จับตา ‘ราษฎร์ธรรมนูญ’ ทวงคืนสิทธิชุมชน ขีดเส้นใต้สิ่งแวดล้อม ล้างวาทะ คนจนเพราะไม่ขยัน

จับตา ‘ราษฎร์ธรรมนูญ’ ทวงคืนสิทธิชุมชน ขีดเส้นใต้สิ่งแวดล้อม ล้างวาทะ คนจนเพราะไม่ขยัน

ยังเป็นประเด็นสำคัญที่ไม่อาจใช้คำว่า ‘ควันหลง’ วันรัฐธรรมนูญ เนื่องด้วยความเคลื่อนไหวที่ไปไกลว่าอีเวนต์เชิงสัญลักษณ์ หากแต่ขับเน้นถึงการเดินหน้าไม่หยุดยั้งของการผลักดันแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับ 2560 ที่ภาคประชาชนเสนอร่างฯ ใหม่ด้วยถ้อยคำสำคัญว่า ‘ฉบับประชาชน’ แม้ถูกตีตกมาแล้ว 2 รอบ ทุกการปราศรัยในม็อบก็ยังยืนยันว่าไม่ท้อ

ดังเช่นกิจกรรมล่าสุด ในวันรัฐธรรมนูญ 10 ธันวาคมที่ผ่านมา หน้าหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ไล่ยาวไปถึงสกายวอล์กแยกปทุมวัน

กลุ่ม People GO network จัดงาน ‘ราษฎร์ธรรมนูญ’ ร่วมกับเครือข่าย ตั้งวงสนทนาในประเด็นหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นปมร้อน ‘จะนะ’ การรณรงค์ยกเลิกกฎหมายอาญามาตรา 112 ที่โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน หรือไอลอว์ ตั้งซุ้มพร้อมด้วย ‘สมัชชาคนจน’ ที่ประกาศร่างรัฐธรรมนูญคนจน เคียงคู่ เครือข่ายคนไร้บ้าน และสลัมสี่ภาค

Advertisement

พร้อมแถลงการณ์เตรียมเขียนราษฎร์ธรรมนูญและธรรมนูญชุมชนที่ประชาชนมีส่วนร่วมจริงๆ ไม่ใช่แสดงละคร

นับเป็นประเด็นน่าจับตา เช่นเดียวกับการนัดทวงสัญญาของชาวจะนะหน้าทำเนียบรัฐบาลอีกครั้งในวันจันทร์ที่ 13 ธันวาคม คือวันนี้ !

Advertisement

ลูกสาวทะเล ‘จะนะ’
ย้อนบทเรียนปี’36 ทวงสัญญา 1 ปีไม่มีคืบ

ทั้งในวงสนทนาและบนเวทีหน้าหอศิลป์ในค่ำคืนวันรัฐธรรมนูญ ประเด็นเด่นย่อมเป็นเรื่องของชาวจะนะที่เดินทางไกลกว่าพันกิโล ปักหลักทวงคำสัญญาที่รัฐเคยลงนามเอ็มโอยูร่วมกันกับ ‘จะนะรักษ์ถิ่น’ ในวันที่ ร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า ยังนั่งเก้าอี้ รมช.เกษตรฯ

ไครียะห์ เยาวชนหญิงชาวจะนะตัวจริง ย้อนเล่าว่า ก่อนจะมาถึงการต่อสู้ในครั้งนี้ ชาวจะนะมีบทเรียนมาก่อน ตั้งแต่ปี 2536 ซึ่งมีเรือประมงพาณิชย์เข้ามาในที่ทำกินของชาวบ้าน บุกรุก จนกลายเป็นทะเลร้าง ชาวบ้านหากินไม่ได้ เหตุการณ์นั้นเป็นบทเรียนให้ชาวบ้านรู้ว่า ถ้าไม่มีทะเล ก็ไม่สามารถมีชีวิตอยู่ได้ จึงทำการฟื้นฟูทะเลบริเวณนั้นให้กลับมาอุดมสมบูรณ์อีกครั้ง แต่อยู่ดีๆ ก็จะมีการทำนิคมอุตสาหกรรม ชาวบ้านจึงไม่ต้องการรับชะตากรรมอย่างนี้ที่จะประกอบอาชีพประมงไม่ได้

กระทั่งปี 2563 มีมติ ครม.ให้จะนะเป็นนิคมอุตสาหกรรม ชาวบ้านไม่ได้มีส่วนในกระบวนการรับฟังความเห็น จึงไม่คิดว่าเป็นโครงการที่ยุติธรรมและนำประโยชน์มาสู่ท้องถิ่น จึงเดินทางขึ้นมาจนได้ทำเอ็มโอยูกับรัฐบาล 3 ข้อ สรุปสั้นๆ ได้แก่

1.ยุติกระบวนการทั้งหมด

2.ประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมในเชิงยุทธศาสตร์

3.จัดตั้งคณะกรรมการจากทั้งชาวบ้านและภาครัฐอย่างสมดุล

อย่างไรก็ตาม ชาวจะนะรอมา 1 ปีที่ไม่มีอะไรเกิดขึ้นเลย

“รัฐบาลแอบลักไก่โดยชาวบ้านไม่มีส่วนร่วม การพัฒนาต้องคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม ความเป็นอยู่ของชาวบ้าน แต่รัฐกลับไม่คิด

เมื่อปี’36 ชาวบ้านร่วมกันสร้างปะการังเทียม ใช้วัสดุธรรมชาติในท้องถิ่นมาแปะแผลที่มันถลอก เรามีสิทธิในบ้านของตัวเอง ที่อยู่กันมาได้เพราะมีสภาพแวดล้อมที่ดี มีทรัพยากรที่ทำให้เปี่ยมด้วยความสุข ไม่ต้องใช้ชีวิตเร่งรีบ พอมีใครจะมาทำอะไรสักอย่างที่เอาทรัพยากรของเราไป ชั่งน้ำหนักว่าคุ้มไหมกับสิ่งที่บรรพบุรุษอยู่กันมาจนถึงรุ่นเรา เราทำชุดข้อมูลออกมาให้คนในเมืองได้รับรู้ว่า มีปลาถึง 157 ชนิด เชื่อว่ามีเพิ่มอีก คือฉลามวาฬ

เราพยายามอธิบายให้รู้ว่า คนเมืองก็มีความเชื่อมโยงกับคนในท้องถิ่นต่างๆ เช่น ชาวประมงหาปลาออกมาส่ง

พวกเราทุกคนในจะนะ อาศัยอยู่ในพื้นที่อุดมสมบูรณ์ อยู่ในแหล่งเพาะปลูกทรัพยากรของโลกที่หล่อเลี้ยงคนในชุมชน ในเมือง ในประเทศ เป็นพื้นที่แห่งความสุขสงบสันติ แต่มาวันนี้ กำลังจะมีนายทุนร่วมกับรัฐเข้ามาทำลายสิ่งแวดล้อม” ไครียะห์เผยความในใจ

ทวงคืน คำที่ถูกลบ
‘สิทธิชุมชน’ บนกฎหมายสูงสุด

ด้าน หญิง จุฑามาศ เครือข่ายทรัพยากรสิ่งแวดล้อมและสิทธิชุมชน กล่าวถึงสิ่งที่ต้องการแก้ไขรัฐธรรมนูญในประเด็นสิ่งแวดล้อม ให้เป็น ‘ราษฎร์ธรรมนูญ’ เพื่อประชาชน

“สิ่งที่เห็นชัดเจนคือ ทรัพยากรของประเทศกำลังถูกแย่งชิงโดยรัฐ ไม่ว่าจะเป็นพี่น้องที่จะนะ คนไร้บ้าน สลัมสี่ภาค

รัฐธรรมนูญ 60 คำว่าสิทธิชุมชนถูกทำให้หายไป ดังนั้น เราต้องการสิทธิชุมชนกลับมา เพราะตอนนี้สิ่งที่รัฐจับมือทุนมาทำร้ายพวกเราคือการสั่งการจากข้างบนลงข้างล่าง การอยู่ในห้องสี่เหลี่ยม นั่งจิ้มแผนที่ อยากให้ตรงนี้เป็นอย่างนั้น อยากให้ภาคตะวันออกมีอีอีซี อยากให้ภาคอีสานมีเหมืองแร่เยอะๆ เราไม่ต้องการแบบนั้น เราอยากให้อำนาจการตัดสินใจเป็นของประชาชน เป็นของคนในพื้นที่ ของพ่อแม่พี่น้องที่ต้องใช้ชีวิตกับผลกระทบที่จะเกิดในอนาคต เพราะนั่นคือชีวิต ครอบครัว ลูกหลาน

เราจึงขอทวงคำว่าสิทธิชุมชนคืน เพื่อให้มีอำนาจในการจัดการ การอนุรักษ์ ในการปกป้องทรัพยากรในพื้นที่ ไม่ใช่แค่มีส่วนร่วมในเวทีรับฟังความเห็นที่เป็นเวทีแสดงละครที่มาชวนให้ชาวบ้านเข้าไปร่วมโดยไม่มีอำนาจตัดสินใจ” หญิงกล่าว

ก่อนย้ำว่า หากเรามีรัฐธรรมนูญของเราเอง หน่วยงานรัฐและเอกชนจะมีหน้าที่ให้ข้อมูลเท่านั้น อำนาจตัดสินใจต้องเป็นของประชาชน

“รูปแบบเวทีรับฟังความเห็น การจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม ไม่มีโครงการรัฐที่ไม่ส่งผลต่อสิ่งแวดล้อม วิถีชีวิต เพราะฉะนั้น การทำรายงานดังกล่าว จะดูแค่สิ่งแวดล้อม ไม่เพียงพอแล้ว มากกว่านั้น สิ่งที่ต้องมองเห็นคือ ‘คน’

คนที่อยู่ในจะนะ บางกลอย ชาติพันธุ์ คนที่ต้องอยู่กับเหมืองแร่ การจัดทำรายงานสิ่งแวดล้อมไม่พอ ต้องรวมสุขภาพประชาชนเข้าไปด้วย มาตรฐานในการทำโครงการต่างๆ ประเทศไทยต้องมีมาตรฐานสูงขึ้นกว่านี้ เพื่อดูแลธรรมชาติและประชาชน หยุดกระบวนการหลายมาตรฐาน” หญิง เครือข่ายทรัพยากรสิ่งแวดล้อมเรียกร้อง

ไม่เพียงเท่านั้น เครือข่ายดังกล่าว ยังเสนอให้กำหนดสิทธิของธรรมชาติเข้าไปในรัฐธรรมนูญอีกด้วย

“นี่อาจเป็นเรื่องใหม่ แต่ธรรมชาติมีสิทธิที่จะคงอยู่ให้พวกเราได้ใช้จนถึงรุ่นลูกหลาน เราต้องการรักษาภูเขา ต้องการดูแลป่าไม้ ทะเลให้อยู่กับเราไปอีกนานแสนนาน

เพื่อระบบนิเวศ ความหลากหลายทางชีวภาพ จึงอยากให้ธรรมชาติมีสิทธิของตัวเอง ให้ภูเขา ทะเล แม่น้ำ คงอยู่ต่อไปอีกแสนนาน” หญิง จุฑามาศ ทิ้งท้าย

‘รัฐธรรมนูญคนจน’
เผยบทเฉพาะกาล ‘ปฏิรูปที่ดิน’

ในขณะที่ ผึ้ง เยาวชนหญิงอีกราย กล่าวในประเด็นวาทกรรม ‘คนจนคือคนไม่ขยัน’ โดยมองว่า พื้นฐานของคนที่พูดประโยคนี้ออกมา ตั้งอยู่บนความไม่เข้าใจว่านี่คือปัญหาเชิงโครงสร้าง ไม่รู้เลยว่าถ้าเอาคนทั้งประเทศมายืนเรียงกันเป็นหน้ากระดาน คนที่อยู่ตรงกลาง คือคนที่มีรายได้ 6,500 บาทต่อเดือน ซึ่งเป็นข้อมูลที่น่าตกใจมาก คนที่อยู่ด้านบนไม่รู้ว่า คนที่ลำบากเป็นอย่างไร ไม่เข้าใจว่าเพราะอะไรถึงลำบาก เงินหาง่ายกว่า จะขยับฐานะต้องผ่านกี่รุ่น เราจำเป็นต้องสื่อสารออกไปให้มาก ทำให้เป็นวาระสังคม ต้องพูดถึงโครงสร้างที่บิดเบี้ยวให้ได้มากที่สุด

ประเด็นนี้ ไม่มี บารมี ชัยรัตน์ แห่งสมัชชาคนจน ไม่ได้

“สวัสดีเพื่อนมิตรผู้ร่วมชะตากรรม หลายคนอาจรู้จักสมัชชาคนจนว่าตั้งมา 20 กว่าปีแล้ว ทุกครั้งที่มาชุมนุมที่กรุงเทพฯ มักมีคำถามว่า เมื่อไหร่จะเลิกจนสักที อยากบอกว่า เรายังไม่พ้นจากความยากจน แต่หลายสิบปีที่ผ่านมา พบว่าคนไม่น้อยยิ่งยากจนขึ้นเรื่อยๆ โดยไม่รู้ตัว

ชาวกรุงเทพฯอยู่กับการจราจรติดขัด อยู่กับค่าทางด่วน ค่ารถไฟฟ้า น้ำท่วม ท่อตัน โดยที่ทำอะไรไม่ได้ เมื่อโควิดระบาด ธุรกิจหลายอย่างต้องปิดกิจการ นักร้อง นักดนตรี คนกลางคืนตกงาน พนักงานบริษัท คนงานโรงงาน ตกงาน เขาเหล่านั้นอาจไม่เคยคิดว่าตัวเองเป็นคนจน เช่นเดียวกับคนที่อาศัยอยู่ริมแม่น้ำลำธาร จับปลาปูหอยเป็นอาหาร หรือแลกข้าว พี่น้องบนดอย ภู ป่าเขา ปลูกข้าวไร่ คนทำสวนยาง ปาดตาล ทำอาชีพที่สืบต่อจากบรรพบุรุษ พี่น้องตามป่าบุ่งป่าทาม ชาวประมงพื้นบ้าน หากินตามชายฝั่ง

เราเคยใช้ชีวิตแบบนี้ ดูแลครอบครัวตามวิถีวัฒนธรรม แต่ไม่อาจดำรงต่อไปได้ในทันทีที่รัฐใช้อำนาจเข้าแย่งชิงทรัพยากรโดยไม่เห็นตัวตนของชาวบ้าน

สมัชชาคนจนไม่ท้อถอย ยังยืนหยัดต่อสู้ การรวมตัวกันทำให้มีอำนาจต่อรอง” บารมี ร่ายยาวอย่างเข้าใจง่าย

จากนั้น มุ่งเป้าต่อไปในประเด็น ‘รัฐธรรมนูญคนจน’ ที่ประกาศผลักดัน

“ประเทศไทยยึดถือจารีตประเพณี รัฐธรรมนูญก็เหมือนจารีตประเพณีอย่างหนึ่งที่เราร่วมสร้างได้

รัฐธรรมนูญ เมื่อเราไม่ได้เขียน ก็ย่อมไม่เห็นหัวเรา ระบอบประชาธิปไตยทำให้ทราบว่า แท้จริงแล้วทุกคนคือเจ้าของอำนาจอธิปไตย ไม่ว่าจนหรือรวย ไม่ว่าจะอยู่ในเมืองหรือชนบท ไม่ว่าจะนับถือศาสนาใด ชาติพันธุ์ใด ล้วนมีสิทธิ เสรีภาพ

รัฐเป็นเพียงผู้ทำหน้าที่ตามที่ประชาชนมอบหมาย นโยบายรัฐต้องเป็นนโยบายที่ประชาชนเห็นชอบ รัฐต้องฟังประชาชน จะมามีอำนาจเหนือเรา มาแย่งที่ดินไปจากเราไม่ได้ จะมาสร้างเขื่อนโดยไม่ฟังเราไม่ได้

จะมาบอกว่าคนเพศเดียวกันห้ามแต่งงานกัน ไม่ได้

รัฐธรรมนูญต้องให้สิทธิ เสรีภาพ ต้องเชื่อมั่นในความเป็นมนุษย์ที่มีความสามารถในการตัดสินใจเรื่องส่วนตัว ตลอดจนนโยบายของประเทศ ไม่ใช่เป็นเครื่องมือของรัฐในการอ้างความชอบธรรมเพื่อควบคุมประชาชน การใช้และสืบทอดอำนาจ

สมัชชาคนจน จึงยกร่างรัฐธรรมนูญคนจนขึ้นมา โดยเรื่องสิทธิเสรีภาพยังเป็นสิ่งที่เน้นย้ำอยู่ แต่มีประเด็นใหม่ๆ

ที่สำคัญคือ การกระจายอำนาจ สิทธิเกษตรกร สิทธิแรงงาน รัฐสวัสดิการ และบทเฉพาะกาลคือการปฏิรูปที่ดิน สถานการณ์ชายแดนใต้

เชื่อว่า ‘รัฐธรรมนูญคนจน’ จะทำให้ทุกคนมีความเท่าเทียมกัน” แกนนำสมัชชาคนจนขีดเส้นใต้คำสุดท้ายอย่างจริงจัง

ปัดตก 2 ครั้ง ยังไม่ล้ม
‘เรามาไกลเกินกว่าจะนับหนึ่ง’

ปิดท้ายด้วยคำยืนยันจาก ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ผู้จัดการไอลอว์ ที่บอกว่า แม้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนถูกปัดตกมาแล้ว 2 รอบ ก็ไม่ถือว่าล้มเหลว แต่ค่อยๆ เดินไป

“เชื่อว่ามีพี่น้องประชาชนอีกหลายล้านคนที่ไม่ได้ลงชื่อแต่จับตาเราอยู่ และเห็นว่าสภาปฏิบัติกับข้อเสนอของเราอย่างไร ยิ่งเสนอแล้วปัดตก ยิ่งทำให้เห็นว่ารัฐธรรมนูญนี้ผิดปกติอย่างไร

การมี ส.ว. อำนาจล้นหลาม ให้อำนาจกับตัวเอง ขวางการแก้รัฐธรรมนูญที่จะลดอำนาจตัวเอง ยิ่งเราก้าวไป เรียกร้องไป เอาข้อเสนอ
ไปวางบนโต๊ะ ท้าทาย ไถ่ถาม ว่ามีสิ่งที่อยากเห็น แล้วปัดตก มันยิ่งเปิดโปงว่าสิ่งที่เขาปกป้องอยู่เลวร้ายเพียงใด” ยิ่งชีพกล่าว

ทั้งยังหยิบยกถ้อยคำจากปาก อานนท์ นำภา ทนายความที่กลายเป็นนักโทษชายในเรือนจำซึ่งบอกว่า ‘เรามาไกลเกินกว่าจะนับหนึ่ง’

“ที่ผ่านมา เราเปลี่ยนแปลงตัวบทที่เขียนอยู่ได้น้อยมาก แต่ไม่ได้หมายความว่าไม่ได้อะไรเลย เราเดินทางมาไกลมาก” ผู้จัดการไอลอว์กล่าว พร้อมเผยถ้อยคำสำคัญว่า

ในประวัติศาสตร์การเมืองไทยไม่เคยมีครั้งไหนที่ประชาชนลุกขึ้นมาพร้อมกันเพื่อบอกว่า เราอยู่ใต้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่ได้อย่างมากมายเสียงดังฟังชัดเท่านี้มาก่อน

——————
แถลงการณ์ดัน ‘ราษฎร์ธรรมนูญ’ ปี’65
ลดอำนาจรัฐ เพิ่มอำนาจประชาชน

โดยกลุ่ม People Go network
เนื้อหาสำคัญ ดังนี้

People Go Network เห็นพ้องต้องกันที่จะเดินทางไกลอย่างมีจุดมุ่งหมาย ไปถึงให้ได้ในรุ่นเราเพื่อเขียนรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน หรือ ‘ราษฎร์ธรรมนูญ’ ดึงอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญมาเป็นของประชาชน ตามหลักการประชาธิปไตยโดยสมบูรณ์ เปลี่ยนผ่านการรวมศูนย์อำนาจที่ให้รัฐเป็นผู้จัดการและใช้ประโยชน์จากทรัพยากรมาสู่การให้ประชาชนเป็นเจ้าของ และกระจายอำนาจรัฐ โดยเคารพความแตกต่างหลากหลาย บนพื้นฐานของความเท่าเทียมในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ เพื่อสร้างประโยชน์สุขให้กับประชาชน มิใช่เป็นไปเพื่อความมั่นคงของการบริหารราชการแผ่นดิน หรือความมั่นคงของรัฐ องค์กรของรัฐและองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญจะต้องได้รับความเห็นชอบจากประชาชนและต้องพร้อมรับผิด
ต่อการใช้อำนาจที่ประชาชนมอบให้ ชดเชย เยียวยาแก่ประชาชนผู้เสียหายจากการกระทำของรัฐ ขจัดปัญหาความล้มเหลวของการใช้อำนาจที่ได้สร้างความเหลื่อมล้ำ ไม่เท่าเทียมทั้งในด้านสังคม วัฒนธรรม เศรษฐกิจและการเมืองให้จงได้

และโดยที่เจตจำนงของเราจะไม่เขียนราษฎร์ธรรมนูญซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุดเพียงฉบับเดียว แต่เราจะลงไปในพื้นที่ ชุมชน ท้องถิ่น ภูมิภาค เพื่อเขียน ‘ธรรมนูญชุมชน’ ให้ ‘ลดอำนาจรัฐ เพิ่มอำนาจประชาชน’ และกำหนดวิถีชีวิตของตนเองให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้

เราจะใช้เวลาในรอบปีหน้าเพื่อเขียนราษฎร์ธรรมนูญและธรรมนูญชุมชน และนำเสนอสู่สาธารณชนเพื่อผลักดันให้เกิดการแก้ไขตามหลักคิดที่ว่าอำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชนที่ซึ่งสถิตอำนาจสถาปนากฎหมายสูงสุดเป็นของประชาชน โดยไม่ย่อท้อต่อความล้มเหลวใดๆ

เราขอเรียกร้องให้ฝ่ายต่างๆ ทั้งพรรคการเมือง องค์กรอิสระ สถาบันการศึกษา ขบวนประชาชน ภาคประชาสังคม และภาคส่วนอื่นๆ ร่วมสนับสนุนกระบวนการนี้ของเรา เพื่อที่ราษฎร์ธรรมนูญจะเป็นพันธะสัญญาในการสรรสร้างสังคม วัฒนธรรม เศรษฐกิจ และการเมืองของเราให้เพิ่มพูนความอยู่ดีมีสุขแก่ปากท้องของประชาชนให้ดียิ่งๆ ขึ้นสืบไป

—————–

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image