คอลัมน์ เดินไปในเงาฝัน : ขังหญิง

คราวที่ “หนิง” ธนัดดา สว่างเดือน คว้าชนะเลิศนักเขียนรางวัลชมนาดในปี 2554 กับผลงานชื่อ “ฉันคือเอรี่ กับประสบการณ์ข้ามแดน” ตอนนั้นผมแอบคิดว่าเธอฟลุกหรือเปล่า สำหรับการเขียนหนังสือครั้งแรกของเธอ

แต่ไม่นานจากนั้น เธอก็ออกหนังสือ “ฉันคือเอรี่ กับประสบการณ์ท่องคุก” และอีกหลายๆ เล่มตามมา อาทิ ฉันคือเอรี่ กับประสบการณ์ใหม่…ไกลเกินฝัน

เอรี่เล่าเรื่อง : ถนนสีดำในบาห์เรน, ตารางและหว่างขา และเมียยากูซ่า

จึงทำให้ผมเริ่มคิดว่าเธออาจไม่ฟลุกก็ได้

Advertisement

เพราะผลงานงานเขียนของเธอต่างได้รับการตอบรับจากผู้อ่านอย่างล้นหลาม บางเล่มถูกนำไปแปลเป็นภาษาต่างๆ ถึง 6 ภาษา

รายการโทรทัศน์ต่างเชิญเธอไปสัมภาษณ์ถึงหนังสือ ชีวิต และเรื่องราวของเธอตลอด 4-5 ปีผ่านมา

พร้อมกันนั้นเธอยังเขียนหนังสืออย่างต่อเนื่อง

Advertisement

ทั้งในนิตยสารบางฉบับ

เฟซบุ๊ก

ขณะเดียวกัน เธอก็ทำหน้าที่เป็นนักสร้างแรงบันดาลใจ ด้วยการไปพูดให้น้องๆ จากโรงเรียนต่างๆ ที่อยู่ห่างไกลฟัง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องราวชีวิตของเธอที่ผิดพลาดในอดีต การเข้าไปเกี่ยวข้องกับยาเสพติด และกลอุบายของมนุษย์ในการล่อลวงเด็กผู้หญิงไปค้ากามตามที่ต่างๆ

นอกจากนั้น บางครั้งเธอยังถวายงานรับใช้พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา ด้วยการไปพูดให้กำลังใจนักโทษหญิงตามทัณฑสถานหญิงต่างๆ อีกด้วย

เพราะชีวิตของเธอครั้งหนึ่ง เคยถูกศาลตัดสินจำคุกเป็นเวลา 3 ปีกว่า ด้วยข้อหาวางยา ชิงทรัพย์ ทั้งๆ ที่เธอไม่ได้เป็นผู้กระทำความผิดเลย

ชีวิตในทัณฑสถานหญิงนี่เอง ที่ทำให้เธอตัดสินใจนำเรื่องราวต่างๆ เหล่านั้นมาเขียนเป็นหนังสือ ซึ่งจะแตกต่างจาก “ฉันคือเอรี่ กับประสบการณ์ท่องคุก”

เพราะเรื่องนี้เธอต้องการตีแผ่ให้ผู้อ่านมองเห็นสภาพชีวิตของนักโทษหญิง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการดำเนินชีวิต การถูกเอารัดเอาเปรียบ และการถูกกระทำ จนทำให้นักโทษหญิงหลายคนไม่มีศักดิ์ศรีแห่งความเป็นมนุษย์

แต่กระนั้น เธอก็สอดแทรกเรื่องของมิตรภาพอันงดงามที่เกิดขึ้นภายในโลกมืดหลังกำแพงด้วย

เธอตั้งชื่อเรื่องว่า “ขังหญิง”

และ “ขังหญิง” นี่เอง ที่ทำให้เธอตัดสินใจส่งเข้าประกวดรางวัลชมนาดอีกครั้ง ในประเภท Non-Fiction ประจำปี 2559

โดยใช้นามปากกาว่า “นวกันต์”

จนที่สุด “ขังหญิง” รับรางวัลชนะเลิศจากคณะกรรมการอย่างไม่มีข้อกังขาใดๆ จนทำให้เธอกลายเป็นนักเขียนดับเบิลรางวัลชมนาด คนแรกของค่ายประพันธ์สาส์นในที่สุด

“หนิง” เล่าให้ฟังในคำนำผู้เขียนบอกว่า…เรื่องราวที่ฉันจะเล่าต่อไปนี้ เป็นเรื่องราวของวีรชนคนคุก ซึ่งเป็นหญิงล้วน ที่ครั้งหนึ่งเมื่อราว 20 ปีที่แล้ว ได้เกิดความผิดพลาดในชีวิตฉันอย่างร้ายแรง

จนเป็นเหตุให้ต้องเข้าไปเผชิญชะตากรรมอยู่ในโลกมืดหลังกำแพงนานกว่า 3 ปี ภายในนั้นเปรียบเสมือนโลกมืดอีกใบหนึ่ง ที่เต็มไปด้วยความทุกข์ทรมาน ความโศกเศร้า และความเถื่อนดิบที่มนุษย์ทำต่อมนุษย์ด้วยกัน

นอกจากนี้ ฉันยังเห็นเรื่องราวอะไรอีกมากมายของวีรชนคนคุกที่ต้องบอกว่าโลกมืดหลังกำแพงแห่งนี้ ผู้ต่ำต้อยที่สุดตอนอยู่นอกคุก กลับกลายเป็นผู้ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดเมื่อต้องเข้ามาอยู่ในคุก คนจรร่อนเร่ นอนตามข้างถนนเหมือนสุนัข แต่ในโลกหลังกำแพงคือคฤหาสน์หลังโต ที่พวกเขานึกอยากจะกลับมาตอนไหนก็ได้ทุกเมื่อ ทุกเวลา

แต่สำหรับคนพลาดท่า ดวงซวย โลกหลังกำแพงเปรียบเสมือนขุมนรก ที่ทำให้คนเคยมียศ มีเกียรติ ต้องกลับกลายเป็นคนต่ำต้อย ไร้คุณค่าไปในพริบตา เพียงเพราะถูกกักขังอิสรภาพ

ขณะเดียวกัน ในโลกมืดแห่งนี้ ยังพอมีมิตรภาพจากเพื่อนๆ ร่วมชะตากรรมที่คอยเห็นอกเห็นใจกัน คอยปลอบประโลมกันในยามทุกข์ใจ

แต่ถึงกระนั้นก็เถอะ ฉันก็ไม่ปรารถนาจะให้ผู้ใดนำพาชีวิตเข้ามาสัมผัสกับโลกมืดแห่งนี้ เพราะฉันคิดเสมอว่ามนุษย์ไม่ควรถูกกักขังให้อยู่ในสภาพเช่นนี้

ขณะที่มุมมองของคณะกรรมการอันประกอบไปด้วยเนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์, รศ.ดร.ตรีศิลป์ บุญขจร, สนิทสุดา เอกชัย กองจันทึก, ธีรภาพ โลหิตกุล และวันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ กลับมีความคิดเห็นสอดรับไปในทางเดียวกัน

โดยมองว่า “ขังหญิง” นำเสนอประสบการณ์ตรงจากชีวิตของผู้เขียน ซึ่งต้องถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำเป็นเวลากว่า 3 ปี โดยไม่ได้กระทำความผิด

เนื้อเรื่องเล่าเรื่องราวชีวิตของผู้คนหลากหลายในนรกคนเป็น โดยเผยให้เห็นชีวิตของผู้ที่ถูกจำคุกในทัณฑสถานหญิง ซึ่งมีทั้งผู้ที่กระทำผิดโดยเจตนา ผู้ที่กระทำผิดโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ รวมทั้งผู้ที่ไม่ได้กระทำผิดแต่ประการใด

สภาพชีวิตของนักโทษเหล่านี้ไม่เพียงแต่ไร้อิสรภาพ หากยังต้องตกอยู่ในภาวะที่ทุกข์ยากแสนสาหัส นับตั้งแต่การค้าขายแลกเปลี่ยนสิ่งของเครื่องใช้ และของต้องห้าม การปรับเปลี่ยนเพศวิถี ซึ่งไม่ต่างไปจากการขายบริการทางเพศ รวมถึงการใช้เล่ห์กลต่างๆ เพื่อให้รอดพ้นจากสายตาผู้คุม

ผู้เขียนมีความสามารถในการเล่าเรื่องราวหลากหลายชีวิต ที่ผู้อ่านอาจไม่เคยได้ยินได้ฟังมาก่อนอย่างชัดเจน เห็นภาพ และชี้ให้เห็นว่าสังคมในทัณฑสถานไม่แตกต่างจากสังคมภายนอก ที่ยังมีความแตกต่างระหว่างนักโทษรวยกับนักโทษจน

การค้าขายอย่างเอารัดเอาเปรียบ

การซื้อขายสารเสพติด และของต้องห้าม

การเล่นหวย

การลักขโมย และการใช้ความรุนแรงทำร้ายกัน

เรื่องราวของคนขี้คุกที่เข้าออกคุกเป็นว่าเล่น รวมถึงผู้ที่เข้าคุกอย่างยากไร้ แต่พอออกจากคุกไป กลับมีเงินนับแสนบาท

สิ่งต่างๆ เหล่านี้ “หนิง” ถ่ายถอดออกมาได้อย่างหมดจด งดงาม

จึงสมควรยิ่งแล้วที่คณะกรรมการตัดสินให้ “ขังหญิง” คว้าชนะเลิศรางวัลชมนาดไปในที่สุด

เพราะฉะนั้น ถ้าใครสนใจอยากอ่าน และอยากรู้เรื่องราวของคนในโลกหลังกำแพง ก็ลองไปหาอ่านดู แล้วจะรู้ว่าทำไม “ขังหญิง” จึงเป็นหนังสือที่ผู้คนกล่าวขานอีกครั้ง

ไม่ธรรมดาเลย ?

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image