คอลัมน์ นอกลู่ในทาง : พลังคอนเวอร์เจนซ์

สมรภูมิธุรกิจอินเตอร์เน็ตบรอดแบนด์ร้อนระอุขึ้นอีกครั้ง รอบนี้มาจากการเปิดเกมรุกของค่ายมือถือ “เอไอเอส” หลังตัดสินใจควักกระเป๋าลงทุนขยายธุรกิจ เพื่อก้าวเข้ามาเป็นผู้ให้บริการอินเตอร์เน็ตความเร็วสูงแบบมีสาย ภายใต้ชื่อบริการ “เอไอเอส ไฟเบอร์” เมื่อ 2 ปีที่แล้ว

จะบอกว่าเทคโนโลยีไฟเบอร์ออปติกถูกลงมาก คุ้มที่จะลงทุนหรืออะไรก็แล้วแต่ ไม่ว่าจะมองมุมไหน “มีดีกว่าไม่มี”

ทั้งในเชิงการแข่งขัน และการเติมเต็มความต้องการของผู้บริโภคที่เสพติดการเข้าถึงโลกออนไลน์ทุกที่ ทุกเวลา ซึ่งต้องการสปีดที่เร็วและแรงขึ้นเรื่อยๆ (แต่มักไม่อยากจ่ายแพงขึ้น)

ลูกค้ายุคดิจิทัลจะออนไลน์ตลอดเวลา ไม่ว่าจะอยู่นอกบ้านหรือในบ้านก็ต้องการใช้อินเตอร์เน็ตความเร็วสูงอยู่ดี เพียงแต่เข้ามาในบ้านปั๊ปก็เปลี่ยนมาใช้เครือข่าย “ไวไฟ” ฟิกซ์บรอดแบนด์ แทนเครือข่าย “มือถือ” แค่นั้น

Advertisement

จะ 3-4-5G หรือกี่ G ก็แล้วแต่ ยังไงสปีดดาต้าของเครือข่ายไร้สาย แรงสู้ไฟเบอร์ออปติกไม่ได้อยู่แล้ว การมีฟิกซ์บรอดแบนด์ยังช่วยลดโหลดเครือข่ายมือถือได้ด้วย

อยู่นอกบ้านใช้มือถือเอไอเอส เข้าบ้านใช้ “เอไอเอส ไฟเบอร์”

ตอนยังไม่มี “เอไอเอส ไฟเบอร์” เวลาออกไปนอกบ้าน ลูกค้าดิจิทัลทั้งหลายเหล่านี้ อาจเป็นลูกค้า “เอไอเอส” แต่พอเปิดประตูเข้าบ้านจะไหลมาเป็นลูกค้า ทรูออนไลน์, 3BB, ทีโอที หรือแคท ก็ว่ากันไป

Advertisement

กับดีแทค, ทีโอที หรือแคท คงไม่เท่าไร แต่กับ “ทรูมูฟเอช” ที่แข็งแรงขึ้นมาก ทั้งจากการทุ่มลงทุนอย่างต่อเนื่องในธุรกิจโทรศัพท์มือถือ และยุทธศาสตร์ธุรกิจ “คอนเวอร์เจนซ์” ที่พากเพียรมาหลายปี

เพื่อรักษาฐานลูกค้า “เอไอเอส” จะประมาทไม่ได้ โดยเฉพาะในกลุ่มที่มีการใช้ดาต้ามากๆ ซึ่งส่วนใหญ่มีกำลังพร้อมที่จะจ่ายมากกว่า

แต่พร้อมจ่ายมากกว่า ไม่ได้หมายความว่า ไม่ชอบของถูก

กลยุทธ์ “ราคา” จึงยังใช้ได้เสมอ หากต้องการสร้างฐานลูกค้าเพิ่มขึ้นภายในเวลาอันรวดเร็ว

ว่าแล้ว “เอไอเอส ไฟเบอร์” จึงเปิดเกมช่วงชิงฐานลูกค้าด้วยการปรับแพคเกจบริการใหม่หมด โดยอัพเกรดความเร็วบริการมาตรฐานจาก 15 MBps ขึ้นไปเป็น 20 Mbps ในราคาเท่าเดิมเดือนละ 590 บาท

ถ้าเป็นลูกค้ามือถือเอไอเอสด้วยจะลดมากกว่า เหลือ 531 บาท แค่นั้นไม่พอ ถ้าต้องการสปีดเร็วกว่านั้นก็มีแพคเกจ 50 Mbps และ 100 Mbps ให้เลือก ในราคาที่ถูกลงกว่าเดิมมาก

โดยเฉพาะในแพคเกจ 50 Mbps “ราคา” ไหลลงมาอยู่ในระดับที่คนส่วนใหญ่จับต้องได้ ยิ่งในกลุ่ม “เอไอเอส เซเรเนด”

ในแพคเกจ 50 Mbps ที่คิดค่าบริการ 888 บาทต่อเดือน เอไอเอส เซเรเนด จะจ่ายเพียง 699 บาทต่อเดือน แถมกล่อง AIS PLAYBOX พร้อมแพคเกจให้ดูหนังและซีรีส์ฮอลลีวู้ดของ “HooQ” ได้ฟรีๆ อีก 1 ปีด้วย

มากกว่านั้น ถ้าจ่ายบิลเน็ตบ้าน ผ่านแอพพลิเคชั่น mPay ของเอไอเอส ยังได้รับเงินคืนอีก 15% (สูงสุดไม่เกิน 150 บาท)

โดยรวมๆ แล้วจึงถือว่าคุ้มมาก

ก่อนหน้านี้ “3BB” ผู้ให้บริการบรอดแบนด์อินเตอร์เน็ตอีกรายดัมพ์ราคา 50 Mbps ลงมาที่ 700 บาทต่อเดือนก็ว่าถูกมากแล้ว

เชื่อว่าในจังหวะนี้ ทั้ง 3BB และทรูออนไลน์ รู้คงไม่ปล่อยให้น้องใหม่ในสนามบรอดแบนด์ “เอไอเอส ไฟเบอร์” ไล่เก็บลูกค้าไปสบายๆ เป็นแน่

ถ้าจะตอบโต้กลับ “ทรูออนไลน์” รับมือได้ง่ายกว่า เพราะไม่ได้มีแต่ “ทรูยู” (TrueYou) ซึ่งเป็นแคมเปญดูแลลูกค้า คล้ายคลึงกับ

“เซเรเนด” ของเอไอเอสเท่านั้น แต่มีสารพัดบริการในมือที่พร้อมส่งพลัง “คอนเวอร์เจนซ์” มาช่วยกันอย่างเต็มที่

ต่างจาก “3BB” ที่คงต้องใช้เรื่อง “ราคา” ดึงลูกค้าเหมือนทุกครั้ง

การมีแต่บริการฟิกซ์บรอดแบนด์เพียงอย่างเดียว ซึ่งในระยะกลางและยาวอาจอยู่รอดได้ยาก (เคย) เป็นเหตุผลที่ “พิชญ์ โพธารามิก” แม่ทัพกลุ่มจัสมินตัดสินใจโดดลงสนามประมูลคลื่นมือถือ 4G

ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดก็แล้วแต่ ในภายหลัง “พิชญ์” ยอมเสียค่าปรับ 600 กว่าล้านบาท ปล่อยมือทิ้งคลื่นไปสร้างความปั่นป่วนให้สมรภูมิธุรกิจมือถือ และเป็นข่าวครึกโครมอยู่พักใหญ่เมื่อไม่นานมานี้

ยังไม่หมด “เอไอเอส ไฟเบอร์” ยังจัดหนักด้วยโปรโมชั่นใต้ดิน เพื่อดูดลูกค้าคู่แข่งโดยเฉพาะด้วย ซึ่งหนักหน่วงไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าการดึงลูกค้าให้ย้ายค่ายของบริการมือถือ

แคมเปญใต้ดินจะไม่มีการโฆษณาประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อใดๆ แต่ใช้วิธีส่งพนักงานลงพื้นที่ เดินไปเคาะประตูบ้าน ประตูคอนโด

ถ้าเปลี่ยนมาใช้ “เอไอเอสไฟเบอร์” ความเร็ว 20 Mbps จะคิดค่าบริการแค่เดือนละ 100 บาท นาน 6 เดือน จากปกติ 590 บาท

หลัง 6 เดือน ใครเป็นลูกค้าเอไอเอสด้วยจะจ่ายแค่ 531 บาทต่อเดือน

นับว่า แรงจัดได้ใจ จริงอะไรจริง

มีลูกค้าค่ายคู่แข่งจำนวนไม่น้อยใจอ่อนยวบ ยอมเปลี่ยนค่ายมาใช้ “เอไอเอส ไฟเบอร์” ในทันที

แต่จะดึงลูกค้ากลุ่มทรูอาจยากสักหน่อย เพราะลูกค้ามักใช้บริการอื่นๆ ของกลุ่มทรูพ่วงอยู่ด้วย ไม่ว่าจะเป็นบริการมือถือ หรือเคเบิลทีวี “ทรูวิชั่นส์” ทำให้ตัดสินใจยกเลิก “ทรูออนไลน์” ยากกว่า

แพคเกจ “คอนเวอร์เจนซ์” ของกลุ่มทรูช่วยลดแรงดูดของคู่แข่งได้ระดับหนึ่ง

มองย้อนกลับไปหลายปีก่อน ตอนที่แม่ทัพกลุ่มทรู “ศุภชัย เจียรวนนท์” ประกาศยุทธศาสตร์ธุรกิจ “คอนเวอร์เจนซ์” ที่จะมุ่งไปยังการผสมผสานหลอมรวมบริการเพื่อผู้บริโภค กว่าที่คนส่วนใหญ่หรือแม้แต่ทีมงานในบริษัทจะเข้าใจต้องใช้เวลาไม่น้อย

การพัฒนารูปแบบบริการ และแพคเกจที่ “พอดี” และ “ดีพอ” สำหรับลูกค้าที่จะไม่ทำให้รู้สึกว่ายัดเยียด หรือบังคับขายพ่วง ยิ่งยากกว่า

มาวันนี้ ยุทธศาสตร์ “คอนเวอร์เจนซ์” ทรงพลังขึ้น และขยายขอบเขตกว้างไกลขึ้น ไม่เฉพาะอยู่แต่ในบริการของกลุ่มทรูอีกต่อไป?

ดังจะเห็นได้จากบริการล่าสุด “ฮีโร่ แคช” ของ “แอสเซนด์นาโน” ที่เปิดตัวออกมาด้วยการให้ “วงเงินใช้ซื้อของ” ที่ 7-Eleven กับลูกค้าทรูมูฟเอชที่เปิดใช้ซิมทรูมูฟ 4G+ ใหม่ มูลค่า 300 บาท โดยให้สิทธิใช้ก่อนจ่ายทีหลัง ไม่คิดดอกเบี้ย นาน 6 เดือน

เชื่อว่าต่อไปจะยิ่งเข้มข้นมากขึ้นไปอีก หลังแม่ทัพกลุ่มทรูก้าวขึ้นไปนั่งเก้าอี้ “รองประธานเครือเจริญโภคภัณฑ์” ควบอีกตำแหน่ง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image