คอลัมน์ มหัศจรรย์การ์ตูน : เพราะเป็นการ์ตูนเราจึงสนุกแต่ไม่อิน

มีนักศึกษาแพทย์คนหนึ่งเคยแวะมาปรึกษาปัญหาการเรียนเมื่อนานมาแล้วค่ะ เธอมีปัญหาตั้งแต่วันแรกที่ขึ้นปี 4 ซึ่งต้องเรียนในโรงพยาบาลและพบผู้ป่วยจริงๆ ตอนเรียนทฤษฎีและอ่านหนังสือก็ยังปกติดีแต่เมื่อได้เห็นผู้ป่วยจริงที่เจ็บป่วยและมีสีหน้าทุกข์ทรมานก็พาให้รู้สึกทุกข์ทรมานตามผู้ป่วยไปด้วย ไม่กล้าเจาะเลือดผู้ป่วยเพราะรู้สึกเหมือนตัวเองเจ็บตาม ไม่กล้าพูดคุยเพราะเวลาผู้ป่วยเล่าเรื่องความเจ็บป่วยให้ฟังก็พาลร้องไห้ตามไปด้วย พูดง่ายๆ คือ “อิน” ตามผู้ป่วยจนไม่สามารถปฏิบัติงานได้

“หนูคงเป็นหมอไม่ได้ค่ะ แทนที่จะได้ดูแลคนไข้ คนไข้กลายเป็นฝ่ายปลอบหนูแทนเพราะหนูถามอาการไปก็ร้องไห้ไป”

พูดเสร็จคุณหมอก็น้ำตาซึมค่ะ เรื่องนี้แก้ไขไม่ยากเพราะหลังจากให้รับประทานยาเล็กน้อยอาการก็ดีขึ้นมาก จากที่คิดอยากเลิกเรียนแพทย์ก็กลับมาเรียนได้ตามปกติแถมชอบดูแลคนไข้มากด้วยค่ะ เรื่องนี้แสดงให้เห็นว่าเราอาจเรียนทฤษฎีแล้วเข้าใจทะลุปรุโปร่งแต่เมื่อประสบกับเหตุการณ์จริง สิ่งที่เพิ่มขึ้นมาคืออารมณ์ความรู้สึกซึ่งอาจจะช่วยให้เข้าอกเข้าใจผู้อื่นมากขึ้นหรือทำให้อินกับสถานการณ์มากเกินไปจนแย่ลงได้เหมือนกัน

คิดถึงเรื่องนี้ขึ้นมาตอนดู Storks แอนิเมชั่นที่เพิ่งเข้าโรงภาพยนตร์เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาค่ะ ว่าด้วยเรื่องบริษัทนกกระสาที่เปลี่ยนแนวธุรกิจจากส่งทารกเกิดใหม่ (ตามความเชื่อของฝรั่งที่ว่าเด็กทารกเกิดมาเพราะนกกระสาคาบมาส่ง) กลายเป็นธุรกิจส่งสินค้าด่วน “จูเนียร์” นกกระสาหนุ่มอนาคตไกลกับ “ทิวลิป” เด็กสาวมนุษย์คนเดียวในบริษัทที่มีแต่นกต้องปฏิบัติภารกิจไปส่งทารกด้วยกัน มีกฎว่าห้ามเปิดกล่องไปรษณีย์ดูหน้าทารกเพราะถ้าได้เห็นใบหน้าใสซื่อน่ารักก็จะเกิดความผูกพันทำให้ตัดใจส่งทารกให้พ่อแม่ไม่ได้ แม้จะคิดว่าต้องอดทนไม่ใจอ่อนแต่รอยยิ้มของทารกน้อยก็ทำให้ทุกคนหัวใจหลอมละลายในที่สุดรวมถึงหมาป่าสองตัวที่คิดว่าจะกินทารกเป็นอาหาร พอได้เห็นรอยยิ้มก็เปลี่ยนใจอยากเลี้ยงให้เป็นลูกหมาป่าแทน อีกทางหนึ่ง “เนท” รอนกกระสาพาน้องชายคนใหม่ของเขามาส่ง เขาสนุกกับจินตนาการที่ได้ตกแต่งบ้านเป็นลานบินรอนกกระสาลงจอดแต่เมื่อพบความจริงว่านกกระสาอาจจะไม่มา มีแต่ตำรวจเท่านั้นที่มาตักเตือนว่าเขาดัดแปลงบ้านโดยไม่ได้รับอนุญาต เนทก็เศร้าจนร้องไห้โฮออกมาอย่างสิ้นหวัง

Advertisement

ความตั้งใจที่จะทำเรื่องใดสักเรื่องของเราอาจไม่ประสบผลสำเร็จเมื่อเผชิญหน้ากับสถานการณ์จริงค่ะ นักปรัชญาอิมมานูเอล คานต์เคยกล่าวไว้เมื่อปี 1790 ในหนังสือ Critique of Judgment ที่เขาเขียนว่าหากเราจะดูงานศิลปะให้เข้าใจ เราต้องแยกตัวเราออกจากอารมณ์เสียก่อน คานต์กำลังบอกเราว่าปัจจัยที่ปนเปื้อนเข้ามาทำให้ไม่สามารถทำตามความตั้งใจได้เมื่อเผชิญหน้ากับสถานการณ์จริงคือ “อารมณ์” นั่นเอง งานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสาร Brain and Cognition ก็บอกเราเช่นนั้นค่ะ

งานวิจัยนี้ทำโดยทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยเอราสมัสในเนเธอร์แลนด์เพื่อดูการทำงานของสมองที่แตกต่างกันเมื่อดูภาพจริงกับภาพศิลปะ เขาให้อาสาสมัคร 24 คนดูรูป 120 รูป ครึ่งหนึ่งเป็นภาพที่ดูแล้วรู้สึกสดชื่นส่วนอีกครึ่งหนึ่งดูแล้วหดหู่ แต่ละส่วนแบ่งออกเป็น 3 กลุ่มคืองานศิลป์ ภาพจากจินตนาการ และภาพชีวิตจริง ระหว่างนี้แต่ละคนจะติดเครื่องวัดคลื่นสมองไว้รวมถึงให้คะแนนความชอบแต่ละภาพด้วย ผลพบว่าภาพในกลุ่มศิลปะและจินตนาการก่อให้ผู้ชมเกิด “อารมณ์ร่วม” น้อยกว่าภาพจากชีวิตจริงไม่ว่าภาพนั้นจะทำให้รู้สึกสดชื่นหรือหดหู่ก็ตาม ผู้วิจัยจึงสรุปว่าสมองของมนุษย์มีการปรับอารมณ์ที่ตอบสนองต่อเหตุการณ์ตามความเชื่อของตนเอง หากคิดว่าเป็นเรื่องไม่จริงจะมีอารมณ์ร่วมน้อยกว่าแต่จะรู้สึกชอบและสนุกได้มากกว่า เรื่องนี้อาจช่วยอธิบายปรากฏการณ์บนโลกโซเชียลได้ดีค่ะ เรื่องที่แชร์กันและดูรู้ว่าเป็นเรื่องแต่งขึ้นจะทำให้เราหัวเราะและสนุกกับมันได้ แต่ถ้าแชร์เรื่องที่ดูแล้วทำให้เชื่อว่าเป็นเรื่องจริง อารมณ์จะเข้ามาเกี่ยวข้องด้วยทำให้เรารู้สึกเศร้า หดหู่ ตื่นเต้น หรือแม้แต่โกรธได้ทั้งที่ไม่ได้ประสบด้วยตัวเองก็ตาม

งานวิจัยเรื่องนี้จึงสอดคล้องกับที่คานต์พูดเมื่อ 200 ปีก่อนว่าเราตอบสนองต่อสถานการณ์ต่างๆ 2 ระดับ คือระดับพฤติกรรมกับระดับอารมณ์ เรื่องนี้เหมาะกับสังคมยุคโซเชียลมีเดียอย่างมากค่ะ หลายเหตุการณ์บนโลกโซเชียลเป็นเรื่องแต่งที่ถูกกล่าวอ้างว่าเป็นเรื่องจริงทำให้คนดูเกิดอารมณ์ร่วมไปด้วย กระทั่งการขายสินค้าหรือการแนะนำร้านอาหาร ถ้าเคยมีคนใช้ผลิตภัณฑ์หรือไปกินร้านนั้นมาแล้วจึงบอกเล่าประสบการณ์ให้ฟัง เรื่องจริงเหล่านี้ทำให้ผู้ชมเกิดอารมณ์ร่วมได้มากกว่าและหลายครั้งอารมณ์ทำให้ความสามารถในการใช้เหตุผลของเราลดประสิทธิภาพลง

ถ้ามีเหตุการณ์ที่อารมณ์อาจทำให้ความสามารถในการตัดสินใจของเราเสียไป เช่น เห็นข่าวแล้วรู้สึกโกรธจนอยากจะโพสต์ข้อความต่อว่าด่าทอทั้งที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์นั้น ลองเชื่อคานต์และงานวิจัยนี้โดยการแยกตัวเองออกมาและมองเหตุการณ์เสมือนว่าไม่ใช่เรื่องจริงค่ะ ลองคิดดูว่าถ้าเรื่องเหล่านี้เป็นแค่การ์ตูนหรือเรื่องที่ถูกเสริมแต่งให้เกินจริงเราจะอินมากขนาดนี้ไหม

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image