อาศรมมิวสิก : จาคอบ ไฟท์ (Jacob Feit) ครูดนตรีตะวันตกในสยาม

อาศรมมิวสิก : จาคอบ ไฟท์ (Jacob Feit) ครูดนตรีตะวันตกในสยาม

อาศรมมิวสิก : จาคอบ ไฟท์ (Jacob Feit)
ครูดนตรีตะวันตกในสยาม

จาคอบ ไฟท์ (Jacob Feit) พ่อของพระเจนดุริยางค์ ไม่ค่อยมีใครกล่าวถึงนัก เนื่องจากว่ามีข้อมูลน้อย กระทั่งได้มีการศึกษาอย่างจริงจังของ ดร.ณัฐชยา นัจจนาวากุล ที่ศึกษาเรื่อง “ดนตรีฝรั่งในสังคมสยาม” โดยมีศาสตราจารย์พูนพิศ อมาตยกุล เป็นผู้ดูแลวิทยานิพนธ์ (พ.ศ.2555) ซึ่งก่อนหน้านั้น ผมได้ชักชวนนักศึกษาปริญญาเอกไปออกภาคสนามที่ประเทศเยอรมนี (พ.ศ.2552) ได้หาโอกาสไปเยี่ยมบ้านเกิดของจาคอบ ไฟท์ (Jacob Feit) ซึ่งอยู่ที่เมืองเตรียร์ (Trier) เมืองเล็กๆ ทางตะวันตกของเยอรมนีติดประเทศลักเซมเบิร์ก (Luxembourg) ที่เมืองเตรียร์นั้นก็ยังพอมีญาติสืบถามต้นตระกูลได้อยู่ พวกเขาให้การต้อนรับเป็นอย่างดี

จาคอบ ไฟท์ (Jacob Feit) มีชีวิตระหว่าง พ.ศ.2387-2452 เกิดที่เมืองเตรียร์ (Trier) เยอรมนี เมื่ออายุได้ 16 ปี แม่ผู้เป็นที่รัก (Apollonia) เสียชีวิตลง อีก 3 ปีต่อมา พ่อชื่อคอนราด (Conrad Veit) ได้แต่งงานใหม่ ทำให้จาคอบหนุ่มรู้สึกเจ็บปวดหัวใจมาก จาคอบเกิดความไม่พอใจและระหองระแหงกับพ่อมากขึ้น ทำให้พ่อกับลูกทะเลาะกันบ่อย จาคอบตัดสินใจออกจากบ้านเมื่อ พ.ศ.2406 เดินทางไปสหรัฐอเมริกา โดยสมัครเป็นทหารในกองทัพของฝ่ายเหนือ เดินเข้าสู่สนามรบในสงครามกลางเมืองเรื่องการเลิกทาส อายุ 19 ปี

ในสงครามกลางเมือง จาคอบ ไฟท์ ทำหน้าที่เป็นหัวหน้าวงดนตรีกองทหารฝ่ายเหนือ จาคอบได้เปลี่ยนสัญชาติเป็นคนอเมริกัน โดยพำนักอยู่ที่รัฐแคลิฟอร์เนีย เปลี่ยนนามสกุลเสียใหม่ให้เขียนเป็นแบบอเมริกัน เป็นไฟท์ (Feit แทน Veit) ปี พ.ศ.2410 เมื่อสงครามสงบลง จาคอบ ไฟท์ พอมีเงินติดตัว ต้องการเดินทางท่องเที่ยวไปในดินแดนทางตะวันออก พบว่าสยามเป็นเมืองที่น่าอยู่ ประกอบกับมีงานที่ถนัดให้ทำ คือ สอนแตรวงให้ทหารวังหน้า โดยได้คำแนะนำจากจอห์น ชันดเล (John Chandler) มิชชันนารีชาวอเมริกัน ซึ่งต่อมาได้ทำหน้าที่เป็นล่ามและเป็นกงสุลอเมริกันประจำสยาม มีชีวิตระหว่าง พ.ศ.2356-2434 ต่อมาเป็นกงสุลอเมริกัน พ.ศ.2400

Advertisement

หมอชันดเลนั้น เข้ามาสยามเมื่อ พ.ศ.2389 (อายุ 33 ปี) ซึ่งอเมริกันมีความใกล้ชิดกับพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ ประทับอยู่ที่วังหน้า ทรงนิยมอเมริกันมาก ได้ตั้งชื่อพระโอรสว่า Prince George Washington ชาวสยามนิยมเรียกว่า “พระองค์เจ้ายอดยิ่งยศ” คือ กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ

เมื่อจาคอบ ไฟท์ มาถึงสยาม (อายุ 23 ปี) ก็ได้แสดงฝีมือและเข้ารับราชการทหารเป็นครูสอนแตรวงที่วังหน้าต่อจากร้อยเอก
น็อกซ์ (Thomas G. Knox) ชาวอังกฤษ เคยเป็นผู้ดูแลแตรวงที่วังหน้า พ.ศ.2394-2400 เมื่อจาคอบ ไฟท์ ได้ถวายงานกรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ พ.ศ.2410 ที่วังหน้า โดยพื้นฐานเจ้านายท่านมีความนิยมอเมริกันอยู่แล้ว อเมริกันสมัยนั้นเข้าหาเจ้านายผ่านวังหน้า ไม่ว่าเรื่องความสัมพันธ์ เศรษฐกิจ สังคม การแพทย์ ศาสนา การศึกษา การปกครอง ซึ่งฝรั่งได้เข้ามาเกี่ยวข้องเรื่องการแยกดินแดนเพื่อแบ่งกันปกครอง

พ.ศ.2422 รัชกาลที่ 5 เชิญอดีตประธานาธิบดีแกรนท์ (Ulysses S. Grant) อเมริกา ผู้เคยดำรงตำแหน่งระหว่าง พ.ศ.2412-2420 ซึ่งเดินทางผ่านมาที่สิงคโปร์ เป้าหมายจะไปยังฮ่องกง (จีน) ญี่ปุ่น โดยมีคิวแทรกแวะต่อเรือโดยสารเข้ามาที่สยาม ระหว่างวันที่ 11-16 เมษายน พ.ศ.2422 ก่อนจะเข้าเฝ้ารัชกาลที่ 5 นั้น ในวันแรกที่มาถึงกรุงเทพฯ ได้เข้าพบผู้มีบารมีเสียก่อน คือ สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) ขณะนั้นอายุ 72 ปี ที่บ้านสมเด็จเจ้าพระยา มีวงดุริยางค์บรรเลงเพลงสำคัญต้อนรับ คือ เพลงชาติอเมริกัน (Star Spangled Banner) และเพลงสร้างชาติ (Hail Columbia) ระหว่างสงครามกลางเมือง ซึ่งนำวงดนตรีโดย จาคอบ ไฟท์

จาคอบ ไฟท์ นั้น เคยเป็นหัวหน้าวงทหารอเมริกันมาก่อน จึงสามารถทำเพลงต้อนรับอดีตผู้นำอเมริกันได้เป็นอย่างดี ซึ่งท่านอดีตประธานาธิบดีก็เคยเป็นผู้นำทหารในสงครามกลางเมืองมาก่อน เป็นฮีโร่ของกองทัพจึงได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดี เมื่อครบ 8 ปี ก็ออกเดินทางท่องเที่ยวทำงานการเมืองระหว่างประเทศ สิงคโปร์ สยาม จีน ญี่ปุ่น ในขณะที่บ้านของสมเด็จเจ้าพระยานั้น มีมิชชันนารีจอห์น ชันดเล คอยเป็นล่ามประจำบ้านอยู่

เมื่อกรมพระราชวังบวรวิไชยชาญทิวงคต พ.ศ.2428 ตำแหน่งวังหน้าถูกยุบลง จาคอบ ไฟท์ ถูกย้ายให้ออกจากกองแตรวังหน้า ไปเป็นครูแตรวงประจำอยู่ที่กรมมหาดเล็กรักษาพระองค์ มีหน้าที่ฝึกทหารแตร

ความตั้งใจเดิมนั้น จาคอบ ไฟท์ จะพำนักอยู่สยามสักชั่วระยะเวลาหนึ่ง ครั้นเมื่อได้พบกับสาวมอญคนสวยที่ชื่อ “แม่ทองอยู่” ได้กินอยู่ด้วยกัน มีลูก 3 คน คือ ลีโอ พอล และปีเตอร์ (พระเจนดุริยางค์) เมื่อโตขึ้น ลีโอกับพอลได้เดินทางไปอยู่ที่ญี่ปุ่นและสหรัฐอเมริกา เหลือแต่ปีเตอร์ลูกคนเล็กคนเดียว

ลูกชายทั้ง 3 คนของจาคอบ ไฟท์ ได้เรียนวิชาดนตรีอย่างดีจากบิดา โดยที่จาคอบ ไฟท์ ได้แสวงหาบทเพลงแบบฝึกหัดดนตรี (เครื่องสาย) จากยุโรปเพื่อให้ลูกทั้ง 3 ได้เรียนดนตรีคลาสสิกอย่างจริงจังและเต็มกำลังความสามารถที่จะพึงทำได้ โดยที่ลูกๆ กับบิดาสามารถตั้งเป็นวงเครื่องสายได้ เล่นกันที่บ้าน (String Chamber Orchestra) ส่วนวิชาสามัญนั้น ลูกๆ ทุกคนได้เข้าเรียนที่โรงเรียนอัสสัมชัญ บางรัก

วันที่ 24 กันยายน พ.ศ.2431 สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ รับราชการในกรมยุทธนาธิการ จัดงานแสดงดนตรี (Concert) ครั้งใหญ่ เพื่อเฉลิมพระเกียรติที่ศาลายุทธนาธิการ มีวงขับร้องประสานเสียง (ทั้งผู้หญิงและผู้ชาย) เกิดขึ้นครั้งแรก วงบรรเลงและขับร้องเพลงสรรเสริญพระบารมี (ฉบับปัจจุบัน) และเพลงเขมรไทรโยคขึ้นเป็นครั้งแรกด้วย เครื่องดนตรีมีทั้งเครื่องดนตรีไทยและเครื่องดนตรีฝรั่งปนกัน มีครูดนตรีคนสำคัญ 4 คน คือ จาคอบ ไฟท์ พระวาทิตบรเทศ (ชิต เสนีวงศ์) หลวงบรรเลงบันฦาศัพท์ (ม.ร.ว.ถม) ไมเคิล ฟุสโก (Michael Fusco) ซึ่งเป็นครูดนตรีสากลชาวอิตาเลียนสัญชาติอเมริกัน

ไมเคิล ฟุสโก (พ.ศ.2392-2445) ได้เข้ามาเมื่อ พ.ศ.2420 ผู้ควบคุมวงมารีนแบนด์ ซึ่งได้เข้ามากับเรือเทนเนสซี (Tennessee) โดยนำเพลงคุณหลวงอยู่กระทรวงยุทธนา (Marching Through Georgia) ต่อมาได้เข้าไปอยู่ที่บ้านสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ เป็นนักดนตรีผู้ทำวงดนตรีสำหรับการเต้นรำ และได้เปิดร้านขายสุราต่างประเทศที่โรงแรมบางกอก (Bangkok Hotel) เสียชีวิตในสยาม พ.ศ.2445 อายุ 53 ปี

จาคอบ ไฟท์ (Jacob Feit) เป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการวางรากฐานดนตรีตะวันตกในสยาม หลังจากร้อยเอก
น็อกซ์ซึ่งเป็นครูแตรควบคุมแตรวงอยู่ที่วังหน้ามาก่อน จากนั้นมีจาคอบ ไฟท์ เป็นผู้ควบคุมแตรวง อยู่ทั้งวังหน้าและวังหลวง กระทั่งสิ้นชีวิตวันที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ.2452 รวมเวลาที่รับราชการในสยาม 42 ปี ได้รับยศนายทหารบกเป็น “ร้อยตรี จาคอบ ไฟท์” อายุ 65 ปี
พระเจนดุริยางค์ (Peter Feit) ได้บันทึกเรื่องบิดาเอาไว้ว่า บิดาเป็นคนที่มีระเบียบเอาจริงเอาจัง เป็นผู้ที่เข้มงวดเรื่องการเรียนของลูกมาก การฝึกซ้อมดนตรีอย่างจริงจัง ใน
บรรดาโน้ตเพลงคลาสสิกแบบฝึกหัดดนตรีในโลกนี้ บิดาได้สั่งซื้อมาให้สิ้น ลูกๆ ทุกคนได้รับการศึกษาดนตรีอย่างมีคุณภาพ โดยใช้ระบบการศึกษาดนตรีอย่างเยอรมันเป็นต้นแบบ เริ่มจากเล่นเพลงพื้นบ้านเยอรมัน (Twinkle) ซึ่งเป็นเพลงกล่อมลูกและเป็นเค้าของเพลงชาติไทยในเวลาต่อมา

แม้ว่าปีเตอร์จะได้รับการศึกษาดนตรีมาอย่างดีเยี่ยมแล้วก็ตาม แต่บิดาได้กำชับไม่ให้ยึดถือและอาศัยวิชาดนตรีซึ่งท่านได้ให้ไว้นั้นเป็นอาชีพเป็นอันขาด โดยบิดาได้ให้เหตุผลว่า “…คนไทยเราไม่ใคร่สนใจในศิลปะการดนตรีเท่าใดนัก ชอบทำกันเล่นๆ สนุกๆ ไปชั่วคราวเท่านั้น แล้วก็ทอดทิ้งไป”

เมื่อราวปี พ.ศ.2532 ผมเคยเปิดร้านซ่อมเครื่องดนตรี (Dr. Sax) ที่สำราญราษฎร์ ได้มีโอกาสพบกับครูชด ศรียาสวิน (ช่างซ่อมเครื่องดนตรี) จึงได้ขอความรู้เรื่องการซ่อมไวโอลินจากท่าน ซึ่งผมยังเชื่อว่าไวโอลินเป็นของจาคอบ ไฟท์ เก็บไว้ในกล่องเดียวกันมีไวโอลินอยู่ 2 คัน ไวโอลินเป็นฝีมือของช่างชาวเยอรมัน ได้ทำขึ้นไว้ประมาณ พ.ศ.2404 และยังเชื่ออีกว่า จาคอบ ไฟท์ เอง ได้เรียนไวโอลินที่เยอรมันตั้งแต่อายุยังน้อย

ไวโอลินทั้ง 2 คัน ต้องซ่อม ซึ่งได้เคยให้ช่างฝรั่งเศสและช่างเยอรมันช่วยดูให้แล้ว แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จมากนัก แม้เป็นไวโอลินธรรมดาแต่ก็มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์สำหรับสังคม ความจริงสังคมไทยไม่ได้เก็บรักษาความรู้และชีวิตของคนธรรมดา โดยเฉพาะความเป็นอยู่และสภาพสังคม มีแต่ประวัติศาสตร์ราชวงศ์และสงครามเป็นหลัก มาถึงสมัยนี้ก็ต้องอาศัยข้อมูลของฝรั่งนักล่าอาณานิคมที่บันทึกหลักฐานเอาไว้

ไวโอลินคู่นี้ผ่านมา 5-6 ชั่วอายุคน อยู่ในครอบครัวของพระเจนดุริยางค์มาก่อน แล้วตกไปอยู่ในมือของลูกศิษย์ และไปอยู่กับช่างซ่อมเครื่องดนตรี ด้านหลังของไวโอลินปิดทองครึ่งตัว ตัวหนึ่งมีแกะเป็นรูปหัวคน มีรูปลวดลายสลัก (พยายามจะอ่านว่า JF) ส่วนอีกตัวหนึ่งได้เคยซ่อมที่นิวยอร์กมาก่อน ช่างซ่อมได้บันทึกเอาไว้ว่า ได้ซ่อมเมื่อวันที่ 13 มีนาคม พ.ศ.2457 ซึ่งหลังจากจาคอบ ไฟท์ เสียชีวิตไปแล้ว 5 ปี

ผมก็ยังเก็บรักษาไวโอลินไว้ ยังไม่สามารถหาข้อมูลหรือตรวจสอบความเป็นมาเพิ่มเติมได้ ตัวไวโอลินก็ยังต้องซ่อมและดูแลรักษาอยู่ ตัวหนึ่งสำหรับการเล่นเต้นรำ มีตัวเล็กไม่มีที่รองคาง อีกตัวมีไว้เล่นเพลงคลาสสิก

กระทั่งได้พบช่างทำเครื่องสายคนสำคัญชื่อ เบอทรองด์ เดลีลล์ (Bertrand Yves Delisle) ชาวฝรั่งเศส ที่ไปเรียนวิชาซ่อมและทำเครื่องดนตรี (ไวโอลิน วิโอลา เชลโล) ที่เมืองเครโมนา (Cremona) อิตาลี ซึ่งเป็นเมืองทำเครื่องสายที่สำคัญของโลก เมื่อลูกๆ ผมทั้ง 3 คน ได้สั่งทำไวโอลิน วิโอลา และเชลโล จาก
ช่างเบอทรองด์คนนี้ ซึ่งใช้เวลานานเป็นปี และราคาแต่ละตัวสูงมาก (6-7 หลัก) แต่ลูกๆ ทุกคนต่างมีความสุขกับการเล่นดนตรีมาก

จึงตัดสินใจให้ช่างเบอทรองด์ซ่อมไวโอลินของจาคอบ ไฟท์ เมื่อซ่อมเสร็จช่างบอกว่า “เขารู้สึกประหลาดใจมากๆ ที่ไวโอลินทั้งสองคันยังคงใช้งานได้ดีและยังมีเสียงที่ดีอีกด้วย นับเป็นเรื่องที่เหนือความคาดหมายมากที่เครื่องดนตรียังคงมีจิตวิญญาณและพร้อมที่จะฟื้นคืนชีพอีกครั้ง” เห็นว่าช่างนั้นตั้งใจทำให้มากเป็นพิเศษ

ในยุคที่มีอินเตอร์เน็ต ทำให้สามารถตรวจสอบเรื่องเวลาและที่สำคัญก็คือ ค้นหาเอกสารฝรั่งได้ง่ายขึ้น ทำให้ค้นหาข้อมูลของครูดนตรีฝรั่งในเมืองไทยได้มากขึ้น ซึ่งเชื่อว่าจะมีข้อมูลใหม่ๆ เกิดขึ้นอีกมาก

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image