ดร.ศิบดี นพประเสริฐ เปิดแผน ‘ขวาพิฆาต (?) ซ้าย’ อนุรักษนิยมไทยบนทางสองแพร่ง

ฝ่ายซ้าย ฝ่ายขวา ภาคประชาสังคม ขบวนการนิสิต-นักศึกษา เป็นชุดคำที่ถูกนำมากล่าวถึงบ่อยครั้งในสังคมไทยท่ามกลางช่วงเวลาการต่อสู้ทั้งทางความคิดและบนท้องถนน

งานรำลึกเหตุการณ์ 6 ตุลา 19 จนถึง 14 ตุลา 16 ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ล้วนอยู่ในความสนใจของคนรุ่นใหม่อย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน

เช่นเดียวกับประวัติศาสตร์ยุคสงครามเย็น ประเด็นการเมืองเรื่องสังคมนิยม คอมมิวนิสต์ที่กลายเป็นเรื่องยอดฮิตทั้งในโลกออนไลน์และโลกแห่งความจริง

‘ขวาพิฆาต (?) ซ้าย : อนุรักษนิยมไทยบนทางสองแพร่งของการเมืองโลกยุคสงครามเย็น’ คือหนึ่งในพ็อคเก็ตบุ๊กที่ได้รับความสนใจอย่างยิ่งในบรรยากาศเช่นนี้

Advertisement

กลั่นกรองจากการวิจัยอย่างเข้มข้นโดย ดร.ศิบดี นพประเสริฐ อาจารย์คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร

พาผู้อ่านไปปะทะสังสรรค์ย้อนดูบทบาทของกลุ่มฝ่ายขวาหรืออนุรักษนิยมในช่วง พ.ศ.2516-2521 ที่มีอิทธิพลต่อการบริหารประเทศ มีปฏิบัติการต่อต้านฝ่ายซ้ายที่อยู่ในช่วงประชาธิปไตยเบ่งบานด้วยวิธีการต่างๆ รวมไปถึงนโยบายต่างประเทศที่หวังพึ่งประเทศมหามิตรให้ร่วมต่อต้านฝ่ายซ้ายไทย

ต่อไปนี้คือเนื้อหาการพูดคุยที่ถอดความจากปากคำของ ดร.ศิบดี ในเสวนาออนไลน์ หัวข้อ ‘45 ปี 6 ตุลาและขวาพิฆาตซ้าย’จัดโดยสำนักพิมพ์มติชน เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา

⦁14 ตุลา ‘เปลี่ยนผ่าน’ ประชาสังคมขยับ เสรีภาพบังเกิด

ถ้าบอกว่าฝ่ายขวาหรือฝ่ายอนุรักษนิยมก่อร่างสร้างตัวมาอย่างไร ก็อาจจะต้องย้อนกลับไปเล็กน้อยถึงเหตุการณ์ 14 ตุลา ว่าเป็นการเปลี่ยนผ่านจากระบอบเผด็จการอำนาจนิยมทหารแบบเดิมมาสู่ระบอบการเมืองที่มีเสรีภาพมากขึ้น มีบรรยากาศที่เป็นประชาธิปไตยเบ่งบานมากยิ่งขึ้น มีพื้นที่ที่เอื้อให้เกิดตัวแสดงทางสังคมประเภทต่างๆ เกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก นำมาสู่การเกิดการฟื้นตัวของพรรคการเมือง การฟื้นตัวของการเมืองในระบบเลือกตั้ง การเมืองภาคพลเรือนก็กลับมาหลังจากที่ประเทศไทยอยู่ภายใต้เผด็จการอำนาจนิยมมาเป็นเวลานาน เริ่มมีภาคประชาสังคมขึ้นมามีบทบาททางการเมืองมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มเกษตรกร กลุ่มแรงงาน หรือแม้แต่ขบวนการนิสิต นักศึกษา ที่ขึ้นมาเคลื่อนไหวเรียกร้องให้มีการแก้ไขปัญหาทางสังคมจากตัวแสดงเหล่านี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเด็นปัญหาทางสังคมที่รัฐบาลในยุคเผด็จการทหารอาจจะละเลยไปหรือไม่ได้ให้ความสำคัญ

ขบวนการนิสิต นักศึกษา หรือการเมืองภาคประชาชนเหล่านี้ก็จะมีบทบาทในการเคลื่อนไหวเรียกร้องให้รัฐบาลออกมาแก้ไขปัญหาสังคม แก้ไขปัญหาอื่นๆ ที่มันหมักหมมมานาน

แต่ประเด็นที่น่าสนใจก็คือขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมเหล่านี้ เขาก็มีบทบาทในอีกมิติหนึ่งด้วย เป็นบทบาทที่คนทั่วๆ ไปอาจจะไม่ได้นึกถึงคือบทบาทเกี่ยวกับนโยบายต่างประเทศ เช่น การออกมาเรียกร้องให้สหรัฐอเมริกาซึ่งในช่วงนั้นก็เริ่มส่งสัญญาณแล้วว่าไปไม่ไหวแล้วกับสงครามเวียดนามให้ถอนทัพออกไปจากประเทศ ในขณะเดียวกันถ้ากลับมาที่บรรยากาศทางการเมืองภายในประเทศจะเห็นว่าภายใต้บรรยากาศของประชาธิปไตยที่เบ่งบานเป็นผลให้แนวความคิดแบบฝ่ายซ้าย ในความคิดแบบสังคมนิยมที่เคยถูกรัฐบาลเผด็จการทหารกดทับมานาน ห้ามไม่ให้ประชาชนพูดถึงหรือศึกษาเรื่องพวกนี้ กลายเป็นว่ากลับมาได้รับความสนใจในยุคนี้

ขบวนการนิสิต นักศึกษาเองรับเอาแนวคิด แนวทางแบบสังคมนิยมเอามาใช้เป็นธงนำ หรือเป็นเครื่องมือในการต่อสู้เรียกร้องทางการเมือง รวมไปถึงการแก้ไขปัญหาประเด็นเรื่องความเป็นธรรมทางสังคม

⦁ความเคลื่อนไหวฝ่ายซ้าย ปลุก ‘ความกลัว’ ให้ฝ่ายขวา

การต่อสู้ของขบวนการนิสิต นักศึกษา รวมไปถึงประเด็นเกี่ยวกับด้านการต่างประเทศและความมั่นคงที่เรียกร้องให้รัฐบาลสหรัฐอเมริกาถอนทหารออกไปจากดินแดนไทย เหมือนไปสะกิดเอาความกลัวคอมมิวนิสต์ซึ่งมันฝังรากลึกอยู่ในสังคมการเมืองไทยมาเป็นเวลานานนับตั้งแต่ประมาณทศวรรษที่ 2490 ที่รัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงคราม เริ่มมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับสหรัฐอเมริกา การเรียกร้องให้สหรัฐอเมริกาถอนทหารไปจากเมืองไทยก็ยิ่งทำให้ฝ่ายชนชั้นนำ กลุ่มอนุรักษนิยม เกิดความรู้สึกหวาดกลัวมากขึ้น เขามองว่าคอมมิวนิสต์เป็นภัยคุกคาม การคงอยู่ของฐานทัพสหรัฐอเมริกาคือหลักประกันว่าประเทศไทยจะมีความมั่นคงภายใต้การช่วยเหลือการคุ้มครองดูแลจากสหรัฐอเมริกา

แต่พอสหรัฐอเมริกาถอนทหารออกไปจากเมืองไทยจริงๆ ประมาณต้นปี 2519 ก็ยิ่งทำให้ภาพความแข็งแกร่งของขบวนการนิสิต นักศึกษา รวมไปถึงแนวคิดแบบฝ่ายซ้ายที่กลุ่มเหล่านี้เคลื่อนไหวอยู่ยิ่งดูสำทับว่ามีความแข็งแกร่งมากยิ่งขึ้น แนวโน้มที่ประเทศไทยจะโน้มไปทางซ้ายก็ยิ่งมีมากขึ้นตามไปด้วยตามบรรยากาศของการเมืองภายใน

⦁ปลุกกระแส ‘รักชาติ’ ปั่นโฆษณาชวนเชื่อ

ดังนั้นสิ่งที่ชนชั้นนำหรือกลุ่มฝ่ายขวา กลุ่มอนุรักษนิยมเขารู้สึกว่าต้องทำอะไรสักอย่างแล้ว ไม่สามารถที่จะอยู่นิ่งได้ ดังนั้นกลุ่มเหล่านี้เลยต้องมีปฏิกิริยาในการตอบโต้ อาจจะเรียกได้ว่าเป็นความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นทั้งการเมืองภายในประเทศที่มีบรรยากาศโน้มซ้าย ซึ่งก็สอดรับกับบรรยากาศของความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของไทยในช่วงนั้นด้วยที่โน้มซ้ายเหมือนกัน ไม่ว่าจะเป็นการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตกับจีน หรือการดำเนินนโยบายต่างประเทศในรูปแบบใหม่ที่เปิดความสัมพันธ์ที่ดีกับประเทศในอินโดจีนทั้งสามประเทศที่กลายเป็นคอมมิวนิสต์ไปซะทั้งหมดแล้ว

การตอบโต้การเปลี่ยนแปลงที่โน้มซ้ายก็มีหลายรูปแบบ จะมีทั้งการต่อต้านขบวนการนิสิต นักศึกษา การโฆษณาชวนเชื่อเพื่อทำลายภาพลักษณ์ของขบวนการนิสิต นักศึกษา รวมไปถึงขบวนการที่เรียกว่าเป็นสามประสาน มีทั้งแรงงาน เกษตรกร และตัวนักศึกษา การปลุกกระแสที่เราอาจจะคุ้นเคยกันดีแม้กระทั่งปัจจุบัน การแต่งเพลงปลุกใจ เช่น เพลงหนักแผ่นดิน ก็ทำให้เราได้เห็นถึงบรรยากาศทางการเมืองภายในของไทยในช่วงนั้น หรือการใช้สื่อมวลชนของรัฐในการสร้างการโฆษณาชวนเชื่อ ทั้งวิทยุ โทรทัศน์ หรือแม้แต่บทบาทของหนังสือพิมพ์ฝ่ายขวา หรือแม้กระทั่งการจัดตั้งกลุ่มที่นับว่าเป็นความเคลื่อนไหวของขบวนการฝ่ายขวาขึ้นมา เพื่อใช้ความรุนแรงและเพื่อต่อสู้กับขบวนการนิสิต นักศึกษา อย่างเช่นที่เราเคยได้ยินกัน นวพล กระทิงแดง ลูกเสือชาวบ้าน ชมรมวิทยุเสรี ชมรมแม่บ้าน

•เมื่อมหาอำนาจ‘ไม่ได้รักกันเหมือนเดิม’

ภายใต้บรรยากาศของสงครามเย็น แต่เดิมจีนแดงกับสหภาพโซเวียตเป็นพันธมิตรที่ใกล้ชิดกันมาก ด้วยการเป็นประเทศร่วมอุดมการณ์ มีสนธิสัญญาร่วมกันในการให้ความช่วยเหลือเป็นระยะเวลาถึง 30 ปี ส่วนสหรัฐอเมริกาก็อยู่อีกทางฝั่งหนึ่ง ทั้งโซเวียตกับอเมริกาต่างก็ดำเนินนโยบายแสวงหาประเทศพันธมิตรหรือประเทศบริวารเข้ามาเป็นพวกเพื่อที่จะถ่วงดุลฝ่ายตรงกันข้าม

แต่การเมืองระหว่างประเทศในช่วงทศวรรษ 1970 มันเกิดเปลี่ยนแปลงไป นั่นก็คือจีนกับสหภาพโซเวียตเกิดทะเลาะกันขึ้นมา ไม่ได้รักกันเหมือนเดิมทั้งในแง่ของการตีความอุดมการณ์แบบ Maoist, Leninist ที่แตกต่างกันออกไป และที่สำคัญก็คือจีนแดงกับโซเวียตในปี 2512 เกิดการปะทะกันทางการทหารขึ้นบริเวณพรมแดน ทำให้เริ่มมองว่าสหภาพโซเวียตเป็นภัยคุกคาม จีนแดงเลยต้องการอีกมหาอำนาจหนึ่งเข้ามาเป็นพันธมิตร เพื่อที่จะคานอำนาจกับสหภาพโซเวียต

ในอีกด้านหนึ่งสหรัฐอเมริกาซึ่งกำลังติดหล่มอย่างหนักในสงครามเวียดนามรู้สึกว่าเอาชนะไม่ได้แล้ว จึงต้องการที่จะถอนตัว แต่จะทำอย่างไร จะถอนตัวอย่างไรเพื่อให้ดูไม่แพ้ ตัวช่วยสำคัญคือ จีน มันเหมือนจิ๊กซอว์หรือผลประโยชน์แห่งชาติของทั้งสองประเทศที่ลงตัว ลงล็อกกันพอดี จีนแดงก็ต้องการมหาอำนาจเข้ามาช่วยคานอำนาจกับสหภาพโซเวียต สหรัฐอเมริกาก็ต้องการให้จีนมาเป็นตัวช่วยให้ตนเองลงจากหลังเสือ คือถอนตัวจากสงครามเวียดนามได้อย่างสง่างาม

•ฝ่ายขวาผวาไทยเป็น ‘โดมิโน่ตัวที่ 4’ หลัง 3 ประเทศอินโดจีนกลายเป็น ‘คอมมิวนิสต์’

พอสหรัฐอเมริกาถอนตัวออกจากสงครามเวียดนาม ประเทศที่เริ่มรู้สึกตื่นตระหนกก็คือประเทศไทยในฐานะที่เป็นมหามิตรที่ใกล้ชิดยิ่ง ประกอบกับในปี 2518 อินโดจีนเองก็เกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นสังคมนิยมคอมมิวนิสต์หมดเลยทั้ง 3 ประเทศ เวียดนามเหนือรวมกับเวียดนามใต้เป็นผลสำเร็จ ส่วนทางด้านกัมพูชาฝ่ายเขมรแดง หรือ Khmer rouge สามารถยกกำลังเข้ามายึดกรุงพนมเปญ ขับไล่รัฐบาลนายพลลอน นอล ซึ่งเป็นรัฐบาลนิยมตะวันตกได้สำเร็จ แต่ความตกใจของชนชั้นนำฝ่ายอนุรักษนิยมในไทยจะไม่ตกใจกับสองเหตุการณ์นี้มากเท่ากับเหตุการณ์ในลาว เหตุการณ์ที่สำคัญในลาวก็คือการเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นระบอบสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ การที่ระบบเจ้ามหาชีวิตถูกยกเลิก ยิ่งทำให้ชนชั้นนำ กลุ่มฝ่ายขวาหรือกลุ่มอนุรักษนิยมในประเทศไทยเกิดความรู้สึกว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับประเทศไทยต่อไป เมืองไทยจะเป็นโดมิโน่ตัวที่ 4 ตามที่เขาเคยทำนายกันไว้หรือเปล่า

•การเมืองนำการทหาร ปรับยุทธศาสตร์สู้สงครามคอมมิวนิสต์

แต่สิ่งที่น่าสังเกตก็คือว่า ในช่วงระหว่างปี 2516-2519 นโยบายต่างประเทศของไทยกับนโยบายทางด้านการเมืองและความมั่นคงมันสวนทางกัน นั่นก็คือว่าในช่วงนี้ที่เป็นประชาธิปไตยเบ่งบาน มีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง พรรคการเมืองที่ได้ขึ้นเป็นรัฐบาล ไม่ว่าจะเป็นพรรคกิจสังคม ซึ่งนำโดยคุณชายคึกฤทธิ์ ปราโมชก็ดี หรือพรรคประชาธิปัตย์ซึ่งก็มีหม่อมราชวงศ์เสนีย์ ก็ไม่ใช่ใครอื่นเป็นพี่ชายของคุณชายคึกฤทธิ์ก็ดี หรือแม้แต่พรรคร่วมรัฐบาลก็คือพรรคชาติไทยซึ่งเราอาจจะเคยได้ยินกันในชื่อพลเอกประมาณ อดิเรกสาร หรือแม้แต่พลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ

อย่างพลเอกชาติชายในยุค 2530 ก็ถือได้ว่าเป็นนายกฯไทยที่มาจากการเลือกตั้งและมีความคิดที่ก้าวหน้าสมัยใหม่ แต่ในยุค 2516-2519 ทั้งคุณชาติชายหรือคุณประมาณแห่งพรรคชาติไทยก็ถูกจัดให้เป็นฝ่ายขวาหรือเป็นฝ่ายอนุรักษนิยม สิ่งที่บอกว่ามันสวนทางกันก็คือว่าถ้าในแง่การเมืองและความมั่นคงภายใน พรรคเหล่านี้ซึ่งขึ้นมาเป็นรัฐบาลเขายังมีนโยบายในการต่อต้านคอมมิวนิสต์อยู่ ยังมีการใช้ยุทธศาสตร์การทหารนำการเมืองในการปราบปรามการปฏิบัติการของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) ตามภูมิภาคอยู่ ซึ่งอาจจะกาดอกจันไว้ว่าช่วง 2516-2519 เป็นช่วงที่อาจจะกล่าวได้ว่า การริเริ่มกลับประโยคที่ว่าการทหารนำการเมือง เปลี่ยนเป็นยุทธศาสตร์การเมืองนำการทหาร เพื่อที่จะใช้เอาชนะสงครามคอมมิวนิสต์ แต่ว่าปฏิบัติการของกองทัพภาคที่ 2 ที่นำโดยพลโทเปรม ติณสูลานนท์ ยังเป็นแค่จุดเริ่มต้นเล็กๆ เท่านั้นยังไม่ได้เห็นสเกลใหญ่อย่างเช่นในยุคที่พลเอกเปรมได้มาเป็นนายกรัฐมนตรีในช่วงทศวรรษ 80 แล้ว

•ยกประเทศย้ายไม่ได้ ปรับนโยบาย ‘จับมือ’ ด้วยสันติ

ในทางกลับกันนโยบายต่างประเทศของไทยในช่วงนี้ขอสรุปเป็นประโยคสั้นๆ ว่ามันก็ยังคงเป็นนโยบายต่างประเทศที่ไม่ได้เอาคอมมิวนิสต์ เพียงแต่ว่าการต่อต้านคอมมิวนิสต์ในแง่นโยบายต่างประเทศใช้ยุทธศาสตร์สร้างความสัมพันธ์กับกลุ่มประเทศคอมมิวนิสต์ คือจากเดิมเราไม่เน้นสร้างความสัมพันธ์ที่เป็นทางการกับกลุ่มประเทศคอมมิวนิสต์เหล่านั้น

รัฐบาลหม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ก็ดี หรือสานต่อมาโดยรัฐบาลหม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมช ก่อน 6 ตุลาคม 2519 ก็ดี ทั้งสองรัฐบาลนี้เลือกที่จะดำเนินนโยบายต่างประเทศในลักษณะอยู่ร่วมกันโดยสันติกับประเทศที่มีอุดมการณ์ทางการเมืองที่ต่างกัน ไม่ว่าจะเป็นประเทศใกล้หรือไกลก็ตามจะเห็นได้ว่าในช่วง 2516-2519 ไทยเริ่มสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตกับประเทศที่เป็นสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ ไม่ว่าจะเป็นเกาหลีเหนือก่อน และตามด้วย 1 กรกฎาคม 2518 ที่คุณชายคึกฤทธิ์ไปจับมือกับประธานเหมา เจ๋อ ตุง ที่ปักกิ่ง รวมไปถึงการปรับความสัมพันธ์กับกลุ่มประเทศอินโดจีนทั้งสามที่กลายเป็นคอมมิวนิสต์ไปหมดแล้ว มันเป็นจุดที่น่าสนใจว่าการเมืองภายในของเราก็ยังคงต่อต้าน ยังสู้กับคอมมิวนิสต์เหมือนเดิม แต่การเมืองระหว่างประเทศเรามีหลักการว่าในเมื่อเรามีประเทศเพื่อนบ้านเป็นประเทศคอมมิวนิสต์แล้ว ถ้าเปรียบเป็นบ้าน เพื่อนบ้านไม่ดีและถ้าเรามีกำลังทรัพย์พอเราก็อาจจะย้ายบ้านหนีได้ แต่เราไม่สามารถย้ายประเทศไทยหนีไปจากลาว กัมพูชา หรือเวียดนามที่กลายเป็นสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ไปแล้วได้

ดังนั้นสิ่งที่จะเป็นตัวช่วยที่จะทำให้ไทยสามารถอยู่ร่วมกับประเทศเหล่านี้ได้ก็คือการปรับนโยบายต่างประเทศให้สอดคล้องกับบรรยากาศของการเมืองระหว่างประเทศที่เปลี่ยนแปลงไปนั่นเอง

•จำแนกฝ่ายขวา อย่าดูแค่ ‘ท่าที’

ตอนที่ศึกษาเรื่องนี้ มองฝ่ายขวาไม่ต่างจากบุคคลทั่วไปก็คงจะหมายถึงแค่ขบวนการที่อาจจะปรากฏในงานเกี่ยวกับ Counter-movement (ขบวนการต่อต้าน) อย่างเช่นในงานของรองศาสตราจารย์ ดร.ประจักษ์ ก้องกีรติ หรือเปล่า แต่พอวิจัยลงไปลึกๆ อาจารย์หลายท่านก็แนะนำว่าจริงๆ แล้วการจำแนกการเป็นฝ่ายขวาไม่อาจดูแค่ว่าเขามีท่าทีที่มีลักษณะเป็น Counter-movement แต่เพียงเท่านั้น จึงจำเป็นจะต้องกำหนดเกณฑ์ขึ้นมาเอง มีทั้งเกณฑ์ที่อาศัยหลักการสากลของความเป็นอนุรักษนิยม แล้วก็อาศัยเกณฑ์ที่ลองตั้งขึ้นมาเอง

เกณฑ์ของการที่จะเป็นอนุรักษนิยม หรือฝ่ายขวาอาจจะมีจุดเหมือนและจุดต่าง คนที่เป็นขวามากกว่าขวา ขวาที่เป็นมากกว่า อนุรักษนิยมก็มี ก็คือเป็นเฉดที่เข้มข้นกับเฉดที่อ่อนหน่อย เฉดที่อ่อนหน่อยคือเป็นอนุรักษนิยม ถ้าเป็นขวาสุดสุดก็จะเป็นพวกปฏิกิริยา Reactionary (กลุ่มคนที่ต่อต้านการเปลี่ยนแปลงไปสู่ความก้าวหน้าและมุ่งหวังพาสังคมกลับไปหาคุณค่าเก่า) เลยลองมาลิสต์ดูว่าเกณฑ์อะไรบ้างที่เราจะใช้จำแนกการเป็นฝ่ายขวาได้ อย่างเช่น อาจจะดูเกณฑ์ของต่างประเทศในตำราของนักวิชาการต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นการยึดมั่นอยู่กับหลักการแบบเดิม ความเชื่อ ค่านิยมแบบเดิมในสังคม หรือการที่มองว่าสถาบันทางการเมืองหรือความเชื่อ หรือวัฒนธรรมที่ดำรงอยู่และสืบทอดมาจากอดีตเป็นสิ่งที่ดีอยู่แล้ว สังคมนั้นควรที่จะรักษาสิ่งนั้นเอาไว้ต่อไป เพราะว่าสิ่งที่ตกทอดมาจากอดีตแล้วก็เกิดขึ้นถึงปัจจุบันมันได้รับการพิสูจน์โดยกาลเวลาแล้วว่ามันต้องดี ถ้ามันไม่ดีก็คงไม่อยู่มาถึงปัจจุบัน ซึ่งมันก็จะสอดคล้องกันกับการปลุกกระแสของขวาไทยก็คือการรณรงค์ให้คนมีความจงรักภักดีต่อชาติ

นอกจากนี้ต้องชี้เฉพาะลงไปอีกว่าในช่วง 2516-2519 ความเป็นอนุรักษนิยมไทยหรือความเป็นฝ่ายขวาของไทยมันมีความแตกต่างหรือมีลักษณะเฉพาะที่ไม่เหมือนกันกับความเป็นอนุรักษนิยมหรือฝ่ายขวาในยุคก่อนหน้านั้นไหม ก็เลยลองดูจากหนังสือหลายเล่ม ดูตัวแสดงที่เป็นบุคคล ตัวแสดงที่เป็นกลุ่ม แล้วลองลิสต์ออกมาทำเป็น Mind map (แผนผังความคิด) ก็เลยพอที่จะสรุปได้ในงานชิ้นนี้ว่า นอกเหนือไปจากประเด็นเรื่องความรักชาติ ตัวแสดงที่ถูกจัดให้เป็นอนุรักษนิยมได้ในช่วงนั้นจะต้องต่อต้านคอมมิวนิสต์ นิยมสหรัฐอเมริกา รวมไปถึงการเรียกร้องหรือมีท่าทีที่เรียกร้องให้สหรัฐอเมริกาดำรงฐานทัพอยู่ในประเทศไทยต่อไป

ถือเป็นลักษณะเฉพาะของฝ่ายขวาในช่วงนั้น

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image