แท็งก์ความคิด : ไทยแลนด์ ฟีลฯมาแล้ว

แท็งก์ความคิด : ไทยแลนด์ ฟีลฯมาแล้ว

แท็งก์ความคิด : ไทยแลนด์ ฟีลฯมาแล้ว

ห่างหายไปนานตามยุคล็อกดาวน์อันเนื่องมาจากโควิด-19 แผลงฤทธิ์
เดือนธันวาคมนี้ วงไทยแลนด์ ฟีลฮาร์โมนิก ออเคสตรา หรือไทยแลนด์ ฟีลฯ พร้อมกลับมา

เปิดการแสดงในฤดูกาล 2021-2022

ดีเดย์วันที่ 17-18 ธันวาคม 2564 และมีกำหนดแสดงสัปดาห์ต่อไปทุกวันศุกร์และเสาร์ตลอดฤดูกาล

Advertisement

ฤดูกาลนี้วงไทยแลนด์ ฟีลฮาร์โมนิก มาในธีม “Music Reunites”

ดร.ณรงค์ ปรางค์เจริญ คณบดีวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล บอกว่า การกลับมาครั้งนี้ วงไทยแลนด์ ฟีลฯ จัดเต็ม

แม้ 2 ฤดูกาลก่อน ทางวงต้องยุติการแสดง เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 แต่ก็ยังดูแลนักดนตรีฝีมือดีของไทยแลนด์ ฟีลฯ อย่างต่อเนื่อง

Advertisement

ตอนที่ประเทศไทยมีเค้าว่าจะรอดพ้นจากโควิด-19 วงไทยแลนด์ ฟีลฯ ได้เปิดการแสดง

แต่ทำได้เพียงครั้งสองครั้งก็ต้องยุติ เพราะสถานการณ์การระบาดกลับมา

จวบจนบัดนี้ สถานการณ์เริ่มคลี่คลาย วงไทยแลนด์ ฟีลฯ ดีเดย์อีกครั้ง

เปิดฤดูกาลวันที่ 17-18 ธันวาคมนี้

แฟนๆ ที่คิดถึง โปรดไปชมกันได้

ก่อนเปิดฤดูกาล วงไทยแลนด์ ฟีลฯ ทบทวนผลการดำเนินการ

พบว่า ก่อนโควิด-19 ระบาด ผู้ชมเข้าชมการแสดงอย่างต่อเนื่อง ยอดผู้เข้าชมสะสมปีก่อนโควิดบุกพุ่งสูงขึ้นทุกปี

กระทั่งโควิดระบาดหนัก การแสดงต้องยุติ ผู้ชมหาย รายได้ไม่มี แต่รายจ่ายยังเยอะ

ฟังแล้วน่าเห็นใจ อดคิดไม่ได้ว่า ภาครัฐได้เยียวยาไปบ้างไหม

กรณีของวงไทยแลนด์ฟีลฯ นักดนตรียังได้รับการดูแล แต่วงออเคสตราได้รับผลกระทบ

ในสถานการณ์เช่นนี้รัฐบาลสามารถช่วยได้หลายทาง

ช่วยเพิ่มรายได้ ช่วยลดรายจ่าย

ความจริงแล้ว วงไทยแลนด์ ฟีลฯ ถือเป็น “ซอฟต์เพาเวอร์” ของไทย ตั้งขึ้นมาโดย รศ.ดร.สุกรี เจริญสุข และสานต่อโดย ดร.ณรงค์

ขณะที่รัฐบาล โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม มองเห็นคุณประโยชน์ของซอฟต์เพาเวอร์

ถ้าผลักดันให้วงไทยแลนด์ ฟีลฯ เป็นไฮไลต์ ดึงดูดต่างชาติให้สนใจ ก็จะเป็นประโยชน์

ยิ่งหอประชุมมหิดลสิทธาคาร เป็นหอแสดงดนตรีที่ได้รับการยอมรับในวงการ ยิ่งเป็นต้นทุนที่ควรรักษา และนำมาต่อยอดเพิ่มพูนมูลค่าทางวัฒนธรรม

ก่อนหน้านี้เคยได้ยินอาจารย์ณรงค์เล่าให้ฟัง

บอกว่ามหาวิทยาลัยมหิดลจับมือกับจังหวัดนครปฐม ผลักดันให้นครปฐมเป็น City of Music ของโลก

เป็นเมืองที่ได้รับการรับรองจากยูเนสโก

ฟังแล้วปิ๊งว่า แนวคิดซอฟต์เพาเวอร์ตั้งเค้าก่อตัว

แนวคิดมี คนทำมี รอแต่การสนับสนุน

ถ้าอยากเห็นไทยยืนหนึ่งในโลกดนตรี การสนับสนุนให้ City of Music เกิดขึ้นก็น่าสน

แต่ในห้วงเวลาที่ทุกฝ่ายประสบชะตากรรม ลำพังภาคเอกชนจะสนับสนุนคงเหนื่อยสาหัส

แต่หากรัฐบาลมองเห็นคุณค่า สนับสนุนผลักดันให้ City of Music เป็นจริง

ความใฝ่ฝันคงกลายเป็นจริง

การช่วยกันผลักดันให้ความฝันเป็นจริงได้ ต้องอาศัยหลายฝ่ายสนับสนุน

รัฐบาลสนับสนุนด้านงบประมาณ และข้อกำหนดกฎหมาย

มหาวิทยาลัยมหิดลสนับสนุนค่าใช้จ่ายหอประชุมมหิดลสิทธาคาร

ภาคเอกชนที่มีกำลังสนับสนุนเรื่องกองทุน และใช้เครือข่ายกระจายข่าวสาร

บอกกล่าวว่าเมืองไทยมีของน่าชวนฟังและชวนชม

ส่วนฝีมือนักร้องนักดนตรี ศักยภาพของวง วิทยาลัยดุริยางคศิลป์และวงไทยแลนด์ ฟีลฯ ต้องรับไป

ช่วยกันเช่นนี้ โอกาสได้เห็น City of Music ปรากฏที่นครปฐมมีมากขึ้น

เท่าที่ผ่านมา วงไทยแลนด์ ฟีลฯ ทำหน้าที่ด้านวัฒนธรรมเชื่อมสัมพันธ์ระหว่างประเทศมาพอสมควร

ใช้ดนตรีกระชับมิตร ประยุกต์ความเป็นไทยเข้าไปในวงออเคสตรา

สำหรับอนาคตของวง อาจารย์ณรงค์มีแนวทางความยั่งยืน

มีแนวคิดเรื่องกองทุนของวงดนตรี แต่ช่วงเริ่มต้น จำเป็นต้องมีภาครัฐ ภาคเอกชนเกื้อหนุน

ช่วยมองกฎระเบียบ ช่วยออกแรงในช่วงเริ่มต้นระดมทุน

หากทำได้จะเป็นแบบอย่างความยั่งยืน

ถ้าทำได้ ศิษย์ดนตรีทุกสถาบันจะมีที่อยู่เพิ่มขึ้น

ถ้าทำดี นักร้องนักดนตรีต่างประเทศฝีมือฉกาจจะมาร่วมเล่น

เช่นเดียวกับความหวังด้านซอฟต์เพาเวอร์

ถ้าไทยแลนด์ ฟีลฯทำสำเร็จ เชื่อว่าคนอีกหลากหลายต้องมีกำลังใจสร้างสรรค์

สำหรับแฟนเพลงวงไทยแลนด์ ฟีลฯ มีหลายอย่างที่ผู้จัดเตรียมไว้

ใครที่พลาดชมไปเมื่อ 1-2 ปีก่อนเพราะโควิด

หลายอย่างจะหวนกลับมา

การบรรเลงบทเพลงคลาสสิกโดยนักดนตรีฝีมือเยี่ยมนั้นมีอยู่แล้ว

รายการพิเศษเด็ดๆ ตามเทศกาลต่างๆ ที่เคยสร้างความประทับใจจะปรากฏให้เห็น

เพลงประกอบภาพยนตร์ชื่อดัง การแสดงเพื่อเด็ก การขับร้องบทเพลงโอเปร่า และอื่นๆ

ผู้ใดสนใจสามารถติดตามดูโปรแกรมการแสดงได้ล่วงหน้า

ส่วนใครที่ยังไม่เคยฟัง ขอบอกอีกครั้งว่า อย่าพลาด

ลองไปฟังดูสักครั้ง ณ หอประชุมมหิดลสิทธาคาร

ไปฟังดนตรีและการแสดงคุณภาพ ภายในหอแสดงดนตรีที่มีคุณภาพ

พร้อมจะเป็นแลนด์มาร์กสำคัญของเมืองไทย

เป็นหัวใจของ City of Music ของโลก

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image