คอลัมน์ For a Song ท่องโลกผ่านเพลง : THE LONGEST DAY วัน-เดือน-ปี-ทศวรรษที่ยาวนาน

วัน-เดือน-ปี อาจผันผ่านรวดเร็ว แต่ทศวรรษที่ผ่านมากลับเชื่องช้าสำหรับบางคน โดยเฉพาะผู้ที่รอคอย คอยให้โลก-ให้บ้านเมืองเข้าสู่โหมดสันติสุข แม้จะเป็นความสุขลุ่มๆ ดอนๆ แต่เมื่อมองกลับไปก็เห็นแจ่มชัดว่าดีกว่าปัจจุบันอักโขอยู่

ทศวรรษที่ผ่านมาจึงเชื่องช้า รอไป-คอยไป แต่ละวันใหม่กลับย่ำเท้าอยู่ที่เก่า บางประเทศความยับเยินของตึกรามบ้านช่อง เศรษฐกิจ และชีวิตกลายเป็นความธรรมดา ประชาชนคุ้นเคยกับความยากเข็ญคับแค้น

ในบางประเทศแม้จะเหมือนเงียบแต่ก็ไม่สงบ แม้จะเหมือนแจ่มแต่ก็มัวซัว กระทั่งความ “สะอาด” ของชนชั้นปกครองก็ราวจะเป็นภาพลวง เหมือนคลิปคนกวาดถนน กทม. ปาดกองขยะลงท่อระบายน้ำที่แชร์กันในโลกไซเบอร์ ถนนเอี่ยมแต่ใครๆ ก็รู้ว่าภายใต้ความเอี่ยมคืออะไร แค่รอความเน่าเหม็นอุดตันหรือลอยฟ่องขึ้นมาฟ้อง

คล้ายๆ ดูหนังสงคราม ฉากสงัดสงบจนแทบจะได้ยินเสียงฝุ่นพลิก ตัวแสดงขยับแค่ลูกตาแต่ไม่กล้ากะพริบ ค่อยๆ ผ่อนลมหายใจราวอาลัยว่าเป็นเฮือกสุดท้าย แม้แต่สกอร์เพลงประกอบก็เหือดหาย คนดูเดาออกว่าประเดี๋ยวก็จะมีเปรี้ยงๆ ดั่งเสียงฟ้าฟาด และเมื่อหมอกควันจาง ที่เห็น-ที่เป็น-ที่อยู่จะเหลือแค่ความทรงจำ

Advertisement

อดไม่ได้ที่จะคิดถึง “วันเผด็จศึก” The Longest Day หนังสงครามชั้นคลาสสิก (ค.ศ.1962) ซึ่งมีต้นทางมาจากหนังสือชื่อเดียวกันของ Cornelius Ryan ผู้สื่อข่าวสงครามชาวไอริช ที่กลายมาเป็นหนึ่งในนักเขียนยอดนิยมของยุคนั้น แฟนหนังสงครามรู้จักกันดีทั้ง The Longest Day และ A Bridge Too Far ที่ถูกนำมาสร้างเป็นภาพยนตร์

แต่คุณคอร์เนเลียส ไรอัน เองพูดว่า เขาไม่ได้เขียนเรื่องสงคราม แต่เขียนถึงความกล้าหาญของมนุษย์ (ในยามสงคราม) ต่างหาก

The Longest Day เล่าถึง D-Day คือวันที่ 6 มิถุนายน ค.ศ.1944 ที่สัมพันธมิตรบุกขึ้นหาดนอร์มังดีเพื่อเผด็จศึกฮิตเลอร์และนาซีเยอรมัน

Advertisement

ด้วยความเป็นผู้สื่อข่าวสงครามเก่า หนังสือนิยายที่คุณคอร์เนเลียสเขียนจึงมีกลิ่นอายของสาระคดีกลั้วปนอยู่แทบจะเป็นเนื้อเดียวกัน

คนอ่านช้อบ-ชอบ เพราะมันสมจริงสมจัง เหมือนอ่านข่าวที่เกิดขึ้นในหน้าหนังสือพิมพ์หรืออ่านสาระคดี แต่ถึงพริกถึงขิงกว่าข่าวทั่วๆ ไป อย่างที่เรียกกันว่า docudrama (documentary/สาระคดี + drama/ละคร)

คนสร้างหนังก็รีบตะครุบลิขสิทธิ์ และบรรจงสร้าง The Longest Day ให้มีความเป็น “ดอคูดรามา” ให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ เริ่มตั้งแต่ใช้ฟิล์มขาว-ดำ ให้มีความรู้สึกเหมือนกำลังดูหนังข่าวจากสมัยสงครามโลกครั้งที่สองจริงๆ

จริงขนาดไปติดต่อท่าน Dwight D. Eisenhower ประธานาธิบดีของสหรัฐในช่วงนั้น ให้มาแสดงเป็นตัวท่านเองสมัยที่เป็นแม่ทัพสหรัฐและของสัมพันธมิตรในการบุกครั้งนั้น

ท่านไอเซนฮาวร์ (ออกเสียงจริงๆ ว่า ไอ๊-เซนฮาวเออะ) เป็นใหญ่เป็นโต เป็นทหารแท้ ได้ตำแหน่งนายพลมาด้วยความสามารถล้วนๆ เป็น war hero/วีระบุรุษสงคราม ที่ภายหลังได้รับเลือกตั้งเข้ามาเป็นผู้นำประเทศอย่างใสสะอาด โดยคะแนนเสียงของประชาชน ท่านกำลังอยู่ว่างๆ หลังจากเป็นประธานาธิบดีถึงสองสมัย จึงรีบตอบตกลง

ท่านจะคิดว่าดีกว่าอยู่เปล่าๆ หรืออยากดังในฮอลลีวู้ดก็ไม่ทราบได้ ตอนนี้ก็ไม่อยู่ให้ถามแล้ว

ปัญหามีอยู่ว่า หากท่าน “ไอค์” แสดงเป็นตัวเอง จะต้องแต่งหน้าให้ดูหนุ่มเท่ากับเมื่อเกือบ 20 ปีโน้น ช่างแต่งหน้าฮอลลีวู้ดบอกหมดปัญญา จะดึงมากก็กลัวสะดือท่านจะขึ้นมาอยู่ที่คาง กลายเป็นคางบุ๋มแบบ Kirk Douglas คุณพ่อของไมเคิล ดักลัส

ต้องเข้าใจ ต้นยุค 60s นั้น ยังไม่มีการลบหน้าเก่าใส่หน้าใหม่อย่างทุกวันนี้ ท่านไอค์เลยอดเล่นหนัง The Longest Day ใครอยากดูท่านไอค์ต้องไปหาหนังข่าวหรือหนังสาระคดีจริงๆ มาดูเอง

นอกจากท่านไอค์แล้ว ผู้สร้างเลือกสรรดารารุ่นใหญ่ที่ดังๆ มามากมาย หลายคนตอนเป็นหนุ่มเคยไปรบในสงครามโลกครั้งที่สองมาแล้วจริงๆ แต่ถึงตอนเล่น The Longest Day ก็แสดงเป็นทหารสูงอายุระดับนายพลกัน

นักแสดงในเรื่องนี้มีทั้งที่เป็นคนอเมริกัน เป็นอังกฤษ เป็นฝรั่งเศสและเป็นเยอรมัน เหมือนในสงครามจริงๆ ผู้กำกับต้องปวดหัวเพราะพูดกันไม่ค่อยรู้เรื่องเหมือนครั้งที่ท่านไอค์เป็น ผบ.สูงสุดของสัมพันธมิตร เวียนหัวเพราะความหลายชาติหลายภาษา แต่ฮอลลีวู้ดเก่งกว่ากองทัพ เพราะสามารถจ้างผู้กำกับนานาชาติให้มาช่วยประสานทำงานร่วมกัน จนงานเดินไปได้อย่างดี

แม้งบจะบานปลาย แต่สุดท้ายก็แฮปปี้เอ็นดิ้ง เพราะ The Longest Day ทำเงินได้มหาศาล

บทเพลงประจำหนัง Theme from the Longest Day หรือมาร์ชแห่งวันเผด็จศึก ก็เป็นเพลงสงครามยอดนิยม หนุ่มน้อยวัย 21 (ในครั้งนั้น) ที่ประพันธ์ทั้งเนื้อร้องและทำนองชวนระทึก ชวนฮึกเหิม ของเพลงนี้ชื่อ Paul Anka

พอล แองกา ซาล มิเนโอ/Sal Meneo เฟเบียน/Fabian ทอมมี่ แซนด์ส/Tommy Sands ซึ่งล้วนเป็นนักร้องนักแสดงขวัญใจทีนเอจในยุคนั้น ถูกคัดเลือกให้แสดงเป็นพลทหารใน The Longest Day อาจจะเพื่อเรียกแฟนรุ่นเยาว์ให้มาดูด้วย

แต่คุณพอลผู้มีความสามารถรอบทิศทางไปเสนอตัวขอเขียนเพลงประจำหนังให้ด้วย ทีมผู้ใหญ่ของ The Longest Day ไม่สนใจนักร้องป๊อปๆ แต่คุณพอลก็ไม่ยอมแพ้ ก้มหน้าก้มตาเขียนเพลงมาร์ช The Longest Day จนเสร็จในสองวัน แล้วไปให้ทีมคอรัสชายล้วน ประสานเสียงกระหึ่มร่วมกับวงออเคสตรา บันทึกแผ่นส่งไปให้ทีมผู้สร้าง

เงียบกริบ ไม่มีใครติดต่อกลับมาเลย

จนกระทั่งคุณพอล แองก้า ไปร่วมรอบปฐมทัศน์ The Longest Day ในปารีส จึงได้รู้ว่าเพลงจากฝีมือตนถูกใช้ในภาพยนตร์เรื่องนี้ โดยมีคุณ Maurice Jarre ผู้ยิ่งใหญ่ในวงการดนตรีเป็นคนทำสกอร์

The Longest Day เป็นเครื่องหมายแห่งความหาญกล้าของมนุษย์ ผู้ต่อสู้ดัสกรด้วยความมุ่งหมายที่จะให้โลกร่มเย็น แต่หากถูกนำไปใช้เพื่อล้างทำลายชนชาติเดียวกัน ก็จะเบี้ยวบิดผิดเพี้ยน จาก The Longest Day กลายเป็น The Longest Decade ซึ่งการฟื้นฟูอาจใช้เวลาหลายชั่วคน

ไม่คุ้มเลยกับความสะใจชั่วครู่ชั่วยาม


THE LONGEST DAY MARCH (1962) จากวง Mitch Miller

ตัวอย่างภาพยนตร์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image