14 ตุลา ถึง 6 ตุลา กว่า 4 ทศวรรษที่ ‘ปีศาจ’ ยังหลอกหลอน

14ตุลา ถึง 6ตุลา กว่า4ทศวรรษที่‘ปีศาจ’ยังหลอกหลอน

14 ตุลา ถึง 6 ตุลา กว่า 4 ทศวรรษที่ ‘ปีศาจ’ ยังหลอกหลอน

“ผมเป็นปีศาจที่กาลเวลา ได้สร้างขึ้นมาหลอกหลอนคนที่อยู่ในโลกเก่า ความคิดเก่า……
เท่ากับไม่มีอะไรหยุดยั้งความรุดหน้าของกาลเวลา ที่จะสร้างปีศาจเหล่านี้ให้มากขึ้นทุกที”

วรรคทองของ ‘สาย สีมา’ ตัวละครสามัญชนสะท้อนสังคมไทย จากนวนิยาย ‘ปีศาจ’ ลอดผ่านลำโพงของโทรทัศน์เครื่องใหม่ ใต้เงากรงขังที่ปิดล็อกห้อมล้อมด้วยงานศิลปะ ‘เพื่อประชาชน’ ในวันที่แกนนำราษฎรหลายคนถูกคุมขังครบ 2 เดือนเต็ม

คือเสียงของ สินธุ์สวัสดิ์ ยอดบางเตย ศิลปินอาวุโส รางวัลศรีบูรพา 2562 ยืนคลี่หน้ากระดาษอ่านวรรณกรรมอมตะจากปลายปากกาของ เสนีย์ เสาวพงศ์ ในวันเปิดนิทรรศการ ปีศาจแห่งกาลเวลา ณสวนครูองุ่น ทองหล่อ ซอย 3 ภายใต้โครงการศิลปะนานาพันธุ์ ปีที่ 28 เพื่อฉายซ้ำย้ำเตือน 45 ปีโศกนาฏกรรม 6 ตุลาคม 2519 ซึ่งเปิดให้เข้าชมวันนี้ 14 ตุลาคม 2564 เป็นวันสุดท้าย หลังเปิดงานอย่างเป็นทางการตั้งแต่ 18 กันยายนที่ผ่านมา

“บาดแผลครั้งสำคัญไม่มีวันถูกลบเลือนไปจากหน้าประวัติศาสตร์ จะตามหลอกหลอน ไม่รู้จักจบ จักสิ้น” สินธุ์สวัสดิ์ หนึ่งในผู้รอดพ้นจากเหตุการณ์ครั้งสำคัญอย่าง 6 ตุลา 19 ลั่นวาจา

Advertisement

เรื่องราวยังฝังอยู่ในความทรงจำแห่งยุคสมัย แม้ผ่านไปนานถึง 48 ปี สำหรับโศกนาฏกรรม 14 ตุลา 16 และ 45 ปี สำหรับการสังหารหมู่ 6 ตุลา 19

 

Advertisement

ย้อนอดีต ย้ำอนาคต

‘ปีศาจแห่งกาลเวลา’

“เก้าอี้แดง” แกว่งย้อยลงมาจากยอดไม้ใหญ่ “ศพ” จำลองเปื้อนสีเลือดห้อยกระจายในสวนครูองุ่น ใจกลางกรุงย่านทองหล่อ ดึงสายตาชาวไทย-เทศให้จับจ้อง และย่องเข้ามาค้นหาความหมาย

ผลงานหลากเทคนิคถูกจัดวาง ขึง แขวน ตั้ง กระจายอยู่โดยรอบ ทุกผืนผ้าใบ กระดานไม้ รอยสเปรย์ ทีแปรง และน้ำหมึก ทุกท่วงทำนองของศิลปินเพื่อชีวิต (ที่ดีกว่า) ขับขานสอดประสานความมุ่งหมายในทิศทางเดียวกัน

วรรณกรรมเรื่องปีศาจตั้งแต่ปกแรกถึงปกปัจจุบัน ร้อยเรียงในซุ้มส่วนลึกสุดของสวน ชวนคนดูเข้าไปพบกับภาพเชิดชูแกนนำราษฎร 64 ไม่เพียงงานศิลป์ หากยังมีวงเสวนาขุดอดีตมาล้างน้ำ ไปจนถึงเพอร์ฟอร์แมนซ์อาร์ตและการเพนต์สดโดยศิลปินหน้าใหม่ที่ไหลเวียนมาร่วมสร้างสรรค์ตลอด 1 เดือนเต็ม

“กลุ่มทะลุฟ้า” ทำละครย้อนอดีต สวมบทบาทฉากแกนนำนักศึกษาประกาศไม่เลิกชุมนุมจนกว่า “พระถนอม” จะไม่มีที่ยืนในแผ่นดินไทย ก่อนต้องล้มตายหลังสิ้นซึ่งเสียงปืน

หวังเตือนความจำ ครั้งนักเรียน นิสิต นักศึกษา ประชาชนถูกเจ้าหน้าที่รัฐและมวลชนฝ่ายขวาเข่นฆ่าอย่างทารุณ และถูกจับกุมคุมขังจำนวนมากจากการออกมาชุมนุมต่อต้านเผด็จการ ในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ก่อนนำไปสู่การรัฐประหาร ตัดรากไม้ดอก “ประชาธิปไตย” ไม่ให้เบ่งบาน

“เหตุใดถึงเกิดเรื่องพรรค์นี้”

คือคำถามสำคัญที่โยนกลับไปผู้ชมและสังคมได้ฉุกคิด

อยู่ที่ว่า “คนยุคนี้คือผู้ที่จะให้คำตอบ” สินธุ์สวัสดิ์เห็นเช่นนั้น

 

เพราะ 70 ปีผ่านไปไม่มีอะไรกระเตื้อง

ศราพัส บำรุงพงศ์ บุตรสาวของเสนีย์ หอบหนังสือ “ปีศาจ” มอบแก่ผู้ร่วมงานในวันเปิดนิทรรศการ ก่อนเผยกับทีมผู้จัดว่า แปลกใจที่คุณพ่อแต่งหนังสือ “ปีศาจ” ตั้งแต่ศักราช 2498 เกือบ 70 ปี คนรุ่นใหม่ยังเห็นคุณค่า

ก่อนย้ำ “ไม่นึกว่า 70 ปีให้หลังยังต้องตีพิมพ์ซ้ำ ถูกนำมาทำอาร์ตเวิร์กและธีมของงาน สะท้อนใจ
ถึง 70 ปีผ่านไป แทบไม่มีอะไรกระเตื้อง… จากวันนั้น จนถึงวันนี้”

“สังเกตว่าช่วงไหนที่ความไม่เท่าเทียม ความไม่ยุติธรรม ความเอารัดเอาเปรียบรุนแรง หนังสือของพ่อก็จะสปาร์กขึ้นมา มีการพิมพ์ซ้ำ เป็น bitter sweet ถ้าเป็นประเทศที่เจริญแล้ว มีประชาธิปไตยเต็มที่ หนังสือเล่มนี้จะต้องเชยมาก!”

ศราพัสเผยด้วยว่า ครั้งหนึ่งเคยเจอทนายอานนท์
นำภา เล่าที่มาของการเป็นทนาย ที่เรียนกฎหมายส่วนหนึ่งก็เพราะ สาย สีมา (ตัวละครหลัก ทำอาชีพทนายความเพื่อคนจน)

สุชาติ สวัสดิ์ศรี ศิลปินราษฎร ร่วมอ่านบทกวี “ปณิธานลาดยาว เรามาไกลเกินกลับไปนับหนึ่ง” ที่ทนายอานท์เขียนขึ้นขณะถูกคุมขัง (15 ก.ย.64) สะท้อนความหวังและความฝันที่อยากเห็น “คนเท่าเทียมกัน”

ด้านภรรยาอย่าง “ศรีดาวเรือง” วรรณา สวัสดิ์ศรี เจ้าของรางวัลนราธิปพงศ์ประพันธ์ ปี 2563 อ่านกวี “เพราะฉันเป็นคนจน ฉันจึงมีความหมาย”

ก่อน กฤษณะ ศรีบูรพา อ่านบทประพันธ์ฉายความเป็นศิลปินและศิลปะที่มุ่งวิจารณ์ทุกด้านมืด เพื่อปลดเปลื้องกำพืดและความมืดมัวของอำนาจเถื่อน

‘เพนกวิน’วิญญาณจารุพงษ์’64
‘ทองธัช-ทัศนัย’ คือ‘มนัส เศียรสิงห์’

การรำลึกโศกนาฏกรรมเดือนตุลาในปี 2564 มีการมอบรางวัลครั้งสำคัญ 2 หน

3 ตุลาคม ที่ผ่านมา ณ สวนอัญญา เฮือนครูองุ่น มาลิก จ.เชียงใหม่ สินธุ์สวัสดิ์ ในฐานะผู้รับผิดชอบโครงการ ประกาศผลรางวัล มนัสเศียรสิงห์‘แดง’ ครั้งที่ 5 ประจำปี 2564 แก่ศิลปินทัศนศิลป์ไทย ผู้มีผลงานดีเด่นทางด้านประชาธิปไตย สันติภาพ ความเป็นธรรม เพื่อเป็นอนุสรณ์ สานต่ออุดมการณ์ “มนัส เศียรสิงห์” หรือแดง ศิลปิน นักกิจกรรมในขบวนการตุลา ที่สละชีพหน้าหอประชุมใหญ่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ทองธัช เทพารักษ์ เจ้าของฉายา “เพชฌฆาตหมื่นปก”คอลัมนิสต์ “ทองเสียดสด” นสพ.ข่าวสด คว้ารางวัลมนัส เศียรสิงห์‘แดง’ เกียรติยศ ส่วนรางวัลดีเด่น ผศ.ดร.ทัศนัย เศรษฐเสรี อาจารย์คณะวิจิตรศิลป์ ม.เชียงใหม่ ได้ไปครอง

ไม่กี่วันต่อมา 6 ตุลาคม ณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สุรีย์รัตน์ ชิวารักษ์ มารดา พริษฐ์ หรือเพนกวิน รับโล่รางวัลพร้อมใบประกาศเกียรติคุณ “จารุพงษ์ ทองสินธุ์ เพื่อประชาธิปไตย ปี 2564” แทนบุตรชายที่ยังถูกจองจำในเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ

แม้กายไม่ได้มา พริษฐ์ฝากสุนทรพจน์ให้มารดาอ่านในพิธี ความว่า “จารุพงษ์” ไม่เพียงเป็นรุ่นพี่ แต่ยังเป็นผู้เสียสละเพื่อประชาธิปไตยจนถึงที่สุด เกียรติภูมิของตนไม่อาจเทียบเท่านายจารุพงษ์ และวีรชนเดือนตุลา

การรับรางวัลเป็นเกียรติใหญ่หลวง และอีกทางหนึ่งยังเป็นความน่าหดหู่ เพราะแสดงว่าแม้จารุพงษ์จากไป 45 ปี ยังคงมีคนต้องเจ็บปวด เสียสละ ไม่ต่างจากยุคนั้น การกักขังคนที่มีความคิด ความเชื่อของตัวเองสะท้อนว่าประชาธิปไตยของเราติดเชื้อโรคแทรกซ้อนจนอ่อนแอ เปราะบางถึงขนาดไม่อาจทนฟังคนเห็นต่างได้ รับความจริงไม่ได้

‘ศิลปะ’ตกแต่ง‘สถาปัตยกรรมแห่งความโหดร้าย’

ทัศนัย อาจารย์วิจิตรศิลป์ มช. สวมเสื้อสีขาวลายหมุดคณะราษฎร นั่งเล่าถึงความเศร้าโศกที่แทรกซึมอยู่ระหว่างเลเยอร์ต่างๆ ของผลงาน ที่ตนสร้างในสตูดิโอ ความว่า สิ่งที่น่าวิตกในสังคมไทย คือการพยายามบังคับ กดขี่ ความแตกต่างของความคิดให้อยู่ร่วมกันภายใต้ระเบียบ และกฎหมายที่ไม่เป็นธรรม

ความน่าสะพรึง ถูกทำให้เป็นโครงสร้างทางการเมือง ผ่านวิธีคิดทางสุนทรียศาสตร์ ทำหน้าที่จัดระเบียบสังคมและทำให้การถืออำนาจนำดูน่าเกรงขาม กลายเป็นความจริงที่ตั้งคำถาม หรือปฏิเสธไม่ได้

และผลงานศิลปะ กลับช่วยตกแต่งสถาปัตยกรรมแห่งความโหดร้ายนี้

“ในทุกคืนความฝันเดิมจะกลับมาเยือนเสมอ ใบหน้าของคนตาย คนที่ผมเคยรู้จัก และคนที่ผมไม่เคยพบเจอมาก่อน พวกเขาพาผมเดินทางไปในสถานที่ที่ผมไม่รู้จัก

มันได้ทำให้ผมใกล้ชิดกับความทุกข์ ที่คนตายพยายามจะสื่อสาร ในใบหน้าที่ไร้ชีวิต …

ในบางคืนผมกลับไปนอนหลับไม่ได้ ผมกลัว กลัวที่จะไม่ลืมตา และหยุดหายใจ พยายามจะหาเหตุผลให้กับความฝันเรื่องเดิมๆ แบบนั้น มันอาจจะเป็นเพราะ ความตายของพวกเขา ไม่สามารถถูกกลบฝังได้” ทัศนัยทิ้งท้าย

ชักเย่อสังคมไทย ‘ก้าวหน้า-ล้าหลัง’ แช่แข็งให้คน ‘ไม่เท่ากัน’

พริษฐ์ วัชรสินธุ หรือไอติม แกนนำกลุ่ม Re-Solution เปรียบสังคมไทยในปัจจุบันดัง ‘ชักเย่อ’ ระหว่างผู้คุมระบบที่ล้าหลัง กับสังคมที่ก้าวหน้า หากแต่ทิศทางที่ฉุดรั้งกำลังสวนกับสายลมแห่งการเปลี่ยนแปลงที่นับวันมีแต่จะพัดแรงขึ้น

จึงใช้วิธี “แช่แข็ง” สร้างภาพการเปลี่ยนแปลงให้กลายเป็น ‘ปีศาจ’ ใน 3 มิติ ตั้งแต่ ‘ป้ายสี’ ว่าชังชาติ เพียงเพราะเห็นต่างจากรัฐ ‘วาดภาพปีศาจ’ ที่หล่อเลี้ยงความกลัวด้วยความมืดบอด แล้ววาด ‘ปีศาจ’ ซ้ำ ให้แยกขาดจากความเป็นมนุษย์

เพื่อบ่มเพาะความเกลียดชังจนสุกงอม เพื่อแยก ‘คน’ ให้ไม่เท่ากับคน จนเสี่ยงต่อการออกใบอนุญาตให้เข่นฆ่า สาดบาดแผลกับสังคมอย่างหนักหน่วงในช่วงหลายปีที่ผ่านมา

“อย่าหวาดกลัวปีศาจแห่งกาลเวลา จนยอมแลกด้วยชีวิตลูกหลานตัวเอง” ไอติมส่งสารไปยังผู้ยึดกุมระบบ

ด้าน จิระ ทองสุวรรณ ผู้แทนพรรคก้าวไกล จ.ฉะเชิงเทรา ร่วมแสดงงานศิลป์ที่กลั่นแรงบันดาลใจมาจากหนังเรื่อง The matrix

จิระชี้ว่า ถ้าปีศาจ สำหรับชนชนชั้นนำ คือ “กาลเวลา” ปีศาจของสามัญชนคือ “การมีชีวิตรอด” เราต้องเอาชนะความเหลื่อมล้ำที่มีอยู่ในสังคม ซึ่ง 3 นิ้ว อาจเป็นสัญลักษณ์ที่ปีศาจส่งมาให้ เพื่อยืนยันถึงความ ‘ไม่จำยอม’

ในวันเดียวกัน “ลานยิ้มการละคร” ทำการแสดงสด บนผืนกระดานไม้สีขาว ปลดเปลืองท่อนบน ก่อนละเลงสีเลือดเนื้อประชาชนบนใบหน้าและลำตัว

หญิงอีกรายนำเทปขาว-แดง พันร่าง และฉีกเป็นชิ้นผูกกับท่อนเสา ก่อนนักแสดงชายดึงปลายเชือกที่พันร่างผู้หญิงมาผูกที่ลำตัวของตน ก้มลงหยิบปากกามาเขียนชื่อ “ผู้ถูกบังคับสูญหาย”

ปิดท้ายด้วยการโบกสะบัดธงขาว-แดง ด้วยแววตามุ่งมั่น เดินไปข้างหน้ารอบนิทรรศการ พร้อมเปล่งวลี “ประชาชนจงเจริญ”

ชวนให้นึกถึงภาพ Liberty Leading the People ของ เออแฌน เดอลาครัว ที่สื่อถึงการขับเคลื่อนเพื่อ “เสรีภาพ” ด้วยพลังของคนหนุ่มสาว หวังนำ เสรีภาพ เสมอภาค สู่สังคม

จากน้องถึงพี่ ในวันที่รัฐไม่แยแส

ธนพัฒน์ กาเพ็ง หรือ ปูน ตัวแทนกลุ่มทะลุฟ้า แต่งบทกวี “จากน้องถึงพี่” สื่อถึง “เพนกวิน” เชื่อว่าการกดขี่จะหมดสิ้นอีกไม่นาน

“คนข้างนอกยังสู้อยู่ไม่หวั่น เพียงใฝ่ฝันให้ข้างในนั้นไม่ท้อ จะจัดตั้งมวลชนให้มากพอ ข้าจะขอท้าตน เดินหน้าชน” ธนพัฒน์ปักหมุดหมาย

ตัดภาพมาที่ ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล หรือรุ้ง โฆษกกลุ่มราษฎร ยืนใต้เงาซี่กรงขัง อ่านกวีบทหนึ่งที่ “เพนกวิน” เคยแต่งให้ตนและผู้ต้องหาทางการเมืองเมื่อวันถูกจับขังครั้งแรก (15 ต.ค.63) จากการไปล้อมทำเนียบรัฐบาล ด้วยน้ำเสียงสั่นเครือ

“เป็นวันแรกที่ทำให้เราเห็นว่ารัฐไม่แยแสมากแค่ไหน และพร้อมที่จะทำร้ายประชาชน เยาวชนในทุกทาง เพียงเพื่อกำจัดผู้ที่เห็นต่าง เราใฝ่ฝันถึงอนาคตที่ดีกว่า ไม่ได้มีเจตนาอะไรมากกว่านั้น” รุ้งกล่าว ด้วยแววตามุ่งมั่นก่อนย้ำว่า

เชื่อจริงๆ ว่าอนาคตประเทศไทยจะดีกว่านั้นได้ เมื่อประชาชนลุกขึ้นมาต่อสู้เพื่อเปลี่ยนแปลง

อธิษฐาน จันทร์กลม – เรื่อง
ภูดิศ เชื้อมั่ง – ภาพ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image