้าที่รัฐไม่กลัวพยานหลักฐานสูญหาย ชอบให้พยานหลักฐานสูญหาย” ดร.น้ำแท้กล่าวอย่างตรงไปตรงมา

ดร.น้ำแท้ระบุด้วยว่า อยากให้มีการผลักภาระการพิสูจน์ว่าเมื่อไรก็ตามที่มีการกล่าวหาว่ามีการซ้อมทรมาน มีการใช้กำลังจับกุมโดยไม่ชอบให้เจ้าหน้าที่มีหน้าที่ในการพิสูจน์

“เจ้าหน้าที่พิสูจน์ได้จากการติดกล้องวงจรปิดในขณะปฏิบัติหน้าที่ ดังนั้น เมื่อถูกกล่าวหาเขามีกล้องมาพิสูจน์ทันที ก่อนที่เขาจะดำเนินการไปจับกุมใครจะมีการติดกล้องทุกคน เนื่องจากเจ้าหน้าที่ระมัดระวังตัวเองว่าจะถูกกล่าวหาว่าใช้กำลังทำร้ายผู้อื่น แล้วถ้าคนคนนั้นถูกอุ้มหายไปเลยไม่มีการจับกุม กล้องก็ไม่มีความหมาย ตรงนี้จะมีมาตรการให้หน่วยงานที่จับกุมมีหน้าที่ในการแจ้งการจับ สมมุติว่าญาติพี่น้องเราโดนจับ เราสามารถแจ้งอัยการได้ทันที อัยการจะมีหน้าที่ในการเข้าไปตรวจสอบการจับ แค่เพียงแจ้งให้อัยการทราบอัยการก็จะมีภารกิจในการไปปล่อยอยู่แล้ว และอัยการก็มีหน้าที่ที่จะต้องดำเนินคดี การที่อัยการไปดูเป็นข้อดีก็คือ อัยการจะไม่ตกเป็นเครื่องมือในการถูกใช้ให้ฟ้องคนบริสุทธิ์” ดร.น้ำแท้แนะ

สิ่งเหล่านี้คือความพยายามของหลายภาคส่วนทั้งเยาวชน คนรุ่นใหม่ นักวิชาการ นักกฎหมาย ให้ความอยุติธรรมจากการถูกอุ้มหาย ซ้อมทรมาน กระทั่งปลิดชีพ พรากลมหายใจ ยุติลงในอนาคตอันใกล้ หวังรูดม่านปิดฉากประวัติศาสตร์บาดแผล เปิดฉากสังคมไทยในยุคใหม่ที่คนผิดไม่อาจฉกฉวยคำว่า ‘ลอยนวล’ อย่างง่ายดายดังเช่นที่เคยเป็นมา

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image