อาศรมมิวสิก : “เมื่อหมายเลข 9 ทะยานขึ้นสูงสุดแล้ว หมายเลข 10 จึงเป็น “Anticlimax” : เมื่อ AI แต่งเพลงซิมโฟนีต่อจากเบโธเฟน”

“เมื่อหมายเลข 9 ทะยานขึ้นสูงสุดแล้ว หมายเลข 10 จึงเป็น “Anticlimax” : เมื่อ AI แต่งเพลงซิมโฟนีต่อจากเบโธเฟน”

“เมื่อหมายเลข 9 ทะยานขึ้นสูงสุดแล้ว หมายเลข 10 จึงเป็น “Anticlimax” : เมื่อ AI แต่งเพลงซิมโฟนีต่อจากเบโธเฟน”

ความอยากและความต้องการของมนุษย์ไม่เคยพอ และมันก็มักจะแสดงออกในรูปแบบต่างๆ กันไปทั้งในแง่ลบหรือแง่บวก ในทางดุริยางคศิลป์ก็เช่นเดียวกันนักประพันธ์ดนตรีคลาสสิกที่จุติลงมาสร้างสรรค์บทเพลงดีๆ ให้เป็นมรดกทางดนตรีอันยิ่งใหญ่มากมายที่ต่างก็ต้องผ่านกฎอนิจจัง ล้มหายตายจากไปตามกาลเวลาทิ้งผลงานดนตรีที่ค้างคาไว้ไม่เสร็จสิ้น มนุษย์เราก็มีความไม่เคยพอ (ในทางบวก) มากถึงขั้นหลอกตัวเองไปหยิบจับเอาผลงานเหล่านั้นมาสร้างสรรค์,ประพันธ์ต่อให้เสร็จสมบูรณ์ ทำราวกับมันเป็นงานก่อสร้างอาคารบ้านช่อง เมื่อนายช่างตายไปแล้วคนอื่นๆ ก็มาสร้างต่อได้สำเร็จ งานประพันธ์ดนตรีคลาสสิกไม่ใช่เช่นนั้น เมื่อเจ้าตัวจากโลกนี้ไปโดยที่ทิ้งผลงานที่ค้างคาไว้ในระดับต่างๆ กันบางครั้งประพันธ์ไปได้มากจนเกือบเสร็จสมบูรณ์ แต่บางครั้งก็เป็นเพียงแค่จุดเริ่มต้นทางความคิดเป็นเพียงเศษเสี้ยว “กระดาษทดทางความคิด” (มันคือกระดาษจดใจความแนวทำนองดนตรีสั้นๆ โดยที่เจ้าตัวตั้งใจไว้ว่าจะใช้มันแต่งต่อเพื่อพัฒนาเป็นแนวทำนองยาวๆ ต่อไป) โดยพื้นฐานแห่งสามัญสำนึก “เศษเสี้ยวทางดนตรี” เช่นนี้ (หรือแม้แต่ผลงานดนตรีคลาสสิกอันซับซ้อนที่แต่งไว้ไม่เสร็จสมบูรณ์) ไม่ควรมีเหตุผลเพียงพอที่จะนำมาสร้างสรรค์หรือสานต่อโดยผู้อื่นได้ แต่ในความเป็นจริงมิได้เป็นเช่นนั้นในวงการดนตรีคลาสสิกมีการนำเอาผลงานดนตรีที่นักแต่งเพลงผู้ยิ่งใหญ่แต่งค้างคาเอาไว้มาแต่งต่อโดยคนอื่นมากมาย แม้ฟังดูไม่น่าสมเหตุสมผลแต่มันก็ยังคงเป็นเรื่องที่นิยมทำกันมาอยู่เรื่อยๆ

แม้แต่ตัวผู้เขียนเองก็เคยเห็น,เคยฟังและก็สะสมผลงานบันทึกเสียงบทเพลงเหล่านี้มาไม่น้อย อาทิ ซิมโฟนีหมายเลข 10 ของชูเบอร์ต, ซิมโฟนีหมายเลข 7 ของไชคอฟสกี, ซิมโฟนีหมายเลข 9 ของบรูคเนอร์ฉบับสมบูรณ์, ซิมโฟนีหมายเลข 10 ของมาห์เลอร์………ฯลฯ ซึ่งยังไม่เคยพบเห็นผลงานในลักษณะนี้ชิ้นใดที่จะประสบความสำเร็จทั้งทางโลกหรือทางคุณค่าทางดนตรีในตัวเองที่ไปได้ไกลเหนือกว่าเจ้าตัวเลย อย่าว่าแต่ไปได้ไกลกว่า เพียงแค่เทียบเท่าก็ยังนึกไม่ออก สิ่งเหล่านี้เป็นเพียงของเทียมที่ชดเชยความต้องการ (ความไม่เคยพอ) ของวงการในอารมณ์ที่อาจเรียกว่า “รู้เขาหลอกแต่เต็มใจให้หลอก”

“เมื่อหมายเลข 9 ทะยานขึ้นสูงสุดแล้ว หมายเลข 10 จึงเป็น “Anticlimax” :  เมื่อ AI แต่งเพลงซิมโฟนีต่อจากเบโธเฟน”
ร่างซิมโฟนีหมายเลข10

ในช่วงต้นเดือนตุลาคม พ.ศ.2564 ที่ผ่านมานี้มีข่าวความสำเร็จในการสานต่อประพันธ์บทเพลงซิมโฟนีหมายเลข 10 ของมหาดุริยกวีเบโธเฟน (Ludwig van Beethoven) เป็นผลสำเร็จและเตรียมนำผลงานนี้ออกบรรเลงเป็นรอบปฐมทัศน์พร้อมทั้งนำผลงานบันทึกเสียงบทเพลงนี้ออกเผยแพร่ในวันเดียวกันคือ 9 ตุลาคม พ.ศ.2564 ที่ผ่านมา (ไม่ทราบความคืบหน้าในประเด็นนี้) เรื่องราวที่เป็น “ประเด็นร่วมสมัย” ก็คือผลงานชิ้นนี้เป็นการสร้างสรรค์,สานต่อประพันธ์ร่วมกันโดยทีมงานที่เป็นนักวิชาการ,นักวิทยาศาสตร์,นักแต่งเพลง และเครื่องคอมพิวเตอร์ด้วยโปรแกรม “ปัญญาประดิษฐ์”( Artificial Intelligence) ซึ่งสิ่งที่อาจเป็นได้ทั้งความน่าขบขันและความน่าภาคภูมิใจก็คือ บทเพลงนี้สร้างสรรค์ขึ้นจาก “กระดาษทดทางดนตรี” (Sketch) ที่เบโธเฟนจดบันทึกคร่าวๆ ด้วยดินสอเอาไว้ ไม่มากนัก ว่ากันว่าเบโธเฟน เขียนร่างความคิดนี้ไว้ 250 ห้อง (Bar) ในลักษณะที่กระจัดกระจายไม่เป็นชิ้นเป็นอัน นี่เองที่ทางคณะทำงานใช้เป็นวัตถุดิบในการนำมาสร้างสรรค์ต่อจนเสร็จสมบูรณ์ในระยะเวลา 2 ปีกว่า

Advertisement

ทีมงานนี้ประกอบไปด้วย ศาสตราจารย์ “อาห์เม็ด เอ็ลกัมมัล” (Ahmed Elgammal) ผอ.ศูนย์ศิลปะและปัญญาประดิษฐ์ (Art&AI Lab) มหาวิทยาลัยรัทเกอร์ส (Rutgers University), ดร.แมทเทียส โรเดอร์ (Matthias Roder) ผอ.สถาบัน “คารายาน” (Karajan Institute),“วอลเตอร์ เวอร์โซวา” (Walter Werzowa) นักแต่งเพลงชาวออสเตรีย, “มาร์ค ก็อตแฮม” (Mark GottHam) นักวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ และ “โรเบอร์ต เลวิน” (Robert Levin) ศิลปินเดี่ยวเปียโนและนักดนตรีวิทยา พวกเขาประชุมกันปรึกษาหารือกันว่า กระดาษทด,ร่างทางดนตรีที่เบโธเฟนเขียนไว้อย่างหวัดๆ และกระจัดกระจายแบบนี้จะได้รับการแปรเปลี่ยนเป็นบทเพลงซิมโฟนีที่สมบูรณ์แบบได้อย่างไร? จะนำเอาประโยคเพลงสั้นๆ

หรือ “โมทิฟ” (Motif=ใจความดนตรีสั้นๆ) ที่เบโธเฟนเขียนทิ้งไว้ มาพัฒนาสานต่อให้ยาวขึ้น จนกระทั่งถึงมีโครงสร้างทางดนตรีที่ซับซ้อนขึ้นแบบที่เบโธเฟนเคยทำไว้ได้อย่างไร พวกเขาต้องเริ่มด้วยการสอน “ปัญญาประดิษฐ์” (AI) ในการเขียนทำนองเพลง,เรียบเรียงเสียงประสานการเชื่อมต่อดนตรีส่วนต่างๆ เข้าด้วยกัน อีกทั้งการสอนให้ AI ประพันธ์ส่วน “หางเพลง” (Coda) ซึ่งเป็นส่วนสรุปบทเพลงให้ได้ จนกระทั่งสอนศาสตร์แห่งการจำแนกเสียงเครื่องดนตรีในวงออเคสตรา (Orchestration) ทั้งหมดนี้ต้องสอนให้ AI เรียนรู้ที่จะสร้างสรรค์มันขึ้นมาในลีลาแบบเบโธเฟน

ความเคลือบแคลงไม่แน่ชัดในโครงการนี้ก็คือ เท่าที่เห็นล่าสุดมีผลงานที่ AI ประพันธ์เสร็จและนำออกบรรเลงบันทึกเสียงสาธิตให้ชมให้ฟังเพียงสองท่อนคือ “สแกร์โซ” (Scherzo) และ “รอนโด” (Rondo) การได้เห็นได้ชมผลงานในฉบับสมบูรณ์คงจะออกความเห็นได้ชัดเจนกว่านี้ แต่เท่าที่ผู้เขียนได้ชมได้ฟังตัวอย่างจากสองท่อนที่ว่านี้ก็ยอมรับว่า AI ประสบความสำเร็จในการ “เลียนแบบ” เบโธเฟนได้ไม่เลวทีเดียว อาจมีสิ่งที่น่าขันอยู่บ้างก็เช่น การใส่ “โมทิฟ” โน้ต 4 พยางค์ (ปั๊ม-ปั๊ม-ปั๊ม-ป่าม) จากซิมโฟนีหมายเลข 5 ที่ มันเปรอะเลอะเทอะไปทั่ว ราวกับจงใจจะแสดงลายเซ็นเบโธเฟนให้ชัดเจน เรื่องอื่นๆ ก็คงไม่อยากจะต้องลงลึกไปมากนัก เพราะผู้เขียนยังเชื่อมั่นในดนตรีที่สร้างสรรค์ขึ้นมาจากความรู้สึกนึกคิด,ประสบการณ์ของมนุษย์ที่มีชีพจรและลมหายใจ มิใช่เพียงการใส่ข้อมูลเข้าไปในเครื่องเพื่อเรียบเรียงจัดระบบโดยปราศจากความรู้สึก

Advertisement

“เมื่อหมายเลข 9 ทะยานขึ้นสูงสุดแล้ว หมายเลข 10 จึงเป็น “Anticlimax” : เมื่อ AI แต่งเพลงซิมโฟนีต่อจากเบโธเฟน”

เรื่องราวนี้ดูจะสนุกสนานและมีชีวิตชีวามากขึ้นเมื่อมีการแสดงความคิดเห็นเชิงวิจารณ์จากผู้รู้ผู้เชี่ยวชาญในอีกแง่มุมหนึ่ง โดย “ยาน สวัฟฟอร์ด” (Jan Swafford) เขาเป็นนักประพันธ์ดนตรี,เป็นผู้เขียนชีวประวัติของดุริยกวีระดับโลกหลายๆคน (แน่นอนรวมถึงเบโธเฟน), เป็นผู้เขียนคอลัมน์ทางดนตรี, นักแสดงความคิดเห็นชื่อดัง และเป็นผู้เขียนคำบรรยายเพลงให้กับการแสดงคอนเสิร์ตของวงดังๆ ระดับโลกอย่าง บอสตันซิมโฟนี (Boston S.O.), คลีฟแลนด์ (Cleveland), ชิคาโกซิมโฟนี (Chicago S.O.) ยาน สวัฟฟอร์ดเรียกงานชิ้นนี้ว่าเป็นสิ่งที่เครื่องคอมพิวเตอร์บ้วน,คายออกมาหลังจากที่มีผู้ป้อน,อัดข้อมูลเกี่ยวกับเบโธเฟนลงไปในเครื่อง สวัฟฟอร์ดให้ความเห็นว่า ในผลงานชิ้นนี้ที่ AI สร้างขึ้น แนวคิดใจความดนตรีต่างๆ ที่เบโธเฟนเขียนทิ้งไว้ มันตรึงแน่นสนิทอยู่กับที่ มันยังคงเปลือยเปล่าอยู่ในความเรียบๆ พื้นๆ เดิมๆ ของมัน,มีการพัฒนาแต่มันมิได้พัฒนาถึงขั้นผกผัน,หมุนเปลี่ยนสัมพันธ์กันในตัวเองอย่างสนุกสนานมีชีวิตชีวาเสมือนที่เบโธเฟนเคยกระทำในดนตรีของเขา

ยาน สวัฟฟอร์ด ให้ความเห็นว่าความสามารถของเครื่องจักรนั้นอาจจะสามารถทำอะไรๆ ได้เท่ามนุษย์ หรือแม้แต่เหนือมนุษย์ได้ด้วยซ้ำไป แต่ครั้นเมื่อมาพิจารณาในด้านการสร้างสรรค์ศิลปะแล้ว พวกเราในฐานะที่เป็นมนุษย์เราปรารถนาที่จะเห็นมนุษย์ไม่ว่าจะเป็นเพศหญิงหรือชายได้ใช้ความเพียรพยายามจากความเป็นคนธรรมดาๆ ทั่วๆ ไปได้ใช้ความพยายามที่เป็นคนธรรมดาทั้งหมดนี้ผสานเข้าด้วยกันกับปัจจัยอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นพรสวรรค์,ทักษะและโชคชะตากระทำในสิ่งที่เป็นไปไม่ได้,ทำอะไรเช่นว่านี้ให้มันบังเกิดขึ้น นั่นมันจึงเป็นเรื่องที่สุดยอด,น่าประทับใจ หรือแม้แต่มันอาจจะน่าขบขัน,น่าสะพรึงหรืออะไรก็ตามที่ศิลปินได้ลงมือกระทำมันให้เกิดขึ้นแล้ว ข้อยืนยันของเขาก็คือ “ปัญญาที่แท้จริงจะต้องดำรงอยู่ในร่างกายมนุษย์, ปัญญาที่อยู่ภายนอกร่างกายที่มีชีวิต เป็นเสมือนสิ่งที่ถูกควักแยกออกไปต่างหากมันเป็นไปไม่ได้โดยพื้นฐานธรรมชาติที่จะเป็นปัญญา…..มันควรจะถูกให้นิยามใหม่” AI สามารถเลียนแบบศิลปะ แต่มันไม่สามารถแสดงออกได้,เพราะว่ามันไม่รู้ว่าอะไรคือการแสดงออก และมันก็ยังไม่รู้ด้วยว่าความตื่นเต้นคืออะไร เพราะว่าคนเราที่มีเหตุผลเรียกความตื่นเต้นว่า “ชีพจรที่เต้นระทึก” (pulse-pounding) และคอมพิวเตอร์ไม่มีชีพจร

ผู้เขียนพยายามนำเสนอเรื่องราวนี้ทั้งในแง่มุมของคณะทำงานและแง่มุมในอีกด้านหนึ่งที่มีปฏิกิริยาที่อาจไม่ชื่นชมตื่นเต้นกับนวัตกรรมเช่นว่านี้ไปด้วยทั้งหมด โลกมีสองด้านเสมอการมุ่งออกเดินไปข้างหน้าอย่างเดียวโดยไม่รู้จักเหลียวหลังหยุดคิดใคร่ครวญ ย่อมไม่เกิดประสบการณ์หรือบทเรียนที่ดี ความคิดที่จะนำเอากระดาษทดดนตรี,ร่างเศษเสี้ยวความคิดซิมโฟนีหมายเลข 10 ที่เบโธเฟนเขียนคร่าวๆ ทิ้งไว้ไม่ใช่เรื่องใหม่ ย้อนหลังไปในปี พ.ศ.2531 เคยมีความพยายามครั้งสำคัญในการประพันธ์ซิมโฟนีหมายเลข 10 ของเบโธเฟน โดย นักวิชาการดนตรีนามว่า ดร.แบร์รี คูเปอร์ (Barry Cooper) นักวิชาการดนตรีได้ทำการบูรณะผลงานชิ้นนี้ขึ้นมา เขาทำได้เพียงท่อนแรกท่อนเดียวบันทึกเสียงการบรรเลงไว้โดยวงลอนดอนซิมโฟนีออเคสตรา พร้อมคำอธิบายของตัว แบร์รี คูเปอร์เอง และนั่นก็ดูจะเป็น “ผลงานวิชาการ” มากกว่าจะเป็นงานสร้างสรรค์ศิลปะเพลงซิมโฟนีอย่างแท้จริง มิได้รับความนิยมในการนำออกบรรเลงในคอนเสิร์ตทั่วๆ ไปเสมือนกับซิมโฟนีบทอื่นๆ ของเบโธเฟน เพื่อนนักวิชาการดนตรีอีกคนหนึ่งนามว่า “โรเบอร์ต วินเตอร์” (Robert Winter) กล่าวถึงว่า “ผลงานที่คูเปอร์ได้ทำไว้จะต้องถูกนำไปเปรียบเทียบกับมาตราฐานที่เบโธเฟนเคยตั้งไว้ (….อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้….) ผมขอยืนยันว่าช่องว่างนั้นมันมโหฬาร มันเป็นการหลงทางมากกว่าที่จะนำไปสู่แสงสว่าง”

ดังที่กล่าวไว้ตั้งแต่ต้นความพยายามในการนำบทเพลงคลาสสิกที่มหาดุริยกวีทั้งหลายประพันธ์ค้างคาไว้มาแต่งต่อโดยศิลปินคนอื่น เป็นเรื่องที่กระทำกันมานาน และก็ดูว่าจะไม่มีใครเลยที่ประสบความสำเร็จในความพยายามนี้ ในกรณีของเบโธเฟนเราต้องตระหนักว่าเขาได้สร้างมาตรฐานในวิธีการทำงานแบบใหม่ขึ้นมาด้วยนั่นคือการเก็บร่างดนตรีชิ้นต่างๆ เอาไว้ศึกษาเปรียบเทียบ และบ่อยครั้งทั้งตัวเบโธเฟนเองรวมไปถึงนักแต่งเพลงระดับโลก (และไม่ระดับโลก) ทั้งหลาย ต่างก็มีพรสวรรค์ในการนึกคิดแนวทำนองเด็ดๆ แบบ “แวบขึ้นมาในหัว” ที่ต้องรีบจดลงกระดาษไว้ให้ทัน และตั้งใจอย่างคร่าวๆ ว่าจะนำไปเขียนต่อขยายต่อเป็นผลงานในลักษณะใด แต่ครั้นเมื่อถึงเวลาลงมือแต่งเพลงจริงๆ เขาก็อาจเปลี่ยนใจนำวัตถุดิบทางดนตรีนั้นไปใช้ในผลงานชิ้นอื่นๆ แทน บทเพลงถูกแต่งขึ้นโดยศิลปินที่มีชีวิตที่มีความรู้สึกนึกคิดที่แปรเปลี่ยนและพัฒนาได้ตลอดเวลา โดยที่เราไม่อาจล่วงรู้ได้เลยว่าเมื่อเวลาลงมือเขียนเพลงจริงๆ มาถึงเขาจะนำเศษเสี้ยวความคิดทางดนตรีนั้นมาใช้ไปในทางใดและบ่อยครั้งมันก็ถูกยกเลิกไปได้เช่นกัน ผู้เขียนเคยได้อ่านความในใจของนักเขียนบางคนที่เล่าว่าแม้แต่ตัวละครในเรื่องที่กำหนดบุคลิกโชคชะตาและจุดจบไว้หมดสิ้นแล้ว แต่ครั้นพอลงมือเขียนเรื่องเข้าจริงๆ เจ้าตัวละครนั้นกลับเดินเส้นทางชีวิตไปด้วยตัวของมันเองแปรเปลี่ยนเส้นทางชีวิตในเรื่องไปอย่างตรงข้ามกับความตั้งใจเดิมของเขาราวกับมันได้มีชีวิตเป็นของตนเองขึ้นมาจริงๆ ความมหัศจรรย์เช่นนี้คงไม่แตกต่างจากกระบวนการสร้างสรรค์ดนตรีของเบโธเฟนหรือนักแต่งเพลงคนอื่นๆ เพราะพื้นฐานของการแต่งเพลง,การสร้างสรรค์ศิลปะอันสำคัญประการหนึ่งที่เหมือนๆ กันก็คือการใช้ปฏิภาณกวี,ด้นสดแบบที่เรียกว่า “Improvisation” ชีวิตจริงเราก็ต้องด้นสดเผชิญกับเหตุการณ์อันไม่คาดคิดอยู่เป็นประจำ ไม่แตกต่างจากการแต่งเพลงหรือสร้างสรรค์ศิลปะ ดังนั้นเราจึงไม่อาจกล่าวได้เลยว่าการกระทำอะไรเช่นว่านี้เป็นการสานต่อจุดประสงค์ทางศิลปะอันแท้จริงของศิลปินผู้ล่วงลับ

ใครที่รู้จักบทเพลงซิมโฟนีหมายเลข 9 (Choral Symphony) ของเบโธเฟนมาบ้าง ก็จะยิ่งเห็นภาพชัดเจนขึ้น ความยิ่งใหญ่สมบูรณ์พร้อมทั้งชั้นเชิงเทคนิคทางดนตรีตลอดไปจนถึงนวัตกรรมที่ผนวกเอาบทกวีอุดมคติชั้นเลิศแห่งมวลมนุษยชาติเข้าไว้ ยิ่งใหญ่ทั้งเชิงปริมาณและคุณค่า ทั้งเปลือกนอกและเนื้อในเดินทางมาจนถึงหมายเลข 9 มันเป็นความสมบูรณ์สุดขีดในชีวิตของเขา มันจบลงอย่าง สมบูรณ์และสง่างามแล้ว ลองหลับตานึกแทนว่าถ้าเราเป็นเบโธเฟนแล้ว คนรุ่นหลังเอากระดาษทดที่เราเขียนไว้อย่างหวัดๆ,นิดๆ หน่อยๆ ไปขยายต่อโดยที่ตัวเราไม่รู้เรื่องแต่ต้องมีส่วนร่วมรับผิดชอบมากกว่าครึ่งในฐานะ “เจ้าของผลงานตัวจริง” เราควรจะภาคภูมิใจหรือผิดหวัง ฝรั่งจึงมีคำพิเศษที่อาจยากต่อการแปลเป็นไทยอย่างกระชับว่า “Anticlimax” หรือ การพยายาม (ทู่ซี้) กระทำบางสิ่งบางอย่างต่อไปอีกจนกระทั่งไปลดทอนคุณค่าในสิ่งที่ทะยานขึ้นสู่จุดสูงสุดไปแล้วอย่างน่าเสียดาย

บวรพงศ์ ศุภโสภณ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image