คอลัมน์ มหัศจรรย์การ์ตูน : เรียนภาษาเพื่อให้ได้มากกว่าภาษา

ความที่ทำงานในโรงพยาบาลซึ่งอยู่ในมหาวิทยาลัย จึงมีนักศึกษาหลายคนแวะมาปรึกษาปัญหาสุขภาพจิตค่ะ มีบางส่วนที่ไม่คิดว่าตัวเองมีปัญหาสุขภาพจิต แต่อาจารย์หรือเพื่อนแนะนำให้พบจิตแพทย์ เพราะสอบตกหรือต้องเรียนซ้ำชั้น ถ้าลองนึกว่ามีใครสักคนสอบตก หลายท่านอาจจะจินตนาการไปว่าเด็กคนนั้นไม่ตั้งใจเรียน ขี้เกียจ ติดเกม ติดเพื่อน ฯลฯ ซึ่งหลายคนก็มีสาเหตุมาจากเรื่องเหล่านั้นจริงค่ะ แต่ถ้าลองคิดต่อไปอีกสักนิดก็จะทราบว่าไม่มีใครอยากเข้ามาเรียนมหาวิทยาลัย เพื่อจะเกเรไปวันๆ และสอบตกซ้ำแล้วซ้ำเล่า คงมีอะไรบางอย่างที่ทำให้เขาขี้เกียจหรือติดเกมแน่ๆ และเราจะไม่รู้เลยถ้าไม่ตั้งใจถามเขาด้วยใจที่กว้างพอ

นักศึกษาหนุ่มคนหนึ่งเรียนปี 6 ในคณะที่เรียนจบใน 4 ปี เขาดูเหมือนวัยรุ่นทั่วไปที่ใส่เสื้อยืดทันสมัย กางเกงยีนส์ รองเท้ากีฬา กระเป๋าสะพายเก๋ไก๋ และเสียบหูฟังเพื่อฟังเพลงจากโทรศัพท์ สาเหตุที่มาพบจิตแพทย์ เพราะลองไปทำแบบทดสอบความเครียดเล่นๆ เนื่องจากมีบูธมาเปิดในมหาวิทยาลัย แต่คะแนนความเครียดกลับออกมาสูงมากในระดับอันตราย จึงได้รับคำแนะนำให้มาพบจิตแพทย์

“เรื่องเดียวที่ผมเครียดคือ เรื่องเงิน ที่บ้านส่งเงินให้ผมน้อยมาก พ่อบอกว่าในเมื่อผมเรียนไม่จบใน 4 ปีก็ควรหาเงินเรียนเองแต่ผมก็ไม่รู้จะทำอะไร แม่ผมขายของได้เงินไม่มากก็แอบส่งเงินให้ผมบ้าง โดยไม่บอกพ่อแต่มันก็ไม่พอ ผมกินข้าวแทบไม่อิ่ม เรียนก็ไม่รู้เรื่องผมคิดว่าเพราะท้องไม่อิ่ม ผมไม่มีเพื่อนเลยเพราะเรียนจบไปหมดแล้ว ไม่กล้าคบเพื่อนใหม่เพราะกลัวไม่มีเงินไปกินไปเที่ยวกับเขาเดี๋ยวเขาจะดูถูกเอา ชีวิตมันแย่ไปหมดจนบางทีผมก็รู้สึกว่าตายไปได้ก็ดี ผมคิดว่าผมเป็นลูกที่ทำให้พ่ออับอายเพราะสอบตก แม่ก็ต้องลำบากเพราะผม”

หนุ่มน้อยเล่ามาอย่างเชื่องช้า และพูดวนไปวนมาเรื่องความยากจนอยู่หลายครั้งค่ะ

Advertisement

“ฟังดูชีวิตคุณลำบากมาก คุณใช้ชีวิตแบบนี้มาตั้งแต่เด็กเลยเหรอคะ”

“ไม่หรอกครับ ตอนเด็กชีวิตผมไม่ได้เป็นแบบนี้ พ่อรักผมมาก ผมเรียนดี มีเพื่อนเยอะ ฐานะทางบ้านก็ไม่ได้ร่ำรวย แต่เมื่อก่อนผมรู้สึกว่าพ่อแม่ภูมิใจในตัวผมมาก แต่ตั้งแต่เข้ามหาวิทยาลัยชีวิตมันก็แย่ไปหมด ผมไม่อยากเข้าเรียน ไม่อยากเจอใคร เหมือนความสุขมันหายไปหมด”

หนุ่มน้อยได้รับคำแนะนำจากทางคณะให้ลงเรียนวิชาเลือกง่ายๆ เกี่ยวกับภาษาเพื่อให้เกรดออกมาพ้นการถูกให้ออกจากการศึกษาค่ะ เป็นทางเลือกที่ดีมากเพราะภาษาคือ หน้าต่างของวัฒนธรรม ช่วยเปิดมุมมองของเราที่มีต่อโลกใบนี้ให้กว้างขึ้น ซึ่งดีกับอาการซึมเศร้าของเขามากค่ะ หนุ่มน้อยคนนี้เป็นโรคซึมเศร้าเรื้อรังโดยไม่รู้ตัวมา 5 ปี และหนักขึ้นเรื่อยๆ ค่ะ

Advertisement

การได้เรียนรู้ภาษาและวัฒนธรรมใหม่ๆ เป็นเรื่องที่น่าตื่นเต้นมากนะคะ ทุกวันนี้เรามีโทรทัศน์และอินเตอร์เน็ตช่วยเชื่อมโลกทำให้ภาษาและวัฒนธรรมต่างถิ่นดูไม่น่าตื่นเต้นเท่าใดนัก แต่ถ้าลองจินตนาการย้อนไปราว 100 ปีก่อน ที่คนเดินทางข้ามประเทศด้วยเรือเดินสมุทรและมีโอกาสรู้จักอีกฟากหนึ่งของโลก ผ่านอาหารการกิน ถ้วยชาม หรือแม้แต่เรื่องเล่าการเดินทางในหนังสือ ดินแดนห่างไกลก็น่าตื่นเต้นพอๆ กับการรู้จักดาวที่ห่างจากโลกไป 1 พันปีแสงเลยค่ะ การ์ตูนเรื่อง “Bird in Wonderland” (Fushigi no Kuni no Bird) นำเสนอภาพความตื่นเต้นนั้นให้เราเห็นค่ะ

Bird in Wonderland อ้างอิงจากเรื่องจริงของอิซาเบลลา เบิร์ด สตรีชาวอังกฤษที่เกิดปี 1904 คือ 112 ปีก่อน เธอเป็นชาวตะวันตกคนแรกที่บุกเบิกการสำรวจญี่ปุ่นในจังหวัดห่างไกลรวมถึงประเทศต่างๆ ในเอเชียมากมาย การ์ตูนนำเสนอการเดินทางไปฮอกไกโด ซึ่งถือว่าห่างไกลมากร่วมกับอิโต้ ซึรุคิจิ ล่ามและผู้ช่วยคนสำคัญที่อธิบายวัฒนธรรมต่างๆ ในญี่ปุ่นยุคนั้นให้เธอเข้าใจ ศัพท์บางคำนำมาซึ่งความเข้าใจวัฒนธรรมให้เบิร์ด เช่น การอาบน้ำพุร้อน ซึ่งเบิร์ดจินตนาการไปถึงโรมันบาธแต่เอาเข้าจริงในญี่ปุ่นกลายเป็นบ่อน้ำพุร้อนรวมชายหญิง เธอตกใจแต่ก็สนุกกับประสบการณ์เหล่านี้อย่างมาก

ภาษาต่างประเทศนอกจากช่วยเปิดโลกทรรศน์ให้เราแล้ว ยังมีประโยชน์บางอย่างในด้านการเรียนรู้ด้วย งานวิจัยโดยนักวิจัยจาก Higher School of Economics (HSE) ในรัสเซียและ University of Helsinki ในฟินแลนด์ซึ่งตีพิมพ์ในวารสาร Scientific Reports บอกเราอย่างนั้นโดยการใช้เครื่องอ่านคลื่นไฟฟ้าสมอง EEG (electro encephalo graphy) เขาให้อาสาสมัคร 22 คนอายุเฉลี่ย 24 ปีที่ใช้ภาษาฟินแลนด์อย่างเดียวมาตลอด ในครอบครัวที่พูดแต่ภาษานี้และไม่เคยเรียนภาษาต่างประเทศมาก่อน หลังจากนั้น จึงให้เริ่มเรียนภาษาต่างประเทศตามมาตรฐานการเรียนของโรงเรียนในฟินแลนด์ เช่น ภาษาอังกฤษ สวีดิช เยอรมัน ละติน เดนิช และกรีก ผลจากเครื่องอ่านคลื่นไฟฟ้าสมองพบว่าเมื่ออาสาสมัครได้เรียนรู้ศัพท์ใหม่ๆ ไม่ว่าจะเป็นจากภาษาถิ่นหรือภาษาต่างประเทศก็ตาม สมองจะตอบสนองต่อคำศัพท์เร็วขึ้นกว่าเดิม ยิ่งเรียนหลายภาษาก็พบว่าวงจรการทำงานของสมองในการแปรรหัสข้อมูลคำศัพท์ใหม่ๆ ที่เรียนรู้ก็จะยิ่งเร็วขึ้นไปอีก ผู้วิจัยจึงสรุปว่าการเรียนรู้คำศัพท์ใหม่ๆ มีบทบาทในการกระตุ้นการทำงานสมองส่วนใดส่วนหนึ่ง

ฟังดูแล้วยิ่งน่าสนับสนุนให้หนุ่มน้อยที่เป็นโรคซึมเศร้าเรื้อรังได้เรียนวิชาเลือกภาษาต่างประเทศค่ะ นอกจากช่วยให้สมองเร็วขึ้น ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อโรคซึมเศร้าที่ความคิดความอ่านจะช้าลงแล้ว การได้เปิดโลกทรรศน์ต่อวัฒนธรรมใหม่ๆ ก็น่าจะช่วยให้มองชีวิตอย่างสนุกมากขึ้นด้วยค่ะ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image