คอลัมน์ เริงโลกด้วยจิตรื่น : แต่ละเรื่องราวเดียวกัน

เวลาอธิบายเป้าหมายของชีวิตในเชิงพุทธ มักจะได้ยินได้ฟังว่า คือการทำให้ชีวิต “ไม่มีความทุกข์” ด้วยวิธีทำให้จิต “สะอาด สว่าง สงบ”

ฟังดูเหมือจะแบ่งการปฏิบัติเพื่อบรรลุเป้าหมายเป็น “3 ขั้นตอน” คือเริ่มจากการชำระจิตให้สะอาดจากกิเลส และเครื่องครอบงำทั้งหลาย ทำให้สว่างด้วยการสร้างปัญหาขึ้น และเรียนรู้ที่จะฝึกฝนการทำสมาธิให้สงบไม่โอนเอนไปตามคลื่นลมใดๆ

ทว่าหากลองศึกษาหาความรู้จากพระผู้ผ่านการปฏิบัติจนสำเร็จมาแล้ว แทบจะมีคำบอกกล่าวเล่าขาน สอนสั่งเป็นเพียงเดียวกันว่าแท้จริงแล้ว “สะอาด สว่าง สงบ” แทบจะเกิดขึ้นในขั้นตอนเดียวกัน

เหตุที่เป็นเช่นนี้พระผู้รู้ได้อธิบายไว้ว่า “สะอาด” อันมีความหมายถึงการชำระจิตให้อยู่ในสภาวะไม่ถูกครอบงำด้วยกิเลส ตัณหาทั้งปวง รวมถึงนิวรณ์ทั้ง 5 อันเป็นเครื่องย้อมจิตให้หมอง จำเป็นจะต้องดำเนินไปตามขั้นตอนของ “ไตรสิกขา” คือ “ศีล สมาธิ ปัญญา”

Advertisement

การรักษาศีลและฝึกสมาธิ เพื่อสร้างปัญญานั้นเป็นขั้นตอนของการค่อยปัดกวาดเครื่องแห่งความเศร้าหมองที่ทำให้จิตใจขุ่นมัว ต้องอาศัยความพากเพียร อดทนที่จะทำ

คนเราบรรลุถึงเป้าหมายยากง่ายต่างกัน เพราะผลของกรรมที่ทำมาและสะสมไว้ในจิตว่าทำให้กิเลสตัณหาพอกหนา และถูกนิวรณ์ทั้ง 5 ครอบงำไว้แน่นเหนียวเพียงใด มีพลังแห่งศรัทธา ความเชื่อที่ถูกเรื่องถูกทางเพียงพอที่จะเผชิญหน้ากับอุปสรรคทั้งหลายโดยรักษาความมุ่งมั่นไว้ได้แค่ไหน

เรื่องราวเหล่านี้ทำให้คนแตกต่างกัน บางคนที่แม้กิเลสพอกหนา นิวรณ์เหนียวเหนอะ แต่มีศรัทธาที่มุ่งมั่น กระทั่งก่อความเพียรที่เยี่ยมยอดก็ทะลวงทะลุพาจิตพ้นจากความขุ่นมัวได้

Advertisement

แต่บางคนแม้กรรมเก่าไม่ได้สร้างกิเลสไว้หนาหนักมากมาย และนิวรณ์อาจจะไม่เกาะเหนียวจนยากจะเซาะให้หลุดล่อน แต่เพราะวอกแวกลังเลในศรัทธาความเชื่อ ทำให้ไม่มีพลังความเพียร เปลี่ยนไปเปลี่ยนมา ก็อ่อนล้าโรยแรงไม่มีปัญหาที่จะฝ่าความขุ่นมัวนั้นออกไปได้

“ปล่อยวางศีล เลิกลาสมาธิ” กลับไปกลับมา

ชีวิตจึงวนเวียนอยู่ในรูปแบบเดิมๆ

ไปไม่ถึง “จิตสะอาด”

และเพราะไปไม่ถึงนี้เอง จึงคิดว่า “สะอาด สว่าง สงบ” เป็นขั้นตอนที่แยกจากกันอย่างเด็ดขาด คนที่ไปไม่ถึงมักจะอธิบายเหมือน “สะอาด สว่าง สงบ” เป็นคนละเรื่อง บางคนอาจจะ “สะอาด” แต่ “ไม่สว่าง ไม่สงบ” ได้ หรือบางคน “สว่าง” อย่างเดียว หรือ “สงบ” อย่างเดียวได้

แต่หากฟังจากผู้ที่น่าเชื่อว่าไปถึงเป้าหมายแล้ว

“สะอาด สว่าง สงบ” จะไม่แยกจากกัน

“เมื่อจิตที่ถูกชำระกิเลส และสะสางนิวรณ์จนสะอาดไม่เหลือเชื้อหรือเยื่อใยแล้ว จะเกิดปัญญาสว่างในความเข้าใจสรรพสิ่งขึ้นในทันที และความสว่างอันเกิดจากความเข้าใจอย่างกระจ่างชัดนั้น จะทำให้เกิดความสงบขึ้นโดยอัตโนมัติ ด้วยเมื่อเข้าใจเสียแล้วย่อมไม่มีอะไรทำให้จิตเกิดความหวั่นไหว โอนเอน โยกคลอนไปเพราะแรงของกิเลสตัณหาใดได้อีก”

ความยุ่งยากในการทำความเข้าใจใน “พุทธภาวะ” เกิดจากความแตกต่างในการอธิบายที่ไม่เหมือนกันของที่ผู้ได้ชื่อว่าเป็นปรมาจารย์ทั้งหลาย

เรื่องเดียวกันจึงมักแตกต่างกันเสมอ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image