จากคุนหมิงถึงเวียงจันทน์ ขนส่ง ท่องเที่ยว วัคซีน แรงกระเพื่อม ‘รถไฟจีน-ลาว’

พนักงานให้บริการบนขบวนรถไฟความเร็วสูงจีน-ลาว จากคุนหมิงถึงเวียงจันทน์ใช้เวลา 10 ชม. (ภาพจากสำนักข่าวซินหัว)

 

ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง และ ฯพณฯ ทองลุน สีสุลิด ประธานประเทศลาวเข้าร่วมพิธีเปิดการรถไฟจีน-ลาว ผ่านระบบการประชุมทางไกล ณ กรุงปักกิ่งเมื่อวันที่ 3 ธันวาคมที่ผ่านมา

 

 

 

 

Advertisement

 

 

 

Advertisement

นับเป็นประเด็นสำคัญในภูมิภาคอาเซียนที่ถูกส่องสปอตไลต์สว่างวาบมาตั้งแต่วันตัดริบบิ้นอย่างเป็นทางการเมื่อต้นเดือนธันวาคมที่ผ่านมา สำหรับ ‘รถไฟความเร็วสูงจีน-ลาว’ (คุนหมิง-เวียงจันทน์) เชื่อม 2 ดินแดนด้วยระบบราง สร้างความเชื่อมโยงทางคมนาคมขนส่งที่ย่อมส่งผลต่อเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในหลากมิติ แน่นอนว่ารวมถึงประเทศไทยบ้านใกล้เรือนเคียงประชิดฝั่งโขง

ดังเช่นที่ เชิดชาย ใช้ไววิทย์ อธิบดีกรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ ซึ่งมองว่าต้องจับตามองสำหรับการเติบโตของภูมิภาคในอนาคต อีก 3-5 ปีข้างหน้า รถไฟเส้นนี้จะเป็นเส้นทางสำคัญ เพราะเชื่อมโยงทางรางเส้นแรกที่พาดผ่านมาทางลาวและจะเชื่อมมายังไทยในอนาคต ก่อนหน้านี้จีนมีเส้นทางรถไฟเชื่อมมาทางเวียดนามแล้วเส้นทางหนึ่ง แต่เส้นทางดังกล่าวไม่ส่งผลกับไทยมากนัก ขณะที่การเชื่อมโยงเข้ามาในลาวทำให้คนรู้สึกว่าเป็นเรื่องใกล้ตัวมากขึ้น

ในขณะที่วงเสวนาออนไลน์เมื่อไม่กี่วันมานี้ในหัวข้อ ‘รถไฟจีน-สปป.ลาว ประเมินโอกาสและความท้าทายของผู้ประกอบการไทย’ กงสุลใหญ่ ณ นครคุนหมิง มงคล วิศิษฏ์สตัมภ์ บอกว่า รถไฟสายนี้จะพลิกโฉมการเชื่อมโยงระหว่างประเทศในภูมิภาค ขนส่งได้ทั้งคนและสินค้า ทำความเร็ว 160 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เดินทางตรงเวลา เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเพราะใช้พลังงานไฟฟ้า

“รถไฟเส้นทางนี้ให้ประโยชน์กับทางไทยด้วย เพราะเราสามารถส่งสินค้าไปขายจีนได้ สำหรับโอกาสในการค้าของไทยกับพื้นที่มณฑลยูนนาน ส่วนใหญ่เป็นผลไม้ เช่น ทุเรียน มังคุด และสินค้าอีคอมเมิร์ซด้วย ฉะนั้นการมีรถไฟสายนี้จะช่วยให้ผู้ประกอบการมีตัวเลือกในการขนส่งสินค้าไปจีนมากขึ้น”

ในวงเสวนาเดียวกัน วัลภา สถิรชวาล ประธานสมาพันธ์โลจิสติกส์ไทย ยกประเด็นการค้าที่หนองคายซึ่งยังคงเติบโตแม้มีสถานการณ์โควิด โดยมองว่าผู้ได้ประโยชน์จากเส้นทางนี้ส่วนใหญ่คือคนหนองคายและอีสานตอนบน อย่างไรก็ตาม สามารถพัฒนาจากการค้าชายแดนเป็นการค้าระหว่างประเทศได้ สำหรับอุปสรรคและความท้าทายในปัจจุบันคือ กฎระเบียบที่ไม่อำนวยนักและการขนถ่ายสินค้าซึ่งทำให้เสียเวลาและเสียแรงงาน และไทยสามารถสร้างห่วงโซ่คุณค่าในโลจิสติกส์ได้โดยใช้รูปแบบเดียวกับที่บ่อเต็น-โม่หาน นำมาปรับใช้กับหนองคาย-เวียงจันทน์ และไทยสามารถเป็นศูนย์กลางการขนส่งสินค้าได้

จากมุมมองฝั่งไทย ลองไปซูมความเคลื่อนไหวในฝั่งลาวและจีนที่กำลังคึกคักเป็นอย่างยิ่ง

เปลี่ยนโฉมหน้าคมนาคมลาว
กำจัดจุดอ่อน ไร้ทางออกสู่ทะเล

รถไฟความเร็วสูง 160 กม.ต่อ ชม. พลิกโฉมการคมนาคมทางบกของ สปป.ลาว

 

 

 

 

 

 

สื่อ วิทยุสากลแห่งประเทศจีน CRIFM95 ซึ่งนำเสนอด้วยอักษรและภาษาลาวทั้งหมด เผยแพร่ข่าวเรื่องรถไฟจีน-ลาวอย่างต่อเนื่อง โดยระบุถึงคำกล่าวของ พันคำ วิพาวัน นายกรัฐมนตรี สปป.ลาว ซึ่งนั่งรถไฟจีน-ลาวรอบปฐมฤกษ์ ว่า การเปิดเส้นทางรถไฟจีน-ลาวครั้งประวัติศาสตร์นี้ ได้เปลี่ยนโฉมหน้าการคมนาคมทางบกของลาวให้ทันสมัยอย่างไม่เคยมีมาก่อน ผลสำเร็จที่เกิดขึ้นมาจากความร่วมมือของ 2 ชาติ ที่สอดคล้องกับการพัฒนาของประเทศลาวที่ไม่มีเส้นทางออกทางทะเล สร้างประโยชน์อย่างใหญ่หลวงในการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคมของประเทศลาวและเป็นจุดเชื่อมต่อประเทศจีนสู่อาเซียน

“ผลสำเร็จยังเป็นตัวแบบที่ดีของการเป็นคู่ร่วมชะตากรรมลาวจีน ในฐานะประเทศบ้านใกล้เรือนเคียง บ้านพี่เมืองน้อง เว้ารวมแล้วจีนเป็นประเทศใหญ่มหาอำนาจที่มีพลเมืองหลาย แต่เราเป็นประเทศน้อย พลเมืองก็น้อยหลาย ซึ่งวันนี้แสดงให้เห็นว่าใหญ่กับน้อยได้เคียงคู่กัน เป็นเพื่อนมิตรที่ดีต่อกัน และเป็นแบบอย่างที่ดีที่สุดในวงคณาญาติสากล เพราะว่าการพัวพันสองพรรคสองรัฐและประชาชน 2 ชาติ แม่นเสมอภาคบนจิตใจที่จริงใจต่อกันอีหลี บ่เอาเปรียบเอารัดกัน และมีผลประโยชน์ร่วมกัน ทุกข์สุขอยู่ร่วมกัน อันนี้เป็นสิ่งสำคัญหลาย” นายกฯ สปป.ลาวกล่าว

ดึงนักท่องเที่ยวจีน
ฉีดวัคซีนเข็ม 3 ตามแนวรถไฟ

รถไฟความเร็วสูงจีน-ลาว เชื่อมต่อโดยตรงกับโครงข่ายรถไฟของจีน มีความยาวรวม 1,035 กิโลเมตร (ภาพจากคลิปวิดีโอสำนักข่าวซินหัว)

 

 

 

 

 

 

 

นอกเหนือจากการคมนาคมและขนส่งสินค้า อีกหนึ่งเป้าหมายที่พ่วงเข้ามาคือการท่องเที่ยว ซึ่งมีส่วนสำคัญต่อเศรษฐกิจ โดยก่อนหน้าการระบาดของโควิด-19 ข้อมูลระหว่างปี 2015-2019 มีนักท่องเที่ยวเยี่ยมเยือน สปป.ลาวประมาณ 4-5 ล้านคน นำรายได้เข้าประเทศราว 800 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

นักท่องเที่ยวที่เข้า สปป.ลาวมากที่สุดคือบรรดาประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ยุโรป และอเมริกา ตามลำดับ นักท่องเที่ยวจีนเป็นหนึ่งในตลาดท่องเที่ยวสากลที่เดินทางเข้ามาเที่ยว สปป.ลาวมากเป็นอันดับ 2 ซึ่งเป็นส่วนสำคัญต่อการขยายตัวของการท่องเที่ยวลาว โดยในปี 2019 รัฐบาล 2 ประเทศได้ประกาศ ‘ปีท่องเที่ยวลาว-จีน’ ซึ่งมีนักท่องเที่ยวจีนจำนวน 1,022,727 คน เข้ามาเที่ยวลาว นับเป็น 21.35 เปอร์เซ็นต์ ของนักท่องเที่ยวทั้งหมด ในขณะที่นักท่องเที่ยวจีนกว่าร้อยล้านคนเดินทางไปท่องเที่ยวประเทศต่างๆ ทั่วโลก นับเป็นตลาดใหญ่มาก

อุ่นทวง ขาวพัน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงแถลงข่าว วัฒนธรรมและท่องเที่ยว กล่าวต่อสื่อมวลชนใน สปป.ลาวว่า รัฐบาลได้ถือเอาการท่องเที่ยวเป็นส่วนสำคัญของการพัฒนาเศรษฐกิจสังคม เมื่อมีการเปิดเส้นทางรถไฟสายนี้ จึงเตรียมความพร้อมอย่างดี โดยมีแผนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานตามสถานีรถไฟต่างๆ มีการวิจัยความต้องการของนักท่องเที่ยว

“พวกเรายังเอาใจใส่ในการวางแผนค้นคว้าพัฒนากิจกรรมการท่องเที่ยวตามเส้นทางรถไฟลาว-จีนให้เชื่อมกับบรรดาจุดหมายปลายทางการท่องเที่ยวของบรรดาแขวงที่ได้กำหนดไว้ในแผนพัฒนาการท่องเที่ยว ทั้งได้สมทบกับกระทรวงต่างประเทศ กระทรวงป้องกันความสงบ ค้นคว้านิติกรรม ขั้นตอนแผนในการอำนวยความสะดวกด้านการออกวีซ่า และการเดินทางผ่านด่านชายแดนให้นักท่องเที่ยว นักท่องเที่ยวสากล รวมทั้งนักท่องเที่ยวจีนที่จะมาใช้บริการตามเส้นทางรถไฟลาว-จีน, กระทรวงโยธาธิการ และขนส่ง โดยเฉพาะบริษัทการบินลาว ก็ได้สมทบกับบริษัททางรถไฟลาว-จีน ปรึกษาหารือการเชื่อมต่อการเดินทางระหว่างการบินลาว และทางรถไฟลาว-จีน เพื่อเป็นทางเลือกให้นักท่องเที่ยว”

อีกหนึ่งแรงกระเพื่อมภายใน คือการที่ สปป.ลาวออกหนังสือลงวันที่ 13 ธันวาคม 2021 ถึงสาธารณสุขนครหลวงเวียงจันทน์ และบรรดาแขวงต่างๆ จัดตั้งปฏิบัติการฉีดวัคซีนโควิดสำหรับการกระตุ้นให้กลุ่มประชากรทั่วไปที่อยู่ในเขตพื้นที่การท่องเที่ยวสีเขียวและบรรดาแขวงตามเส้นทางรถไฟความเร็วสูงจีน-ลาว รวมถึงพนักงานที่ทำงานบริการ เช่น พนักงานโรงแรม ร้านอาหาร และมัคคุเทศก์ที่ได้รับวัคซีนแล้วอย่างน้อย 5 เดือนขึ้นไป โดยพื้นที่ที่จะมีการฉีดวัคซีนประกอบด้วย นครหลวงเวียงจันทน์ แขวงเวียงจันทน์ หลวงพระบาง อุดมไซ และหลวงน้ำทา

ด่านจีน ‘บ่อหาน’ คึก ขนสินค้าจาก ‘นานกิง’
ถึงเวียงจันทน์ วันเดียวเฉียด 3 ล้านดอลลาร์

โม่หาน หรือ ‘บ่อหาน’ ด่านจีน ติดกับ ‘บ่อเต็น’ ของลาว ฝึกซ้อมขั้นตอนขาเข้า-ออก และการรับมือ
กับการแพร่ระบาดของโควิด (ภาพจาก วิทยุสากลแห่งประเทศจีน CRIFM95)

 

 

 

 

 

 

 

จากฝั่งลาว มาดูด่านจีนอย่าง ‘โม่หาน’ หรือ ‘บ่อหาน’ ซึ่งติดกับด่าน ‘บ่อเต็น’ ของ สปป.ลาว

มีรายงานข่าวว่ามีการดูแลความปลอดภัยอย่างเข้มงวด พร้อมอำนวยความสะดวก โดยขบวนรถไฟขนส่งสินค้าสากลที่ผ่านการตรวจตราทั้งขาเข้าและขาออกใช้เวลาเพียง 30 นาที เจ้าหน้าที่มีการประสานงานกับหลายฝ่าย ปฏิบัติการฝึกซ้อมขั้นตอนขาเข้า-ออก และการรับมือกับการแพร่ระบาดของโควิดอย่างว่องไว

ส่วนอัตราการใช้บริการ สถิติ 5 วันแรก มีผู้โดยสารชาวลาวและต่างชาติใช้บริการ 5,512 คน เฉลี่ยวันละกว่าพันคน และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น

ข้อมูลจาก กลุ่มบริษัททางรถไฟแห่งชาติจีนสาขาคุนหมิง ซึ่งสื่อลาวนำมาเปิดเผย ระบุว่า นับแต่ทางรถไฟจีน-ลาวเปิดใช้อย่างเป็นทางการ ผู้ใช้รถไฟในฝั่งจีนมารับบริการทั้งหมด 114,000 คน เฉลี่ยวันละกว่า 20,000 คนต่อวัน

ในด้านรถไฟขนส่งสินค้าจากลาวไปจีนและจากจีนไปลาว เฉพาะวันที่ 8 ธันวาคมที่ผ่านมา ขบวนรถไฟขนส่งสินค้าจีน-ลาวบรรทุกสินค้าส่งออก 76 ตู้คอนเทนเนอร์ ออกจากนครนานกิงผ่านด่านบ่อหานที่มณฑลยูนนานของจีนสู่นครหลวงเวียงจันทน์เที่ยวแรก และเป็นขบวนรถไฟขนส่งสินค้าจีนลาวเที่ยวแรกที่แล่นออกจากเขตสามเหลี่ยมปากแม่น้ำแยงซีเกียง ประเทศจีน บรรทุกสินค้าต่างๆ ที่ผลิตในมณฑลเจียงซู ประเทศจีน เช่น อุปกรณ์การศึกษาทางไกล วัสดุก่อสร้าง เครื่องใช้ไฟฟ้า อะไหล่รถ และอื่นๆ มูลค่าเกือบ 3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

ชวนให้จับตานับแต่ 1 มกราคม 2565 ซึ่งข้อตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) จะมีผลบังคับใช้ในประเทศอาเซียน รวมถึงออสเตรเลีย จีน เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น และนิวซีแลนด์ ซึ่งเชื่อกันว่ารถไฟสายนี้จะเสริมบทบาทของนครเซินเจิ้นของจีนเชื่อมต่อระหว่างยุโรปและอาเซียน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image