‘ศูนย์บันดาลไทย’ ราชบุรี อีกหนึ่งแลนด์มาร์ก ‘ศิลปะ’สืบสานวัฒนธรรม

6 ผลิตภัณฑ์ สืบสานวัฒนธรรม

หลายครั้งที่คนเรายึดติดวัสดุ วิธีการใช้ กับความเชื่อ หรือสิ่งที่เราคุ้นเคยแค่นั้น ซึ่งบ่อยครั้งทำให้มองข้าม หลงลืมภูมิปัญญา หรือไม่สนใจการมีตัวตนของสิ่งเหล่านั้นไป

เป็นไปได้หรือไม่ที่เราจะนำสิ่งเหล่านั้นกลับมาใช้อีกครั้งในรูปแบบที่แตกต่างและไม่ซับซ้อนมาก ดังเช่น ภาพที่คุ้นตาของหนังใหญ่บนเวทีการแสดงที่ถูกนำมาตีความผ่านวัสดุและฝีมือช่างดั้งเดิม กลายมาเป็นงานออกแบบที่ดูร่วมสมัยและใช้งานได้สะดวกมากยิ่งขึ้นกับชีวิตประจำวัน ซึ่งจุดนี้เองอาจเป็นจุดเริ่มของการเรียนรู้และถามหาถึงที่มาของงานฝีมือของช่าง เพื่อที่จะต่อยอดและรักษาสิ่งที่มีไว้ต่อไป

ด้วยแรงบันดาลใจของ วศินบุรี สุพานิชวรภาชน์ ผู้อำนวยการฝ่ายออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์ โรงงานเครื่องเคลือบดินเผาเถ้าฮงไถ่ ที่ต้องการบริหารเสน่ห์ทางวัฒนธรรม (ทุนทางวัฒนธรรม) ของชาวราชบุรี ให้เกิดการสร้างแรงบันดาลใจในการนำมิติใหม่และทุนทางวัฒนธรรม มาสร้างคุณค่าทางสังคมและเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ ส่งเสริมอุตสาหกรรมเชิงสร้างสรรค์ ตลอดจนรวบรวมข้อมูลทุนทางวัฒนธรรมจากแหล่งอารยธรรมทั่วประเทศ และสังเคราะห์ผ่านกรณีศึกษาที่ทำให้ผู้สนใจได้เห็นรูปธรรมที่จับต้องและนำไปประยุกต์ใช้งานได้จริง “ศูนย์บันดาลไทย ราชบุรี” จึงเกิดขึ้นในปี พ.ศ.2559 ณ พื้นที่โรงงานเถ้าฮงไถ่ จ.ราชบุรี

 วศินบุรี สุพานิชวรภาชน์
วศินบุรี สุพานิชวรภาชน์

โดยมีภารกิจสำคัญคือ บริหารทุนวัฒนธรรมไทยที่มีอยู่มหาศาล ให้ออกมาเป็น “เสน่ห์ไทย” ที่สามารถนำมาใช้อย่างร่วมสมัย ทำหน้าที่เป็นหน่วยต้นน้ำ ส่งต่อแรงบันดาลใจไปยังหน่วยงานกลางน้ำ เพื่อให้นำไปใช้ขยายผลให้แก่ปลายน้ำ ซึ่งสอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ที่มุ่งเน้นการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน ทั้งยังสอดรับกับนโยบายกระทรวงวัฒนธรรม ที่จะก้าวสู่การเป็นกระทรวงกึ่งเศรษฐกิจอีกด้วย

Advertisement

วศินบุรีเล่าให้ฟังว่า ในทุกท้องถิ่นมีผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือมากมาย ไม่ว่าคนพิการ คนด้อยโอกาส ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดๆ และส่วนมากลักษณะความช่วยเหลือที่สามารถกระทำได้อย่างรวดเร็วคือการมอบเงิน หรือให้สิ่งของ ซึ่งวิธีการเหล่านี้คงไม่สามารถทำได้ต่อเนื่องและตลอดไปในระยะยาว จะเป็นไปได้หรือไม่ ถ้าเราสามารถออกแบบผลิตภัณฑ์ที่มอบโอกาสให้คนที่ต้องการได้ และพวกเขาสามารถใช้โอกาสนี้ก้าวเดินต่อไปในอนาคตอย่างมั่นคงได้ด้วยตนเอง

“ผมตีความคำว่า บันดาลไทย คือ ทุกคนสามารถมีหลายสิ่งหลายอย่างที่เป็นแรงบันดาลใจให้เกิดความเป็นไทยขึ้นมาได้ ส่วนตัวผมคิดว่า ‘ศิลปะ’ เป็นส่วนหนึ่งที่จะพูดถึงส่วนนี้และสร้างสิ่งที่เราต้องการได้มากที่สุด ถ้าเราออกแบบผลิตภัณฑ์แค่ให้คนมาหยิบไปใช้อย่างเดียว ประโยชน์มันอาจจะได้แค่ส่วนหนึ่ง แต่ถ้าอยากให้ผลิตภัณฑ์เกิดประโยชน์และสร้างชุมชนอย่างยั่งยืนได้ด้วย ควรออกแบบผลิตภัณฑ์ ให้คนที่ต้องการโอกาสสามารถนำไปใช้สร้างประโยชน์ให้กับตัวเขาเองด้วย

“ดังนั้น ผมจึงเลือกใช้วัสดุ 4 อย่างของราชบุรี ซึ่งได้แก่ หนังใหญ่วัดขนอน กระดิ่งทองเหลืองของชาวไทยยวน ผ้าขาวม้า และเครื่องปั้นดินเผา (เซรามิก) มาพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ที่ใช้สร้างโอกาสสำหรับคนในชุมชน และเป็นการต่อยอดวัสดุของท้องถิ่นให้มีมูลค่าและเกิดทางเลือกที่หลากหลายมากขึ้น ทั้งนี้โครงการนำร่องใน 4 วัสดุดังกล่าว ได้เน้นออกแบบผลิตภัณฑ์เพื่อสร้างโอกาสทางการศึกษา เด็ก ป.4-ป.6 สามารถเรียนรู้และลงมือทำได้ด้วยตัวเอง โดยหนังใหญ่วัดขนอนได้ถูกนำมาพัฒนาออกแบบเป็นโคมไฟในรูปแบบสามมิติ กระดิ่งทองเหลืองถูกนำมาใช้เป็นเครื่องประดับ ขณะที่ผ้าขาวม้าได้นำมาสานเป็นปลาตะเพียน และวัสดุสุดท้ายผลิตเป็นลูกปัดดินเผา ทั้งนี้ในปัจจุบัน ก็มีน้องๆ ทั้งจากโรงเรียนเทศบาล 1 และโรงเรียนเทศบาล 2 จ.ราชบุรี เข้าร่วมโครงการ และสามารถนำความคิดพื้นฐานไปสร้างทุนการศึกษาให้แก่ตนเองได้อย่างต่อเนื่อง” วศินบุรีกล่าว

Advertisement
นิทรรศการที่จัดแสดง
นิทรรศการที่จัดแสดง

ราชบุรี… ความทรงจำที่จางหาย

“เพราะบางสิ่งบางอย่าง ถ้าไม่ดูแลรักษา ปล่อยให้เลือนหายไป มันก็จะหายไปอย่างถาวร” ความตอนหนึ่งที่วศินบุรีได้กล่าวไว้ ซึ่งเป็นหนึ่งในที่มาของการจัดนิทรรศการ “ราชบุรี.. ความทรงจำที่จางหาย”

ความทรงจำ คือ สิ่งต่างๆ ที่เคยผ่านมา อาจเป็นความสุขที่แสนมีค่า หรือความเศร้าที่ไม่อยากจดจำ ความทรงจำจะแจ่มชัดแค่ไหน ขึ้นอยู่กับความประทับใจในช่วงเวลาที่ใช้ชีวิตอยู่ด้วยกัน หากชีวิตเปรียบดังต้นไม้ รากแก้วจึงเปรียบดังครอบครัว เมื่อ “ราก” แข็งแรง ต้นไม้ก็ย่อมเติบโตอย่างมั่นคง เช่นเดียวกับ “ศูนย์บันดาลไทย ราชบุรี” ในวันนี้ ที่ได้มุ่งมั่นเดินหน้าสู่การสร้างโอกาสทางสังคม ด้วยการต่อยอดผลิตภัณฑ์ที่สามารถสร้างอาชีพได้อีก 6 ชิ้นงาน ได้แก่ หมอนอิงและผ้าพันคอ, ที่แขวนติดผนังเด็กโอ่ง, เหรียญโปรยทานจากเศษผ้าขาวม้า, หมอนหนุนซุกมือ, เสื้อสกรีน และจานชามเซรามิกลวดลายจากธรรมชาติ เหล่านี้เพื่อขยายโอกาสไปยังกลุ่มที่โตขึ้น กลุ่มแม่บ้าน กลุ่ม ผู้สูงอายุ รวมถึงกลุ่มคนพิการ

นิทรรศการนี้ได้รับเกียรติจาก สุรพล แสวงศักดิ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดราชบุรี เป็นประธานในพิธีเปิดนิทรรศการ ณ โรงงานเถ้าฮงไถ่ จ.ราชบุรี

สุรพลกล่าวว่า เป็นอีกวันที่ได้ช่วยกันสานต่อ “เสน่ห์ไทย” โดยนำเอาศิลปะ วัฒนธรรม มาแสดงออกผ่านชิ้นงานต่างๆ จะเห็นได้ว่าวันนี้มีการนำเสนอชิ้นงานใหม่ๆ มีการออกแบบในเรื่องของผลิตภัณฑ์ มีการใช้โทนสีไทยผ่านทางรูปของศิลปะ เพราะฉะนั้นสิ่งที่คุณวศินบุรีได้ถ่ายทอดและแสดงออกจากความร่วมมือของทุกภาคส่วน นอกจากที่จะเป็นการสานต่อสิ่งที่ดีงาม ยังเป็นการรองรับในเรื่องของการขับเคลื่อน ศูนย์บันดาลไทย เชิงธุรกิจสร้างสรรค์ ซึ่งสอดรับกับนโยบายของกระทรวงวัฒนธรรมที่จะผลักดันให้เป็นสังคมกึ่งธุรกิจ หรือกึ่งอุตสาหกรรมต่อไปในอนาคต

ผู้ว่าราชการจังหวัดกล่าวเปิดงาน
ผู้ว่าราชการจังหวัดกล่าวเปิดงาน

“ธีมงานที่ว่าจะจางหาย ผมว่ามันไม่หายไป มีแต่ชัดเจนและจะเด่นชัดมากยิ่งขึ้น เนื่องจากเรามีการต่อยอดที่เป็นรูปธรรม สิ่งสำคัญเราได้รับมรดกตกทอดมาจากรุ่นของบรรพบุรุษ ยกตัวอย่างเช่น เถ้าฮงไถ่ มีบรรพบุรุษมาจากคนจีนโพ้นทะเล ได้นำเอาเรื่องของการปั้นเครื่องปั้นดินเผามาจากเมืองจีน มาประดิษฐ์กับดินชั้นดีที่อยู่ในพื้นที่ราชบุรี จากเป็นแค่โอ่ง รุ่นต่อๆ มาก็ได้มีการนำเอาความคิดเชิงสร้างสรรค์มาทำเป็นสิ่งของ ประดับตกแต่งการจัดสวนต่างๆ กระทั่งเป็นชิ้นงานที่ได้รับความนิยมทั้งในประเทศและต่างประเทศ

“ดังนั้นสิ่งเหล่านี้ที่ทางคุณวศินบุรี ได้นำมารวบรวมไว้อยู่ในศูนย์บันดาลไทย จ.ราชบุรี ในวันนี้ นับเป็นการเชิดชูสิ่งดีงามความเป็นไทยอย่างแท้จริง เพราะหลายชิ้นงานได้ส่งเสริมและเปิดโอกาสให้เด็กและเยาวชนค้นพบตนเอง เกิดแนวความคิด เกิดการพัฒนาต่อยอดและยึดเป็นอาชีพได้อย่างยั่งยืน” ผู้ว่าราชการจังหวัดราชบุรีกล่าว

เด็กนักเรียนเข้าชมงาน
เด็กนักเรียนเข้าชมงาน

6 ผลิตภัณฑ์ สืบสานวัฒนธรรม

เพราะแก่นศิลปะของราชบุรี คือ ความสนุก งานราชบุรีใช้ศิลปะหลากหลายชนชาติ หล่อหลอมกับรากฐานศิลปะไทยโดยอาศัยความเข้าใจในความงามที่แตกต่าง แล้วสร้างสรรค์ใหม่ให้กลมกลืนกันดั่งปลูกกล้วยไม้ต่างพันธุ์หยั่งรากลงไม้ใหญ่ ภายใต้แนวคิดดังกล่าวจึงส่งเสริมให้เกิดผลิตภัณฑ์สร้างอาชีพ 6 ชิ้นงาน อันได้แก่

1.หมอนอิงและผ้าพันคอ ผลิตภัณฑ์ที่นำเอารูปทรงโอ่งและลวดลายมังกร ซึ่งเป็นรูปทรงดั้งเดิมของโอ่งมังกร จ.ราชบุรี มาประยุกต์ใช้กับสีสันร่วมสมัยบนหมอนและผ้าพันคอ

2.ที่แขวนติดผนังเด็กโอ่ง ทำจากดินเผา ป้ายด้วยเฉดสีต่างๆ โดยตัวรูปผลิตภัณฑ์ยังคงบ่งบอกถึงความเป็นคนราชบุรีได้เป็นอย่างดี

3.เหรียญโปรยทานจากเศษผ้าขาวม้า เป็นการเลือกใช้ “ทุน” ท้องถิ่น ผสานกับ “ทุน” ของการสร้างสรรค์ ผลิตออกมาเป็นเหรียญสำหรับงานมงคล ที่ใช้เพียงเศษผ้าขาวม้า 2 แผ่นประกอบซ้อนกันด้วยผ้ากาว

4.หมอนหนุนซุกมือ หมอนที่ได้รับแรงบันดาลใจจากรูปทรงโอ่งมังกร โดยนำผ้าขาวม้ามาใช้ในการผลิต หมอนชิ้นนี้นอกจากจะช่วยผ่อนคลาย ช่วยให้นอนหลับแล้ว ในช่วงอากาศเย็น ผู้ใช้ยังสามารถเอามือซุกในหมอนคลายหนาวได้อีกด้วย

5.เสื้อสกรีน เป็นการนำลวดลายผ้าซิ่นตีนจก ซึ่งเป็นผ้าพื้นบ้านราชบุรีมาตัดทอนลวดลายใหม่ให้มีความทันสมัยและอยู่บนเสื้อยืดหลากสี ที่ทุกวัยสามารถสวมใส่ได้

6.จานชามเซรามิกลวดลาย เป็นการนำเอาความงดงามที่บ่งบอกถึงเอกลักษณ์แห่งความเป็นราชบุรี มาสร้างเป็นถ้วยจานชามเซรามิก โดยให้เป็นผลิตภัณฑ์หนึ่งเดียวที่หาซื้อได้เฉพาะที่นี่เท่านั้น

แม้ผลิตภัณฑ์ 6 ชิ้น ข้างต้น จะยังคงตีโจทย์ของความคุ้นเคยและยังไม่ได้สร้างเงื่อนไขใหม่ขึ้นมา แต่ในอนาคต คุณวศินบุรีได้หวังที่จะทำให้เกิดสิ่งใหม่ หรือผลิตภัณฑ์ชิ้นใหม่ที่ใครได้เห็นแล้วต้องบอกว่าผลิตภัณฑ์ชิ้นนี้เป็นของราชบุรีให้ได้

“ถ้ามองความมั่นคง อาจจะยังไม่เห็นผลในวันนี้ และในวันนี้มันอาจไม่ได้เป็นฐานที่ใหญ่ แต่จะเป็นเพียงตัวนอตตัวหนึ่งที่ช่วยยึดฐานในอนาคต ที่ผมพยายามเน้นเรื่องการศึกษาก่อน เพราะผมมองว่าการศึกษาเป็นหัวใจสำคัญที่จะทำให้คนเกิดไอเดียความคิดสร้างสรรค์และสามารถสร้างสิ่งใหม่ๆ ขึ้นมาได้ อย่างเช่น สมัยก่อนมีโอ่ง คนที่นี่ก็สร้างให้มันเป็นตำนาน เป็นสัญลักษณ์ขึ้นมาได้และใช้เวลา 10 ปี ซึ่งในวันนี้จุดหมายหลักของผม คือ ทำชุมชนของเราให้มีเสน่ห์ มีอัตลักษณ์ให้มากที่สุดเท่านั้นเอง

“มาถึงวันนี้ ผมไม่ได้เน้นเรื่องโครงสร้างทางเศรษฐกิจ แต่เน้นว่าเราจะทำอย่างไร ให้ศิลปะซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของจิ๊กซอว์ชีวิต มันต่อเป็นภาพรวมของชุมชนได้ ส่วนเรื่องเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวผมมองเป็นของแถม วันนี้ถ้าชุมชนเราดี ชุมชนเราเข้มแข็ง ชุมชนเราสวยงาม ก็จะเป็นความแตกต่างที่ทำให้หลายๆ คนอยากมารู้จักราชบุรี” วศินบุรีกล่าว

เป็นอีกหนึ่งนิทรรศการที่ต้องไปเห็นด้วยตาตัวเอง
โอ่งราชบุรี

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image