‘แค้นของคนตาย’ ความหลอนจากใจที่บิดเบี้ยว รสชาติสยองขวัญผลงาน‘สรจักร’

อย่าละสายตา

อย่าประมาทความมืดมิดและแรงแค้นของคนตาย

อย่าเผลอไผลให้ความยอกย้อนยากหยั่งหัวใจของคนเป็น

คือ 3 บรรทัดสุดท้ายจาก คำนำสำนักพิมพ์มติชน ที่ปรากฏในตอนต้นของพ็อคเก็ตบุ๊กชวนสยอง ‘แค้นของคนตาย’

Advertisement

รวม 33 ชิ้นเอกจากเรื่องสั้นเขย่าขวัญชุด ‘สามผี’ อันได้แก่ ผีหลอก ผีหัวขาด ผีหัวเราะ ของ ‘สรจักร’ เภสัชกรชำนาญการพิเศษผู้มีชื่อเสียงจากงานเขียนแนวหลอนที่การ ‘หักมุม’ ดูเหมือนจะเป็นลายเซ็นในภาพจำของผู้อ่าน

แม้จะมี ‘ผี’ ในชื่อชุด ทว่า ไม่ใช่เรื่องผีทุกเรื่องแต่อย่างใดหากแต่ปะปนกันทั้งเรื่องที่มีผีจริงๆ, เรื่องที่เน้นเขย่าขวัญหักมุมไปจนถึงเรื่องตลกร้ายชวนหัว โดยนำชื่อ ‘แค้นของคนตาย’ จากเรื่องสั้นเรื่องหนึ่งในเล่มเป็นตัวแทน พร้อมพาท่องโลกของความตาย ภูตผี วิญญาณ และสนุกสนานระทึกใจ ระคนด้วยความรู้สึก ‘ขนหัวลุก’
ทุกเรื่องมีจุดร่วมบางอย่างนั่นคือ การมุ่งเล่าถึงความหลอน หรือความน่ากลัวจากใจที่บิดเบี้ยวของตัวละคร สะท้อนถึงความขลาด ความหวาดกลัว ความอาฆาต ความไม่รู้เนื้อรู้ตัวระหว่างคนต่อกัน หรือผีต่อคน บางเรื่องที่น่ากลัวก็เป็นเรื่องที่มีแต่คน ไม่มีผี

‘การต้องอยู่คนเดียวบ่อยครั้งในบ้านไม้เก่าแก่หลังใหญ่

Advertisement

เสียงที่ไม่คุ้นหู เงาวูบวาบทอดยาวจากช่องลม

เสียงลมหวีดหวิวผ่านร่องไม้ เสียงครางฮือคล้ายคนร่ำไห้จากแม่นกพิราบใต้หลังคา

หรือเสียงฝีเท้าหนูไต่ลัดเลาะไปตามขื่อคาสามารถทำให้อรสาหดหัวในผ้าห่มยามที่ผมเดินทางเข้ากรุงทิ้งเธอไว้ตามลำพัง’

จากเรื่องสั้น ‘ผีหัวเราะ’

‘เมื่อเพ่งลึกเข้าไปในความมืด คุณอาจได้เห็นในสิ่งที่ไม่คิดว่าจะเห็น

มันเป็นภาพที่สยดสยองที่สุดในชีวิต ร่างหญิงสาวในชุดลำลองกึ่งนั่งกึ่งนอนอยู่บนโซฟา ศีรษะเอนซบพนักพิง สองตาเหลือกค้าง เลือดพุ่งเป็นจังหวะออกจากแผลขนาดใหญ่ที่ขมับขวา ปืนสั้นขนาดจุดสามแปดสีเงินตกที่พื้นปลายมือขวา’

จากเรื่องสั้น ‘บ้านผีสิง’

‘เวลาผมได้ยินเสียงตุ้บ หรือเวลาที่คิดถึงแม่ หรือเวลาโกรธรุนแรง

ผมจะคิดถึงภาพชายคอขาดยืนถือหัวตัวเองอยู่ในเงามืดของจิตใจ

มันยังคงตามมาหลอกหลอนทุกครั้ง…

และทุกครั้งผมไม่เคยกล้าเผชิญกับมัน ไม่เคยพิสูจน์ว่ามันมีจริง หรือเป็นเพียงอาการประสาทหลอนอย่างที่หมอบอก’

จากเรื่องสั้น ‘ผีหัวขาด’

‘คุณเคยรู้สึกเหมือนฉันไหมว่า บ้านส่วนใหญ่มีอะไรบางอย่างซุกซ่อนอยู่

บางอย่างที่เราสามารถสัมผัสได้ด้วยขุมขนที่ผิวหนัง

ต่อมไพเนียลใต้หน้าผาก และสัมผัสที่หกในตัวเอง

เพราะคุณได้แค่สัมผัส แต่ไม่สามารถพิสูจน์ให้ใครเห็น อาจมีคนเย้ยหยัน ถากถางเหมือนว่าคุณบ้า ประสาท’

จากเรื่องสั้น ‘อาถรรพ์บ้าน’

‘มันเป็นเสียงร้องของผู้หญิง ดังแผ่วๆ ในอากาศ

สะท้อนไปมาในถ้ำ ยากจะจำแนกทิศได้

เสียงนั้นทำให้ผมจินตนาการถึงการร่วมเพศที่ร้อนแรง

ความเจ็บปวด ความบ้าคลั่ง จุดสุดยอด ดำฤษณาและความตาย’

จากเรื่องสั้น ‘ผวา’

‘การมอบความตายให้ใครก็ตามเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง แต่คนบางคนก็จำเป็นต้องได้รับ เพื่อความสงบของสังคม เช่นที่ผมเกือบจะเคยได้รับ

กระมัง… ผมเดินคิดขณะลากรถเข็นกลับจากร้านรับซื้อของเก่า ติดใจคำถามของคำนูญที่ว่า ใครจะเอามันอยู่

ตลกถ้าจะคิดถึงตำรวจ

พวกเราเสมือนอยู่โลกอีกใบหนึ่ง โลกที่ไม่มีตำรวจ’

จากเรื่องสั้น ‘เสือไม่สิ้นลาย’

‘ความตายเป็นเช่นนี้เอง หอมหวาน เย้ายวน สมที่รอคอย…

หญิงสาววิ่งกระเสือกกระสน ทั้งร่างโชกด้วยเลือด ฆาตกรเดินตามมาเงียบๆ อย่างใจเย็น ใบมีดวาววับในมือกลายเป็นสีแดงคล้ำ เธอกรีดร้อง ช่วยด้วย ช่วยฉันด้วย’

จากเรื่องสั้น ‘จุดจบฆาตกร’

เหล่านี้คือตัวอย่างในบางเนื้อความจาก 367 หน้ากระดาษที่พร้อมสั่นประสาทในทุกถ้อยคำ

ครั้งหนึ่ง สรจักร หรือเภสัชกร สรจักร ศิริบริรักษ์ เผยว่าเขาทำงานเขียนได้มากมาย เพราะได้กำลังใจ และการต้อนรับจากผู้อ่านด้วยดี
มีการพิมพ์ทุกเล่ม เช่น ศพใต้เตียง และศพข้างบ้าน ซึ่งพิมพ์ซ้ำนับสิบๆ ครั้ง มีการนำไปทำภาพยนตร์ จนถึงงานวิจัย

นำมาซึ่งสมญานาม ‘สตีเฟ่น คิง เมืองไทย’ ที่เจ้าตัวเคยเปิดใจว่า
“รู้สึกเป็นเกียรติ แต่อึดอัด เพราะโดยส่วนตัวไม่ชอบผลงานของสตีเฟ่น คิง และเคยอ่านงานของเขาเพียง 2 เรื่อง คือ IT กับ Needful Things อีกประการหนึ่งคือ เกรงว่าผู้อ่านจะตั้งความหวังไว้ล่วงหน้าว่างานสรจักรจะต้องเป็นแนวเดียว กับสตีเฟ่น คิง มันทำให้เกิดความรู้สึกไม่เป็นตัวของตัวเอง เพราะงานสรจักรก็คือสรจักร เวลาเขียนไม่เคยสนใจว่าจะต้องทำกลิ่นอายให้เหมือนใคร…”

นอกจากนี้ ที่จริงแล้ว ‘ปราย พันแสง’ นักเขียนดัง ผู้เริ่มต้นสมญานามดังกล่าว ไม่ได้พูดถึงสรจักรและสตีเฟ่น คิง ไว้ในแง่มุมของสไตล์งานเขียน เพียงระบุว่า

‘สรจักรวางพล็อตดี ภาษากระชับ เดินเรื่องฉุบฉับทันใจ จะว่าไปเขียนหนังสือได้น่าอ่านกว่าสตีเฟ่น คิง ราชาเรื่องสยองชื่อดังของฝรั่งเขาอีก… เอ้าจริงๆ’

แม้วันนี้ สรจักร จากไปแล้ว แต่ผลงานมากมายของเขา ยังคงโลดแล่นในโลกวรรณกรรมอย่างมีชีวิตและลมหายใจ

สุรศักดิ์ รักหมาน ผู้เรียบเรียงประวัติชีวิตและผลงานของสรจักร ระบุว่า งานเขียนของเขาแบ่งได้ 4 กลุ่ม ได้แก่ วรรณกรรม – เรื่องสั้น
งานเขียนอาชญคดี งานเขียนด้านสุขภาพ และงานเขียนจิปาถะ

ในส่วนของวรรณกรรมเรื่องสั้น มี 2 ชนิดคือ เรื่องสั้นขนาดยาวชื่อ ‘จิตกาธาน’ กับเรื่องสั้นหักมุมประมาณ 200 เรื่อง เขียนเพื่อตีพิมพ์ ในนิตยสารต่างๆ ราวปี 2536 เป็นต้นมา สำนักพิมพ์มติชนนำมารวมเล่มเป็นชุด เรียกกันว่า ‘สามศพ สามผี’

ชุดสามศพ ประกอบด้วย ‘ศพใต้เตียง’ ‘ศพข้างบ้าน’ และ ‘ศพท้ายรถ’ ส่วน ชุดสามผี ประกอบด้วย ‘ผีหัวเราะ’ (‘ดาวโจร’ สำนักพิมพ์ศรีสารา) ‘ผีหัวขาด’ และ ‘ผีหลอก’ (‘อำพรางอำยวน’ สำนักพิมพ์ศรีสารา)

สรจักรหายไปจากวงวรรณกรรมจนถึงปี 2553 แล้วกลับมาอีกครั้งพร้อมเปิดตัวเรื่องสั้นชุดใหม่ คือ ‘สามวิญญาณ’ เพื่อให้ผลงานเข้าชุด ‘สามศพ สามผี สามวิญญาณ’

ชุดสามวิญญาณนี้ สุรศักดิ์ มองว่าน่ากล่าวถึงเป็นพิเศษ เพราะหลังจากหยุดเขียนเรื่องสั้นไปนานถึง 4 ปี สรจักรได้เขียนเรื่องสั้นใหม่ 12 เรื่อง ภายใน 3 เดือน และตีพิมพ์ในชื่อ ‘วิญญาณครวญ’

จากนั้นก็เขียน ต่ออีกเรื่องและส่งให้ สำนักพิมพ์มติชน ตีพิมพ์ในชื่อ ‘คนสองวิญญาณ’ จากนั้นตั้งใจว่าจะพักงานเขียน 1 ปีก่อนเริ่มเขียน ‘วิญญาณ’ เล่มสุดท้าย

ทว่า เนื่องจากสรจักรถึงแก่กรรมในปี 2556 ผลงานรวมเรื่องสั้นระดับตำนานของเขาจึงสิ้นสุดลงที่ชุด ‘สามศพ สามผี สองวิญญาณ’ โดยเรื่องสั้นทั้งหมดในชุดสองวิญญาณเป็นงานเขียนที่ ไม่เคยตีพิมพ์ที่ใดมาก่อน (ยกเว้นเรื่องกรอย) จัดเป็นงานเขียนยุคที่ 2 ของสรจักรซึ่งห่างจาก 2 ชุดแรกเกือบสิบปี

เวลา 10 ปีผ่านไป มนตร์น้ำหมึกและชื่อของสรจักรยังคงยืนยง ในปี 2564 จึงเป็นโอกาสอันดียิ่งที่รวมเรื่องสั้น ‘สามศพ สามผี’ ได้ กลับมาโลดแล่นอีกครั้ง โดยเรื่องสั้นจำนวน 30 เรื่อง จากชุด ‘สามศพ’ ได้ถูกคัดสรรและนำมาตีพิมพ์ในชื่อ “คนดีตายหมดแล้ว” โดยแพรวสำนักพิมพ์

ขณะที่ ‘แค้นของคนตาย’ โดยสำนักพิมพ์มติชน คือ 33 เรื่องสั้นคัดสรรจาก ชุด ‘สามผี’ตอบรับเสียงเรียกร้องของผู้อ่าน

สำหรับงานเขียนอาชญคดีที่มิใช่นิยาย เป็นการรวบรวมข้อมูล คดีฆาตกรรมระดับโลกที่เกิดขึ้นจริงจากแหล่งต่างๆ มาเขียนใน แง่มุมเพื่อการศึกษาเป็นอุทาหรณ์ และเป็นประโยชน์ในการป้องกัน เหตุร้ายรอบตัว เช่น ‘วิปลาสฆาตกรรม’ ‘เลี้ยงลูกอย่างไรไม่ให้เป็นฆาตกร’ ‘ฆาตกรในเสื้อกาวน์’ ‘ฆาตกรสาวเสื้อกาวน์เลือด’ และ‘นักฆ่าบ้ากาม’ เป็นต้น

ต่อคำถามที่ว่าเหตุใดรสชาติงานเขียนของสรจักรจึงมีเอกลักษณ์ ไม่เหมือนใคร

คำตอบอาจอยู่ในคำนำในหนังสือ ‘ผีหัวเราะ’ ความว่า

ฉันกลุ้มใจ เด็กกินหวาน ผู้ใหญ่ชอบขม

หารือช้อนตวง ปรุงรสอะไรดี?

ช้อนตวงหัวเราะ

“ปรุงรสของเธอเอง”

ชิมรสหลอนจากรสมือสรจักรผ่าน ‘แค้นของคนตาย’ ได้แล้ววันนี้ สั่งซื้อได้ที่ www.matichonbook.com

เฟซบุ๊ก Matichon Book-สำนักพิมพ์มติชน

โทร 0-2589-0020 ต่อ 3350-3360

(ราคาปก 360 บาท)

 

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image