สุจิตต์ วงษ์เทศ : กะเหรี่ยงอยู่ในไทย ก่อนมีคนไทย

กะเหรี่ยงทำกสิกรรมในดินแดนไทยก่อนมีคนไทยอยู่ในดินแดนไทย

“ชาวกะเหรี่ยงเอง เล่าว่าพวกเขาเป็นพี่ชายของไทย” บุญช่วย ศรีสวัสดิ์ เขียนบอกไว้ตั้งแต่ พ.ศ. 2506 ในหนังสือชาวเขาในไทย (สำนักพิมพ์มติชน พิมพ์ครั้งที่สอง พ.ศ. 2545 หน้า 49-51)

คนไทยเพิ่งมีราวหลัง พ.ศ. 1700 หลักฐานประวัติศาสตร์โบราณคดีมานุษวิทยาแสดงชัดเจนว่าก่อนหน้านั้นไม่มีคนเรียกตัวเองว่าไทย

กะเหรี่ยง เป็นชื่อที่คนไทยใช้เรียกทั่วไป แต่คนทางเพชรบุรี, ประจวบคีรีขันธ์ เรียก กะหร่าง

Advertisement

ชาวพม่าเรียก “กะยิ่น”, ชาวล้านนาและไทยใหญ่เรียก “ยาง”, ชาวยุโรปกับอเมริกันเรียก Karen

กะเหรี่ยง หรือ กะหร่าง ถือเป็น “พลเมืองชาติพิเศษ” ในมณฑลราชบุรี ที่มีพรมแดนติดพม่า เช่น กาญจนบุรี, ราชบุรี, เพชรบุรี, ประจวบคีรีขันธ์

รายละเอียดอีกมากมีในหนังสือ “สมุดราชบุรี พ.ศ. 2468” สมัย ร.6 ท้ายเล่มสมุดราชบุรี มีรายการภาษากะเหรี่ยง (เฉพาะบางคำ) มีคำสำคัญดังนี้

Advertisement

ลา ในภาษากะเหรี่ยง แปลว่า พระจันทร์, เดือน และลาชิงช้า แปลว่า เดือนอ้าย

ในอุษาคเนย์ภาคพื้นทวีป คนพื้นเมืองดั้งเดิมมีประเพณีโล้ชิงช้าเดือนอ้าย เป็นพิธีกรรมขอลมขอแดดเร่งบ่มให้พืชพันธุ์ที่ปลูกไว้สุกงอม จะได้เก็บเกี่ยวมากิน

นักวิชาการรุ่นใหม่ อธิบายว่าพราหมณ์ในอินเดียไม่มีพิธีโล้ชิงช้าอย่างที่เคยมีในสยาม จึงเชื่อว่าพิธีโล้ชิงช้าของพราหมณ์ในสยามประเทศ ตั้งแต่ยุคอยุธยา (หรือก่อนนั้น) ผนวกเล่นชิงช้าของคนพื้นเมืองอุษาคเนย์ (เช่น กะเหรี่ยง) เข้าไปในพิธีพราหมณ์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image