โลกสองวัย : เมื่อวันนั้นมาถึง

หลายปีที่ผ่านมา ไม่ต้องบอกว่าวันไหน เดือนไหน ปีไหน เพราะไม่สำคัญเท่ากับเหตุการณ์ ความรัก และความรู้สึกดีต่อกันที่เกิดขึ้น ระหว่างคนทำหนังสือกับคนอ่านหนังสือ

คือเมื่อครั้งมีผู้ซื้อหุ้นของบริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) จำนวนมากในลักษณะที่จะเข้า “ฮุบ” กิจการของหนังสือพิมพ์มติชนและหนังสือในเครือ แม้ในที่สุดเหตุนั้นยุติลงด้วยการคัดค้านของผู้อ่าน และผู้ที่รวมตัวกันเป็น “เพื่อนมติชน” (Friends of MATICHON) มาให้กำลังใจชาวมติชนถึงสำนักงาน ทั้งทำเสื้อออกขาย-ออกแจก และมาลงชื่อบนกระดาษพิมพ์หนังสือพิมพ์ยาวเหยียด

บุญคุณครั้งนั้น และความห่วงหาอาทร กับความเป็นเพื่อนยังฝังตรึงในหัวใจ “ชาวมติชน” ไม่รู้ลืม

ทั้งถึงวันนี้ ชาวมติชนทุกคนยังยึดมั่นใน “มติ” ของ “ประชาชน” และ “เพื่อนมติชน” ไม่เสื่อมคลาย

Advertisement

ด้วยเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าไปไกลเร็วกว่าที่คาดคิด ระบบคอมพิวเตอร์พัฒนา ทั้งติดตามมองและสัมผัสด้วยตัวเอง กระทั่งวันนี้คอมพิวเตอร์คาดว่าจะมีความรู้สึกนึกคิดเช่นเดียวกับมนุษย์

แต่ที่เป็นไปไม่ได้ เพราะคอมพิวเตอร์คือหุ่นยนต์ปราศจากชีวิตและจิตใจ โดยเฉพาะความรักของมนุษย์ที่มีต่อมนุษย์ด้วยกันและสรรพสิ่งทั้งหลาย

ความรักเป็นจิตวิญญาณ มีความละเอียดอ่อน สัมผัสได้ด้วยใจ ด้วยจิตวิญญาณ ไม่ใช่สัมผัสกับวัตถุ

Advertisement

เช่นเดียวกับการอ่าน สัมผัสด้วยอารมณ์และความรู้สึกที่เกิดขึ้นจากจิตสัมผัส ผ่านสายตา หรือแม้แต่สัมผัสด้วยนิ้วมือจากภาษาที่เรียนรู้จากอักษรเบรล ย่อมรู้สึกได้ถึงภาษาและความรู้สึกนั้น กระทั่งเกิดอารมณ์ภายในจิตใจ ทั้งรัก ทั้งชัง ทั้งหวานและขมขื่น ทั้งผิดหวัง ทั้งสมหวัง ทั้งโศกเศร้า ทั้งดีใจและเสียใจ ทั้งขบขัน สารพัดอันเกิดจากการสัมผัสผ่านหนังสือจากการอ่าน

วันหนึ่ง เมื่อระบบดิจิทัลเดินทางมาถึง สำนักมติชนจึงระดมสรรพกำลังทั้งความคิดและผู้ปฏิบัติด้านเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ ศึกษาความเป็นไปได้ทางธุรกิจและเศรษฐกิจอันเกิดจากการประกอบธุรกิจสื่อสิ่งพิมพ์ซึ่งมิใช่สินค้าที่ซื้อมาใช้แล้วเหวี่ยงทิ้งไป หากแต่การได้สัมผัสสื่อสิ่งพิมพ์ที่ให้ความรู้ การศึกษา สร้างสติปัญญา ความก้าวหน้า และคุณงามความดี ความรัก ความศรัทธา การเรียนรู้เท่าทันความชั่วร้ายและสิ่งที่ทำลายการเจริญเติบโตของมนุษย์ ของชุมชน ของสังคม และของโลก ที่ได้จากการอ่าน จากมนุษย์ด้วยกันชื่อว่า

“นักเขียน”

อาชีพนักเขียนมิได้ล้มหายตายจากบรรณพิภพ หากแต่การเผยแพร่งานของนักเขียนจะผ่านสื่อหนึ่งซึ่งกว้างขวางกว่า คือ สื่ออิเล็กทรอนิกส์ เป็นคลื่น ผ่านจากมือนักเขียน ลอยมาในอากาศ เข้าสู่เครื่องแปลงสัญญาณ สู่สายตานักอ่าน ตัวต่อตัว

สื่อกระดาษเริ่มหายไปจากบรรณพิภพ กลายเป็นสื่อคลื่นอิเล็กทรอนิกส์พิภพ

เมื่อวันนั้นมาถึง

“เรียนผู้อ่านสกุลไทยทุกท่าน

“เนื่องด้วยภาวะเศรษฐกิจ พฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป และเอเยนต์จัดจำหน่ายที่ลดลง ทำให้นิตยสารกระดาษค่อยๆ ลดบทบาทลงในยุคของสื่อดิจิทัลเช่นทุกวันนี้

“ด้วยเหตุนี้ สกุลไทยจำเป็นอย่างที่สุดที่ต้องแจ้งท่านผู้อ่านว่า คณะผู้บริหารนิตยสารสกุลไทยได้มีมติให้ยุติการจัดทำนิตยสารสกุลไทย โดยฉบับที่ 3237 ซึ่งวางจำหน่ายในวันจันทร์ที่ 31 ตุลาคม พุทธศักราช 2559 จะเป็นฉบับสุดท้าย…

“อนึ่ง นิตยสารสกุลไทยฉบับ 3237 ได้จัดทำเป็นฉบับพิเศษที่มีเนื้อหาควรค่าแก่การสะสม โดยมีเนื้อหาเกี่ยวกับการเดินทางของนิตยสารสกุลไทยจากอดีตถึงปัจจุบัน บทความและภาพถ่ายที่หาชมได้ยาก และข้อเขียนจากนักเขียนที่เคยฝากผลงานไว้ใน ‘สกุลไทย’ … ด้วยจิตคารวะ คณะผู้บริหารและกองบรรณาธิการสกุลไทย”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image