ยงสิทธิ์ โรจน์ศรีกุล เติมเกมรุก ‘ทิปโก้ฟูดส์’ ลุยยาสมุนไพร เครื่องดื่มกัญชา

ยงสิทธิ์ โรจน์ศรีกุล เติมเกมรุก‘ทิปโก้ฟูดส์’ ลุยยาสมุนไพร เครื่องดื่มกัญชา

เอ่ยชื่อ ยงสิทธิ์ โรจน์ศรีกุล แวดวงโทรคมนาคม ระบบโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ คงจะคุ้นหน้าคุ้นตากันเป็นอย่างดีในช่วงหลายปีที่ผ่านมา หลังทำงานด้านการตลาดและการขายภายใต้ชายคา “บริษัทชินแซทเทลไลท์” หรือ “บริษัทไทยคม” ในปัจจุบัน ร่วม 20 ปี จนถึงจุดอิ่มตัว

ในปี 2555 “ยงสิทธิ์” ได้ข้ามห้วยลงชิงเก้าอี้ผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) จนผ่านการคัดสรรจากคณะกรรมการสรรหา คุมแผนงานก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าหลากสี ทำงานอยู่ในตำแหน่งนี้ 2 ปี 2 เดือน ได้ยื่นใบลาออกเมื่อเดือนกันยายน 2557

จากนั้นได้เป็นที่ปรึกษาให้กับบริษัทอีกหลายแห่ง จนถึงเดือนพฤษภาคม 2561 กลับเข้าสู่วงการโทรคมนาคมอีกครั้ง โดยได้รับการแต่งตั้งจากบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ AIS เป็นหัวหน้าคณะผู้บริหารกลุ่มลูกค้าองค์กร รับผิดชอบการบริหารงานกลุ่มลูกค้าองค์กรให้เป็นไปตามแผนกลยุทธ์ของธุรกิจ ทั้งด้านการตลาด การขาย การพัฒนาผลิตภัณฑ์ และโซลูชั่น

นั่งบริหารงานอยู่ที่ AIS ถึงเดือนมกราคม 2564 “ยงสิทธิ์” ในวัย 57 ปี ได้รับการแต่งตั้งเป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ทิปโก้ฟูดส์ จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตและจำหน่ายน้ำผลไม้ น้ำแร่ และผลไม้แปรรูป มีผลอย่างเป็นทางการวันที่ 13 มกราคมที่ผ่านมา

Advertisement

นับเป็นก้าวย่างที่ท้าทายสำหรับ “ยงสิทธิ์” ในการบริหารธุรกิจอุตสาหกรรมสินค้าบริโภค ท่ามกลางสภาพตลาดอยู่ในภาวะถดถอย จากหลายปัจจัย ไม่ว่าพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยน ภาวะเศรษฐกิจ การระบาดของโควิด-19

ในวิกฤต “ยงสิทธิ์” มองว่า ยังมีโอกาสใหม่ๆ จะสามารถผลักดันให้ธุรกิจเติบโต จึงได้วางยุทธศาสตร์และปรับแนวทางการขับเคลื่อนธุรกิจภายใต้แผน “Tipco NEXT” ผ่าน 3 ยุทธศาสตร์สำคัญ Innovation, Digital และ Trust ขับเคลื่อนธุรกิจด้วยนวัตกรรมใหม่และหลากหลายอย่างต่อเนื่อง ผสมผสานกับเปลี่ยนแปลงองค์กรและธุรกิจในทิศทางดิจิทัลอย่างเต็มที่ คาดหวังปีนี้จะทำให้ “ทิปโก้”
กลับมาเติบโตใกล้เคียงกับปี 2562 ก่อนที่โควิด-19 ระบาด

แม้ว่าจะเป็นอุตสาหกรรมที่แตกต่างจากที่เคยสัมผัส แต่ “ยงสิทธิ์” เชื่อมั่นความเป็น “บิซิเนส อาคิเทค” หรือสถาปนิกธุรกิจ ที่เขานิยามให้กับตัวเอง จะนำประสบการณ์การบริหารงานที่ผ่านมามาดีไซน์ใช้กับ “ทิปโก้” ไปสู่เป้าหมายได้ไม่มากก็น้อย

Advertisement

  ⦁เข้ามาทำงานที่ทิปโก้แล้วเป็นอย่างไรบ้าง ต่างจากงานที่เราเคยทำแค่ไหน?
ถึงแม้จะดูเหมือนอุตสาหกรรมแตกต่างกันมาก ก็สามารถบริหารหลากหลายได้หมด จริงๆแล้วทิปโก้ ไม่ได้มีแค่น้ำผลไม้หรือน้ำแร่ธรรมชาติที่รู้จักกัน จริงๆ มีธุรกิจเบื้องหลังอยู่มากเช่นกัน เช่น ธุรกิจแปรรูปผลไม้ส่งออก ธุรกิจสารสกัดสำหรับสมุนไพรต่างๆ เป็นทั้งวัตถุดิบและสินค้าสำเร็จรูป ซึ่งมีอะไรที่หลากหลายมาก ยังไม่รวมถึงธุรกิจยางมะตอยที่ทิปโก้มีหุ้นอยู่ด้วย

ผมมีประสบการณ์บริหารงานทั้งเป็นองค์กรธุรกิจ องค์กรรัฐวิสาหกิจ ดูด้านการตลาด การขาย เทคโนโลยี ดิจิทัล ไอซีทีมาพอสมควร สามารถนำมาปรับใช้ได้ในหลายองค์กร ตอนอยู่ไทยคม มีทั้งเทคโนโลยีและการทำตลาดต่างประเทศ มาอยู่ รฟม.จะเป็นงานเกี่ยวกับภาครัฐและเป็นโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ มาทำที่ AIS ก็เป็นเรื่องเทคโนโลยีอยู่แล้ว ผมมาช่วยเรื่องขยายฐานลูกค้าองค์กรให้ เมื่อเข้ามาทำที่ทิปโก้จะมีทั้งการทำตลาด แบบ B2C (Business-to-Consumer) ลูกค้าที่เป็นผู้บริโภคทั่วไปและ B2B (Business-to-Business) ลูกค้าที่เป็นลูกค้าองค์กร รวมถึงการทำตลาดในประเทศและส่งออก ก็สนุกดีที่ได้ทำสิ่งใหม่ๆ

⦁วางกลยุทธ์ธุรกิจของทิปโก้ไว้อย่างไรบ้าง?
ธุรกิจแต่ละอุตสาหกรรมไม่เหมือนกัน ในส่วนของทิปโก้ในการแข่งขันการตลาด ต้องมีการแตกไลน์ธุรกิจให้มากขึ้น เพราะธุรกิจมีการเคลื่อนไหวเร็วมากที่เรียกว่า fast-moving consumer goods จะมีนวัตกรรมเรื่องโปรดักส์มาก ในแง่ของการบริหาร เราต้องจัดองค์กร แผนธุรกิจ ให้สามารถรองรับการสร้างนวัตกรรมเหล่านี้ได้เร็ว รวมถึงเรื่องของเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่เกิดขึ้น ทั้งเรื่องของดิจิทัล ออนไลน์ ก่อนหน้านี้บริษัทยังไม่ได้เน้นเรื่องนี้เท่าที่ควร

ผมเข้ามาได้จัดรูปองค์กร จัดรูปธุรกิจ ปรับทีมงาน คุมต้นทุนค่าใช้จ่าย เพื่อให้สามารถทำในเรื่องของนวัตกรรมเหล่านี้ได้ ตอนนี้อยู่ในช่วงปฏิบัติตามแผนที่เราวาง ได้ดำเนินการไปบางส่วนแล้ว และอยู่ระหว่างดำเนินการ เพื่อให้ธุรกิจเติบโตมากขึ้น ยิ่งในช่วงวิกฤตโควิด-19แบบนี้ ธุรกิจต้องยิ่งบริหารให้มีความปลอดภัยด้านการเงิน เพื่อให้องค์กรและการเงินแข็งแกร่ง เพราะว่าในภาวะวิกฤตต้องบริหารอีกอย่าง ในภาวะธุรกิจเติบโตจะบริหารอีกอย่าง ให้สอดรับกับสถานการณ์ปัจจุบัน เป็นการ “เมเจอร์เชนจ์” ปรับฐานครั้งใหญ่ของทิปโก้ ในรอบ 5 ปี หลังจากที่ผ่านมามีการปรับมาเป็นระยะๆ อยู่แล้ว

⦁ในช่วงที่ผ่านมาได้ทำอะไรไปบ้าง?
ปีนี้เป็นปีที่ทิปโก้ครบรอบ 45 ปี ได้รับความไว้วางใจจากผู้บริโภคมาตลอด ที่ผ่านมายังมีสินค้าใหม่ไม่หลากหลาย สิ่งที่ได้ทำอันดับแรกคือจัดรูปองค์กรใหม่ ให้มีความพร้อม ความสามารถลงทุนด้วยนวัตกรรมสินค้าใหม่ ให้บาลานซ์กับอุตสาหกรรมตลาด เศรษฐกิจ และยุคดิจิทัล จะต้องใช้เวลานิดหนึ่ง ถ้าไปเร็วเกินไปจะเกิดโอเวอร์อินเวสต์ แต่ถ้าไม่ลงทุนหรือไม่ทำจะมีปัญหาในเรื่องของอนาคต สินค้าใหม่ไม่มี ดิจิทัลไม่มา

ที่ผ่านมาทยอยผลิตสินค้าใหม่หลายตัวออกสู่ตลาดเรื่อยๆ มีทั้งสินค้าเป็นเครื่องดื่ม น้ำผลไม้ น้ำแร่ แต่ด้วยภาวะเศรษฐกิจยังไม่ฟื้นตัว โควิดยังไม่คลี่คลายมาก ทำให้ยังไม่ได้โหมทำการตลาดมากนัก ในปีหน้าเราจะมีสินค้าใหม่ออกมาอีกเรื่อยๆ ได้เตรียมความพร้อมในเรื่องการผลิต พัฒนาสินค้า การกระจายและจัดจำหน่ายไว้แล้ว ซึ่งได้ร่วมกับพันธมิตรเป็นจำนวนมาก จำหน่ายสินค้าทั้งออฟไลน์และออนไลน์ผ่านมีเดียต่างๆ เช่น จับมือกับอมาโด้และอาร์เอส หรือนำสินค้าไปอยู่บนแพลตฟอร์ม แกร็บฟู้ด หรือลาซาด้า

สินค้าใหม่ที่ออกมา เช่น น้ำผลไม้มีความหวานน้อยในกลุ่ม Less Sweet เป็นน้ำผลไม้ผสมน้ำผักรวม 100% สูตรหวานน้อย มีหลายรส และมีออกรสชาติใหม่ๆ ในระหว่างปีที่ผ่านมา ยังได้ออกสินค้าครบรอบ 45 ปี เป็น “น้ำแร่อควาเร่” ผลิตจากแหล่งเพชรบูรณ์ คนละโรงงานกับน้ำแร่ออร่าที่มีโรงงานผลิตอยู่ที่แม่ริม จ.เชียงใหม่ แต่ว่าได้คุณภาพของน้ำแร่ใกล้เคียงกัน จะมาตอบโจทย์ผู้บริโภคอยากได้น้ำแร่ธรรมชาติในราคาน้ำดื่ม ในภาวะเศรษฐกิจแบบนี้เราพยายามบริหารให้คุ้มทุน ในการผลิตเครื่องดื่มใหม่ๆ อย่างโรงงานประจวบคีรีขันธ์ เป็นโรงงานผลิตผลไม้แปรรูกับเครื่องดื่มบางประเภท จากนี้จะมีสินค้าออกมาอีกเป็นน้ำผลไม้ยุคใหม่

เรายังมีโรงงานผลิตสมุนไพรสกัดภายใต้ตรา “ทิปโก้” ในแผนจะผลิต 11 ตัว ตอนนี้ออกวางตลาดแล้ว 2 ตัว เป็นขมิ้นชันกับฟ้าทะลายโจร เป็นสมุนไพรที่มีประโยชน์มาช่วยเสริมภูมิต้านทานและภูมิคุ้มกันให้ร่างกาย ในช่วงที่ผ่านมาขายดี เพราะว่าคนใส่ใจเรื่องสุขภาพ เริ่มเปิดตลาดด้วยการขายผ่านออนไลน์ ช่วงโควิดระบาดหนักขายดีมาก ผลิตแทบไม่ทัน วัตถุดิบขาดแคลน ต้นทุนเพิ่ม 5 เท่า ระยะหลังไม่มีปัญหาแล้ว เพราะมีการปลูกฟ้าทะลายโจรกันมากขึ้น

ปัจจุบันได้ขยายช่องทางการจำหน่ายผ่านเครือข่ายร้านค้าปลีก ในร้านขายยา คลินิกและโรงพยาบาล เพราะดูแล้วโควิดยังอยู่กับเราไปอีกนาน วัคซีนอย่างเดียวคงไม่พอ ต้องเพิ่มภูมิให้กับตัวเอง มียาสมุทรไพรติดบ้านไว้ก็สำคัญ เรามีแผนจะส่งออกขมิ้นชันกับฟ้าทะลายโจรไปยังยุโรปด้วย เพราะตลาดต่างประเทศเริ่มให้ความสนใจ สำหรับสมุนไพรต่อไปที่กำลังจะออกมาอีก มีเปล้าน้อยจะช่วยรักษาแผลในกระเพาะ ลำไส้ และมะขามป้อม มีวิตามินซีจากธรรมชาติ 100% รอสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) อนุมัติสูตร

เช่นเดียวกับผลิตภัณฑ์จากกัญชงกัญชาที่เราวางแผนลงทุนทั้งต้นน้ำ กลางน้ำและปลายน้ำ ครบวงจรทั้งอาหารเสริม สมุนไพร ยา เครื่องดื่ม อาหาร ตอนนี้รอ อย.อนุมัติโรงงานสกัดที่อยุธยากับประจวบคีรีขันธ์ จากนั้นถึงจะจดทะเบียนสินค้าได้ คาดว่าจะออกสู่ตลาดได้ภายในไตรมาสแรกของปี 2565 ในช่วงแรกจะเน้นที่ปลายน้ำก่อน เริ่มจากเครื่องดื่มก่อน เพราะเป็นจุดแข็งของทิปโก้ ขณะเดียวกันเพื่อความรวดเร็วในการออกสู่ตลาดเราจะใช้วิธีการแบบคู่ขนาน จะรับซื้อวัตถุดิบมาเป็นส่วนผสมในการผลิตภัณฑ์แทนไปก่อน

⦁ปีนี้ทิปโก้ใช้เงินลงทุนไปเท่าไหร่?
ไม่มากเพราะว่าเป็นการอัพเกรดมากกว่า จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมบางทีเราต้องจ้างผลิตหรือ OEM มาก เพราะว่าเราไม่ต้องลงทุนเองก่อน อย่างการจัดจำหน่ายแทนที่จะลงทุนเองทั้งหมด ซึ่งใช้เวลา ใช้เงินเยอะ ใช้ทีมใหญ่มาก เราใช้วิธีพาร์ตเนอร์ ในภาวะเศรษฐกิจแบบนี้ เราพยายามบริหารต้นทุนและงบค่าใช้จ่ายต่างๆ เพื่อบริหารความเสี่ยง ในแง่ของสินค้าก็ต้องมีการออกสินค้าใหม่เป็นยุทธศาสตร์หลัก เพื่อขยายฐานกลุ่มลูกค้า ถึงมีความเสี่ยง แต่ในภาพใหญ่และระยะยาวจะลดความเสี่ยงขององค์กร เพราะต้องยอมรับว่าสินค้าเพื่อสุขภาพไม่ใช่ตลาดใหญ่ที่สุดแล้ว

⦁ปัจจุบันตลาดน้ำผลไม้หดตัวลงมาก?
หดตัวต่อเนื่องมาประมาณ 7-8 ปีแล้ว เฉลี่ยปีละ 5% เป็นทั้งตลาด ผมว่าเป็นเพราะพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป สินค้าอะไรที่อยู่มานาน ต้องเปลี่ยนแปลง มีเซ็กเมนต์ใหม่ๆ ตอนนี้หลังมีเหตุการณ์โควิด ทำให้มูลค่าตลาดน้ำผลไม้จากเดิมหมื่นล้านเหลืออยู่ประมาณ 5,000 ล้านบาท เนื่องจากปีที่แล้วกับปีนี้ สถานการณ์หนักมาก การบริโภคชะลอ การท่องเที่ยว ห้างถูกล็อกดาวน์ ทำให้ความสะดวกในการสั่งซื้อหายไปหมด

ยอดขายน้ำผลไม้และน้ำแร่ลดลงทั้งคู่ เพราะไม่ใช่ของที่เดลิเวอรี่ส่งถึงบ้านง่ายๆ เพราะว่าเป็นสินค้าหนัก บวกกับค่าส่งแล้วจะแพง ที่ผ่านมาเราก็มีเดลิเวอรี่ด้วย แต่พอบวกค่าส่งไกลจะแพง หรือไม่เราก็ต้องยอมกินมาร์จิ้นเราเอง ตรงนี้เป็นส่วนหนึ่งว่าเราต้องเพิ่มสินค้ากลุ่มที่มีราคาต่อหน่วยสูงขึ้น แต่ขณะที่ค่าส่งไม่แพงกว่า อย่างเช่น น้ำกัญชา ขวดหนึ่งแพงกว่าน้ำผลไม้ แต่ว่าขวดเล็กกว่า ค่าส่งจะถูกกว่า

⦁ตอนนี้ทิปโก้ยังเป็นผู้นำตลาดน้ำผลไม้?
ใช่ครับเราเป็นแบรนด์อันดับ 1 ในตลาดน้ำผลไม้พร้อมดื่ม 100% กลุ่มพรีเมียม ตอนนี้เรามีส่วนแบ่งการตลาดกว่า 30% แต่ผมว่าสิ่งสำคัญ คือ แบรนด์ดิ้ง การที่ยี่ห้อได้รับความเชื่อถือนั้นสำคัญ ต้องยอมรับทั้งทิปโก้และออร่า ทั้งสองยี่ห้อได้รับการเชื่อถือสูงมาก ในตลาดน้ำผลไม้เราเป็นเบอร์หนึ่ง แต่ตลาดน้ำแร่ธรรมชาติออร่าเราไม่ใช่เบอร์หนึ่ง แต่เพราะแบรนด์ได้รับความเชื่อถือสูง มีแฟนคลับ มีคนยอมรับ บางคนแม้ไม่ดื่มน้ำผลไม้หรือดื่มน้อยลง แต่ถ้าเป็นเครื่องดื่มหรือสินค้ามาจากทิปโก้ เขาจะให้การยอมรับเพราะชื่อทิปโก้ แม้ว่าส่วนแบ่งการตลาดไม่ใช่เบอร์หนึ่ง เรียกว่าเป็นจุดแข็งของทิปโก้ที่มีมายาวนาน ไม่ใช่เรื่องที่จะสร้างกันได้ในชั่วข้ามคืน

⦁สถานการณ์โควิด-19 ส่งผลกระทบต่อรายได้ปีนี้มากหรือไม่?
ลดลงไปพอสมควรตั้งแต่ปีที่แล้วมาถึงปีนี้ ในปีที่แล้วถือว่าสถานการณ์โควิดยังไม่หนักมาก ปีนี้หนักมีการระบาดหลายระลอก เราก็ประคับประคอง เมื่อเทียบกับปีที่แล้วถือว่าพอใช้ได้ ถ้ามองย้อนกลับไปปี 2561-2562 ลดลงไปมาก แต่ยังเชื่อว่าปีนี้รายได้น่าจะใกล้เคียงกับปี 2562 อยู่ที่ประมาณ 4,000 ล้านบาท เพราะมีรายได้จากการส่งออกด้วย สำหรับปีหน้าถ้าโควิดสายพันธุ์ใหม่
“โอไมครอน” ไม่ทำให้เกิดการระบาดรอบใหม่อีก คาดว่ารายได้จะเติบโตขึ้นกว่า 10% เป็นการประเมินจากปัจจัยสถานการณ์โควิดคลี่คลาย จากแผนใหม่เราที่มีความพร้อมแล้ว การออกสินค้าที่หลากหลาย และขยายฐานลูกค้าใหม่

⦁ปีหน้าทิปโก้จะลงทุนเพิ่มหรือแตกไลน์ธุรกิจใหม่หรือไม่?
ในปีหน้าเราพยายามบริหารต้นทุนและงบค่าใช้จ่ายต่างๆ หลังสถานการณ์โควิด-19 เริ่มคลี่คลาย เราคงมีการลงทุนอีกเรื่อยๆ โดยกระจายไปที่พาร์ตเนอร์ และการ OEM มากกว่าจะลงทุนเอง เพราะหากเราทำเองต้นทุนสูง อย่างเช่น ร่วมกับมีเดียส์พาร์ตเนอร์โปรโมตสินค้า ทำกิจกรรมส่งเสริมการขาย เหมือนที่ร่วมกับอมาโด้ขายสินค้าผ่านช่องทางของเขา “อมาโด้ ช้อปปิ้ง”ซึ่งจากสถานการณ์โควิด-19 ทำให้ผู้บริโภคเลือกเดินทางออกนอกบ้านเท่าที่จำเป็น จึงมีเวลารับชมรายการต่างๆ ผ่านจอทีวีมากขึ้น ทำให้ช่องทีวีโฮมช้อปปิ้งได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น เราจึงขยายช่องการขายทางด้านนี้เพิ่ม

ส่วนธุรกิจใหม่อย่างเช่น ร้านค้าปลีกเรามีสควิซบาร์ เป็นคอนเนอร์เครื่องดื่มสุขภาพ จากเดิมมี 60 กว่าสาขา ในช่วงโควิด-19 ได้รับผลกระทบจากห้าง ออฟฟิศต่างๆ ถูกล็อกดาวน์ ทำให้สควิซบาร์ที่เป็นแฟรนไซส์ปิดสาขา ตอนนี้เหลืออยู่ 30 สาขา จากนี้ไปเราจะมีฟอร์แมตใหม่ๆ เกิดขึ้น เพื่อตอบรับพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป จะดูว่าการไปห้าง ไปออฟฟิศ มีความแตกต่างกันอย่างไร เขาปรับตัวอย่างไร เราจะปรับตัวไปอย่างนั้น

รวมถึงจะขายผ่านออนไลน์มากขึ้น และเพิ่มสินค้าเกี่ยวกับอาหารสุขภาพมากขึ้น เพราะว่าเครื่องดื่มสุขภาพอย่างเดียว มันอาจจะเหมาะกับหน้าร้าน แต่อาจจะยังไม่พอสำหรับการส่งออนไลน์ เราจะมาเพิ่มจุดนี้ให้มากขึ้น โดยให้ทีมงานพัฒนาแพลนต์เบส (Plant Based) เป็นนวัตกรรมใหม่ของเรา เป็นฟู้ดเดลิเวอรี่ จะเป็นเมนูหนึ่งในสควิซบาร์ ราคาไม่แพง เมนูละ 60-70 บาท เมนูอาหาร อย่างเช่น สปาเกตตี้ อาหารสไตล์อิตาเลียน เริ่มวางขายแล้วเมื่อหลายเดือนที่ผ่านมา ปีหน้าจะเน้นทำตลาดและจัดกิจกรรมมากขึ้น ไม่ว่าการโฆษณา และชงชิม

⦁ปัจจุบันสัดส่วนยอดขายแต่ละช่องทางเป็นอย่างไร?
ยอดขายแบ่งตามสัดส่วนช่องทางการจำหน่าย ที่ผ่านมาส่วนใหญ่เราขายผ่านออฟไลน์ ทางโมเดิรน์เทรดและร้านค้า อีกส่วนเป็นการส่งออกถ้ารวมผลไม้แปรรูปด้วยอยู่ที่ประมาณ 40% ถ้าแยกเฉพาะน้ำผลไม้อยู่ที่ประมาณ 10% ตอนนี้การส่งออกดีขึ้นเพราะค่าเงินดีขึ้น ยิ่งค่าเงินอ่อน 40 บาทยิ่งดี ในปีหน้าสัดส่วนการส่งออกน่าจะเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 50% เราส่งออกไปหลาย 10 ประเทศ แล้วแต่สินค้า อย่างผลไม้แปรรูปส่งไปอเมริกาและตะวันออกกลาง ส่วนผลไม้มีทั้งเอเชียตะวันออก เช่น ญี่ปุ่น เกาหลี จีน ฟิลิปปินส์ และตะวันออกกลาง ด้านสารสกัดส่วนใหญ่ส่งไปญี่ปุ่น และสมุนไพรเล็งเป้าส่งไปที่ยุโรป

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image