‘ขังหญิง’ สารคดี ‘รางวัลชมนาด’ ฉายมุมมืดในเรือนจำผ่านมือนักเขียนหญิง

จัดต่อเนื่องเป็นปีที่ 5 กับโครงการประกวดสารคดีที่เปิดโอกาสให้นักเขียนหญิงได้มีพื้นที่ในการสร้างสรรค์งาน

รางวัลชมนาด (The Best of Non-Fiction) ซึ่งจัดโดย สำนักพิมพ์ประพันธ์สาส์น ร่วมกับ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน)

สร้างความแปลกใจและเสียงชื่นชมไม่น้อย เมื่อประกาศชื่อของผู้คว้ารางวัลชนะเลิศ

ธนัดดา สว่างเดือน เจ้าของผลงาน “ขังหญิง” ครั้งนี้เธอส่งผลงานมาในนามปากกา “นวกันต์”

Advertisement

ผู้ที่ติดตามรางวัลชมนาดมาอย่างต่อเนื่องคงคุ้นเคยกับชื่อของธนัดดา เพราะเธอเคยคว้ารางวัลชนะเลิศ โครงการรางวัลชมนาด ครั้งที่ 2 มาแล้ว กับผลงาน “ฉันคือเอรี่ กับประสบการณ์ข้ามแดน” เล่าชีวิตตนเองที่เคยเดินบนเส้นทางหญิงค้าบริการ ตามมาด้วยงานเขียนอีกหลายเล่มของเธอ

รางวัลชนะเลิศ “รางวัลชมนาด” จะได้รับการประดับ “เข็มกลัดสัญลักษณ์รางวัลชมนาดล้อมเพชรแท้” ทรงคุณค่า พร้อมเงินรางวัลจำนวน 70,000 บาท และค่าลิขสิทธิ์ในการจัดพิมพ์เป็นเล่ม ทั้งภาคภาษาไทยและภาษาอังกฤษ ตามมาตรฐานค่าตอบแทนลิขสิทธิ์ของแต่ละประเทศ

ขังหญิง นำเสนอประสบการณ์ผู้ถูกคุมขังในเรือนจำกว่า 3 ปี โดยไม่ได้กระทำความผิด เนื้อเรื่องเล่าเรื่องราวชีวิตของผู้คนหลากหลายเรือนจำ เผยให้เห็นชีวิตของผู้ที่ต้องถูกจำคุกในทัณฑสถานหญิงซึ่งมีทั้งผู้ที่กระทำผิดจริงโดยเจตนา ผู้ที่กระทำผิดโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ รวมทั้งผู้ที่ไม่ได้กระทำผิด

Advertisement

สภาพชีวิตของนักโทษเหล่านี้ไม่เพียงแต่ไร้อิสรภาพหากยังต้องตกอยู่ในภาวะที่ทุกข์ยากแสนสาหัสทั้งด้านการดำเนินชีวิต การถูกเอารัดเอาเปรียบและการถูกกระทำที่ทำให้หมดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ จนถึงชีวิตนักโทษที่ต่างต้อง “เอาตัวรอด” ด้วยวิธีการต่างๆ กัน นับตั้งแต่การค้าขายแลกเปลี่ยนเครื่องใช้และของต้องห้าม การปรับเปลี่ยนเพศวิถีซึ่งไม่ต่างไปจากการขายบริการทางเพศ รวมถึงการใช้เล่ห์กลต่างๆ เพื่อให้รอดพ้นจากสายตาผู้คุม

คำประกาศยกย่องรางวัลระบุว่า “ผู้เขียนมีความสามารถในการเล่าเรื่องราวที่ผู้อ่านอาจไม่เคยได้ยินได้ฟังมาก่อน เห็นภาพและชี้ให้เห็นว่าสังคมในทัณฑสถานไม่แตกต่างจากสังคมภายนอกที่ยังคงมีความแตกต่างระหว่างนักโทษรวยกับนักโทษจน การค้าขายอย่างเอารัดเอาเปรียบ การซื้อขายสารเสพติดและของต้องห้าม การเล่นหวย การลักขโมยและการใช้ความรุนแรงทำร้ายกัน เรื่องราวของคนขี้คุก ที่เข้าออกคุกเป็นว่าเล่น รวมถึงผู้ที่เข้าคุกอย่างยากไร้แต่ออกจากคุกไปโดยมีเงินเก็บนับแสน”

ธนัดดา สว่างเดือน กล่าวว่า แรงบันดาลใจของเรื่องนี้เกิดจากหลังจากที่ตนเองได้เคยใช้ชีวิตในเรือนจำ เมื่อออกมาแล้วจึงพยายามช่วยเหลือเพื่อนผู้ต้องขังโดยการนำของไปบริจาค อยากให้นักโทษที่พ้นโทษมาแล้วได้รับสิทธิที่เท่าเทียมกับคนทั่วๆ ไป หลายคนพ้นโทษแล้วต้องเข้าป่าเข้ารกหรือไปบวช เพราะอยู่กับสังคมไม่ได้

“เก็บข้อมูลจากการที่เคยอยู่ในเรือนจำ 3 ปี แล้วจากนั้นได้ไปเยี่ยมเพื่อนผู้ต้องขัง อยากให้ผู้ต้องขังที่พ้นโทษได้มีพื้นที่ในสังคมเพื่อจะได้ไม่ต้องกลับไปทำผิดซ้ำอีก จึงทำให้อยากเขียนเรื่องนี้ขึ้นมา เราเคยเป็นนักโทษเรารู้ว่าเขาต้องการสิ่งไหน ความอึดอัดอัตคัดหลายอย่างทำให้เกิดความเห็นอกเห็นใจระหว่างผู้ต้องขังด้วยกัน นักโทษก็ต้องการสิ่งดีๆ ผู้ต้องขังต้องเผชิญกับการถูกทอดทิ้ง หากเป็นนักโทษที่ไม่มีญาติพี่น้องจะไม่มีผ้าอนามัย สบู่ ยาสีฟัน อดอยากในการกินอยู่ เราต้องการกำลังใจจากญาติพี่น้องหรือจดหมายสักฉบับหนึ่ง

“ภาพลักษณ์ของผู้ต้องขังในเรือนจำเป็นด้านลบมาตลอด และไม่มีใครกล้าพูด ถ้าไม่มีใครพูดจะติดลบอยู่อย่างนั้น อย่างน้อยคนจะได้รับรู้สิ่งที่อัดอั้นตันใจของผู้ต้องขังที่พ้นโทษออกมา เชื่อว่าอย่างน้อยๆ คนที่ได้อ่านหนังสือจะได้เข้าใจความรู้สึกผู้ต้องขังว่าเขาอึดอัดยังไง ทำไมนักโทษถึงทำผิดซ้ำแล้วซ้ำเล่า หลายคนที่พ้นโทษออกมา ทำไมเขาออกมายืนในที่แจ้งไม่ได้ เขารู้ดีว่าสังคมไม่ยอมรับ อยากให้โอกาสคนที่พ้นโทษแล้วเพื่อเขาจะได้ไม่ต้องทำความผิดอีก”

สิ่งสำคัญที่ธนัดดาสัมผัสได้จากการเคยเป็นผู้ต้องขัง คือความลำบากอัตคัดในเรือนจำที่ทำให้ผู้ต้องขังเห็นอกเห็นใจกัน แม้เมื่ออยู่ข้างนอกจะเคยทะเลาะตบตีกัน แต่เมื่อเข้ามาแล้วก็ต้องเป็นมิตรกัน ด้วยความอดอยาก หิวโหยบีบบังคับให้ทุกคนต้องเอื้ออาทรกัน เกิดมิตรภาพกัน

บทเรียนสำคัญที่ธนัดดาเรียนรู้จากเพื่อนผู้ต้องขัง คือ ความสำนึกผิดหลังพลาดพลั้ง

“เราเคยไปที่กาญจนบุรีเอาของไปฝากให้ผู้ต้องขัง เห็นเพื่อนคนหนึ่ง จำได้ว่าคนนี้เคยอยู่รุ่นเดียวกันที่บางบอน ชีวิตเขายังวนเวียนอยู่ในนั้น เขาค้ายาเสพติดพ้นโทษแล้วก็ทำความผิดซ้ำ ด้วยเหตุผลที่หลากหลาย เมื่อเข้าไปแล้วทุกคนจะมีคำพูดว่า ‘ไม่น่าเลยๆ’ แต่ไม่ทันแล้ว

“อยากให้ใช้ชีวิตอย่างมีสติ รู้จักให้อภัยกันไม่ใช้โทสะรุนแรง แค่อารมณ์ชั่ววูบก็มีเหตุให้เข้าไปอยู่ในนั้นแล้ว เข้าไปแล้ว 1 เดือนถ้าไม่ทำอะไรเลยอย่าคิดว่าจะได้ออกมา ถ้าไม่อุทธรณ์ไม่ฎีกา และคนไม่มีเงินก็ติดคุกอย่างเดียว”

ส่วนความรู้สึกที่ได้รับรางวัลชมนาดเป็นครั้งที่ 2 เธอเผยว่า “ไม่อยากเชื่อว่าสิ่งนี้จะเกิดขึ้นอีกรอบ แต่ลึกๆ ก็คิดว่าจะต้องทำให้ได้”

ธนัดดา สว่างเดือน - พิศมัย ไชยสิทธิ์
ธนัดดา สว่างเดือน – พิศมัย ไชยสิทธิ์

ด้าน รศ.ดร.ตรีศิลป์ บุญขจร กรรมการรางวัลชมนาด บอกว่า ในปีนี้มีคนส่งผลงานเข้ามากว่า 50 เรื่อง จึงมีการคัดเลือกกันอย่างเข้มข้น เรื่อง “ขังหญิง” แม้ในวงการจะมีงานเขียนเล่าเรื่องคุกมาแล้วจำนวนมาก แต่เรื่องนี้มีคุณค่าและความโดดเด่นต่างจากเรื่องอื่นๆ โดยเฉพาะทัศนคติของผู้เขียนและศิลปะการประพันธ์

ส่วนรางวัลรองชนะเลิศ คือเรื่อง สองชีวิตหนึ่งใจ ผลงานของ พิศมัย ไชยสิทธิ์

ตรีศิลป์กล่าวว่า ผลงานทั้งสองเรื่องนี้น่าสนใจในคนละมุมของชีวิต เรื่องสองชีวิตหนึ่งใจ เป็นเรื่องของแม่ที่มีลูกเป็นเด็กพิเศษ เริ่มเรื่องด้วยการที่แม่ตัดสินใจฆ่าตัวตาย แต่คนที่กระตุกมือแม่ไม่ให้ทำก็คือลูก ในที่สุดแม่กับลูกกลายเป็นเพื่อน เติมเต็มชีวิตให้กันและกัน คิดว่าหนังสือเล่มนี้เป็นเรื่องต้องอ่าน ต้องทำให้สังคมเข้าใจเด็กพิเศษ ทั้งสองเรื่องมีคุณค่า อาจแตกต่างกันในการดำเนินเรื่อง

พิศมัย ไชยสิทธิ์ ผู้คว้ารางวัลรองชนะเลิศรางวัลชมนาด บอกว่า ลูกคือแรงบันดาลใจที่สำคัญที่สุดในการเขียนเรื่องนี้ ไม่เคยคิดว่าจะมีลูกเรียกที่ถูกเรียกว่าเด็กพิการ พอรู้ว่าลูกบกพร่องทางการได้ยินและสมาธิสั้น ก็อยากให้น้องใช้ชีวิตร่วมกับสังคมให้ได้ โดยลูกต้องต่อสู้มาก จึงคิดว่าสักวันหนึ่งจะเอาเรื่องนี้มาเขียนเป็นหนังสือให้คนได้รู้ว่าการได้เจอเด็กพิเศษอย่าได้รังเกียจ

“บางครั้งเราก็ท้อมากถึงขั้นกราบเท้าลูกว่าช่วยเป็นคนธรรมดาได้ไหม จนตอนนี้น้องมีพัฒนาการที่ดีขึ้นมาก การได้รางวัลทำให้เราเกิดกำลังใจว่าสิ่งที่เราเขียนมีคนเห็นคุณค่า และเงินรางวัลสามารถจ่ายคืนรัฐบาลที่ลูกไปกู้เงินมาเรียนได้” พิศมัยกล่าว

เป็นสองนักเขียนหญิง และสองสารคดีเรื่องเล่าจากประสบการณ์ที่มีค่าควรถ่ายทอดสู่วงกว้าง
รองชนะเลิศ สองชีวิตหนึ่งใจ..

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image