ปิดตำนานคลองสานพลาซ่า-ท่าเรือข้ามฟาก ‘การรถไฟฯ’ พลิกโฉมใหม่ ผุดมิกซ์ยูส โรงแรม 3 ดาว

ปิดตำนานคลองสานพลาซ่า-ท่าเรือข้ามฟาก ‘การรถไฟฯ’ พลิกโฉมใหม่ ผุดมิกซ์ยูส โรงแรม 3 ดาว

ย่าน “คลองสาน” ชุมชนเก่าแก่ของกรุงเทพมหานคร วันนี้มีการพัฒนาแบบผิดหูผิดตา พลิกโฉมจาก “เมืองเก่า” สู่ “เมืองใหม่” หลังศูนย์การค้าระดับเวิลด์คลาส “ไอคอนสยาม” และ “รถไฟฟ้าสายสีทอง” เปิดบริการ กลายเป็นทำเลฮอตฮิต ติดชาร์ตทำเลทอง มีทั้งคอนโดมิเนียมและโรงแรมหรูเข้าไปปักหมุด

ขณะที่ “ราคาที่ดิน” ก็อัพขึ้นหลายเท่าตัวจากตารางวาละ 1 แสนต้นๆ เป็นตารางวาละ 3-4 แสนบาท แต่มีบางแปลงอยู่ในรัศมีห้างและรถไฟฟ้าราคาพุ่งไปถึง 1 ล้านบาทต่อตารางวา

แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า เมื่อความเจริญเข้ามา การเปลี่ยนแปลงย่อมเกิดขึ้นไปตามกาลเวลา เหลือไว้เพียงตำนาน

Advertisement

เช่นเดียวกับ “ตลาดคลองสานพลาซ่า” และ “ท่าเรือข้ามฟาก” หลังเปิดบริการมากว่า 30 ปี ในวันที่ 31 ธันวาคม 2564 นี้ จะปิดตัวอย่างถาวร เพื่อคืนพื้นที่ให้การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) หลังหมดสัญญาเช่า

ก่อนจะมาเป็น “ตลาดคลองสานพลาซ่า” ตลาดระดับตำนานย่านฝั่งธนบุรีกว่า 3 ทศวรรษ ที่ดินแปลงดังกล่าว เคยเป็นที่ตั้งของ “สถานีรถไฟปากคลองสาน” สถานีต้นทางของรถไฟสายแม่กลองวิ่งจากคลองสาน-มหาชัย ก่อนจะหยุดใช้งานไปเมื่อปี 2504 สถานีถูกรื้อถอน เหลือแต่รางรถไฟที่ถูกฝังอยู่ใต้ดิน

  • 31 ธ.ค.2564 อำลา อาลัย

ตลาดคลองสาน-ท่าเรือข้ามฟาก

Advertisement

พลิกดูสัญญาเช่า ทาง “รฟท.” ให้เอกชน 2 ราย เช่าจัดหาประโยชน์ โดยให้บริษัท ที่ปรึกษาการวางแผนและพัฒนา จำกัด ทำธุรกิจด้านรับเหมาก่อสร้าง เช่าระยะเวลา 30 ปี (2528-2559) พัฒนาเป็น “ตลาดคลองสานพลาซ่า” มีทั้งอาคารพาณิชย์และร้านค้า

หลังหมดสัญญาเมื่อปี 2559 บริษัทขอต่อสัญญาเช่า แต่เพราะสภาพพื้นที่ไม่เหมือนเดิม จากความเจริญที่เกิดขึ้น ทำให้ราคาที่ดินขยับ ทางคณะกรรมการ (บอร์ด) รฟท. จึงขอปรับค่าเช่าจากเดือนละ 1.6 ล้านบาท เป็นเดือนละ 15 ล้านบาท เลยทำให้บริษัทสู้ไม่ไหว จึงเปลี่ยนใจจากเช่าระยะยาวเป็นเช่าแบบปีต่อปี จนหมดสัญญาเช่าเมื่อเดือนเมษายน 2564 ที่ผ่านมา

ล่าสุดบริษัทส่งมอบพื้นที่และสิ่งปลูกสร้างคืน “รฟท.” ในส่วนเป็นอาคารพาณิชย์ 4 ชั้น จำนวน 36 ห้อง และร้านค้าอีกกว่า 200 ห้อง เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ยังเหลือที่ดินด้านหน้าเป็นร้านขายอาหาร เตรียมจะส่งคืนพร้อมกับ “ท่าเรือข้ามฟากคลองสาน” จะหมดสัญญาวันที่ 31 ธันวาคม 2564

ระหว่างรอเคลียร์พื้นที่ส่งคืน “รฟท.” ทางเจ้าของตลาดยังคงให้พ่อค้า แม่ค้า เช่าพื้นที่ค้าขาย เก็บค่าเช่า 2,000 บาทต่อสัปดาห์หรือวันละ 300 บาท

ว่ากันว่า สาเหตุที่ทำให้เจ้าของตลาดถอดใจไม่ต่อสัญญาเช่า นอกจากประเด็นค่าเช่าที่ “รฟท.” ขอปรับขึ้น ยังมีอีกหลายปัจจัยที่เป็นตัวแปร ทำให้ “ตลาดคลองสานพลาซ่า” ไปต่อไม่ไหว

ทั้งสภาพเศรษฐกิจฝืดเคือง การคมนาคมที่เปลี่ยนไป หลังรถไฟฟ้าบีทีเอสต่อขยายเส้นทางข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา เชื่อมการเดินทางฝั่งธนบุรีกับฝั่งพระนคร รวมถึงการมาของรถไฟฟ้าสายสีทอง ทำให้พฤติกรรมการเดินทางของคนเปลี่ยน นั่งเรือข้ามฟากน้อยลง จากเดิมมีคนใช้บริการวันละ 30,000-40,000 คน ตอนนี้เหลือไม่ถึง 2,000 คนต่อวัน

ขณะที่รูปแบบการค้าขายปัจจุบันก็เปลี่ยนไปตามยุคสมัย พ่อค้า แม่ขาย หันไปขายผ่านออนไลน์กันมากขึ้น จึงกลายเป็น “จุดเปลี่ยน” ของ “ตลาดคลองสานพลาซ่า” ไม่เฟื่องฟูเหมือนเก่า ทำให้เจ้าของตลาดตัดสินใจไม่ต่อสัญญา หลังประเมินแล้วไม่คุ้ม

  • ‘ร้านค้า’ ใจหาย เสียดาย

‘ความผูกพัน’ ที่มีมากกว่า ‘ยอดขาย’

จากการสอบถามผู้ค้าในตลาด ต่างบอกเป็นเสียงเดียวกันว่า “รู้สึกใจหาย เพราะค้าขายอยู่ที่นี่มานาน” ขณะที่ผู้มาจับจ่ายใช้สอยและใช้บริการท่าเรือข้ามฟากก็บ่น “เสียดายตลาดในตำนาน” หลังร้านเก่าแก่และอร่อยหลายแห่งจะต้องย้ายออกไป ไม่ว่าจะเป็นร้านบัวลอย ร้านน้ำจับเลี้ยง ร้านอิ๋วก้วย (เจ้าเก่า)

“วดี จรัสนิพาพรรณ” อายุ 67 ปี เล่าว่า เช่าพื้นที่ตลาดเปิดแผงขายเสื้อผ้า มาร่วม 20 ปีแล้ว ตั้งแต่ตลาดเปิดใหม่ๆ เมื่อก่อนบรรยากาศคึกคักมาก เนื่องจากอยู่ใกล้กับท่าเรือข้ามฟากคลองสาน จะมีคนเดินตลอดทั้งวัน ปัจจุบันตลาดเงียบมาก ซึ่งซบเซามาตั้งแต่ปี 2562 ที่ผ่านมา จากสภาวการณ์หลายอย่างทั้งการระบาดของโควิด-19 เศรษฐกิจ และการเดินทางที่เปลี่ยนไป คนหันไปใช้รถไฟฟ้ามากขึ้น ไม่นั่งเรือข้ามฟาก

“เมื่อก่อนป้าจ่ายค่าเช่าเดือนละ 18,000 บาท ตอนนี้จ่ายเป็นรายวัน วันละ 300 บาท วันไหนไม่มาขายก็ไม่ต้องจ่าย รายได้ตอนนี้หายไปเยอะมาก บางวันขายได้ 600-700 บาท พอหักค่าใช้จ่ายแล้ว ยังเหลือพอจ่ายค่าเช่า”

“วดี” บอกว่า ตลาดจะปิดตัวสิ้นปีนี้ ก็ใจหายเหมือนกัน เพราะขายของอยู่ตรงนี้มานานแล้ว หลังตลาดปิดแล้วคงต้องหยุดขาย เพราะอายุมากแล้ว จะไปขายที่ใหม่ ก็ไม่มีรถ ไม่มีเงินก้อนจะไปเช่าพื้นที่ใหม่

“ป้าใจ” อายุ 60 ปี เจ้าของร้าน “อิ๋วก้วย” (เจ้าเก่า) เล่าว่า เข้ามาเช่าพื้นที่ตั้งแต่ปี 2542 จ่ายค่าเช่าเดือนละ 10,000 บาท ปัจจุบันหลังตลาดจะปิด ทางตลาดคิดค่าเช่าเป็นรายวัน วันละ 350 บาท

“ตลาดเงียบมาตั้งแต่ปี 2562-2563 หลังมีโควิด คนก็ไม่ค่อยมาเดิน เพราะกลัว เมื่อก่อนเคยขายได้วันละ 500-600 บาท ตอนนี้ขายได้วันละ 200-300 บาท ขณะที่ต้นทุนวัตถุดิบก็เพิ่มขึ้น ก่อนโควิดจะระบาดทางร้านได้ปรับราคาจากชิ้นละ 10 บาท เป็นชิ้นละ 15 บาท หลังจากไม่ได้ปรับมานาน”

ถามว่า…หลังตลาดปิดแล้วจะทำอย่างไร “ป้าใจ” บอกว่า ยังไม่รู้ว่าจะทำอย่างไรต่อไป เพราะอยู่ที่นี่มานานจนชินแล้ว ขอดูสถานการณ์ก่อน อาจจะเปิดหน้าร้านขายที่บ้าน เพราะปัจจุบันด้วยสถานการณ์โควิด ได้เปิดขายผ่านทางเพจและแกร็บด้วย ซึ่งได้รับการตอบรับพอสมควร

“ศราวุธ น้อมมนัส” หนุ่มโคราชวัย 33 ปี เจ้าของร้านตัดผม บอกว่า ได้เปิดร้านตัดผมในตลาดนี้มา 6 ปีแล้ว ตั้งแต่ตลาดยังบูม โดยเช่าพื้นที่ร้านอยู่ด้านใน จ่ายค่าเช่า 10,500 บาทต่อเดือน หลังตลาดคืนพื้นที่ให้ รฟท. เมื่อ 2 เดือนที่ผ่านมาได้ย้ายมาเช่าพื้นที่ด้านหน้าแทน จ่ายค่าเช่า 6,000 บาทต่อเดือน จะเปิดขายไปจนถึงวันสุดท้าย

“น่าเสียดายที่ตลาดปิด เพราะมีลูกค้าประจำเยอะ ทั้งทำงานในห้างและในละแวกนี้ เพราะตัดในราคาไม่แพงหัวละ 150 บาท หากย้ายไปที่ใหม่ก็ต้องหาลูกค้าใหม่ ซึ่งกำลังมองหาพื้นที่เช่าในตึกแถวย่านเจริญนคร วงเวียนใหญ่ ลาดหญ้า ไม่อยากย้ายไปไกลมาก เพราะลูกค้าเก่าอยู่แถวนี้เยอะ”

“เข็มจิรา” อายุ 48 ปี เจ้าของร้าน “น้ำจับเลี้ยง” กล่าวว่า เปิดร้านขายน้ำจับเลี้ยงมา 30 กว่าปีแล้ว ตั้งแต่รุ่นป้า จ่ายค่าเช่าเดือนละ 10,000 กว่าบาท ส่วนใหญ่เป็นลูกค้าประจำที่มาซื้อ เมื่อตลาดปิดยังบอกไม่ได้ว่าจะไปขายที่ไหน ถ้าหาพื้นที่ใหม่ได้ก็ขาย แต่ต้องไปเริ่มต้นใหม่ อยู่ที่นี่แม้ว่าตลาดจะซบเซา อย่างน้อยก็มีลูกค้าขาประจำ

“ตลาดซบเซามา 3-4 ปีแล้ว จากการเดินทางที่คนไม่ค่อยนั่งเรือข้ามฟาก หลังมีรถไฟฟ้า รวมถึงมีการระบาดของโควิด และเศรษฐกิจที่ไม่ค่อยดี จากเดิมเคยขายได้วันละ 3,000 บาท ตอนนี้เหลือวันละ 1,000 บาท เพราะคนไม่ค่อยมี บางวันก็ขายดี บางวันก็ขายไม่ดี แล้วแต่สถานการณ์ รายได้ที่ขายแต่ละวันก็เอามาถั่วเฉลี่ยจ่ายเป็นค่าเช่า” เข็มจิรากล่าว

  • ‘รถไฟ’ ดึงเอกชนพัฒนา 30 ปี

โปรเจ็กต์ ‘มิกซ์ยูส’ ติดแม่น้ำเจ้าพระยา

จากตำนาน “ตลาดคลองสานพลาซ่า” ที่กำลังนับถอยหลังคืนพื้นที่ “รฟท.” กำลังเป็นที่จับตาว่าที่ดิน 9 ไร่เศษ อยู่ในรัศมีทำเลทองจะถูกพลิกโฉมเป็นอะไร

แหล่งข่าวจาก รฟท. เปิดเผยว่า ขณะนี้ รฟท.ได้จ้างบริษัทที่ปรึกษาศึกษาความเหมาะสมและรูปแบบการพัฒนาโครงการ ในเบื้องต้นจะพัฒนาเป็นรูปแบบผสมผสานหรือมิกซ์ยูส ประกอบด้วย โรงแรมระดับ 3 ดาว สูง 8 ชั้น จำนวน 2 อาคาร ห้องพัก 270 ห้อง อาคารร้านค้า 3 ชั้น อาคารร้านอาหาร 5 ชั้น ลานกิจกรรม 400 ตารางเมตร และที่จอดรถใต้ดิน

“จะทุบอาคารเก่าทิ้งและสร้างอาคารขึ้นมาใหม่ แต่เนื่องจากติดเรื่องระยะห่างระหว่างอาคาร ทำให้สร้างอาคารสูงได้ไม่เกิน 8 ชั้น ตามผังการพัฒนาที่ออกแบบไว้ บนพื้นที่กว่า 9 ไร่ ด้านหน้าติดถนนเจริญนคร จะพัฒนาอาคารร้านค้า ถัดมาเป็นโรงแรม ร้านอาหารและลานกิจกรรมเปิดโล่ง จะอยู่ติดแม่น้ำเจ้าพระยา ส่วนท่าเรือหากเอกชนจะพัฒนาต้องขออนุญาตกรมเจ้าท่า”

จากรูปแบบโครงการแหล่งข่าว รฟท.บอกว่า ยังเป็นแค่โมเดลการออกแบบเบื้องต้น ส่วนการลงทุนพัฒนาโครงการจริงๆ นั้น ขึ้นอยู่กับเอกชนจะลงทุนพัฒนาเป็นโครงการอะไร อาจจะไม่พัฒนาเป็นโรงแรม พัฒนาเป็นศูนย์ประชุมก็ได้ โดยจะให้เช่าระยะยาว 30 ปี ก่อสร้างอีก 4 ปี รวม 34 ปี มีมูลค่าการลงทุนแยกเป็นค่าก่อสร้างประมาณ 735 ล้านบาท และค่าที่ดิน 1,500 ล้านบาท เนื่องจากปัจจุบันราคาที่ดินปรับตัวสูงขึ้นอยู่ที่ 420,000 บาทต่อตารางวา คาดว่าจะได้ผลตอบแทนอยู่ที่ 270 ล้านบาท โดยได้ค่าเช่าก้อนแรก 81 ล้านบาท จากนั้นได้ค่าเช่ารายปีอีกปีละ 7.6 ล้านบาท ซึ่งค่าเช่าจะปรับขึ้นปีละ 5%

ในเร็วๆ นี้จะเปิดทดสอบความสนใจหรือ Market Sounding เพื่อซาวเสียงภาคเอกชนถึงรูปแบบโครงการที่บริษัทที่ปรึกษานำเสนอ จากนั้นในปี 2565 จะส่งมอบสัญญาที่ดินแปลงนี้ให้กับบริษัท เอสอาร์ที แอสเสท จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทลูกของ รฟท.รับไม้ต่อการเปิดประมูลหาเอกชนพัฒนาโครงการต่อไป

“ที่ดินแปลงนี้ ถือว่าเป็นทำเลทองใจกลางกรุงเทพฯ ติดแม่น้ำเจ้าพระยา รายล้อมไปด้วยโรงแรมระดับ 5 ดาว ศูนย์การค้าไฮเอนด์ ไอคอนสยาม และการคมนาคมก็สะดวกมีรถไฟฟ้าสายสีทองพาดผ่าน คาดว่าจะได้รับความสนใจจากภาคเอกชนเข้าร่วมประมูล เพราะโครงการจากผลการศึกษาจะถึงจุดคุ้มทุนในปีที่ 9” แหล่งข่าวกล่าวอย่างคาดหวัง

ส่วนจะมี “บิ๊กทุน” ค่ายไหน ตบเท้าชิงดำ ยังต้องลุ้นและติดตาม

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image