อาจารย์บรูซ แกสตัน (Bruce Gaston) เกิดเมื่อวันที่ 11 มีนาคม พ.ศ.2489 ที่รัฐแคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา เสียชีวิตที่เมืองไทยเมื่อวันที่ 17 ตุลาคม พ.ศ.2564 อายุ 75 ปี 7 เดือน 7 วัน พ่อของอาจารย์บรูซเป็นผู้อำนวยเพลงและเล่นดนตรีเป่าทรอมโบน แม่เป็นนักร้อง อาจารย์ บรูซมีชื่อเป็นไทยว่า บุรุษ เกษกรรณ เมื่อปี พ.ศ.2512 เดินทางมาในฐานะอาสาสมัครสอนนักเรียนอยู่ที่โรงเรียนผดุงราษฎร์ พิษณุโลก สอนอยู่ 3 เดือน ก็ได้ย้ายไปสอนดนตรีที่มหาวิทยาลัยพายัพ เชียงใหม่ สอนที่พายัพจนครบสัญญาของทหารอาสาสมัคร
ผมได้มีโอกาสคุยกับอาจารย์บรูซ ตีพิมพ์ในวารสารถนนดนตรี เมื่อมีนาคม พ.ศ.2531 ได้คุยกันยาวๆ 3 ครั้ง จึงได้กลับไปดูข้อมูลและทบทวนวิธีคิดตอนที่ยังเป็นคนหนุ่มไฟแรง อาจารย์บรูซเล่าว่า สมัยที่เรียนมัธยมรู้สึกว่าไม่มีอะไรที่ท้าทายความคิดนัก พอดีที่มหาวิทยาลัยยูเอสซี (University of Southern California) ให้โอกาสนักเรียนมัธยมปีที่ 5 ที่มีคะแนนดีมากสามารถเข้าเรียนต่อในมหาวิทยาลัยได้ อาจารย์บรูซจึงได้เรียนกับรุ่นพี่ที่โตกว่า แต่ก็ไม่ได้เลือกเรียนดนตรี เพราะวิชาดนตรีปริญญาตรีไม่ท้าทาย จึงไปเรียนวิชาปรัชญา และได้เรียนการประพันธ์เพลงในระดับปริญญาโท
เมื่ออาจารย์บรูซถูกเกณฑ์ทหารให้ไปรบในสงครามเวียดนาม อาจารย์บรูซกินอาหารมังสวิรัติเคร่งครัดตั้งแต่เรียนมหาวิทยาลัยปี 2 แล้ว ไม่สามารถจะฆ่าใครในสงครามได้ แต่ก็มีทางเลือกอยู่เพราะรัฐธรรมนูญของสหรัฐอเมริกาได้ให้โอกาสคนที่ไม่อยากเป็นทหาร สามารถทำงานอื่นทดแทนได้ อาจารย์บรูซจึงได้เลือกงานไปสอนหนังสือ โดยเลือกไปที่ตุรกีหรือประเทศไทย ในที่สุดก็ได้มาอยู่ที่ประเทศไทย
ขณะที่เข้ามาสอนหนังสือในเมืองไทย อาจารย์บรูซมีอายุ 22 ปี ตอนมานั้นก็ยุ่งยากหน่อยเพราะสื่อสารกันผิด คนที่มารับเขามาเมื่อวานแล้ว แต่นับวันผิด อาจารย์บรูซมาช้าอีก 1 วัน เพราะเวลาที่ประเทศไทยเร็วกว่าอเมริกา 12-13 ชั่วโมง ก็ต้องนั่งรถไฟไปพิษณุโลกด้วยตัวเอง รู้สึกหิวมากเพราะมีแต่เนื้อ หมูและไก่ จึงต้องกินถั่วลิสงกับเบียร์บนรถไฟ เป็นครั้งแรกที่รู้สึกว่ายังมีที่อื่นๆ ที่ไม่ได้พูดภาษาอังกฤษ เพราะในอเมริกานั้น เข้าใจว่าคนทั้งโลกพูดภาษาอังกฤษกันหมด
เมื่อทำงานสอนหนังสือเสร็จสิ้นพันธกิจ (2 ปี) ในฐานะทหารอาสาสมัคร ก็ต้องกลับไปอเมริกา ระหว่างที่นั่งคอยอยู่ที่สนามบินดอนเมือง ได้พบกับอาจารย์สารภี อารีมิตร ซึ่งเป็นอาจารย์สอนภาษาฝรั่งเศสที่เชียงใหม่ พบกันครั้งแรก ได้เจอกันแค่ 10 นาที
เมื่อกลับถึงอเมริกาก็พบว่าที่อเมริกาไม่มีอะไรท้าทายมากนัก จึงตัดสินใจกลับมาเมืองไทยอีกครั้งเพื่อแต่งงาน กลับมาปักหลักอยู่ที่เมืองไทย สอนดนตรีให้เด็กไทย ได้เรียนดนตรีไทย ทำวงดนตรีฟองน้ำ ได้ทำดนตรีทดลอง ทำดนตรีประกอบสารคดี ดนตรีประกอบภาพยนตร์ ได้นำดนตรีไทยไปสู่นานาชาติ
อาจารย์บรูซเป็นนักเปียโนที่มีความสามารถสูง เล่นเพลงเบโธเฟนคอนแชร์โตแสดงกับวงออเคสตราเมื่ออายุ 14 ปี เล่นออร์แกนอาชีพในโบสถ์ วันหนึ่งๆ ต้องซ้อมเปียโน 6 ชั่วโมง ทำให้มีทักษะทางดนตรีสูง การกลับเมืองไทยก็ไปสอนดนตรีที่มหาวิทยาลัยพายัพ
ปี พ.ศ.2519 เปิดหลักสูตรดนตรี 4 ปีแห่งแรก สร้างความตื่นเต้นและตื่นตัวในวงการศึกษาดนตรีมาก มีครูฝรั่งเล่นดนตรีเก่ง สอนดนตรีเก่ง ทั้งทฤษฎีและปฏิบัติ สอนวงขับร้องประสานเสียง ทำละครร้องเรื่องชูชก เรียนรู้เรื่องดนตรีไทย ดนตรีพื้นบ้าน นักศึกษาให้ความเคารพนับถือในฝีมือ สามารถพูดภาษาไทยได้ชัดถ้อยชัดคำ อ่านวรรณคดีเรื่องพระเวสสันดร อ่านกาพย์มหาชาติ อีกต่างหาก
อาจารย์บรูซชอบดนตรีไทยมากเพราะเคยฟังเพลงชเวดากองของครูบุญยงค์ เกตุคง ในงานศพและในมหกรรมดนตรีไทยที่วิทยาลัยนาฏศิลป เชียงใหม่ เมื่อครั้งอยู่ที่พิษณุโลกได้ฟังวงปี่พาทย์นางหงส์เล่นในงานศพ คนเล่นปี่พาทย์ยังเป็นเด็กน้อย ก็มีกำลังใจว่าเมื่อเด็กเล่นปี่พาทย์ได้ ตัวเองก็อยากจะเล่นปี่พาทย์ให้ได้ เพราะบ้านพักอยู่ใกล้กับป่าช้า อาจารย์บรูซชื่นชอบเพลงชเวดากองมาก ถือว่าเป็นเพลงไทยสมัยใหม่ จึงได้ตามหาครูบุญยงค์ในฐานะผู้แต่งเพลง จนสามารถได้เรียนดนตรีกับครูบุญยงค์และเป็นผู้ดูแลครูบุญยงค์กระทั่งสิ้นชีวิต
อาจารย์บรูซเป็นผู้มีความกตัญญูสูง ในชีวิตอาจารย์บรูซมีครูที่เคารพรักอยู่ 3 คนด้วยกัน คือ ครูเปียโน ชื่อโคลดาล์น คอฟสกี (Gwendolyn Koldfsky) คนที่สองเป็นครูสอนการประพันธ์ ชื่อจอห์น เคจ (John Cage) แม้ไม่ได้เรียนกับครูโดยตรง ได้พบกันแค่ 3 ครั้ง แต่ก็มีอิทธิพลกับอาจารย์บรูซมาก จอห์น เคจ พูดเรื่องการหลุดพ้น เสียงดนตรีเป็นสื่อของความหลุดพ้นจากกิเลส ซึ่งจอห์น เคจ ได้ศึกษาปรัชญาอินเดียและได้รับอิทธิพลจากนิกายเซ็น ศาสนาพุทธมหายานมาอีกทอดหนึ่ง ครูสำคัญอีกคนหนึ่งคือ ครูบุญยงค์ เกตุคง
เมื่ออาจารย์บรูซสอนวิชาการละครที่อักษรศาสตร์และศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาฯ ได้สร้างงานดนตรีและสร้างลูกศิษย์คนสำคัญ อาทิ ศ.ดร.ณรงค์ฤทธิ์ ธรรมบุตร อานันท์ นาคคง ดร.จิรเดช เสตะพันธุ ไกวัล กุลวัฒโนทัย บุญรัตน์ ศิริรัตนพันธ ดร.วานิช โปตะวนิช ดำริห์ บรรณวิทยกิจ ฯลฯ ลูกศิษย์อาจารย์บรูซทุกคนเป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญด้านดนตรี ทั้งด้านการศึกษาและอาชีพนักดนตรีในประเทศไทย
กติกาและกรอบระบบของการศึกษาไทย ไม่สามารถที่จะรักษาคนเก่งคนที่มีความสามารถสูงเอาไว้ได้ ในที่สุดอาจารย์บรูซก็ออกไปทำงานอาชีพ ซึ่งได้สร้างสีสันให้กับวงการดนตรีอย่างมาก การสร้างดนตรีแนวใหม่ การพัฒนาฝีมือในการเล่นดนตรี ความคิดสร้างสรรค์ทางดนตรี การคิดค้นหารากเหง้าดนตรี นำเสนอเสียงใหม่ๆ ขึ้นในสังคม ทำให้คนรุ่นใหม่ได้เห็นต้นแบบและได้แรงบันดาลใจ จากวิธีการที่กล้าหาญของอาจารย์บรูซ แกสตัน ไม่น้อย ในการค้นหาแนวทางดนตรีแบบใหม่ การทดลองดนตรีลูกผสมไทยและสากลเกิดขึ้นอย่างหลากหลาย
อาจารย์บรูซเป็นคนที่มีจิตใจดี ไม่โกรธใคร มองโลกอย่างสร้างสรรค์ ใจเย็น ที่สำคัญเป็นคนที่มีอารมณ์ขัน มีความคิดวิธีการมองที่แปลกออกไป ส่วนใหญ่เป็นอีกมุมหนึ่งที่ดีกว่าด้วย อาจารย์บรูซ มีความเข้าใจดนตรีอย่างลึกซึ้ง ทำงานเกี่ยวข้องกับคนดนตรีทั่วประเทศและในระดับนานาชาติ คนเก่งๆ ส่วนใหญ่จะได้ร่วมงานกับอาจารย์บรูซ นักดนตรีทุกประเภททุกชนิด ตั้งแต่ดนตรีพื้นบ้าน ดนตรีไทย ดนตรีแจ๊ซ ดนตรีคลาสสิก และคนที่เป็นพวกไฟฟ้า รวมทั้งดนตรีปัญญาประดิษฐ์
ผมเคยขอความช่วยเหลือให้อาจารย์บรูซเล่นเปียโนเพื่อประกอบหนังเงียบเรื่องช้าง โดยโดม สุขวงศ์ ที่โรงละครแห่งชาติ หารายได้ซ่อมเปียโนคู่ สมบัติของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจุฑาธุชธราดิลก กรมขุนเพ็ชรบูรณ์อินทราชัย ซึ่งเก็บไว้ใต้บันไดของโรงละครแห่งชาติ เมื่อซ่อมเสร็จแล้วก็มอบให้กรมศิลปากร ชื่องานช้างช่วยเปียโน อาจารย์บรูซได้เล่นเพลงกราวแขกเงาะ ช้างสะบัดปลายงวง เป็นต้น
วงดนตรีฟองน้ำได้เริ่มเมื่อ พ.ศ.2523 มีอาจารย์บรูซร่วมกับครูดนตรีไทยคนสำคัญ มีครูบุญยงค์ เกตุคง เป็นหลัก วงฟองน้ำได้สร้างงานดนตรีสมัยใหม่ที่เป็นดนตรีไร้พรมแดน “เราอยากทำดนตรีไทยให้เป็นดนตรีของทุกคนในโลก” อาจารย์บรูซมองว่าการเล่นดนตรีเป็นวิธีวิปัสสนาประเภทหนึ่ง โดยเพ่งจิตอยู่ที่เสียง ดนตรีและศิลปะเป็นของขวัญที่มนุษย์บันดาลให้แก่กัน ดนตรีเป็นสื่อสะพานที่จะนำจิตใจมนุษย์ไปสู่สภาพอันสมบูรณ์ ได้ชูจิตใจให้ละเอียดอ่อนชดช้อยและปราศจากกิเลสทั้งปวง
อาจารย์บรูซเป็นนักปราชญ์คนหนึ่งของวงการดนตรีไทย สามารถอธิบายดนตรีไทยและดนตรีสากลด้วยความรู้และปรัชญา อาทิ ดนตรีแจ๊ซไม่สามารถด้นกันหลายๆ คนพร้อมกันได้ คือถ้าแจมแล้วจะดูเละเทะไป ดนตรีไทยนั้นมีประชาธิปไตยมาก เป็นมรดกที่ครูบาอาจารย์ถ่ายทอดให้แก่ลูกศิษย์ ซึ่งเราจะต้องรักษาไว้
อาจารย์บรูซพูดถึงเพลงไทยทางเทวดาว่า เป็นเรื่องของความสมบูรณ์ เป็นดนตรีที่อยู่เหนือวิทยาศาสตร์ และเป็นอมตะ ดนตรีไม่ใช่เรื่องยาเสพติดมายาการ แต่เป็นเรื่องของความหลุดพ้นของจิต เวลามันไม่ได้ยืดและไม่ได้หด เวลายังคงเดิม แต่เวลาอยู่ที่จิต แปลกไหมทุกคนอยากรวย รวยแล้วไม่มีความสุข แต่ก็อยากรวย
ในยุคแรกที่อาจารย์บรูซเริ่มเล่นดนตรีไทย ก็ถูกต่อต้านจากผู้ที่จับจองดนตรีไทยไว้เป็นเจ้าของ แต่ด้วยความเฉลียวฉลาดของอาจารย์บรูซ ได้รวบรวมนักดนตรีคนเก่งที่อยู่ในพื้นที่ต่างๆ ครูดนตรีคนสำคัญ นักดนตรีไทยคนรุ่นใหม่ ลูกศิษย์ที่สอนกันมา โดยเสนอดนตรีไทยให้เป็นดนตรีของโลก นำดนตรีไทยไปสู่เวทีนานาชาติ
อาจารย์บรูซได้แสดงความเป็นห่วงว่า คนไทยไปนำแบบทุนนิยมเข้ามา ซึ่งมันน่าเสียดาย ไม่ใช่การสูญเสียดนตรีอย่างเดียวนะ แต่เสียดายที่สูญเสียวิญญาณความเป็นไทยด้วย ดนตรีไทยที่กำลังจะหายไปจากสังคมไทย เพราะเราไปรับความคิดแบบทุนนิยมเข้ามามาก จนลืมวิญญาณไทย
ชีวิตอาจารย์บรูซเป็นตำราเล่มใหญ่ เป็นต้นแบบของชีวิตการแสวงหา เป็นหัวจรวด ที่อยู่ในโลกอนาคต การสร้างงานดนตรีที่ตั้งอยู่บนรากเหง้าของดนตรีในสังคม บนฐานของความรู้ ความสามารถ สร้างความภูมิใจให้แก่สังคมไทย ในฐานะนักดนตรีอาชีพนั้น อาจารย์บรูซเป็นนักดนตรีที่มีค่าตัวสูง ซึ่งทำให้อาชีพดนตรีของไทยมีราคาค่าตัวสูงขึ้นด้วย
อาจารย์บรูซ แกสตัน เป็นทรัพยากรมนุษย์ที่สำคัญมาก อาจารย์บรูซเป็นผู้ที่ปลุกความเป็นไทยให้เป็นสมบัติของโลก เป็นผู้ชี้ช่องทางรอดให้แก่ดนตรีไทย เป็นผู้นำเสนอว่าดนตรีทุกชนิดทำหน้าที่เหมือนกันหมด ทำให้รู้สึกโหยหา เมื่อรู้ว่าอาจารย์บรูซได้จากไปแล้ว
สุกรี เจริญสุข