แท็งก์ความคิด : ‘ศาสตราวุธ’ล้านนา

พลิกดูผลงานของทีมสภานักเรียนโรงเรียนเวียงตาลพิทยาคม ตำบลเวียงตาล อำเภอห้างฉัตร จังหวัดลำปาง ที่เป็น 1 ใน 10 ทีมที่ผ่านความชื่นชอบจากคณะกรรมการในโครงการ KPI NEW GEN ของสถาบันพระปกเกล้า ไปไม่นานมานี้

ผลงานที่พลิกดูเป็นส่วนหนึ่งของ โครงการ “จิตวิญญาณแห่งศาสตรา”

เป็นหนังสือที่บอกเล่าความเป็นมา และคุณค่าของศาสตราชาวล้านนา

เนื้อหาเริ่มต้นด้วยประวัติความเป็นมา

Advertisement

…อาวุธถูกสร้างขึ้นเพื่อป้องกันการรุกรานจากศัตรู

จากหลักฐานทางโบราณคดีในไทยเชื่อว่าเราเริ่มใช้อาวุธเมื่อ 3,000 ปีมาแล้ว

เริ่มแรกทำจากหินและกระดูกสัตว์เป็นส่วนใหญ่ และได้วิวัฒนาการขึ้นมาจนเป็นอาวุธจากโลหะ

Advertisement

อาวุธที่ใช้มักจะถูกประดิษฐ์คิดค้นให้มีรูปร่างและทรวดทรงเหมาะสมกับประโยชน์การใช้งาน

เป็นอาวุธประจำตัว ใช้พกประจำกาย และใช้ในการสงคราม

อาวุธหลักๆ ส่วนใหญ่เป็นดาบ นอกจากนั้นยังมีอาวุธอื่นๆ ที่สร้างขึ้น

อาทิ ทวน ธนู แหลน หลาว ง้าว หอก เป็นต้น

ในอดีตหนุ่มล้านนา เมื่อออกเรือนแต่งงานจะมีเพียงหีบผ้าใหม่กับดาบหนึ่งเล่มเท่านั้นที่พกติดตัวออกเรือน

ดาบคู่กายถือเป็นสัญลักษณ์ของการปกป้องคุ้มครอง

ดาบยังเป็นสัญลักษณ์ของการปราบอธรรมอีกด้วย…

…ดาบล้านนาโบราณมักมีการแบ่งแยกประเภทของดาบตามลักษณะรูปแบบของปลายใบดาบ

1.ดาบปลายบัว 2.ดาบปลายแหลม 3.ดาบปลายตัด 4.ดาบปลายร้าย และรูปทรงต่างๆ

ลักษณะของดาบยังผูกโยงกับความเชื่อเรื่องชะตาปีเกิด

คนเกิดปีชวด ให้ใช้ดาบปลายตัดหรือปลายแหลม สายดาบสีแดงหรือน้ำเงิน

คนเกิดปีฉลู ให้ใช้ดาบปลายบัว สายดาบสีเขียวหรือสีดำ

คนเกิดปีขาล ให้ใช้ดาบปลายตัด สายดาบสีเขียวหรือสีน้ำตาล

คนเกิดปีเถาะ ให้ใช้ดาบปลายแหลม สายดาบสีเทา หรือสีขาว

คนเกิดปีมะโรง ให้ใช้ดาบปลายแหลม สายดาบสีดำ สีเหลือง หรือสีแดง

คนเกิดปีมะเส็ง ให้ใช้ดาบปลายเปียง สายดาบสีเหลือง

คนเกิดปีมะเมีย ให้ใช้ดาบปลายแหลม สายดาบสีแดง

คนเกิดปีมะแม ให้ใช้ดาบปลายแหลม หรือปลายตัด สายดาบสีขาว

คนเกิดปีวอก ให้ใช้ดาบปลายแหลม สายดาบสีเขียว หรือสีคราม

คนเกิดปีระกา ให้ใช้ดาบปลายตัด สายดาบสีแดง หรือสีเหลือง

คนเกิดปีจอ ให้ใช้ดาบปลายตัด สายดาบสีเขียว หรือสีน้ำเงิน

คนเกิดปีกุน ซึ่งชาวล้านนาหมายถึงช้าง ให้ใช้ดาบปลายแหลม สายดาบสีแดง

การใช้ดาบนั้นชาวล้านนาจะมีการฟ้อน ที่เรียกว่า “ฟ้อนเจิง” ซึ่งเป็นการแสดงลีลาชั้นเชิงในการต่อสู้

ส่วนการตีดาบ และลักษณะของดาบก็มีขั้นตอนและรูปร่าง…

เนื้อความด้านบนเป็นส่วนหนึ่งในหนังสือเล่มดังกล่าว

เป็นผลงานส่วนหนึ่งจากอีกหลายส่วนที่สภานักเรียนโรงเรียนเวียงตาลพิทยาคมนำเสนอเพื่อสืบทอด “จิตวิญญาณแห่งศาสตรา”

กระทั่งได้รางวัลในโครงการ KPI NEW GEN ของสถาบันพระปกเกล้า

การรวบรวมข้อมูลของศาสตราวุธของล้านนามาเผยแพร่ทางสื่อนั้นถูกใจกรรมการ

ทั้งสื่อที่เป็นหนังสือดั่งที่ได้อ่านเป็นตัวอย่างด้านบน

และเผยแพร่เป็นคลิปที่อธิบาย “จิตวิญญาณ” แห่ง “ศาสตรา” ได้อย่างสวยงาม เข้าใจ และน่าติดตาม

ฝีมือการถ่ายทอดข้อมูลออกมาเป็นตัวอักษร และภาพ นั้นไม่ธรรมดาเลย

ถือเป็น “เพชรเม็ดงาม” ที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นน่าจะให้การสนับสนุน

ต่อยอดจาก “ศาสตราโบราณ” ที่ล้ำค่า และ “ทักษะการสื่อสารของคนรุ่นใหม่”

ผสมผสานและพัฒนาให้โครงการ “จิตวิญญาณแห่งศาสตรา” ยั่งยืนคู่ท้องถิ่น

กลายเป็น “ของดี” ที่สามารถดึงคนภายนอกให้เข้ามาท่องเที่ยว

กลายเป็น “ของฝาก” ที่มีเอกลักษณ์ ติดไม้ติดมือนักท่องเที่ยวที่มาเยือนลำปาง

ความเป็นมาและความขลังของศาสตรา คือ “ขุมทรัพย์” ที่สามารถหารายได้เข้าชุมชน

การผสมผสานระหว่าง “เอกลักษณ์” ของท้องถิ่น กับ “ฝีมือคนรุ่นใหม่” สามารถสร้างประโยชน์ให้ท้องถิ่นได้

“จิตวิญญาณแห่งศาสตรา” เป็นตัวอย่างที่ KPI NEW GEN ผลักดัน

จากไอเดีย ผ่านการอบรมขัดเกลาแผน แล้วนำไปสู่การปฏิบัติ

ในที่สุดผลงานก็ปรากฏเป็นรูปธรรม

รูปธรรมที่ปลุก “จิตวิญญาณแห่งศาสตราอาวุธโบราณลำปาง” ให้ดำรงอยู่คู่ท้องถิ่น

เป็นมรดกล้ำค่าที่พึงรักษา

และเผยแพร่ออกไปด้วยฝีมือของ NEW GEN

คนรุ่นใหม่แห่งตำบลเวียงตาล อำเภอห้างฉัตร จังหวัดลำปาง

นฤตย์ เสกธีระ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image