เปิดบันทึก ท้อฟฟี่ แบรดชอว์ ‘ผู้นำคนนั้นสอนให้รู้ว่า’

เปิดบันทึก ท้อฟฟี่ แบรดชอว์ ‘ผู้นำคนนั้นสอนให้รู้ว่า’

“ผู้นำที่ไม่เหมาะกับยุคนี้คือผู้นำที่ไม่รู้ว่าโลกกำลังเปลี่ยนแปลงไปแบบไหน ไม่ได้เตรียมตัว ไม่ได้เตรียมทีม และองค์กรให้พร้อม คนที่ไม่ไหวตัว ไหวติงกับพายุที่กำลังพัดเข้ามามันน่ากลัวนะ เพราะสุดท้ายบ้านจะพัง”

คือ คำกล่าวของ ท้อฟฟี่ แบรดชอว์ ผู้มีชื่อจริงตามบัตรประชาชนไทยว่า ชญาน์ทัต วงศ์มณี เจ้าของเพจ ‘ท้อฟฟี่ แบรดชอว์’ ซึ่งมีผู้ติดตามเฉียดแสน แบ่งปันข้อคิดจากการทำงาน สร้างแรงบันดาลใจให้คนรุ่นใหม่

ในภาคมนุษย์ออฟฟิศ เคยเป็นทั้งหัวหน้า ลูกน้อง และเพื่อนร่วมงานในองค์กรหลากหลายรูปแบบ ตั้งแต่องค์กรขนาดเล็ก องค์กรใหญ่ระดับประเทศ จนถึงองค์กรข้ามชาติ ในขณะเดียวกันก็เป็นนักถ่ายทอดเรื่องราวผ่านตัวอักษรในผลงานตีพิมพ์มากมาย

Leadership/Leader-shit ผู้นำคนนั้นสอนให้รู้ว่า… พ็อกเก็ตบุ๊คส์เล่มล่าสุด บันทึกสารพันบทเรียนจากการทำงานและโลกยุคใหม่ อาสาพาไปถอดบทเรียนและทำความรู้จัก ‘ผู้นำ’ หลากสไตล์ด้วยเรื่องเล่าเรียบง่ายแต่กระตุกใจชวนขบคิดเป็นระยะๆ

Advertisement

‘เพียงเพราะคนเรามีความสามารถที่แตกต่างกัน ไม่ได้แปลว่าใครอยู่เหนือใคร

ไม่ได้แปลว่าใครเก่งกว่าใคร

เราเพียงต้องหาวิธีที่ดีที่สุด

ที่จะดึงศักยภาพของแต่ละคนออกมาให้ได้มากที่สุด’

ข้อความในหน้า 291 ของเล่ม สะท้อนวิธีคิดน่าสนใจยิ่ง

เช่นเดียวกับโควทต่างๆ ที่ถูกหยิบยกมาเป็นตัวอย่างสะเทือนอารมณ์ ดังเช่น

‘ความอยุติธรรม แม้เกิดขึ้นที่ใดที่หนึ่ง เป็นภัยคุกคามต่อความยุติธรรมในทุกหนแห่ง’

จาก Letter from a Bermingham Jail เมษายน ค.ศ.1963 โดย มาร์ติน ลูเธอร์ คิง จูเนียร์ นักต่อสู้เพื่อสิทธิพลเมืองในสหรัฐ เจ้าของรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพในปี 1964

เมื่อ ท้อฟฟี่ เดินทางมาจรดปากกาลงลายเซ็นในหนังสือพร้อมส่งให้ผู้อ่าน สำนักพิมพ์มติชน จึงชวนพูดคุยถึงความเป็นมากว่าจะเป็นปึกกระดาษ 295 หน้า ซึ่งอัดแน่นด้วยเรื่องราวเข้มข้นที่ดื่มด่ำได้อย่างเข้าใจง่าย เพลิดเพลินใจ กระทั่งชวนให้ ‘อิน’ ไปกับเนื้อหาราวกับว่าได้ประสบพบเจอผ่านชีวิตของตัวเอง อีกทั้งประเด็นของผู้นำที่ดี และ ‘ผู้นำเฮงซวย’

บันทึกความรู้สึกร่วมสมัย

ไม่มีช่วงเวลาไหนที่ผู้คนโหยหาผู้นำดีๆ เท่าตอนนี้อีกแล้ว

เริ่มมาจากอยากเขียนหนังสือที่บันทึกความรู้สึกของผู้คนในยุคสมัยปัจจุบัน ในบรรยากาศแบบนี้ ในโลกที่เป็นแบบนี้ สิ่งหนึ่งที่ทุกคนคงสัมผัสได้เหมือนกัน คือ เราเห็นความสำคัญของผู้นำมากขึ้นกว่าเดิม เห็นว่าผู้นำที่ดี นำไปสู่อะไร ผู้นำที่ไม่ได้นำไปสู่อะไร ทั้งผู้นำระดับประเทศ ผู้นำระดับองค์กร ผู้นำทีม ผู้นำครอบครัว คนในเวลานี้ได้เห็นตัวอย่างที่ดีและไม่ดีเต็มไปหมด อยากเก็บตัวอย่างเหล่านั้นไว้เป็นบทเรียน ต่อให้เป็นตัวอย่างที่ไม่ดี ก็ต้องเรียนรู้จากเขา ตัวอย่างที่ดีเราก็จะเรียนรู้จากเขาเช่นกัน

ไม่มีช่วงเวลาไหนที่ผู้คนจะตระหนักถึงความสำคัญของผู้นำและโหยหาผู้นำที่ดีเท่าช่วงเวลานี้อีกแล้ว เมื่อโลกเจอกับวิกฤตโควิด-19 กันถ้วนหน้า รวมไปถึงการเปลี่ยนแปลงของบริบททางสังคมที่ขับเคลื่อนไปสู่บทสนทนาเรื่องสิทธิเสรีภาพ การเคารพความแตกต่างหลากหลาย การขับเคลื่อนคุณภาพชีวิตที่ดี ฯลฯ เราจึงได้เห็นทั้งผู้นำที่เราอยากได้ ผู้นำที่เราเอือมระอา ผู้นำที่เราอยากเป็น หนังสือเล่มนี้จึงเป็นการถอดบทเรียนที่ผู้นำทั่วโลกได้มอบให้กับเรา เพื่อที่ว่ามันจะเป็นบทเรียนที่อาจจะสร้างผู้นำคนต่อไปได้

การกระทำ ‘เสียงดัง’ กว่าคำพูด

ผู้นำคือมนุษย์ ‘ไม่ใช่ฮีโร่’

ผู้นำที่ดีคือผู้นำที่ทั้งคำพูดและการกระทำเป็นสิ่งเดียวกัน ให้การกระทำเสียงดังกว่าคำพูด ขณะเดียวกัน ก็สามารถใช้การสื่อสารในการนำผู้อื่นไปสู่จุดหมายที่ดีได้อย่างทรงพลัง ผู้นำที่ดีคือคนมองเห็นศักยภาพของตัวเอง และสามารถดึงศักยภาพของผู้ร่วมงานออกมาได้ สำคัญที่สุดคือ ผู้นำที่ดีคือผู้นำที่สร้างผู้นำที่ดีคนต่อไป

สมัยก่อนเวลาพูดถึงผู้นำ คนจะนึกถึงฮีโร่ พอคิดว่าเป็นฮีโร่ เรามักจะคิดว่าเขาไม่ได้เป็นมนุษย์ มันจะมีความรู้สึกว่า ผู้นำห้ามผิดพลาด ต้องเก่งที่สุด ทุกคนต้องฟังผู้นำ นั่นคือทรรศนะของคนที่เป็นผู้นำในสมัยก่อน แต่ในสมัยนี้ผู้นำคือ human ผู้นำคือคนที่เป็นมนุษย์เหมือนกับพวกเรานี่แหละ ผู้นำสามารถที่จะผิดพลาดได้ ผู้นำไม่ได้เก่งที่สุด แต่สิ่งสำคัญของการเป็นผู้นำคือการที่เขาสามารถสร้างแรงบันดาลใจหรือทำให้คนที่ทำงานด้วยสามารถทำงานได้อย่างดีที่สุด

มันคือหน้าที่ของผู้นำที่ต้องสร้างสิ่งแวดล้อม เมื่อก่อนผู้นำเท่ากับสั่งว่าจะต้องทำอะไร แต่ผู้นำยุคใหม่คือผู้นำที่จะสร้างบรรยากาศ สิ่งแวดล้อม คัลเจอร์ ที่มันเหมาะ ที่ทำให้เกิดงานที่ดีออกมาได้

อย่ายึดติด ‘ฉันนี่แหละเบอร์ 1’

สิ่งสำคัญมากๆ ของการเป็นผู้นำคือเขาจะต้องเป็นคนที่รับฟังผู้อื่นและไม่ได้มองว่าเขาเก่งอย่างเดียว แต่ผู้นำในยุคนี้คือผู้นำแบบ humble (อ่อนน้อมถ่อมตน) ไม่ได้มองว่าตัวเองเก่งแล้วทุกคนต้องมาฟังฉันหมด หรือคิดว่าเรารู้เรื่องนี้ดีที่สุด พอยอมรับว่าตัวเองไม่ได้รู้ดีที่สุด มันทำให้เราให้เกียรติคนอื่น เราจะฟังคนอื่นที่เขาอยู่หน้างาน คนที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญโดยเฉพาะมากกว่าเรา บอกว่า แต่ละคนมีความเห็นอย่างไรมา แล้วคนที่ช่วยจัดการ ช่วยตัดขอบให้ ช่วยให้การตัดสินใจออกมาได้ดี นั่นแหละคือผู้นำ ไม่ใช่คนที่ไปบอกว่า ต้องทำอะไร ความอ่อนน้อมถ่อมตน ความรู้สึกว่าเราไม่ได้เก่งตลอดเวลา ไม่ได้ยึดว่า ฉันนี่แหละเบอร์ 1 อยู่ตลอด ไม่ได้มีคนเก่งกว่าเรา มันทำให้เราพร้อมที่จะฟังคนอื่น พร้อมที่จะให้เกียรติคนอื่น ให้เกียรติแม้กระทั่งว่าคนที่มีประสบการณ์แตกต่างจากเรา หรืออายุน้อยกว่าเรา เราพร้อมที่จะฟังเขา และพร้อมเอาข้อมูลต่างๆ มาประกอบการตัดสินใจ

ไม่รับผิด รับแต่ชอบ

‘มันจะมีความระเนระนาดอยู่ประมาณหนึ่ง’

อย่างที่เล่าให้ฟังว่า ผู้นำในเวลานี้ไม่ได้เป็นฮีโร่ แต่เป็นมนุษย์ ที่มีความผิดพลาดได้ จึงประทับใจทุกครั้งที่ผู้นำเมื่อทำผิดพลาดแล้วเขาขอโทษ จุดนี้เป็นจุดที่เปลี่ยนวิธีคิดของทุกคนหมดเลย เพราะสมัยก่อนพอคิดว่าผู้นำคือฮีโร่ ผู้นำทำผิดไม่ได้ปุ๊บ มันจะมีความระเนระนาดอยู่ประมาณหนึ่งเหมือนกัน ดึงดันทำสิ่งที่มันผิดต่อไปโดยที่ไม่รู้ว่าผิด มันก็พังกันหมด

ประทับใจทุกครั้งที่ได้เห็นอย่างเช่น ผู้นำประเทศอย่าง ญี่ปุ่น ไต้หวัน นิวซีแลนด์ ในช่วงโควิดที่ผ่านมา มันเป็นโจทย์ที่ว่า ไม่มีโจทย์นี้มาก่อน ไม่มี textbook ที่บอกว่าควรจะต้องทำอย่างไร เพราะฉะนั้นความผิดพลาดเกิดขึ้นได้แน่นอน แต่เมื่อผิดพลาดแล้วอย่างไรต่อ เราเห็นผู้นำระดับประเทศที่ไม่สามารถจัดการปัญหาได้ สุดท้ายส่งผลกระทบต่อประชาชน ออกมาขอโทษ มันคือนิมิตหมายใหม่ของผู้นำในยุคนี้ที่ผิดพลาดได้นะ แต่ผิดพลาดแล้วเทคแอ๊กชั่น ขอโทษอย่างจริงใจ

นี่คือวิธีคิดที่ไม่ว่าจะเป็นผู้นำระดับประเทศ หรือผู้นำองค์กร ก็ควรเป็นอย่างนั้น

ย้ำอยู่เสมอว่า ผู้นำผิดพลาดได้ แต่ผิดพลาดแล้วยังไงต่อ แก้ไข ขอโทษ ผู้นำไม่ได้วัดแค่ที่ความสำเร็จของเขา แต่เมื่อผิดพลาดแล้วรับผิดชอบ

คำว่ารับผิดชอบ มีความหมายทั้งรับผิด และรับชอบ ผู้นำบางคนจะรับแต่ชอบอย่างเดียว เวลาประสบความสำเร็จ เวลาได้รับคำชมเชย เหมือนจะถลาเข้าไป แต่พอทำผิดปุ๊บ แกล้งตาย หรือไม่รู้ว่ามันผิด ผลักภาระให้ลูกน้อง อย่างนี้ไม่ได้ คุณต้องมีความรับผิดชอบไม่ว่าผลจะเป็นอย่างไรก็ตาม

ตั้งโจทย์ถูก เป้าหมายชัด ใส่ใจคน เข้าใจโลก

ถ้าจะบอกว่า ผู้นำเฮงซวยเป็นอย่างไร ต้องบอกก่อนว่าผู้นำที่ดีเป็นอย่างไร ผู้นำที่ดีในความรู้สึกคือผู้นำที่มีเป้าหมายชัดเจนและเป็นประโยชน์ เขารู้ว่าโจทย์มันเป็นอย่างไรบ้าง ผู้นำคือคนที่ตั้งโจทย์ โจทย์บางเรื่องไม่ได้มีคนมามอบให้ แต่ต้องเป็นผู้นำเองที่คิดขึ้นมาว่าตอนนี้องค์กรของเรา สังคมของเรา มีปัญหาอะไรและควรแก้อย่างไร ถ้าตรงนี้มันผิด ก็ระเนระนาด เป็นโดมิโน เช่นบางเรื่องถ้าเป็นปัญหา แล้วไม่ได้ถูกหยิบประเด็นขึ้นมาว่านี่คือปัญหา นี่คือสิ่งที่จะต้องแก้ไข มันก็ผิดไปหมด เพราะคนอื่นก็จะไม่ได้รู้สึกว่ามันสำคัญ เพราะฉะนั้นการมีเป้าหมายที่ชัดเจนและเป็นประโยชน์ คืออย่างแรกที่คนเป็นผู้นำต้องมี

อย่างที่สองคือ คนเป็นผู้นำที่ดีต้องใส่ใจความรู้สึกของคน งานจะสำเร็จได้ ไม่ได้มีแค่หัวหน้าคนเดียว ไม่ได้มีแค่ผู้นำคนเดียว มันไม่ได้เป็น One man show แต่ต้องการองคาพยพที่มาช่วยงานของเรา เพื่อที่จะทำให้เป้าหมายสำเร็จ ต้องมองเห็นคนที่อยู่ในนั้นด้วย เพราะฉะนั้นผู้นำต้องรู้ว่าจะเอาคนแบบไหนมา ไปจนถึงรู้ว่าจะต้องใส่ใจคน ดูแลคนแบบไหน ยิ่งถ้าผู้นำใส่ใจความรู้สึกของคน และทำให้คนที่ทำงานด้วยรู้สึกมีคุณค่า มีศักยภาพ จุดที่เขารู้สึกว่า มีความมั่นคง หัวหน้ามองเห็น เราเก่ง เรามีความหมาย ท่ามกลางเรือที่กำลังอยู่ในทะเล มีพายุต่างๆ กัปตันไม่ถีบลงจากเรือแน่ คนที่รู้สึกว่าได้รับการปกป้องดูแล จะลุกขึ้นมาสร้างงานดีๆ นั่นคือสิ่งสำคัญ

อย่างที่สาม ผู้นำที่ดีต้องมีความรับผิดชอบ ต้องรู้ว่าต้องทำอะไร และต้องไม่ทำอะไร รู้ว่าต้องรับทั้งผิดและชอบ การทำงานให้สำเร็จได้ ผู้นำต้องไปทำหน้าที่ที่สมควรทำ

สุดท้ายคือ เข้าใจโลก คือรู้ว่าโลกเปลี่ยนแปลงไปเป็นแบบไหน รู้ว่าโลกใหม่ที่จะก้าวไป ต้องการคุณสมบัติขององค์กรแบบไหน ต้องการคุณสมบัติของคนที่เป็นทีมแบบไหน แล้วสร้างทีม สร้างองค์กรให้รอบรับการเปลี่ยนแปลงนั้นได้ นั่นคือผู้นำที่ดีในยุคนี้

ผู้นำเฮงซวย ผู้ตามส่ายหน้า ไม่ฟังใครก็ไม่เข้าใจปัญหา

ถามว่าผู้นำเฮงซวย ผู้นำที่ไม่น่ารัก ผู้นำที่คนส่ายหน้าหนีเป็นอย่างไร ก็คือตรงข้ามทุกอย่างจากที่กล่าวมา เช่น มีเป้าหมาย แต่เป็นเป้าหมายที่ไม่เป็นประโยชน์ เมื่อโจทย์ผิดมาตั้งแต่ต้น เช่น โจทย์เรื่องดูแลปกป้องผลประโยชน์ส่วนตัว แล้วเป็นคนเก่งมาก มุ่งมั่นกับโจทย์นี้ แต่การตั้งโจทย์ผิดแบบนี้ จะทำให้เขากลายเป็นผู้นำที่ไม่ได้ช่วยเหลือผู้อื่น

ผู้นำเฮงซวย ผู้นำที่ไม่น่ารัก ผู้คนส่ายหน้าหนีเป็นอย่างไร เช่น มีเป้าหมายนะ แต่เป็นเป้าหมายที่ไม่เป็นประโยชน์ ผู้นำที่ไม่รู้ว่าตัวเองจะต้องทำอะไร ก็เลยไปทำอย่างอื่นที่ไม่ควรทำ หรือรับแต่ชอบ แต่ไม่เคยรับผิด คิดว่าตัวเองรู้ดีที่สุด เก่งที่สุด ยึดติดกับตัวเอง จนปราศจากการรับฟังผู้อื่น ไม่มีหัวใจที่มี Empathy หรือความเห็นอกเห็นใจผู้อื่น การรับฟังคือการให้เกียรติผู้อื่น การพยายามเข้าใจ และพยายามเข้าไปอยู่ในใจของคน เพื่อที่จะนำความคิด ความรู้สึกของผู้อื่น มาประกอบเป็นส่วนหนึ่งในการตัดสินใจแก้ปัญหาให้รอบด้านและเป็นประโยชน์ที่สุด ไม่ใช่ตัดสินใจจากมุมมองของตัวเองอย่างเดียว หากปราศจากการรับฟังแล้ว ก็จะไม่มีทางทั้งเข้าใจปัญหา และไม่มีทางเข้าไปอยู่ในใจของคนได้ สุดท้ายปัญหาก็ไม่ถูกแก้ไข ทั้งๆ ที่หน้าที่ของผู้นำคือการแก้ปัญหา ไม่ใช่มาเป็นปัญหาเสียเอง

องค์กรแบบไหน ‘ไม่ใช่ตัวจริง’?

ดูทรงแล้วแก้ไม่ได้ ก็ควรให้โอกาสตัวเอง

ผู้ตามคือคนที่สร้างผู้นำเราอยากให้ผู้นำเป็นแบบไหน เราต้องสร้างผู้นำแบบนั้นขึ้นมา ทั้งจากการให้โอกาสเขาได้ทำงาน และการฟีดแบ๊กให้เขาได้ปรับปรุงหรือชื่นชมในสิ่งที่เขาทำดี เพราะฉะนั้น เวลาที่เราต้องใช้ชีวิตอยู่กับผู้นำที่ไม่ดี ให้ลองดูว่า ผู้นำคนนั้นอยู่ในจุดที่สามารถแก้ไขได้หรือเปล่า ยังมีโอกาสที่จะเปิดใจรับฟังคอมเมนต์ที่มาจากความปรารถนาดีของคนอื่นต่อได้ไหม ถ้ายังพอมีโอกาสและคิดว่าเขามีคุณค่าพอ การจะฟีดแบ๊กว่าเราอยากให้เขาปรับปรุงอะไรก็เป็นเรื่องที่ควรทำด้วยความปรารถนาดี ถ้าเขาสัมผัสได้ก็เป็นไปได้ว่าเขาจะเปลี่ยนแปลง แต่ถ้าดูทรงแล้วเขาไม่น่าจะอยู่ในจุดที่แก้ไขได้จริงๆ ผมก็เชื่อว่าเราควรให้โอกาสตัวเองได้ไปเจอผู้นำที่ดีคนอื่นๆ

ถ้าอยากรู้ว่าองค์กรจะเติบโตไปแบบไหน ให้ไปดูพนักงานว่าเขาได้รับคุณภาพชีวิตที่ดีหรือไม่ ได้รับการปฏิบัติแบบไหน สมมุติคุณเป็นองค์กรที่พูดอยู่ตลอดเวลาว่าขายผลิตภัณฑ์สุขภาพ อยากให้คนไทยมีสุขภาพดี แต่พนักงานเครียด เป็นเบาหวาน มีสุขภาพกายและใจไม่ดี ในเมื่อคุณไม่ได้ปฏิบัติต่อคนที่ใกล้ชิดที่สุดอย่างพนักงานแล้ว องค์กรนั้นก็จะเหมือนองค์กรที่ไม่ใช่ตัวจริง

ดี-ร้ายก็ได้ ‘เรียนรู้’ อ่านด้วยความหวัง

ปลุกพลังความเป็นผู้นำในตัวเอง

ถามว่าหนังสือเล่มนี้เหมาะกับใคร มันเหมาะกับทุกคนที่ต้องการเป็นผู้นำและอ่านด้วยความรู้สึกว่าเราจะเรียนรู้อะไรจากเขาได้ คนทุกคนมีความหมาย คนทุกคนมีคุณค่า มีประโยชน์ อยู่ที่ว่าเราจะเลือกถอดบทเรียนอย่างไหนมาเติมให้ตัวเราเป็นผู้นำที่ควรเป็นให้ได้

คิดว่าคนที่อ่านหนังสือเล่มนี้ เวลาอ่านในแต่ละหน้า แต่ละบท จะมีใบหน้าของผู้นำคนนั้น ผู้นำคนนี้ป๊อปอัพขึ้นมา ทั้งผู้นำที่อยู่ในชีวิตจริง หรือผู้นำระดับประเทศ ผู้นำในสังคม ผู้นำองค์กร ผู้นำทีมงาน ผู้นำในครอบครัว เชื่อว่าทุกคนมีผู้นำอยู่ในชีวิต

สิ่งที่อยากให้เป็นแรงบันดาลใจของชีวิต คือ ผู้นำทุกคนต่อให้ดีหรือไม่ดี ก็มาพร้อมกับบทเรียน คำถามสำคัญก็คือว่า แล้วตัวเราล่ะ มอบบทเรียนให้กับใคร เราได้สร้างผู้นำแบบไหน นั่นคือสิ่งสำคัญและเชื่อว่าการอ่านหนังสือเล่มนี้ นอกจากจะทำให้เราเห็นตัวอย่างทั้งดีและไม่ดีแล้ว มันจะช่วยปลุกความเป็นผู้นำในตัวคุณ

ใครจะรู้ว่าวันหนึ่ง คนที่อ่านหนังสือเล่มนี้ อาจจะเป็นผู้นำที่ดีขึ้นมาก็ได้ เลยอยากให้อ่านด้วยความหวัง จริงๆ แล้วหนังสือเล่มนี้บันทึกด้วยความเจ็บปวดของคนในที่ทำงาน ของคนในประเทศไว้หมดเลย โดยจะทำให้คนอ่านได้เรียนรู้จากตัวอย่างที่เลือกมา แล้วเอากลับมาใช้ในตัวเอง

เชื่อว่าเป็นหนังสือที่เหมาะกับยุคสมัยนี้มากที่สุด

 


Leadership/Leader-shit สำรวจผู้นำในใจจากบทเรียนทำจริง เจ็บจริง เรียนรู้จริง ทั้งผู้นำที่ทำให้ส่ายหน้าหนี ผู้นำที่อยากมี และผู้นำที่อยากเป็น ผ่าน 3 บท 295 หน้า

พูดพล่าม พ่นพิษ

“งานและหัวหน้าทำให้เรากลายเป็นคนแบบไหน?

“กรุ๊ปไลน์ ความเชื่อ และนาตาชา โรมานอฟ

“พูดไปก็เท่านั้น ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงหรอก”

“คำถามที่ดีกว่า “จะเอาอะไรอีก”

“การสื่อสารคืองานของผู้นำ

“ผู้นำกับอีโก้

“ไม่ต้องขอก็จะทำให้

“เยอะ

“คนแบบ “พิกซาร์” ทำงานกันอย่างไร?

ทรราชทำงานแบบไหน?

“เมื่อความอยุติธรรม “ดับไมค์” คุณ

“wish” หรือ “hope”?

“ยุติธรรม ยุติอธรรม

“หม้อร้อน ลูกบิด และอิสระเสรีที่จะเลือกชีวิต

“คุณอยากบอกอะไรกับคนทั้งโลก?

“ทำไมนักร้องต้องออกมาพูดเรื่องประชาธิปไตย

“การบ้านของทุกคนวันนี้… “Kick some ass!”

“ลองให้อำนาจกับเขาดู

มหากาพย์แรงบันดาลใจจาก “หมูสามชั้น”

“ทีมที่แตกต่างแต่เติมเต็มกันและกัน

“ทำงานแบบ “นักผจญเพลิง”

“ผู้ใหญ่แบบที่เราอยากเป็น

“ฟัง” และ “ทำ” เพื่อคนรุ่นใหม่

“จาก “เก้าอี้ที่ว่างเปล่า” สู่วันที่ยิ่งใหญ่

“ทุกคนต้องช่วยกัน “เข็น”

“สู้กับพายุ

“ถ้าผู้ใหญ่พูดกับเราแบบนี้…

“คนที่อยู่ในทุกลมหายใจและผ้าพันคอสีน้ำเงิน

สั่งซื้อได้ที่ www.matichonbook.com

เฟซบุ๊ก Matichon Book-สำนักพิมพ์มติชน

โทร 0-2589-0020 ต่อ 3350-3360 (ฝ่ายขาย)

 

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image