2507-2564 วันนี้ของ ‘บ้านเก่า’ ปรับโฉมพิพิธภัณฑ์ ผลักดันศูนย์ศึกษาวัฒนธรรม

2507-2564วันนี้ของ ‘บ้านเก่า’ ปรับโฉมพิพิธภัณฑ์ ผลักดันศูนย์ศึกษาวัฒนธรรม
พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติบ้านเก่า ปรับปรุงใหม่ภายใต้แรงบันดาลใจจากทรงสี่เหลี่ยมของหลุมขุดค้นทางโบราณคดี

‘บ้านเก่า’

ไม่เพียงเป็นแหล่งโบราณคดียุคบุกเบิก ที่กลายเป็นจุดเริ่มต้นของการดำเนินงานอย่างสากลเป็นครั้งแรกของไทย

แต่ยังเป็นที่ตั้งของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติแห่งแรกของไทยอีกด้วย

พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ บ้านเก่า ตั้งอยู่ที่ตำบลบ้านเก่า อำเภอเมือง จังหวัดกาญจนบุรี เดิมเรียก ‘พิพิธภัณฑ์ยุคก่อนประวัติศาสตร์บ้านเก่า’

Advertisement

ก่อตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ.2507 หรือเมื่อ 57 ปีก่อน

สร้างเป็นอาคารไม้ชั้นเดียวทรงไทยประยุกต์ เพื่อเก็บรักษาโบราณวัตถุที่พบจากการสำรวจขุดค้นทางโบราณคดีบริเวณบ้านเก่าและในพื้นที่จังหวัดกาญจนบุรี

หม้อสามขา ภาชนะดินเผารูปแบบโดดเด่นจากแหล่งโบราณคดีบ้านเก่า จังหวัดกาญจนบุรี
ส่วนจัดแสดงเรื่องวัฒนธรรมโลงไม้ในจังหวัดกาญจนบุรี

ที่ตั้งของพิพิธภัณฑ์คือบริเวณที่นักโบราณคดีและทีมสำรวจในโครงการความร่วมมือโบราณคดีสมัยก่อนประวัติศาสตร์ไทย-เดนมาร์ค เคยใช้เป็นที่พักระหว่างการขุดค้นบริเวณริมฝั่งแม่น้ำแควน้อยในช่วง พ.ศ.2503-2505

Advertisement

ถือเป็นพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติแห่งแรกในประเทศไทยที่สร้างขึ้นบริเวณแหล่งขุดค้นทางโบราณคดี ปรากฏหลักฐานที้เรียกต่อมาว่า ‘วัฒนธรรมบ้านเก่า’ ซึ่งกรมศิลปากรให้นิยามว่าหมายถึงกลุ่มวัฒนธรรมสมัยหินใหม่ทางภาคตะวันตกของประเทศไทยซึ่งผู้คนตั้งถิ่นฐานถาวรอยู่ตามที่ราบ หรือเชิงเขาไม่ไกลจากลำน้ำ ดำรงชีวิตด้วยการปลูกพืช เลี้ยงสัตว์ และล่าสัตว์ รู้จักทำขวานหินขัดและมีภาชนะดินเผาที่หลากหลาย

สำหรับโบราณวัตถุโดดเด่นคือ ‘หม้อสามขา’ ภาชนะมีคอและเชิงสูงและภาชนะทรงถาดก้นลึก ซึ่งถูกกำหนดอายุไว้ราว 3,500-4,000 ปีมาแล้ว และมีความสัมพันธ์กับแหล่งโบราณคดีร่วมสมัยทางภาคใต้ของประเทศไทยและทางตอนเหนือของมาเลเซีย

ใน พ.ศ.2530 กรมศิลปากรได้ก่อสร้างอาคารพิพิธภัณฑ์หลังใหม่เป็นอาคารคอนกรีตชั้นเดียว พร้อมปรับปรุงการจัดแสดงภายใน โดยเคลื่อนย้ายโบราณวัตถุจากอาคารเดิมและจากพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร รวมถึงโบราณวัตถุที่ได้จากการสำรวจขุดค้นใหม่ในจังหวัดกาญจนบุรีและพื้นที่ใกล้เคียงมาจัดแสดง

กระทั่งล่าสุด มีการปรับโฉมพิพิธภัณฑ์ดังกล่าวใหม่ทั้งตัวอาคาร การจัดแสดง และเนื้อหานิทรรศการซึ่งอัพเดตข้อมูลใหม่ๆ ที่เพิ่มขึ้นตามลำดับ โดยแล้วเสร็จในยุค ประทีป เพ็งตะโก นั่งเก้าอี้อธิบดีกรมศิลปากร

จำลองหลุมขุดค้นที่ปรากฏโครงกระดูกร่วมกับภาชนะดินเผาให้ผู้เข้าชมสัมผัสประสบการณ์การค้นพบวัฒนธรรมบ้านเก่า
เครื่องมือ เครื่องใช้ ทำจากโลหะ สะท้อนความก้าวหน้าทางเทคโนโลยียุคโบราณของชุมชนบ้านเก่า
ตู้จัดแสดงภาชนะดินเผารูปแบบหลากหลาย

“การศึกษาค้นคว้าทางโบราณคดีเกี่ยวกับวัฒนธรรมบ้านเก่าและเรื่องราวที่เกี่ยวข้องมาอย่างต่อเนื่อง ทำให้เกิดองค์ความรู้ใหม่ ที่สมควรได้รับการเผยแพร่ออกไปเป็นวงกว้าง กรมศิลปากรจึงได้ดำเนินโครงการพัฒนาพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ บ้านเก่า โดยมีจุดประสงค์เพื่อให้เป็นพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติที่เป็นศูนย์ศึกษาวัฒนธรรมบ้านเก่ารวมถึงองค์ความรู้ด้านโบราณคดีสมัยก่อนประวัติศาสตร์อื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ที่มีข้อมูลองค์ความรู้ที่ถูกต้อง ครบถ้วน เป็นปัจจุบัน และเป็นพิพิธภัณฑ์ที่มีเทคนิคการจัดแสดงที่ทันสมัย ดึงดูดความสนใจของผู้เข้าชม” ประทีป อธิบดีกรมศิลป์ซึ่งเพิ่งพ้นตำแหน่งตามวาระไปหมาดๆ กล่าว

สำหรับอาคารที่ปรับปรุงใหม่ สะดุดตาทั้งรูปแบบและสีสัน โดยได้รับแรงบันดาลใจมาจาก ‘หลุมขุดค้นทางโบราณคดี’ ซึ่งเป็นทรงสี่เหลี่ยม สื่อถึงการพบโบราณวัตถุที่แทรกอยู่ในชั้นดิน ภูมิทัศน์ที่เปิดให้สัมผัสบรรยากาศภูมิประเทศเพื่อให้เข้าใจถึงการตั้งถิ่นฐานที่อยู่อาศัยบนพื้นที่แหล่งโบราณคดี

นิทรรศการภายตั้งใจให้เป็นพิพิธภัณฑ์ก่อนประวัติศาสตร์ที่สมบูรณ์ที่สุด

การจัดแสดงนิทรรศการมีเนื้อหาเน้นหนักในวัฒนธรรมบ้านเก่าและแหล่งโบราณคดีอื่นที่เกี่ยวข้อง วัฒนธรรมโลงไม้ในกาญจนบุรี อีกทั้งตอบปมปริศนาที่ว่า ‘คนบ้านเก่า’ ในยุคบรรพกาลนั้นคือใคร?

ทั้งหมดนี้ นำเสนอผ่านหลักฐานทางโบราณคดีที่ได้จากการขุดค้นแหล่งโบราณคดีบ้านเก่า เช่น โครงกระดูก เครื่องมือหินขัด เครื่องประดับ ภาชนะดินเผารูปแบบต่างๆ โดยมีไฮไลต์คือหม้อสามขา รวมถึงเครื่องมือหินจำลอง 8 ชิ้น ที่ ดร.เอช อาร์ ฟาน เฮเกเรน นักโบราณคดีชาวดัตช์พบขณะเป็นเชลยและถูกเกณฑ์มาสร้างทางรถไฟที่จังหวัดกาญจนบุรีในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 อันเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้โบราณคดีก่อนประวัติศาสตร์ในประเทศไทยโดยเฉพาะที่บ้านเก่าได้รับความสนใจจากนักโบราณคดีทั้งไทยและต่างชาติ นำไปสู่การขุดค้นอย่างต่อเนื่องจนมีการตั้งพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ บ้านเก่าในเวลาต่อมา

สำหรับเครื่องมือหินของจริงทั้ง 8 ชิ้น ปัจจุบันจัดแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑ์พีบอดี มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด กรมศิลปากรกำลังประสานเพื่อนำกลับมาจัดแสดงด้วย

คำตอบของปมปริศนาที่ว่า ‘คนบ้านเก่า’ ในยุคบรรพกาลนั้นคือใคร?

นอกจากผู้ชมจะได้เข้าชมการจัดแสดงนิทรรศการภายในพิพิธภัณฑ์แล้ว ยังสามารถเยี่ยมชมหลุมขุดค้นทางโบราณคดีที่ โรงเรียนวัดท่าโป๊ะ ซึ่งตั้งอยู่ข้างพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ บ้านเก่า โดยมีการขุดพบโครงกระดูกจำนวนมาก กรมศิลปากรทำการขุดค้นและดำเนินงานทางโบราณคดีอย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้ พิพิธภัณฑ์บ้านเก่าเป็นพิพิธภัณฑ์ประจำแหล่งที่อยู่ในพื้นที่แหล่งโบราณคดีจริง กรมศิลปากรจึงปรับปรุงภูมิทัศน์เพื่อให้ผู้เข้าชมเข้าใจถึงลักษณะภูมิประเทศของโดยรอบอันเป็นที่ตั้งชุมชนในสังคมเกษตรกรรมนานนับพันปีมาแล้ว โดยเริ่มเข้าตั้งถิ่นฐานในที่ราบเพื่อการเพาะปลูก พื้นที่ด้านหลังพิพิธภัณฑ์จึงมีทางเดินชมธรรมชาติที่เห็นถึงแหล่งน้ำด้วย

นอกจากนี้ สิ่งที่น่าสนใจติดตามกันต่อไปคือ โครงการจัดตั้ง ‘ศูนย์ศึกษาวัฒนธรรมบ้านเก่า’ ขึ้นที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ บ้านเก่า เพื่อเป็นสถานที่ศึกษา วิจัย ของนักวิชาการด้านโบราณคดี โดยกรมศิลปากรคาดหวังว่าจะทำให้ความรู้ทางวิชาการโบราณคดีวัฒนธรรมบ้านเก่าดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง และสามารถเชื่อมโยงความรู้ด้านงานโบราณคดีกับองค์ความรู้ด้านต่างๆ เข้าด้วยกันแบบสหวิชาการ และเมื่อรวมถึงอุทยานประวัติศาสตร์เมืองสิงห์ที่อยู่ใกล้กัน จะเพิ่มศักยภาพการท่องเที่ยวในพื้นที่จังหวัดกาญจนบุรีได้เป็นอย่างดี

นับเป็นอีกหนึ่งหมุดหมายที่ต้องไปให้ถึง

พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ บ้านเก่า
เปิดให้บริการ : วันพุธ – วันอาทิตย์ เวลา 09.00 – 16.00 น.
โทร 0-3454-0671
สายตรงหัวหน้า พช.บ้านเก่า “สำเนา จาดทองคำ” 08-1294-9944

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image