ครูอร่าม อินทรนัฏ ครูพยงค์ มุกดา กับ The Impossible ทศกัณฐ์

ความขัดแย้งเรื่องทศกัณฐ์กลายเป็นเรื่องสนุกสำหรับคนดูและคนเชียร์ หลายคนรื้อฟื้นฮิตในอดีตของวง ดิ อิม/The Impossible ขึ้นมาร้อง

แต่ “เป็นไปไม่ได้” เพลงมหาฮิตที่ ครูพยงค์ มุกดา เขียนทั้งทำนองเนื้อร้องไว้ให้ร้องกันได้เกือบทั้งสยามเมื่อกว่า 40 ปีมาแล้ว ถูกคนรุ่นใหม่แปลงเป็น

“ถ้าฉันมีสิบหน้าอย่างทศกัณฐ์

สิบหน้านั้นฉันจะหันมาหัวเราะเธอ

Advertisement

สิบลิ้นสิบปากจะว่าเธอพร่ำเพ้อ

ใครให้เธอ?

ใครให้เธอเป็นเจ้าของทศกัณฐ์?”

Advertisement

แน่ใจว่าหากครูพยงค์ได้อยู่ฟังคงหัวเราะฮ่าๆ เพราะเท่าที่เคยได้พูดคุยและมีโอกาสสัมภาษณ์ครูอย่างยืนยาว ก็พบว่าครูมีอารมณ์ขันอันล้ำเหลือ คลุกเคล้าไปกับการใช้ภาษาไทยสวยงามแบบสบายๆ มีความเจ้าบทเจ้ากลอน แพรวพราวด้วย wit เชาว์ปัญญาความหลักแหลมชนิดที่สอนกันไม่ได้ ต้องเกิดมากับตัวเท่านั้น

แต่ท่ามกลางความขัดแย้ง แฟนโขนรุ่นใหญ่กลับคิดถึง ครูอร่าม อินทรนัฏ เพราะกาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว ฝีมือการแสดงเป็นทศกัณฐ์ของท่านเลิศเลอ หาที่เปรียบมิได้ เป็นทศกัณฐ์อันแสนเหลือเชื่อ The impossible ทศกัณฐ์ ยังไงล่ะ

ประวัติของครูอยู่ปลายนิ้ว คลิกหาอ่านได้ง่ายกว่าสมัยก่อนมาก แต่แค่ทราบว่าครูเกิดในตระกูลศิลปินเมื่อ พ.ศ.2456 เริ่มเรียนโขนเมื่ออายุเพียง 12 พออายุแค่ 17 ก็ไปได้ตำแหน่ง “เสนายักษ์” (เงินเดือน เดือนละ 8 บาท) อยู่ในกรมปี่พาทย์ และโขนหลวง สองปีต่อมาก็เลื่อนตำแหน่งเป็น “ยักษ์ใหญ่” เงินเดือน 15 บาท เด็กๆ อ่านก็ยังเดาออกว่า ลองเริ่มต้นแบบนี้มีแต่รุ่งกับรุ่ง : )

ว่ากันว่า ด้วยลีลาท่ารำของครูอร่าม หัวโขนทศกัณฐ์ (ซึ่งเปลี่ยนเป็นสีทองในยามรัก) แทบจะยิ้มได้ในสายตาผู้ชม

นอกจากหน้าสีเขียวที่ใช้่ในยามปกติและสีทองยามรัก+เวลา “นั่งเมือง” แล้ว ยอดมงกุฎทศกัณฐ์ยังเป็นหน้าพระพรหม นี่คือเครื่องหมายว่าบรรพบุรุษเป็นพรหม

นึกไกลไปว่า หากโลกเป็นโรงโขน มนุษย์อย่างเราๆ ต้องใส่หัวโขน ยอดบนคงต้องเป็นลิงตามทฤษฎีของท่านดาร์วิน

มิตรจากวันเยาว์ของผู้เขียนปลื้มที่ทศกัณฐ์กลับมาเป็นที่สนใจ เพราะเขาโปรทศกัณฐ์มาตั้งแต่อายุน้อยๆ อ่านรามเกียรติ์กี่จบไม่รู้ แต่ทุกครั้งที่มาถึงตอนทศกัณฐ์สั่งเมือง ก่อนจะอาสัญ เพื่อนเป็นต้องร้องไห้

แม้จะเป็นคนไทย แต่เพื่อนเป็นผู้ห่างไกลจากวิถีไทยๆ ตั้งแต่อายุน้อยๆ ถึงกระนั้นความรักในศิลปะและวรรณคดีของบ้านเกิดดูจะมั่นคงแน่นหนา แม้จะไม่ได้ร่ำเรียน แต่ก็อุดมด้วยความรัก และความเข้าใจจนน่าประหลาด

รักเฉยๆ รักใสๆ ไร้คำอธิบาย ไม่ได้รักอย่างเป็นเจ้าเข้าเจ้าของ ไม่ใช่รักเพราะรู้เจนจบ ไม่ได้รักไว้อวดโอ้ หรือแม้กระทั่งรักเพราะเป็นของกู-พวกกู

ทำให้นึกถึงบทกวีของ Alexander Brome กวีขี้เมาชาวอังกฤษที่ชวนคนอ่านให้เชื่อว่ารักที่มีเหตุผลย่อมไม่ใช่รักแท้ Something there is moves me to love, and I / Do know I love, but know not how, nor why. คุณผู้อ่านนั่งว่างๆ ลองถามใจตัวเองให้ดีๆ เถิด

เมื่อคิดถึงทศกัณฐ์ และเพลง “เป็นไปไม่ได้” ยังรู้สึกว่าในเพลงรักบทนี้ นอกจากครูพยงค์ มุกดา จะได้แรงบันดาลใจจากรามเกียรติ์แล้ว ครูคงได้อิทธิพลมาจากบทละครเรื่อง “มัทนะพาธา” ในล้นเกล้าฯรัชกาลที่ 6 ด้วยเป็นแน่

ก็เมื่อมัทนา-นางเอกสุดอาภัพ–เอ่ยว่า…

“บุรุษยามสิเนหา

ก็พูดได้ละหลายลิ้น‚”

ท้าวชัยเสน–พระเอก–ก็รีบแก้ตัวว่า…

“ผิลิ้นพี่จะมีหลาย

ทุกลิ้นจะรุมกล่าว

แสดงรัก ณ โฉมฉาย

และทุกลิ้นจะเปรยปราย

ประกาศถ้อยปะฏิญญา…”

ครูพยงค์เล่าไว้เองในประวัติของท่านว่า ถึงจะเป็นเด็กต่างจังหวัด มีการศึกษาน้อยแค่ประถมสี่ แต่ก็ชื่นชมวรรณคดีไทย ชอบอ่านและท่องจำจนขึ้นใจ นอกจากนี้ยังชอบค้นคว้าหาความหมายของภาษากวีจากหนังสือต่างๆ โดยเฉพาะพจนานุกรม

เห็นได้เลยว่า การเรียนด้วยความรักของครู

พยงค์ มีอิทธิพลให้บทเพลงของครูไพเราะราวกับบทกวี มิหนำซ้ำยังหยิบยืมโน่นนิดนี่หน่อย มาผสมผสานจนกลมกล่อม จับใจคนได้ทุกชั้นทุกวัย

เสียดาย…ครูพยงค์เขียนถึงยามทศกัณฐ์รัก แต่ไม่เคยเขียนเพลงถึงยามทศกัณฐ์ล้ม

“มาตายอนาถนัก

ดั่งชายทรลักษณ์พาลา”

ตามที่พิเภกผู้น้องบรรยาย ทศกัณฐ์ยืนยันไม่ยอมแพ้ แถมยังประกาศอย่างองอาจต่อหน้าทัพตนและทัพศัตรู

“ว่าเราสู้ตายด้วยความรัก

ให้ไตรจักรรู้ทั่วทุกราศี”

เล่นทั้งจักรวาลเลย

แต่เมื่อถูกศรพระรามจนตัวพรุนราวเนยแข็งสวิส แถมยังโดนหนุมานขยี้หัวใจ ทศกัณฐ์ก็ตายแบบหัวใจสลาย–โบร้คเข้นฮ้าท–เอาจริงๆ

หากแต่ยามใกล้ตายนั้น สิบลิ้นสิบปากของทศกัณฐ์ไม่ได้ฝากคำพร่ำเพ้อ ว่ารักเธอรักเธอเป็นเสียงเดียวอย่างในเพลง “เป็นไปไม่ได้” ถึงตอนนั้นแล้ว ยอ-ยักษ์เขี้ยวใหญ่ตนนี้กลับใช้ปากทั้งสิบ

ต่อว่า

สั่งสอน

ขอโทษ

และฝากฝัง ฝากบ้านเมือง ฝากลูกเมียและญาติโยม ฝากลูกน้องและมวลมหาประชายักษ์ ไว้แก่น้องชายจอมทรยศ และไม่ลืมย้ำเตือนว่า

“‚.จงดำรงทศพิธ

อย่าทำทุจริตให้เหมือนพี่…”

สำหรับผู้ที่บังเอิญเป็นโรคโปรทศกัณฐ์ทั้งหลาย อยากสะกิดบอกว่าอย่าเศร้าใจไปนักเลย ด้วยทศกัณฐ์ไม่ได้ตายก่อนวัยอันควรแม้แต่นิด หากบรรจงอ่านให้ดี ก็จะเห็นว่ามหายักษ์ผู้สละชีวิตเพื่อความรักตนนี้ มีอายุถึง “สามโกฏิปี” แล้ว

ตัวเลขที่อ้างมิได้เลื่อนลอย แต่เป็นข้อมูลที่ได้ตรงจากนางอัคคี ภรรยาคนรองของทศกัณฐ์เอง

หนึ่งโกฏิ เท่ากับ สิบล้าน

สามโกฏิก็สามสิบล้าน

อายุท่านมหายักษ์ตั้ง 30 ล้านปี มิน่า…

นางสีดาไม่รับรักอยู่ตั้ง 14 ปี ท่านพี่ของพิเภกจึงคอยได้

แค่แป๊บเดียวนี่หว่า!!


“เป็นไปไม่ได้” จากวง The Impossible

หรือที่

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image