อาศรมมิวสิก : วัฒนธรรมพลิกกลับ ภาษา เพลงดนตรี และศิลปวัฒนธรรม เป็นเรื่องของชาติพันธุ์พลิกกลับ

อาศรมมิวสิก : วัฒนธรรมพลิกกลับ ภาษา เพลงดนตรี และศิลปวัฒนธรรม เป็นเรื่องของชาติพันธุ์พลิกกลับ

วัฒนธรรมพลิกกลับ หมายถึงการหวนคืนกลับเรื่องวัฒนธรรมท้องถิ่น มาอยู่ในความสนใจของสังคมอีก อย่างมีนัย ตัวอย่างการหวนคืนฉากพนมรุ้งของลลิษา มโนบาล การหวนคืนเพลงพื้นถิ่นในกรณีเพลงที่ข้ามวัฒนธรรม วัฒนธรรมเพลงที่เกี่ยวกับชาวไท (The Sound of Tai-Kadai) ซึ่งออกมาหลากหลาย การอวดเพลงของชาวไทยเหนือ ไทจ้วง (จีน) ไทยสยาม ไทยอาหม (ไทยและพม่า) ไทลื้อ (จีน) ไทยลาว ไทยโยนก ไทยอีสาน และไทเขิน โดยมุ่งขายเพลงที่มีวัฒนธรรมที่แตกต่างหลากหลาย กำลังกลายเป็นกระแสวัฒนธรรมพลิกกลับ

ดนตรีอยู่คู่กับชีวิตของผู้คน ผู้คนลื่นไหลเปลี่ยนแปลงไปกับวัฒนธรรมและการเดินทาง การค้าขาย การปกครอง สงคราม ก่อนมีการขีดเส้นแบ่งเขตตามแบบตะวันตกเป็นแผนที่ประเทศในแผ่นดินสุวรรณภูมิ มีชุมชนตั้งถิ่นฐานมานานแล้ว นับตามแบบโบราณคดีก็ยุคก่อนประวัติศาสตร์ มีการขุดพบเครื่องถ้วยชามรามไหตามพื้นที่ต่างๆ เช่น แอ่งสกลนคร จากบ้านเชียงไปถึงหนองหาน ศรีสัชนาลัย สวรรคโลก สุโขทัย ไชยาลงไปถึงเมืองนครศรีธรรมราช

สมัยโบราณ ชุมชนเกิดขึ้นตามลุ่มแม่น้ำ ชาวบ้านตั้งบ้านเรือนสองฝั่งแม่น้ำ ซึ่งเป็นแหล่งเพาะปลูกที่ทำมาหากิน มีน้ำกินน้ำใช้ แม่น้ำเป็นเส้นทางติดต่อแลกเปลี่ยนกันทำมาค้าขาย ลงเรือล่องแพแล้วเดินเท้า หากมีฐานะก็จะใช้ช้างม้าวัวควายขนของ คนเมืองเชียงแสนไปมาหาสู่กับเครือญาติในเชียงตุง ออกไปไกลถึงเชียงรุ้ง ในสิบสองปันนา ซึ่งใช้เวลาเดินทาง 7-10 วัน

คนอยู่ที่ไหน ภาษา บทเพลงดนตรี และศิลปวัฒนธรรม ซึ่งเป็นเรื่องของชาติพันธุ์ก็จะอยู่กับคนที่นั่นด้วย การเคลื่อนย้ายผู้คนอาจเกี่ยวข้องกับสงคราม การค้า การทำมาหากิน การเมืองการปกครอง ล้วนเป็นสาเหตุให้คนต้องโยกย้ายถิ่นฐาน สิ่งที่ปรากฏเหลือร่องรอยอยู่ก็คือ ภาษา เพลงดนตรี และศิลปวัฒนธรรม

Advertisement

เมื่อชุมชนแข็งแรง ทำการค้ามากขึ้น ผู้นำที่มีความสามารถก็จะรวมคนเป็นปึกแผ่นสร้างเมืองเป็นรัฐ เป็นอาณาจักร ต่อมาก็กลายเป็นประเทศ กษัตริย์ผู้นำตั้งกฎการปกครอง ขยายอาณาเขต ส่งต่ออำนาจผ่านไปยังลูกหลานเครือญาติ การตีเมือง เสียเมือง การย้ายเมืองหลวง เกิดขึ้นตามกำลังอำนาจที่ต้องผลัดเปลี่ยนตามยุค ทุกครั้งผู้ชนะจะกวาดต้อนผู้คนไปเป็นข้าทาสบริวารเพื่อสร้างเมืองและทำสงคราม เมื่อผู้คนถูกโยกย้าย วิถีชีวิตของคน วัฒนธรรมก็ย้ายตามคนไปด้วย

อาศรมมิวสิก : วัฒนธรรมพลิกกลับ ภาษา เพลงดนตรี และศิลปวัฒนธรรม เป็นเรื่องของชาติพันธุ์พลิกกลับ

อาณาจักรเมืองพระนคร (กัมพูชา) ยุคที่รุ่งเรืองมีอาณาเขตกว้างไกลคลุมพื้นที่ของประเทศไทยปัจจุบัน มีปราสาทนครวัด นครธม เป็นหลักฐานโบราณยิ่งใหญ่รู้จักไปทั่วโลก บันทึกความเป็นไปของบ้านเมือง ศาสนาพิธีกรรม ชีวิตความเป็นอยู่ ภาพสลักหินตามวัดและปราสาทอายุเป็นพันปีเหล่านี้ ยังบันทึกเรื่องราววงดนตรีนำทัพ วงดนตรีพิณพาทย์ วงดนตรีชาวบ้าน ที่ช่วยให้ชาวกัมพูชารื้อฟื้นเครื่องดนตรีและการรวมวงดั้งเดิมได้

Advertisement

เมื่อการเดินเรือทะเลพัฒนามากขึ้น เส้นทางค้าขายเดิมที่เคยเดินบกขึ้นเหนือไปจีนและส่งส่วยให้จีน ก็มุ่งลงใต้ไปทางทะเล เมืองตามชายฝั่งทะเลเริ่มปรากฏบนแผนที่เดินเรือสำเภา เพชรบุรี (Pripi) นครศรีธรรมราช (Ligor) ปัตตานี (Tani) เป็นเมืองท่าขนสินค้าข้ามคาบสมุทรระหว่างมหาสมุทรอินเดียกับทะเลจีนใต้หรือเข้าสู่อาณาจักรอยุธยา (สยาม) ซึ่งเติบโตเป็นเมืองการค้า ขยายอาณาเขตออกไปกว้างไกล มีพ่อค้าชาวต่างชาติเดินทางเข้าออกอยุธยามากกว่า 40 ชาติ

ถึงยุคขีดเส้นแผนที่แบ่งเขตเป็นประเทศ ที่มากับการล่าอาณานิคมของชาวยุโรปในสมัยรัชกาลที่ 5 เขตประเทศไทยจึงมีอาณาเขตตามที่รับรู้ในปัจจุบัน ซึ่งยังคงความหลากหลายทางชาติพันธุ์และวัฒนธรรมที่ยังลื่นไหลเดินทางไปมาในสุวรรณภูมินับแต่อดีต แม้พัฒนาการทางสังคมจะกลืนวัฒนธรรมดั้งเดิมไปมาก แต่ก็ยังมีร่องรอยทั้งภาษา ดนตรี และเพลง ที่ติดอยู่กับคนและชุมชน

ถ้าย้อนกลับไปศึกษาเรื่องภาษาและดนตรีในช่วง 30-40 ปีที่ผ่านมา พอสรุปได้ว่า “ดนตรีคือภาษาและภาษาคือดนตรี” ในภูมิภาคอุษาคเนย์นั้น มีคนใช้ภาษาหลักๆ กลุ่มใหญ่อยู่ 18 กลุ่ม เมื่อศึกษาดนตรีผ่านเพลงก็จะพบว่า ภาษาเป็นตัวบอกความแตกต่างและบอกว่าเป็นพวกเดียวกัน พูดภาษาเดียวกัน ร้องเพลงเดียวกัน โดยแบ่งออกเป็นพวกที่อยู่ในหมู่เกาะมีอยู่ 5 ภาษาใหญ่ คือ 1) ฟิลิปปินส์ (Pilipino) 2) ชวา (Javanese) ก็คือ อินโดนีเซีย 3) พวกภาษาในหมู่เกาะติมอร์ (Tetum Bunaya) 4) พวกปาเล็มบัง (Lampung) พวกอาหรับผสมกับพวกอินโดนีเซียอยู่ในเกาะสุมาตรา และ 5) เป็นพวกที่อยู่ในหมู่เกาะมลายู

ส่วนพวกที่อยู่บนผืนแผ่นดินใหญ่มีอยู่ 13 ชนเผ่าใหญ่ๆ ที่ใช้ภาษาเดียวกันและร้องเพลงเดียวกัน คือ 1) พวกกะเหรี่ยง มีเพลงและภาษาของตัวเอง 2) พวกพม่าผสมกับพวกทิเบต 3) มอญ ซึ่งเป็นพวกที่ปะปนอยู่กับไทยสยามและพม่า ซึ่งมีมอญกระจายอยู่ทั่วภูมิภาค 4) พวกเวียดนามหรือพวกจาม บางทีก็เรียกว่าพวกแกว 5) พวกลัวะที่อาศัยอยู่ในเขมรเรียกเขมรสูง 6) พวกพนง (Bunong/Phnong) เป็นชนเผ่าใหญ่มีอยู่ในเขมร

ชาวพนง (Khmer Phnong) เป็นชนกลุ่มน้อยในจังหวัดมณฑลคีรี ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของกัมพูชาติดกับชายแดนเวียดนาม มีความสามารถในการเลี้ยงช้าง การอยู่กับป่า 7) ภาษาเขมรกลาง เป็นพวกราชสำนักเขมรและชนชั้นปกครอง เพลงร้องเล่นดนตรีแบบเดียวกับราชสำนักของอยุธยา 8) ภาษาของพวกไทอาหม ซึ่งออกไปทางอัสสัม 9) พวกไทยลาวเวียงจันทน์และหลวงพระบาง 10) พวกชาวไทยสยาม ไทยกลาง 11) พวกไทดำ เวียดนาม และกลุ่มไทยอีสาน 12) พวกกลุ่มไทลื้อ ไทโยนก จ้วงผสมกับจีน 13) พวกบาบ๋าหรือพวกยาหย่า (Peranakan) กลุ่มลูกผสมระหว่างมาเลย์และจีน

จากกลุ่มภาษาใหญ่ๆ เหล่านี้ เมื่อมองลึกลงไปในแผนที่ประเทศไทย ก็สามารถที่จะเข้าไปศึกษาบทเพลง ทำนองเพลงในเมืองที่มีชนเผ่าต่างๆ อาศัยปะปนกัน ปัจจุบันกลุ่มคนและกลุ่มภาษาต่างๆ ถูกหลอมละลายกันไปมากแล้ว โดยเฉพาะการศึกษาในโรงเรียนที่ใช้วัฒนธรรมภาคกลางและวัฒนธรรมอื่น ทำให้วัฒนธรรมเพลงและภาษาถิ่นเลือนหายไป คงเหลืออยู่แต่ทำนองเพลง เนื้อร้องและดนตรีที่เล่นประกอบเพลง ทำให้ดนตรีและเพลงซึ่งเป็นหลักฐานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์เหลือติดอยู่กับชีวิตของคนที่ไม่ได้ไปโรงเรียน

เมื่อวัฒนธรรมพลิกกลับ ผู้คนเริ่มกลับมาสนใจวัฒนธรรมของตัวเองมากขึ้น คนจำนวนหนึ่งก็อาจจะรู้ว่ารากเหง้าของตัวเป็นชนเผ่าพันธุ์ใด แต่คนอีกจำนวนมากไม่สามารถที่จะบอกเผ่าพันธุ์ได้ เนื่องจากการผสมกันไปมา จนไม่เหลือความเป็นเผ่าพันธุ์เฉพาะ เนื่องจากกลายเป็นชนเผ่าที่มี “ร้อยพ่อพันแม่” ไปเสียแล้ว จึงเข้าสู่มิติใหม่ก็คือ การยกย่องความหลากหลายของเผ่าพันธุ์ ทั้งภาษา วัฒนธรรม ดนตรี และวิถีชีวิต ไม่มีใครด้อยกว่าใคร ไม่มีใครดีกว่าใคร และไม่มีใครเป็นเจ้าของที่จะผูกขาดความรักดนตรี บทเพลง และวัฒนธรรม

จากนี้ไป วัฒนธรรมพลิกกลับ คือการเอารากเหง้ามานำเสนอใหม่ จะกลับมาในรูปแบบที่หลากหลายมากขึ้น โดยเฉพาะวัฒนธรรมข้ามชาติ ที่มีกำลังทรัพยากรมากกว่า มีเงินมากกว่า สร้างโอกาสได้มากกว่า ยังมีวิสัยทัศน์มากกว่า และมีความกล้าหาญในการลงทุนทางวัฒนธรรม อาทิ เพลงเกาหลี เพลงจีน เพลงญี่ปุ่น เพลงอินเดียก็จะมาแรง

แล้วก็ค่อยๆ เข้ามาใกล้ตัวมากขึ้น เพลงเวียดนาม เพลงสิงคโปร์ เพลงฟิลิปปินส์ ซึ่งวัฒนธรรมเพลงของประเทศเหล่านี้ บทเพลงที่ใช้ผสมผสานข้ามชาติ ข้ามเผ่าพันธุ์ ข้ามชนเผ่า แล้วเข้ามาทำเพลงไทย เพลงลาว เพลงเขมร เพลงพม่า เพลงมอญ เพลงกะเหรี่ยง เพลงบาบ๋า เป็นต้น ซึ่งมีเทคโนโลยีที่ล้าหลังและด้อยกว่า ก็จะถูกนำโดยวัฒนธรรมที่ใหญ่กว่า เมื่อวัฒนธรรมใหญ่ได้นำเอาวัฒนธรรมเล็กๆ ไปอวด ก็จะกลายเป็นสินค้าโลก ไม่ต่างไปจากนักร้องลลิษา มโนบาล ได้ช่วยขายลูกชิ้นยืนกินให้ชาวบุรีรัมย์

ในส่วนกระทรวงวัฒนธรรมไทยและกระทรวงการท่องเที่ยวไทย อาจจะเต้นฟุตเวิร์กไปพลางๆ ก่อน ยังคิดไม่ออก อีกไม่นานบริษัทเอเยนซี่ก็มานำเสนอให้มีการแสดงคอนเสิร์ตเปิดเมือง คอนเสิร์ตเปิดประเทศ อาศัยบทเพลงดนตรี พวกวัฒนธรรมพลิกกลับก็จะเกิดขึ้น

ดนตรีไทย ดนตรีพื้นบ้านในท้องถิ่นต่างๆ ฝึกซ้อมฝีมือเอาไว้ โอกาสของวัฒนธรรมพลิกกลับกำลังมาถึง เพราะเมื่อวัฒนธรรมปัจจุบันวิ่งไปข้างหน้าได้ยากขึ้น วัฒนธรรมพลิกกลับจึงมาแรง ด้วยความโหวงเหวงอ้างว้างว้าเหว่ในอนาคต ความรู้สึกโหยหาอดีตจึงกลับมา เพราะอดีตมีพลัง อดีตคืออนาคต การกลับไปหาภาษาดั้งเดิม เพลงดนตรีและศิลปวัฒนธรรมเก่าแก่ที่เป็นเรื่องของชาติพันธุ์ในอดีต จึงมีคุณค่ายิ่ง

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image