คอลัมน์ แท็งก์ความคิด : คุณค่า “คำชี้แนะ”

ปิดไปอีก 1 ฤดูกาล สำหรับการแสดงของวงทีพีโอ

วงไทยแลนด์ฟีลฮาร์โมนิก ออร์เคสตร้า ของวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล

วันนั้นใครไปชมการแสดง คงเห็นความเปลี่ยนแปลง

เริ่มจากสถานที่ที่แสดง …

Advertisement

ใช่แล้ว หอประชุมมหิดลสิทธาคาร นั่นแหละ

เพียงแต่ด้านโถงใหญ่ของหอประชุมได้ปิดกั้น เพื่อเตรียมต้อนรับ แชนเดอเลียร์ ขนาดยักษ์หลายสิบล้านบาท จากสาธารณรัฐเช็ก ดินแดนแห่งแชนเดอเลียร์

งานนี้ รศ.ดร.สุกรี เจริญสุข คณบดีวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ เดินทางไปดูรายละเอียดหลายเที่ยว

Advertisement

กระทั่งตกลงใจนำประดิษฐกรรมขนาดใหญ่นี้มาเสริมสง่าราศีหอประชุม

โอ้ ว้าว คงจะงามตาน่ามอง

พอเข้าไปในหอประชุม การแสดงกำลังจะเริ่ม ก็เห็นหัวหน้านักดนตรีคนใหม่

พลิกดูสูจิบัตรทราบว่าชื่อ โอมิโรส ยาฟรุมิส หนุ่มรูปหล่อ

หลังจากนั้นวาทยกรได้เดินออกมาหน้าเวที

เขาชื่อ เดลตา เดวิด เกียร์ (Delta David Gier) ชาวอเมริกัน ทำหน้าที่ควบคุมวงในการแสดงปิดฤดูกาลที่ 11

คนนี้ก็เพิ่งเคยเห็น

สำหรับโปรแกรมการแสดงมีความหลากหลายน่าสนใจเช่นเดิม

นำโดยบทเพลงไทยชื่อ “บุหงาตันหยง” ที่เรียบเรียงโดย พ.ท.ประทีป สุพรรณโรจน์

ตามด้วยบทเพลงจีน ชื่อ Cantonese Suite

บทเพลงนี้ เย่ เฉี่ยวกัง (Ye Xiaogang) ผู้ประพันธ์ได้นำเอาทำนองของเพลงพื้นเมืองกวางตุ้งมาร้อยเรียงเป็นเพลงชุด (Suite)

เริ่มจาก Raindrops Tapping on Banana Leaves ถัดมาคือ Horses Jingles

และ Moonlight Reflection in the Serene Lake ติดตามมา ก่อนจะจบลงด้วย Thunder in Drought

จากนั้นก็มาถึงบทเพลง Variations on a Rococo Theme, Op. 33 ของปีเตอร์ ไชคอฟสกี้

มี ตปาลิน เจริญสุข ลูกสาวคนเล็กของ รศ.ดร.สุกรี เป็นคนโซโล

“น้องซอย” เรียกตามที่คนรู้จักเขาเรียก ฉายแววนักดนตรีมาตั้งแต่เล็ก

พี่ชาย ดร.จักรกฤษ เจริญสุข คนโตถนัดวิโอลา พี่สาวคนรอง กมลมาศ เจริญสุข เอาดีทางไวโอลิน

ส่วนน้องซอยหยิบเครื่องสายที่ใหญ่กว่า คือ เชลโล มาเป็นเครื่องดนตรีประจำมือ

เคยออกแสดงคอนเสิร์ตหลายครั้ง

เล่นเดี่ยวก็มาก เล่นวงก็เยอะ

ที่หอประชุมมหิดลสิทธาคารนี่เคยได้ฟังตอนคอนเสิร์ตวันเกิดป๋า ฟังแล้วยังติดใจ อยากมาฟังอีก

ก็พอดีโปรแกรมปิดฤดูกาลของวงทีพีโอมี “ตปาลิน” โซโลในบทเพลง แวริเอชั่นส์ จากธีม รอคโคโค

งานนี้จึงได้ฟังสมใจ

บทเพลงเริ่มด้วยเสียงกลมกล่อมของวงทีพีโอ แล้วเชลโลก็ปล่อยทำนองหลัก หรือ ธีม รอคโคโค ออกมา

เสียงเชลโลฟังสวย ใส คมชัด

จากนั้นก็เข้าสู่การนำเอาธีมที่นำเสนอไป “แปรทำนอง” หรือ แวริเอชั่น ถึง 7 ครั้ง

ทำนองที่มีการประดับประดานั้น มีทั้งเร็ว ทั้งช้า ทั้งกระชับ และผ่อนยาว ซึ่งตปาลิน

ทำได้เข้าอารมณ์คนฟัง

ยิ่งตอนที่ไล่โน้ตไล่เสียงที่ต้องใช้ความแคล่วคล่องของนิ้วที่กดเส้นเชลโลด้วยแล้ว

ลื่นไหลกลมกลืนไปกับจังหวะ…ฟังแล้วอภิรมย์

ไปๆ มาๆ วงการเพลงคลาสสิกไทยนี่ก้าวไกลพัฒนาไปมาก

คนไทยรุ่นใหม่มีความสามารถทางดนตรีหลายหลาก และเกิดขึ้นมาอย่างต่อเนื่องอีกต่างหาก

ช่วงท้ายของโปรแกรมการแสดง วงทีพีโอกำนัลผู้ฟังด้วยบทเพลง ซิมโฟนี หมายเลข 3 ในบันไดเสียง เอ ไมเนอร์ โอปุส 44 (Symphony No. 3 in A minor, Op. 44) ของเซอร์เก รัคมานินอฟ (Sergei Rachmaninoff)

ท่อนแรก เริ่มจากทำนองช้า เครื่องเป่าและเชลโลเปิด motto theme ซึ่งจะโผล่ให้ได้ยินเป็นระยะๆ ตลอดบทเพลง

จากนั้นวงทีพีโอขานรับด้วยเสียงอันดัง ก่อนจะถ่ายทอดทำนองหลักแรก

ตามด้วยทำนองหลักที่สอง ช่วงนี้กลุ่มเชลโลนำเสนอเสียงอันโรแมนติก

บทเพลงท่อนแรกดำเนินไปตามรูปแบบโซนาต้า ฟอร์ม

เมื่อผ่านช่วงแรกไปก็เข้าสู่ช่วงพัฒนาทำนองซึ่งนำทำนองหลักมาแต่งเติม ก่อนจะย้อนกลับไปสู่ทำนองหลักอีกครั้ง

แล้วจบลง motto Theme ที่ได้ยินตอนช่วงต้นหวนกลับมาส่งท้าย

ท่อนที่สอง ขับเคลื่อนด้วยจังหวะช้า มีเสียงพิณโผล่ขึ้นมาให้ได้ฟัง

ช่วงกลางวงทีพีโอเพิ่มความเร็ว ก่อนจะย้อนคืนสู่จังหวะช้าอีกครั้งและจบลง

ท่อนสุดท้าย การขับเคลื่อนกลับมายึดรูปแบบโซนาต้า ฟอร์ม

ทำนองแรกเปิดขึ้นอย่างหนักแน่น ช่วงพัฒนาทำนองบรรเลงแบบไล่ล้อ แล้วย้อนสู่ทำนองที่ฟังแล้วสงบ

ก่อนจะเร่งกลับคืนสู่จังหวะเร็ว และจบลงอย่างยิ่งใหญ่

การฟังดนตรีที่หอประชุมมหิดลสิทธาคาร ทุกครั้งได้อรรถรส

ส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดอรรถรสคือ “คำแนะนำ”

คำแนะนำจากสูจิบัตร และคำแนะนำจากอาจารย์ทางดนตรี

คอนเสิร์ตปิดฤดูกาลครั้งที่ผ่านมา มี ดร.ธนพล เศตะพราหมณ์ แนะนำ

ระหว่างการแนะนำบทเพลงก็จะแนะนำ “หนังสือ” ที่ควรอ่านเพิ่ม

แนะนำบทเพลงที่ควรฟังเสริม

แนะนำเพื่อให้ผู้ฟังขยับตัวเข้าใกล้กับเพลงคลาสสิก

ข้อแนะนำเหล่านี้ช่วยให้เราเข้าใกล้บทเพลงได้จริงๆ

ถ้าไม่เชื่อว่า ขอให้ไปทดลอง

ต้นเดือนพฤศจิกายนนี้ลองไปเข้าใกล้บทเพลงคลาสสิกกัน ที่หอประชุมมหิดลสิทธาคาร

เพราะที่นั่นวงทีพีโอจะเปิดการแสดงอีกครั้ง

การแสดงในฤดูกาลที่ 12 ของวงดนตรีคลาสสิกสัญชาติไทย

ไทยแลนด์ฟีลฮาร์โมนิก ออร์เคสตร้า

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image