ย้อนความทรงจำ ‘ขรรค์ชัย บุนปาน’ 4 ทศวรรษ หนัง‘ปีศาจ’ มรดกภาพยนตร์ของชาติ ปี 2564

ขรรค์ชัย บุนปาน ผู้อำนวยการสร้าง

ย้อนความทรงจำ ‘ขรรค์ชัย บุนปาน’ 4 ทศวรรษ หนัง‘ปีศาจ’ มรดกภาพยนตร์ของชาติ ปี 2564

“รู้สึกทำงานแบบสนุก ไม่คิดว่าจะเป็นความเดือดร้อน คิดว่าเป็นภารกิจ เป็นหน้าที่ที่ต้องทำ แล้วก็ให้เสร็จอยู่ในเวล่ำเวลา พอติดต่อใครเขาก็บอก เฮ้ย! มึงเอาเลย โอเค ฉิบหาย…เป็นหนี้อีก” ขรรค์ชัย บุนปาน ประธานกรรมการ บริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) เล่าพลางหัวเราะ ยามย้อนความทรงจำถึงภาพยนตร์เรื่อง “ปีศาจ” ที่เขาเป็นผู้อำนวยการสร้างเมื่อราว 40 ปีก่อน โดยนำเนื้อหามาจากนวนิยาย “ปีศาจ” ของ เสนีย์ เสาวพงศ์ (นามปากกาของศักดิชัย บำรุงพงศ์) ที่ว่าด้วยความขัดแย้งทางชนชั้นระหว่างโลกเก่าของชนชั้นนำกับโลกใหม่ของสามัญชน

แม้ภาพยนตร์เรื่อง “ปีศาจ” หรืออีกชื่อคือ “สาย สีมา นักสู้สามัญชน” อาจเลือนรางจากการรับรู้ของสังคมไปบ้าง ทว่าด้วยเนื้อหาที่เข้มข้น ไร้กาลเวลา “ปีศาจ” จึงผงาดขึ้นอีกครั้งอย่างโดดเด่น ด้วยการเป็นหนึ่งในภาพยนตร์ 11 เรื่อง ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกภาพยนตร์ของชาติ ปี 2564 จากการคัดเลือกโดยคณะกรรมการของหอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน)

“ ‘สาย สีมา นักสู้สามัญชน’ ถือเป็นมรดกความกล้าหาญของนักหนังสือพิมพ์กลุ่มหนึ่งที่ลุกขึ้นมาสร้างภาพยนตร์ด้วยอุดมคติอันแรงกล้า แฝงด้วยจิตวิญญาณของปีศาจแห่งกาลเวลา ไม่ต่างจากบทประพันธ์” คือเหตุผลสำคัญประการหนึ่งที่คณะกรรมการพิจารณาให้ไว้

ไม่บ่อยนักที่ขรรค์ชัย เจ้าของฉายาร่วม “สองกุมารสยาม” จะให้สัมภาษณ์ แต่ด้วย “ปีศาจ” คือบทบันทึกเหตุการณ์แห่งยุคสมัย ในฐานะผู้อำนวยการสร้างภาพยนตร์เรื่องนี้ “มติชน” จึงชวนขรรค์ชัยย้อนกลับไปเมื่อ 4 ทศวรรษที่แล้ว

Advertisement

ปลุก “สาย สีมา นักสู้สามัญชน” ให้กลับมาโลดแล่นมีชีวิตอีกครั้ง!

จุดกำเนิดภาพยนตร์ “ปีศาจ”

เสนีย์ เสาวพงศ์ เขียน “ปีศาจ” ขึ้นในปี 2496 ซึ่งเป็นช่วงที่เขารับราชการในกระทรวงการต่างประเทศ ส่วนบริบทสังคมไทยขณะนั้นก็เกิดคนรุ่นใหม่ที่ท้าทายสำนึกและค่านิยมแบบเดิมๆ เขย่าโลกของคนรุ่นเก่าให้สั่นคลอนขึ้นเรื่อยๆ

“ปีศาจ” จึงเป็นเสมือนตัวแทนอุดมคติของคนรุ่นใหม่ในยุคถัดๆ มา ที่ต้องการเห็นความเท่าเทียมกันในสังคม

ประจวบ มงคลศิริ ผู้รับบท “สาย สีมา” (ภาพจากหอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน))

“ท่านผู้เขียนเป็นอัจฉริยะ หนังสือที่ปรากฏเป็นสุดยอดที่เราประทับใจ แล้วทุกคนที่เรารู้จักมักคุ้นก็เห็นตรงกันว่าเนื้อเรื่องเข้าท่าหมดเลย แล้วภาษาสวย ซึ่งก่อนหน้าจะเกษียณปี 2521 พี่เสรับราชการเป็นเอกอัครราชทูตไทยประจำประเทศเอธิโอเปีย แล้วก็เอกอัครราชทูตไทยประจำประเทศพม่า ระหว่างนั้นท่านจะเดินทางมาเมืองไทยทุกปี มาพบปะพูดคุย

“จนกระทั่งไปสมาคมนักข่าวฯ (สมาคมนักข่าวแห่งประเทศไทย) อยู่ถนนราชดำเนินกลาง ก็เจอพวกรุ่นพี่เอาไปนำเสนอพี่เจญ เจตนธรรม (นามปากกาของเจน จำรัสศิลป์) ตอนนั้นมีหนังเรื่องครูบ้านนอกที่ดังระเบิดเถิดเทิง เลยมาช่วยกันทำหนังดู แต่โดยส่วนตัวผม ความรู้พื้นฐานแย่มากเลย เหมือนวัยรุ่นน่ะ มีแต่ใจที่อยากทำ ก็ได้พี่เจนกับสุพรรณ บูรณะพิมพ์ มาทำ เราก็ให้ค่าลิขสิทธิ์พี่เสด้วย

“แล้วแต่ก่อนต้องมีดารา อย่างพี่ณรงค์ (ณรงค์ จันทร์เรือง) เรื่องปลัดปืนโหด ก็มีสรพงศ์ ชาตรี มาเล่น มาถึงปีศาจเนี่ย เราบอก เฮ้ย! เอางี้ดีกว่า ไม่เอาดารามีชื่อมาเล่น ก็ได้สาย สีมา เป็นนักเรียนแพทย์ ชื่อประจวบ (ประจวบ มงคลศิริ) แล้วก็รัชนีนี่รู้สึกจะธรรมศาสตร์ ปี 3 ปี 4

“ถ้าจะเอาดาราเราคงหาได้ แต่รู้สึกมันไม่สด พี่เจนก็ช่วยดู เขาก็รู้สึกว่าเหมาะสม พวกนี้อยู่ในวงการมานานกว่า อย่างสุพรรณ บูรณะพิมพ์ อย่างนี้ ถือว่าเป็นครูคนหนึ่งที่ร่วมสมัย พี่เจนก็เขียนหนังสือดี เขารุ่นเดียวกับพวกทวี เกตะวันดี พวกนักหนังสือพิมพ์เก่า หลังอิศรา อมันตกุล แต่ทันๆ กัน” ขรรค์ชัยเล่าถึงที่มาของการสร้างภาพยนตร์เรื่อง “ปีศาจ”

ต้นทศวรรษ 2520 ประเทศไทยมีรัฐธรรมนูญฉบับปี 2521 มี พลเอก เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ เป็นนายกรัฐมนตรีที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง ก่อนแถลงลาออกจากตำแหน่งนายกฯ กลางสภา เมื่อวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2523 จากนั้น พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ ขึ้นเป็นนายกฯ

เหตุการณ์ทางการเมืองที่สั่งสมมาตลอดหลายปี ทำให้ชนชั้นนำที่มีอำนาจทางการเมืองและฝั่งอนุรักษนิยมรู้ว่าไม่เป็นผลดีต่อพวกเขา จึงประนีประนอมกับนักศึกษาที่เข้าป่าจับปืนต่อสู้ ตัวอย่างหนึ่งคือ คำสั่งนายกรัฐมนตรีที่ 66/2523 ที่ออกสมัยรัฐบาลพลเอก เปรม

ภาพยนตร์ “ปีศาจ” ดำเนินการสร้างในช่วงเวลาดังกล่าว คือราวปี 2522-2523 ซึ่งเมื่อถามขรรค์ชัยว่า การสร้างหนังเกี่ยวข้องกับบริบทสังคมช่วงทศวรรษนั้นหรือไม่ คำตอบของเขาคือ…

“ไม่เกี่ยว…

“ถ้าจะดูบริบทสังคมการเมือง ก็มีตลอด ตั้งแต่ทำหนังสือพิมพ์เกือบจะมีทุกปี แล้วมีทีไร หนังสือเราก็เดือดร้อนทุกที เราก็จะถูกหาว่าเป็นทุกอย่างหมดที่ไม่ได้เป็นรัฐบาล อะไรที่ตรงข้ามรัฐบาลได้เป็นหมด ถือเป็นเรื่องปกติ”

ระดมทุนสร้าง

รัชนี และสาย สีมา ในภาพยนตร์ (ภาพจากหอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน))

แม้มีใจที่อยากทำ แต่การสร้างหนังต้องมีทุนรอน ขรรค์ชัยจึงบอกพรรคพวกเพื่อนฝูงและคนที่คุ้นเคยกัน เพื่อหาทุนสร้าง

“จริงๆ ก็เหมือนทุกคนช่วยๆ กันนั่นแหละ แต่เราอาจจะต้องดูแลเรื่องสะตุ้งสตางค์มากกว่าคนอื่น แล้วก็ไม่ได้นึกอะไร มันอย่างเดียว ไม่ได้นับเลยว่าใช้ทุนเท่าไหร่ ไปขอใคร ใครก็ให้ ไปเล่าให้ฟัง เขาก็ให้ ตอนนั้นรู้สึกว่าเรายังแข็งแรง พูดแล้วคนเชื่อ แต่ก็กวนคนมาเยอะ เพื่อน ผู้ใหญ่

“รู้สึกทำงานแบบสนุก ไม่คิดว่าจะเป็นความเดือดร้อน คิดว่าเป็นภารกิจ เป็นหน้าที่ที่ต้องทำ แล้วก็ให้เสร็จอยู่ในเวล่ำเวลา พอติดต่อใครเขาก็บอก เฮ้ย! มึงเอาเลย โอเค ฉิบหาย…เป็นหนี้อีก รู้สึกว่าตอนหนังเจ๊ง ใช้หนี้อีก 10 ปี 15 ปีเลย” ขรรค์ชัยเล่าอย่างอารมณ์ดี

เมื่อทุนเริ่มมา หนังก็เริ่มเดินหน้า มีผู้กำกับคือ สุพรรณ บูรณะพิมพ์ ขณะเดียวกันก็มีชื่อ “หนุ่ม 22” อยู่ในเครดิตภาพยนตร์ ทั้งยังมีเพลงที่แต่งโดย เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ กวีชื่อก้อง ที่เนื้อหาท่อนหนึ่งขับขานว่า “สิ่งเก่าๆ จะต้องไป สิ่งใหม่ๆ จะต้องมา” ประกอบเรื่องด้วย

“จำไม่ได้ หรือใช้ไปอย่างนั้นเองมั้ง พี่จิตต์ (สุจิตต์ วงษ์เทศ เจ้าของฉายาร่วม ‘สองกุมารสยาม’) ก็ช่วย” เป็นคำตอบของขรรค์ชัย ต่อคำถามว่า “หนุ่ม 22” คือนามแฝงของใครบ้าง

“ปีศาจ” ใช้สถานที่ถ่ายทำหลายแห่ง ประเดิมฉากแรกที่จวนผู้ว่าราชการจังหวัดฉะเชิงเทรา ตั้งอยู่ริมแม่น้ำที่ อ.แปดริ้ว ซึ่งผู้ว่าฯฉะเชิงเทราขณะนั้นคือ สุจินต์ กิตยารักษ์ เป็นเพื่อนรุ่นเดียวกับศักดิชัยที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ทีมผู้สร้างจึงขอยืมสถานที่ ก่อนจะขยับไปที่อื่น อย่าง อ.บางพลี จ.สมุทรปราการ หรือที่ จ.พระนครศรีอยุธยา เท่าที่ความสะดวกเรื่องยานพาหนะจะอำนวย

“ตอนนั้นคลองบางพลียังมีเรือวิ่ง ท้องนายังอยู่เต็ม อยุธยา รังสิต ก็ทำค่ายญี่ปุ่นได้เลย อย่างฉากค่ายญี่ปุ่น ผมไปอเมริกาพอดี ทิ้งสตางค์ไว้ในแบงก์สัก 8 แสน กลับมารู้สึกเหลือสตางค์ในบัญชีร้อยเดียว เพราะต้องปลูกโรงแล้วเผากลางทุ่ง กลับมาดูซากเลย” ขรรค์ชัยย้อนอดีตพลางยิ้ม ซึ่งระหว่างถ่ายทำ หากศักดิชัยและขรรค์ชัยมีเวลาว่างก็จะไปดูด้วย

4 ทศวรรษ หนัง ‘ปีศาจ’
มรดกภาพยนตร์ของชาติ ปี 2564

นวนิยาย “ปีศาจ” ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5 สำนักพิมพ์มติชน (ภาพ: ปานตะวัน รัฐสีมา)

“ปีศาจ” ออกสู่สายตาสาธารณชนราวเดือนพฤษภาคม 2524 โดยมีการประชาสัมพันธ์ล่วงหน้า ลงโฆษณาในหนังสือพิมพ์เดลินิวส์และที่อื่นอีกหลายแห่ง

“ตอนนั้นติดต่อโรงหนังได้แถวยมราช ชื่อโรงหนังโคลีเซี่ยม เฮียโส (โส ธนวิสุทธิ์) บอก เฮ้ย! มึงเอาเข้าเลย พอเข้าเสร็จ แกบอก เฮ้ย! ช้าง ไม่มีคนนะ รอบหนึ่งมี 7 คน นั่งเหงาเลย เอ๊ะ! กูดูหนังผีรึเปล่า อีกรอบเหลือ 5 คน แกบอก มึงช่วยเอาออกไปทีเถอะวะ ก็ฉายแค่โรงเดียว 5 วัน ไม่มีคน” ขรรค์ชัยเล่าขันๆ

“ในใจคิดเข้าข้างตัวเองว่า เอ๊ะ! เราก้าวหน้าไปหรือเปล่าวะ คนตามไม่ทัน แต่ความจริงเข้าไปดูแล้วคงตกใจ เพราะเราทำแบบพื้นฐานไม่มี เป็นแต่อยากทำเท่านั้นเอง ก็จบ ไม่ซีเรียสอะไร สนุกดี”

“ไม่มีอะไรซับซ้อนหรอก มีแต่ความล้มเหลว” ขรรค์ชัยสรุป แล้วเล่าด้วยว่า หลังจากนั้นเขาถึงขั้นปักธูปกับพระแก้ว ขอเลิก ไม่ทำหนังอีกต่อไป!

“ปีศาจ” จึงเป็นภาพยนตร์เรื่องแรกและเรื่องเดียวในชีวิตของขรรค์ชัยนับแต่นั้น

กาลเวลาล่วงผ่านหลายสิบปี สังคมไทยผ่านการเปลี่ยนแปลงแทบทุกมิติ แต่แก่นของ “ปีศาจ” ยังปักหลักหนักแน่นอย่างทรงพลัง กระทั่งได้รับคัดเลือกให้เป็นหนึ่งในมรดกภาพยนตร์ของชาติ ปี 2564

“จริงๆ ก็เป็นหน้าที่เขา เราก็ไม่เป็นไรหรอก อย่างน้อยให้เนื้อหา ข้อใหญ่ใจความ จะได้รับการจดจำต่อเนื่องไป ซึ่งมันเป็นสิ่งที่ดี” คือความเห็นของขรรค์ชัยต่อประเด็นดังกล่าว

ส่วนเรื่องที่ว่า ผ่านไป 40 ปีแล้ว คิดว่าคนยุคปัจจุบันอยากชมหนังเรื่องนี้ด้วยหรือไม่นั้น

“ก็แล้วแต่ ถ้าเกิดรุ่นใหม่เขาอยากเห็น หรือเขาอาจจะอยากเห็นว่ามันเชยยังไงก็ได้” ขรรค์ชัยทิ้งท้าย พร้อมเสียงหัวเราะอย่างอารมณ์ดีอีกครั้ง

ภาพยนตร์ 11 เรื่อง มรดกภาพยนตร์ของชาติ ปี 2564

จากภาพยนตร์กว่า 300 เรื่อง คณะกรรมการของหอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน) ได้คัดเลือกภาพยนตร์ 11 เรื่อง ให้เป็นมรดกภาพยนตร์ของชาติ ปี 2564 โดยมีหลักเกณฑ์พิจารณา 6 ข้อ ได้แก่ คุณค่าทางประวัติศาสตร์และความทรงจำ คุณค่าทางศิลปะภาพยนตร์ มีความโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ บูรณภาพ ความเสี่ยงต่อการสูญเสียหรือยากแก่การหาทดแทน และอิทธิพลต่อคนและสังคม

1.[โสกันต์พระองค์เจ้าจิรศักดิ์สุประภาต] (2471)

2.ห้วงรักเหวลึก (2498)

3.[คำปราศรัยในวันครบรอบปีที่ 2 แห่งการปฏิวัติ 20 ตุลาคม 2503] (ไม่สมบูรณ์) (2503)

4.สุรีรัตน์ล่องหน (2504)

5.นิสิตพัฒนา (ไม่สมบูรณ์) (2505)

6.โฆษณาเพียว [2506-2508]

7.การเดินทางอันแสนไกล (2512)

8.ทอง (2516)

9.วิมานดารา (2517)

10.สาย สีมา นักสู้สามัญชน (2524)

11.Goal Club เกมล้มโต๊ะ (2544)

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image