สุจิตต์ วงษ์เทศ : พิทักษ์และค้ำจุน อำนาจของคนชั้นนำ

สองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาในกรุงเทพฯ (และทุกแห่งที่ไหลผ่าน) ควรได้รับการพัฒนาปรับปรุงแก้ไข เพื่อคนทั่วไปเข้าถึงอย่างเสมอภาค

กระแสต่อต้านขัดแย้งที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องนั้น มาจากวิธีทำโครงการ โดยเฉพาะการออกแบบ ซึ่งถูกทักท้วงวิพากษ์วิจารณ์ว่าขาดมิติทางประวัติศาสตร์โบราณคดี วิถีวัฒนธรรม และอื่นๆ

มีคำบอกเล่าของนักภูมิสถาปนิกจากกรมศิลปากร ซึ่งเป็นผู้แทนเข้าร่วมในกรรมการชุดออกแบบและภูมิสถาปัตย์ โครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา สรุปสั้นๆ ว่าโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา มีข้อมูลการศึกษาด้านประวัติศาสตร์โบราณคดี แต่แบบที่ออกมาไม่ได้นำไปใช้ จึงมองไม่เห็นความต่อเนื่องเชื่อมโยงระหว่างข้อมูลกับแบบที่ทำ ดูเป็นการตั้งธงไว้ก่อนแล้วว่าจะทำทางเลียบแม่น้ำเจ้าพระยา จึงเริ่มผิดพลาดมาตั้งแต่ต้น (มติชน ฉบับวันอาทิตย์ 25 กันยายน 2559 หน้า 9)

ข้อความถ้อยคำสำเร็จรูปของนักวิชาการ ใครก็พูดได้ว่าต้องมีเรื่องราววิถีชีวิตของผู้คน, ชุมชน ฯลฯ แต่ในงานของอาจารย์นักวิชาการที่เกี่ยวข้องเรื่องนี้ มีอะไรให้เห็นเป็นรูปธรรมบ้าง? ในเมื่อระบบการศึกษาไทยด้านประวัติศาสตร์โบราณคดี ในสภาพเป็นจริงมีแต่เรื่องราวของสงครามของวีรบุรุษ และอิฐหักกากปูนของวัดกับวัง โดยไม่มีบ้านเรือนชุมชน ผู้คนพลเมือง กินขี้ปี้นอน เช่น ที่อยุธยา, สุโขทัย ฯลฯ

Advertisement

ประวัติศาสตร์โบราณคดีในไทย มีไว้เพื่อพิทักษ์และค้ำจุนอำนาจของคนชั้นนำ โดยอ้างวีรกรรมและศิลปกรรมของวีรชนกับบรรพชนที่เพิ่งสร้าง ไม่ได้มีเพื่อเพิ่มพลังความรู้สติปัญญาประชาชนพลเมืองทั่วไป

ดูได้จากชุมชนป้อมมหากาฬ ถูกคนชั้นนำมุ่งทำลาย โดยมีนักประวัติศาสตร์โบราณคดีทางการคอยพิทักษ์และค้ำจุนสนับสนุนอำนาจทำลายนั้น ด้วยการสมยอมให้มีสิ่งปิดปาก

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image