ขรรค์ชัย-สุจิตต์ เปิดสูตรไขว้ มิกซ์ความเชื่อ ผสานพิธีกรรม ผี พราหมณ์ พุทธ สู่ ‘ศาสนาไทย’

โครงกระดูกหมายเลข 15 รู้จักในนาม ‘เจ้าแม่แห่งโคกพนมดี’ ในแหล่งโบราณคดีบ้านโคกพนมดี จังหวัดชลบุรี (ภาพจากพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ปราจีนบุรี)

“ไทยนับถือศาสนาไทย แต่เข้าใจผิดคิดว่านับถือศาสนาพุทธ ศาสนาไทย ประกอบด้วย ผี พราหมณ์ พุทธ ไม่ใช่ศาสนาผี ศาสนาพราหมณ์ ศาสนาพุทธ”

สรุปแบบเน้นๆ ตรงประเด็นไม่อ้อมค้อมตามแบบฉบับรายการ ขรรค์ชัย-สุจิตต์ ทอดน่องท่องเที่ยว ตอนล่าสุดซึ่งแม้ยังไม่ได้ถ่ายทำนอกสถานที่ด้วยเหตุผลด้านโรคระบาดแห่งศตวรรษ ทว่า ความเข้มข้นไม่เคยจางตั้งแต่ชื่อตอน จนถึงเนื้อหา ‘ศาสนาผีที่สุดในโลก ผี พุทธ พราหมณ์ ประจำชาติ ศาสนาไทย’

พุทธ พราหมณ์ ผี
มีครบ จบที่ ‘ศาสนาไทย’

เปิดรายการด้วยภาพถ่ายใจกลางพระนคร ย่านวัดสุทัศนเทพราราม เสาชิงช้า หน้าโบสถ์พราหมณ์ ย่านถนนบำรุงเมืองและศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร ไม่ไกลจาก ‘ประตูผี’

“เจตนาเอารูปนี้มาให้ดู เพื่อบอกว่า เรามี ผี พุทธ พราหมณ์ครบโดยไม่รู้ตัว”

Advertisement

ขรรค์ชัย บุนปาน ประธานกรรมการบริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) ผนึก สุจิตต์ วงษ์เทศ คอลัมนิสต์ในเครือ ร่วมขยายความแจ่มชัดผ่านมุมมองที่อาจพลิกความเข้าใจในแบบเดิมๆ ไปชั่วนิรันดร์ ดังเช่นการ ‘โล้ชิงช้า’ ว่าแท้จริงแล้วมีที่มาจาก ‘ผีพื้นเมือง’ หาใช้พราหมณ์-ฮินดู

“ในอินเดียไม่มีการโล้ชิงช้า ที่เท่าตรวจสอบ ในเขมรไม่มีเสาชิงช้า พราหมณ์ในอาณาจักรเขมรโบราณ ไม่มีการโล้ชิงช้า เอกสารเก่าสุดปรากฏในโคลงทวาทศมาส อยุธยาตอนต้น แต่เข้าใจว่าการโล้ชิงช้ามีมาก่อนแล้ว โดยเป็นพิธีกรรมของกลุ่มชาติพันธุ์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เมื่อศาสนาพราหมณ์เข้ามา จึงปรับมาผนวกกัน” อดีตสองกุมารสยามกล่าว ก่อนเจาะเข้าใจกลางเลคเชอร์ ศาสนาผี 101 ที่ว่า

เสาชิงช้า วัดสุทัศนเทพวราราม เทวสถานโบสถ์พราหมณ์ สะท้อนภาพพุทธ พราหมณ์ ผี ผสมผสานบนพื้นที่สำคัญในกรุงเทพฯ

1.ศาสนาผี เก่าแก่ที่สุดในโลก

Advertisement

2.คนนับถือศาสนาผีมากที่สุดในโลก

3.ศาสนสถานเนื่องในศาสนาผี ใหญ่โตที่สุดในโลก ไม่ว่าจะเป็นพีระมิด สุสานจิ๋นซี และศาสนสถานของเผ่ามายา

“พวกนี้ศาสนาผีทั้งนั้น ทำเป็นเล่นไป ศาสนาผีมาก่อนพุทธ พรามหณ์ คริสต์ อิสลาม มีคนนับถือทั้งโลกในยุคแรกเริ่มเดิมที”

อย่างไรก็ตาม เมื่อใช้คำว่า ‘ศาสนา’ ย่อมมีคำถามถึง ‘ศาสดา’

“ผีฟ้าไง” สุจิตต์ตอบ ส่วนขรรค์ชัยยิ้มรับ ก่อนร่วมกันขยายความว่า เทวดาในศาสนาพราหมณ์ คืออำนาจเหนือธรรมชาติ ผี ก็คืออำนาจเหนือธรรมชาติ ดังนั้น จึงเป็นเรื่องเดียวกัน

สิงสู่แต่ ‘ผู้หญิง’
ผีฟ้า-บรรพชนสื่อสารผ่าน ‘คนทรง’

ศาลผี พบได้ทั่วไปกระทั่งในวัด ย้ำชัด ‘ศาสนาไทย’ อันหลอมรวมไว้ซึ่งความเชื่อหลากหลาย (ภาพที่วัดพระแท่นดงรัง กาญจนบุรี)

ย้อนกลับไปในบรรทัดแรก ดังที่กล่าวว่าไทยนับถือศาสนาไทย สุจิตต์-ขรรค์ชัย ปรับโฟกัสย้ำชัดว่า ศาสนาไทย หมายถึงศาสนาประจำประเทศไทยที่คนไทยนับถืออยู่ทุกวันนี้ในชีวิตประจำวัน ผสมผสานหลากความเชื่อ ทั้งพุทธ พราหมณ์ ผี กลายเป็นศาสนาพื้นเมืองใหม่แบบ ‘ไทยๆ’

“ในวัดยังมีศาลผีอยู่เลย เพราะฉะนั้นอย่าโกหกตัวเอง”

คอลัมนิสต์ฝีปากคมดักคอ ก่อนเผยว่าที่ผ่านมา

พยายามเสาะหาตำรับตำราเกี่ยวกับศาสนาผี แต่หาไม่พบ พบแต่เรื่องผี ตั้งแต่ครูเหม เวชกร เต็มท้องตลาด

“ศาสนาผีในทางวิชาการ เรายังไม่พบเอกสารที่เป็นตำรับตำรา ไม่ว่ามหาวิทยาลัยไหนในเมืองไทย แม้กระทั่งกระทรวงวัฒนธรรม กรมการศาสนา เราไม่ได้ศึกษาศาสนาผี เราพูดแต่เรื่องผี มูเตลูอะไร ตามสบาย แต่นั่นไม่ใช่ศาสนาผี

ตะเหลว รูปขวัญ ที่ซุ้มทางเข้าหมู่บ้าน ในแขวงหลวงพระบาง สปป.ลาว มีไว้คุ้มครองคนทั้งหมู่บ้านยุคดั้งเดิม นอกจากนี้ยังใช้ปิดหลุมฝังศพ ส่งผีขวัญอีกด้วย

ศาสนาผีในทรรศนะของผม คือศาสนาที่นับถืออำนาจเหนือธรรมชาติ ดังนั้น ปรากฏการณ์ทั้งหลายไม่ว่าดีหรือร้าย เกิดจากการกระทำของอำนาจเหนือธรรมชาติทั้งสิ้น คนกับผี ในความเชื่อของคนในอดีต สื่อสารไปมาถึงกันได้ ปรากฏในพงศาวดารล้านช้าง ในตำนานกำเนิดมนุษย์ว่าผีเป็นผู้สร้าง มีดิน มีหญ้า มีฟ้า มีแถน ผีแลคนเที่ยวไปมาหากันบ่ขาด หมายความว่า ผีกับคนอยู่ด้วยกัน ไปมาหาสู่กัน ถามว่า คุยกันได้อย่างไร ตอบว่า เข้าทรง ผ่านคนทรง คนเข้าทรง สำหรับผีที่ว่านี้ ไม่ใช่ผู้ชาย ต้องเป็นผู้หญิง

ผีฟ้า ผีบรรพชน ไม่เข้าผู้ชาย ต้องผู้หญิงเท่านั้น ด้วยเหตุผลอะไรไม่ทราบ แต่ถือว่าผู้หญิงคือผู้สืบทอด” ขรรค์ชัย-สุจิตต์อธิบาย

ไม่มีเกิดใหม่ ไม่มีโลกหน้า
ไม่มีเทวดา ไม่มีเผาศพ

บายศรีสู่ขวัญ กัณหา-ชาลี ฮูปแต้มวัดเลไลย์ บ้านหนองพอก อ.นาดูน จ.มหาสารคาม
(ภาพจากหนังสือ สู่ขวัญ : คน สัตว์ พืช และสรรพสิ่งในเอกสารใบลานอีสาน สถาบันวิจัยศิลปะและวัฒนธรรมอีสาน มหาวิทยาลัยมหาสารคาม พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2558)

มาถึงตรงนี้ วิทยากรอาวุโสทั้ง 2 อธิบายคอนเซ็ปต์ศาสนาผีแบบชัดๆ ว่า ‘ไม่มีเวียนว่ายตายเกิด ไม่มีโลกหน้า ไม่มีเทวดาสวรรค์นรก ไม่มีวิญญาณ และไม่มีการเผาศพ ดังนั้น ที่มักอธิบายกันว่า การนำสิ่งของฝังร่วมกับศพเพื่อโลกหน้าดังที่พบในแหล่งโบราณคดียุคก่อนประวัติศาสตร์เมื่อนับพันๆ ปีมาแล้วนั้น จึงไม่ใช่!

“ตอนนั้นพุทธยังไม่เข้ามา จิ๋นซี ก็ยังไม่มีโลกหน้า

ที่อธิบายว่าของเอาไว้ใช้โลกหน้า จึงผิด แต่เอาไว้ใช้ในโลกที่ตายนั่นแหละ เพราะโลกหน้ามันไม่มี นี่คือการใช้พุทธไปอธิบายผี จึงเป็นสิ่งที่ต้องอธิบายกันใหม่” สุจิตต์ย้ำ

เมื่อถามถึง ‘ผีฟ้า’ ที่กล่าวมาก่อนหน้านี้ว่าอยู่ในฐานะยิ่งใหญ่สุดในศาสนาผี มีหลักฐานลายลักษณ์ใดๆ ให้ประจักษ์บ้าง

ขรรค์ชัย-สุจิตต์ ชี้เป้าไปที่ จารึกสุโขทัย หลักที่ 2 ซึ่งคุ้นหูในนาม ‘จารึกวัดศรีชุม’ ปรากฏข้อความอันมีความหมายถึงกษัตริย์นครธมว่า ‘ผีฟ้าแห่งยโสธรปุระ’ นับเป็นคำยกย่องสูงสุด คือผู้เป็นใหญ่บนฟ้า หรือ ‘พญาแถน’ นั่นเอง

“ผีฟ้า คือคำพื้นเมืองในตระกูลในไท ไต ส่วนแถน เป็นคำเดียวกับคำว่า เทียน ในภาษาจีน ที่แปลว่าฟ้า ลาว รู้จักทั้ง ฟ้า และแถน สมัยโบราณบางทีเรียกควบว่า ผีฟ้าพญาแถน

นี่แหละศาสดาของศาสนาผี ในทรรศนะของคนพูดภาษาไท ไต ส่วนตระกูอื่น เช่น ผีมด ผีเม็ง มีชื่ออื่น แต่ไอเดียเดียวกัน

ผีฟ้า เป็นแหล่งรวมพลังของผีขวัญทั้งหลาย พอตายแล้ว ขวัญไม่ตาย แต่ไปรวมกับผีฟ้าเพื่อคุ้มครองคนที่ยังไม่ตาย เวลาเซ่นผี ก็นี่แหละ ขอฝนก็นี่แหละ ทั้งหมด เป็นความเชื่อในศาสนาผี ซึ่งหลักการสำคัญมากคือ ขวัญ ซึ่งเป็นความเชื่อในศาสนาผีที่เป็นระบบกว้างขวาง และเกี่ยวกับความคิดสร้างสรรค์ทั้งมวลของมนุษย์”

‘มิ่ง’ ตาย ‘ขวัญ’ ไม่ตาย
ร่อนเร่-เคลื่อนย้ายยังร่างเสมือน

สุจิตต์เชื่อว่าลายหมุนวนบนหม้อ ‘บ้านเชียง’ คือสัญลักษณ์ ‘ขวัญ’ (ภาพภาชนะดินเผาที่สหรัฐคืนไทยพร้อมกำไลสำริดเมื่อตุลาคม 2561)

จาก ‘ผี’ มาถึงอีกคำสำคัญอย่าง ‘ขวัญ’ ซึ่ง ขรรค์ชัย-สุจิตต์ อธิบายต่อไปอย่างเข้าใจง่ายว่า ขวัญ เป็นคำควบกล้ำ จึงไม่น่าจะเป็นคำดั้งเดิมในภาษาตระกูลดั้งเดิมไท ไต ในทางภาษาศาสตร์เป็นที่รับรู้ พิสูจน์ว่า ขวัญ เป็นคำเดียวกับคำในภาษาจีนกวางตุ้งว่า ‘หวัน’

แต้จิ๋วว่า ‘ฮุ้น’ เพราะฉะนั้น ความเชื่อในสุสานจิ๋นซี ก็คือขวัญ

“ขวัญ คือสิ่งที่ไม่มีรูปร่าง ย้ำว่า ไม่มีรูปร่าง จับต้องไม่ได้ มองไม่เห็น แต่เคลื่อนไหวได้ ลักษณะเป็นหน่วย มีหลายหน่วย สิงสู่อยู่กระจายตามส่วนต่างๆ ของคน สัตว์ พืช สิ่งของ เครื่องใช้ ตลอดจนอาคารสถานที่

คนตายไป ร่างกายตาย ขวัญไม่ตาย ร่างกายในภาษาโบราณ เรียกมิ่ง อยู่ด้วยกันกับขวัญ คนตาย มิ่งตาย แต่ขวัญไม่ตาย คนตาย ไปไหนไม่รู้ เพราะขวัญหาย ไม่รู้หายไปไหน ไม่อยู่กับเนื้อกับตัว เชื่อกันว่าถ้าเรียกขวัญกลับคืนมาได้ คนก็ฟื้น เมื่อขวัญหายจะต้องเรียกขวัญในเรือน ร้องรำทำเพลง รอให้ขวัญคืนมา

จริงๆ เคยเขียนไว้ในหนังสือ ขวัญเอ๋ย ขวัญมาจากไหน พิมพ์มาหลายปีแล้วยังขายไม่หมด ว่างๆ ช่วยไปซื้อหน่อย ไม่มีคนซื้อ แต่ไม่ต้องรีบร้อน เพราะเหลือแยะ (หัวเราะ)” สุจิตต์รีบโฆษณาอารมณ์ดี ก่อนไปต่อด้วยประเด็น ‘ผีขวัญ’ ซึ่งผนวกกันระหว่างคำว่า ผีและขวัญ

“คนตายแล้ว ถูกเรียกว่า ผี ถามว่าขวัญตายไหม ไม่ตาย แต่ถูกเรียกว่าผีขวัญ คือแยกออกไปต่างหาก แต่ไปไหนไม่รู้ ผีขวัญ บางทีไปสิงกับวัตถุอื่นๆ เรียกว่า ร่างเสมือน ในไม้ อิฐ หิน แต่บางทีก็ร่อนเร่ทั่วไป นี่เป็นสิ่งที่นักวิชาการฝรั่งศึกษาไว้ ผมแค่เก็บความรู้มา ผีขวัญที่ร่อนเร่นี่แหละที่คนเข้าใจว่าเป็นวิญญาณ ซึ่งจริงๆ แล้วตายปุ๊บไปเกิดทันที”

อย่าดูถูกศาสนาผี
ตีความใหม่ลายแฉกบน ‘มโหระทึก’

แฉกรัศมีบนหน้ากลองมโหระทึกที่มักตีความว่าเป็นภาพพระอาทิตย์หรือดวงดาว อาจสื่อถึง ‘ขวัญ’ (โบราณวัตถุพบที่ม่อนวัดเกษมจิตตาราม อ.เมือง จ.อุตรดิตถ์)

อธิบายมาถึงจุดนี้ ได้เวลายกโบราณวัตถุจากแหล่งโบราณคดีมาพรีเซนต์อย่างชวนตื่นตาแม้เป็นภาพคุ้นชิน อย่างกลองมโหระทึกและหม้อบ้านเชียง เนื่องด้วยข้อเสนอที่ว่า สัญลักษณ์บนวัตถุดังกล่าว สื่อถึง ‘ขวัญ’

“กลองมโหระทึกสำริด ตรงกลางมีแฉกๆ นักโบราณคดีอธิบายว่าคือพระอาทิตย์ พระจันทร์ ซึ่งจริงๆ แล้วเป็นคำเรียกตามภูมิศาสตร์สมัยใหม่เมื่อรู้ว่าโลกกลมแล้ว แต่นี่ทำตั้งแต่ 2,500 ปีมาแล้ว สำหรับผมคิดว่าคือขวัญ เพราะพบในหลุมศพ

ลายหม้อบ้านเชียง ผมก็เชื่อว่าเป็นขวัญ เฉลวก็มาจากขวัญ ภาพเขียนสี ลายยึกๆ ยักๆ เรขาคณิต ก็คือขวัญ ซึ่งเป็นลายจักสาน สมัยก่อนทางเข้าหมู่บ้าน ต้องมีเฉลวปัก ทั้งหมดคือเรื่องขวัญทั้งนั้น” สุจิตต์ฟันธง

จากนั้น ขรรค์ชัย-สุจิตต์ ขมวดปมอิทธิปาฏิหารย์ กับการปะปนระบบความเชื่อ พร้อมขยี้จี้ตรงจุดว่า ขออย่า ‘โกหกตัวเอง’

“เราโกหกตัวเองมาแต่ไหนแต่ไร ข้อแรกคือดูถูกเรื่องผี เอาไปปนกันระหว่างศาสนาผี กับความเชื่อเรื่องผีที่หลอกคนทั้งหลาย ไม่เคยทำความเข้าใจเรื่องระบบความเชื่อก่อนที่จะมีพุทธ พราหมณ์มาจากอินเดีย

ศาสนาผีมันมีอยู่ มันเห็นอยู่ รู้สึกอยู่ จะให้คนเขาปฏิเสธได้อย่างไร คนรุ่นใหม่เขาสงสัยไปหมด แม้กระทั่งประวัติศาสตร์ไทย ความเป็นไทย เพราะถูกหลอกมานาน

เรื่องผีในแง่ของอภินิหารเป็นเรื่องปกติอยู่แล้วในสามัญสำนึกของความเป็นคน เป็นส่วนหนึ่งของความเป็นคน มันขาดไม่ได้ เหลือแค่ว่าจะงมงายหรือไม่งมงาย เป็นเหตุเป็นผลยังไง เป็นเรื่องของการทำความเข้าใจเรื่องศาสนาผีที่เป็นเรื่องเป็นราว” 2 ผู้อาวุโสสะกิดปมให้สังคมไทย ก่อนปิดท้ายอีกทีว่า

ศาสนาไทยประกอบด้วยผี พราหมณ์ พุทธ ศาสนาไทย ไม่ใช่ศาสนาผี ไม่ใช่ศาสนาพราหมณ์ และไม่ใช่ศาสนาพุทธ

ผี พราหมณ์ พุทธ ประกอบกันเป็นศาสนาไทย

“ในบ้านก็มีอยู่แล้ว ผี ไปดูสิ ศาลพระภูมิตั้งอยู่โด่ๆ เห็นไหมเล่า!!!”

รับชมรายการ ขรรค์ชัย-สุจิตต์ ทอดน่องท่องเที่ยว ได้ทุกพฤหัสบดีสุดท้ายของเดือน ผ่านเฟซบุ๊ก ‘มติชนออนไลน์’, ข่าวสด, ศิลปวัฒนธรรม และยูทูบมติชนทีวี เวลา 20.00 น.

ติดตามความเคลื่อนไหวได้ที่เพจ ‘ขรรค์ชัย-สุจิตต์ ทอดน่องท่องเที่ยว’ ซึ่งนำเสนอคลิปสั้นคัดสรร ภาพเบื้องหลังการถ่ายทำ และเกร็ดความรู้มากมาย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image