“ทวารวดี” อยู่ลพบุรี-ศรีเทพ (เพชรบูรณ์) ไม่อยู่นครปฐม-อู่ทอง (สุพรรณบุรี)

“ทวารวดี” อยู่ลพบุรี-ศรีเทพ (เพชรบูรณ์) ไม่อยู่นครปฐม-อู่ทอง (สุพรรณบุรี)

ทวารวดี” เป็นชื่อสันนิษฐานจากเอกสารจีนว่า “โโลโปตี” (หรือออกเสียงสะกดอย่างอื่นที่ใกล้เคียงกันนี้) ที่ไม่จำเป็นต้องยุติตามนี้ก็ได้ แต่ชื่อนี้มีความสำคัญมาก และทรงอิทธิพลมากๆ ในประวัติศาสตร์ไทย เพราะ

1. ถูกสถาปนาจากชนชั้นนำไทยสยามสมัยอาณานิคมกับสมัยหลังอาณานิคม และ

2. ถูกโฆษณาเกินจริงจากรัฐราชการรวมศูนย์เพื่อหล่อหลอมกล่อมเกลาและครอบงำให้เชื่ออย่างเชื่องๆ ใน 3 เรื่องสำคัญ ได้แก่

(1.) “ทวารวดี” เป็นชื่อ “อาณาจักร” เก่าสุดและแรกสุดในไทย ราวหลัง พ.. 1000

Advertisement

(2.) อาณาจักรทวารวดีนับถือศาสนาพุทธ มีศูนย์กลางอยู่เมืองนครปฐมโบราณ จ. นครปฐม

(3.) อาณาจักรทวารวดีมีอำนาจกว้างขวางครอบคลุมพื้นที่เกือบทั่วประเทศไทย โดยดูหลักฐานด้านเดียวจากศิลปกรรม เช่น พระพุทธรูป, สถูปเจดีย์ ฯลฯ

ทั้ง 3 เรื่องนี้มีคำถามมากจากนักค้นคว้านักวิชาการทั้งนานาชาติและไทย แต่นักค้นคว้าและนักวิชาการแนวอนุรักษนิยมของทางการไทยยังไม่ได้ทำความกระจ่างให้สังคม

Advertisement

อยู่ที่ไหน? ทวารวดี

ทวารวดี” คืออะไร? อยู่ที่ไหน? ไทยหรือกัมพูชา? ลพบุรีศรีเทพ (เพชรบูรณ์) หรือนครปฐมอู่ทอง (สุพรรณบุรี)? ฯลฯ ยังไม่ยุติ เพราะมีปัญหาทักท้วงถกเถียงพร้อมแสดงหลักฐานโบราณคดีสนับสนุนเนืองแน่นจากนักวิชาการหลายกลุ่ม

กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม ไม่ควรด่วนสรุปแล้วจัดแสดงในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ว่า “ทวารวดี” มีศูนย์กลางอยู่ จ. นครปฐม ราวกับว่าปราศจากข้อสงสัยจากนักค้นคว้านักวิชาการทั้งในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งแท้จริงมีข้อสงสัยมากมานานแล้ว ปัญหาอยู่ที่งานวิชาการ (ของกรมศิลปากร) ตกหลุมดำในกะลาสมัยอาณานิคม จึงไม่รับรู้หลักฐานข้อมูลข่าวสารที่ก้าวหน้าไปไม่เหมือนเดิม

พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กรมศิลปากร ทางที่ถูกแล้วควรจัดแสดงประวัติความเป็นมาของ จ. นครปฐม ตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ และเรื่องราวพระปฐมเจดีย์มีอย่างไร? โดยไม่จำเป็นต้องผูกมัดว่าเป็น “ทวารวดี”

ยอร์ช เซเดส์ ส่งข้อความบอกนักปราชญ์กรมศิลปากรมาก่อนนานแล้วว่าทวารวดีไม่มีที่ไทยแห่งเดียว แต่ในกัมพูชามีจารึกระบุ “ทวารวดี”

มานิต วัลลิโภดม (ถึงแก่กรรม) นักปราชญ์ทางประวัติศาสตร์โบราณคดี อดีตข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ของกรมศิลปากร มีบทความวิชาการพิมพ์ในนิตยสารศิลปากร (ของกรมศิลปากร) เมื่อ พ.. 2515 ว่า “ทวารวดี” อยู่เมืองลพบุรี (ไม่อยู่นครปฐม)

พิเศษ เจียจันทร์พงษ์ (ข้าราชการบำนาญ) ผู้เชี่ยวชาญประวัติศาสตร์โบราณคดีของกรมศิลปากร มีบทความวิชาการพิมพ์ในนิตยสารศิลปากร (ของกรมศิลปากร) เมื่อ พ.. 2561 ว่า “ทวารวดี” อยู่เมืองลพบุรี (ไม่อยู่นครปฐม)

นักวิชาการระดับสากลที่ไม่ได้สังกัดกรมศิลปากร ล้วนเห็นตรงกันว่า “ทวารวดี” ไม่อยู่นครปฐม ได้แก่ ศรีศักร วัลลิโภดม (อดีตอาจารย์ประจำคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร) ว่า “ทวารวดี” อยู่เมืองลพบุรี พิริยะ ไกรฤกษ์ (อดีตอาจารย์ประจำคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์) ว่า “ทวารวดี” อยู่เมืองศรีเทพ จ. เพชรบูรณ์

ทวารวดี” เป็นชื่อเมืองของพระกฤษณะ (อวตารของพระวิษณุ) ในศาสนาพราหมณ์ฮินดู (ไม่ใช่ศาสนาพุทธอย่างที่บอกไว้ในตำราโบราณคดีไทย) (บน) พระกฤษณะโควรรธนะ ประติมากรรมเล่าเรื่องพระกฤษณะยกภูเขาโควรรธนะด้วยแขนซ้าย เพื่อใช้เป็นที่กำบังพายุฝนให้แก่ฝูงโคและผู้เลี้ยงโค (ซ้าย) ลักษณะใกล้เคียงกับรูปพระกฤษะแบบพนมดารุ่นแรกของกัมพูชา ซึ่งแสดงว่าในกัมพูชานับถือพระกฤษณะผู้สถาปนาเมืองทวารวดี (ขวา) ทรงสวมกิรีฏมุกุฎเพื่อแสดงว่าพระกฤษณะทรงเป็นเทพองค์เดียวกับพระวิษณุ

[ประติมากรรมสลักหินลอยตัว (สูง 104 ซม.) อายุราวหลัง พ.. 1000 (ไทยเรียกสมัยทวารวดี) พบที่เมืองศรีเทพ อ. ศรีเทพ จ. เพชรบูรณ์ (จัดแสดงในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร) จากหนังสือ รากเหง้าแห่งศิลปะไทย โดย พิริยะ ไกรฤกษ์ สำนักพิมพ์ริเวอร์ บุ๊คส์ พิมพ์ครั้งแรก พ.. 2553 หน้า 108-109]

ทวารวดี เมืองที่ชุมนุมพระธาตุ

โดย พิเศษ เจียจันทร์พงษ์

สรุปใจความสำคัญจากนิตยสาร ศิลปากร ปีที่ 61 ฉบับที่ 1 [มกราคมกุมภาพันธ์ 2561 หน้า 49-55] ดังนี้

เมืองชื่อ “ทวารวดี” เป็นที่รู้จักของผู้ที่ศึกษาทางประวัติศาสตร์และโบราณคดีของไทยโดยทั่วไปว่าเป็นเมืองที่มีมาเก่าแก่แต่โบราณ อย่างน้อยก็ตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 12 ตั้งอยู่บนที่ราบลุ่มแม่น้ำภาคกลางของประเทศไทยใต้จังหวัดนครสวรรค์ลงมา แต่จะเป็นที่แห่งใดแน่นอนยังไม่อาจทราบได้ แม้จะพบหลักฐานทางโบราณคดีที่มีรูปแบบเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว นักวิชาการทางโบราณคดีรุ่นแรกๆ ของไทย จะสมมติชื่อให้ว่าเป็น “ศิลปะทวารวดี” ก็ไม่อาจใช้เป็นเครื่องชี้บอกที่ตั้งของเมืองชื่อทวารวดีได้ว่าตั้งอยู่ที่ใด เพราะเป็นรูปแบบของศิลปะโบราณวัตถุโบราณสถานที่พบกระจายอยู่ทั่วไปตามสถานที่ที่เป็นแหล่งประวัติศาสตร์โบราณคดี หรือบ้านเมืองใหญ่น้อยที่มีมาตั้งแต่สมัยโบราณบนที่ราบลุ่มแม่น้ำภาคกลาง เช่น เมืองนครปฐม เมืองอู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี เมืองคูบัวที่จังหวัดราชบุรี เมืองลพบุรี แหล่งโบราณคดีพงตึก จังหวัดกาญจนบุรี ฯลฯ เป็นต้น

หรือแม้แต่การพบเหรียญที่มีตัวอักษรคำว่า “ทวารวดี” ปรากฏอยู่ด้วยที่เมืองโบราณอู่ตะเภา อำเภอมโนรมย์ จังหวัดชัยนาท และที่อื่นๆ อีก 1-2 แห่ง ก็ไม่อาจใช้เป็นหลักฐานยืนยันว่าสถานที่ที่พบเหรียญเงินโบราณนั้นจะเป็นเมืองชื่อทวารวดี เพราะจำนวนของวัตถุที่พบน้อยมาก อีกทั้งเป็นวัตถุขนาดเล็กที่คนในสมัยก่อนสามารถพกพานำติดตัวเคลื่อนย้ายไปตามสถานที่ต่างๆ ได้โดยสะดวก ดังนั้นจึงไม่อาจใช้เป็นวัตถุบ่งชี้ว่าสถานที่พบโบราณวัตถุประเภทดังกล่าวนี้เป็นเมืองชื่อทวารวดีตามไปด้วย

ศิลาจารึกวัดศรีชุม จังหวัดสุโขทัย

บทความเรื่องนี้ จะเป็นการนำเสนอหลักฐานชิ้นสำคัญชิ้นหนึ่ง ที่สามารถใช้เป็นหลักฐานแสดงความหมายบอกที่ตั้งของเมืองชื่อทวารวดีได้โดยตรง หลักฐานนี้คือข้อความในศิลาจารึกหลักที่ 2 ชื่อ “ศิลาจารึกวัดศรีชุม จังหวัดสุโขทัย” ด้านที่ 2 ระหว่างบรรทัดที่ 18-23

มีข้อความบอกเล่าประวัติของท่านผู้ทำจารึก—- นอกนั้นเล่าเรื่องการเดินทางแสวงบุญของพระศรีศรัทธาราชจุฬามุนีไปยังที่ต่างๆ ไกลออกไปถึงเกาะลังกา เฉพาะความที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้เป็นการกล่าวถึงสถานที่อันเป็นปูชนียสถานร้างแห่งหนึ่งที่ท่านได้เข้าไปซ่อมแซมบูรณะให้ดีดังเดิม อยู่ทางทิศใต้ของเมืองสุโขทัยลงไป ความว่า

ลางแห่งที่ชุมนุมพระมหาธาตุเป็นเจ้าอันใหญ่ทั้งหลาย ตรธานเป็นป่าเป็นดง สมเด็จพระมหาเถรศรีศรัทธาราชจุฬามุนีเป็นเจ้า ที่ตนเข้าไปเลิกให้กระทำพระมหาธาตุหลวงคืน พระมหาธาตุด้วยสูง เก้าสิบห้าวาไม่ เหนือพระธาตุหลวงไซร้ สองอ้อมสามอ้อม พระศรีราชจุฬามุนีเป็นเจ้า พยายามให้แล้วจึงก่ออิฐขึ้นเจ็ดวา สทายปูนแล้วบริบวรณ พระมหาธาตุหลวงก่อใหม่เก่าด้วยสูงได้ร้อยสองวา ขอมเรียกพระธมนั้นแล ๐ สถิต เคริ่งกลางนครพระกฤษณ์…”

ศิลาจารึกวัดศรีชุมตอนนี้มีความว่าสถานที่แห่งหนึ่งอันเป็นสถานที่โบราณไปแล้วในสมัยที่ทำศิลาจารึกหลักนี้ (ตันพุทธศตวรรษที่ 20) พระศรีศรัทธาราชจุฬามุนีได้เข้าไปซ่อมแซมบูรณะสถูปพระธาตุขนาดใหญ่องค์หนึ่งจนสำเร็จบริบูรณ์ โดยกล่าวถึงขนาดของพระสถูปที่ทำสำเร็จไว้ด้วย สถูปขนาดใหญ่นี้ขอมเรียกว่า “พระธม”. ซึ่งแปลตรงตัวว่า “พระใหญ่” และตั้งอยู่ท่ามกลางเมืองของพระกฤษณะชื่อว่า เมืองทวารวดี ลักษณะพิเศษของเมืองทวารวดีที่กล่าวถึงแห่งนี้ว่า “เป็นที่ชุมนุมพระมหาธาตุ”

ที่ชุมนุมพระธาตุตามความเชื่อในสมัยรัตนโกสินทร์

คติเกี่ยวกับการชุมนุมพระธาตุ เป็นความเชื่อที่สืบต่อกันมายาวนานถึงสมัยธนบุรีรัตนโกสินทร์ จึงมีการบันทึกอยู่ในหนังสือพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขาและฉบับอื่นๆ ที่เล่าเรื่องราวในสมัยรัชกาลสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชตอนหนึ่งว่า

เมื่อสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงตั้งกรุงธนบุรีขึ้นเป็นศูนย์การปกครองบ้านเมืองในช่วงเวลาแรกเริ่มนั้น พระองค์ต้องทำสงครามป้องกันบ้านเมืองจากกองทัพมาหลายครั้ง แม้พระองค์จะรักษาบ้านเมืองไว้ได้แต่ก็น่าจะสร้างความวิตกกังวลให้แก่สมณชีพราหมณ์บ้างพอสมควร ดังมีเรื่องเล่าในหนังสือพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขาตอนหนึ่งว่า ครั้งหนึ่งขุนนางผู้ใหญ่ท่านหนึ่งนำหนังสือที่เขียนบนใบตาลมาถวาย อ้างว่าเป็นของ “อธิการวัดใหม่” เชื่อว่าเป็นพระพุทธทำนาย มีใจความสำคัญตอนหนึ่งว่า

ในพุทธศักราชล่วงได้ 2320 จุลศักราช 1139 ปี พระนครบางกอก [คือกรุงธนบุรี] จะเสียแก่พม่าข้าศึก ให้เสด็จขึ้นไปอยู่ ณ เมืองละโว้ คือเมืองลพบุรีเป็นชุมนุมพระบรมธาตุ ตั้งอยู่ท่ามกลางแผ่นดินไทย ข้าศึกศัตรูจะทำร้ายมิได้เลย…”

กล่าวคือ เป็นคำแนะนำจากพระสงฆ์ชั้นผู้ใหญ่รูปหนึ่ง เสนอแนะให้สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงย้ายเมืองไปอยู่ที่เมืองละโว้หรือลพบุรี ซึ่งตามเรื่องในหนังสือพระราชพงศาวดารฉบับดังกล่าวเล่าต่อไปว่าพระองค์ไม่อาจทรงทำตามคำแนะนำได้ แต่เนื่องจากเป็นคำแนะนำจากผู้ทรงศีล พระองค์จะเสด็จไปประทับอยู่ที่เมืองลพบุรีสัก 3 วัน เพื่อเป็นการแก้เคล็ด

สรุปเมืองทวารวดีกับการสืบเนื่อง

ความสำคัญในหนังสือพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขาตอนที่ยกมากล่าวก่อนหน้านี้ อยู่ที่ว่าเมืองลพบุรีก็เป็นอีกเมืองหนึ่งที่มีหลักฐานเชื่อกันว่า “เป็นที่ชุมนุมพระธาตุ” เป็นความเชื่อที่สืบทอดกันมายาวนาน และเมืองลพบุรีก็เป็นเมืองใหญ่รุ่นเก่า มีโบราณสถานโบราณวัตถุในรูปแบบศิลปะทวารวดี ได้รับการค้นพบอยู่เป็นจำนวนมาก

ดังนั้น นครพระกฤษณะหรือเมืองชื่อทวารวดีที่มีศาสนาสถานเก่าแก่ชำรุดทรุดโทรมที่พระศรีศรัทธาราชจุฬามุนี หลานพ่อขุนผาเมืองแห่งสุโขทัย ต้องเข้าไปซ่อมแซมบูรณะตั้งแต่เมื่อพุทธศตวรรษที่ 20 และเรียกว่า “เป็นที่ชุมนุมพระมหาธาตุเป็นเจ้า” ดังกล่าวอยูในศิลาจารึกสุโขทัยหลักที่ 2 “จารึกวัดศรีชุม” นั้น จึงหมายถึงปูชนียสถานเก่าองค์หนึ่งที่มีอยู่ในเมืองละโว้ หรือลพบุรีนั่นเอง และเมืองละโว้หรือลพบุรี ก็คือเมืองที่ยืมชื่อเมืองของพระกฤษณะมาใช้เป็นอีกชื่อหนึ่งว่าเมืองทวารวดีอย่างแน่นอน

และการที่เมืองละโว้ หรือลพบุรีมีอีกชื่อหนึ่งว่าเมืองทวารวดีนั้น จึงเป็นหลักฐานบ่งชี้โดยตรงที่ชัดเจนเพิ่มขึ้นอีกอย่างหนึ่งถึงการสืบเนื่องของบ้านเมืองจากเมืองละโว้ หรือลพบุรีที่มีมาแต่สมัยแรกเริ่มดั้งเดิมแล้วเปลี่ยนแปลงสืบต่อมาเป็นเมือง “กรุงเทพมหานครบวรทวารวดีศรีอยุธยา” ในประวัติศาสตร์ไทยอีกยาวนาน

ทวารวดี” ของพระกฤษณะอยู่เมืองลพบุรี พบหลักฐานสืบเนื่องเป็นปูนปั้น เรือน พ.. 1800 แสดงพระกฤษณะปราบช้างและสิงห์ บนทับหลังศิลาแลงมุขด้านทิศใต้ พระปรางค์วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ จ. ลพบุรี (ภาพและคำอธิบายโดย รุ่งโรจน์ ภิรมย์อนุกูล คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง)

ศรีเทพ ทวารวดี

ราชธานีแห่งแรกของสยาม

โดย พิริยะ ไกรฤกษ์

[ปรับปรุงจากเพจ มูลนิธิพิริยะ ไกรฤกษ์]

แม้ว่าหลักฐานทางศิลปะโบราณวัตถุสถานแสดงให้เห็นว่าเมืองศรีเทพ อําเภอวิเชียรบุรี จังหวัดเพชรบูรณ์ สร้างขึ้นในสมัยทวารวดี และเจริญรุ่งเรืองต่อมาใต้การปกครองของกัมพูชาระหว่างพุทธศตวรรษที่ 15-18 (คริสต์ศตวรรษที่ 9-กลาง 12) แต่ไม่มีผู้ใดพิจารณาว่าเมืองศรีเทพอาจจะเป็นศูนย์กลางของอาณาจักรทวารวดี เพราะว่าศิลปะโบราณวัตถุที่พบที่นั่นส่วนใหญ่มิได้สร้างขึ้นในพุทธศาสนา แต่เป็นเทวรูปที่สร้างขึ้นในศาสนาพราหมณ์ เช่น พระกฤษณะ พระวิษณุ และพระสูรยะ นอกจากนั้นแล้วศรีเทพยังตั้งอยู่ในลุ่มแม่น้ำป่าสัก ห่างไกลจากแหล่งโบราณสถานสมัยทวารวดีอื่นๆ ที่ตั้งอยู่ในบริเวณรอบอ่าวไทย 

จนกระทั่งใน พ.. 2552 (2009) โคล้ด ฌาคส์ (Claude Jacques) ผู้เชี่ยวชาญการอ่านศิลาจารึกกัมพูชา เสนอว่าทวารวดีน่าจะได้แก่ศรีเทพ โดยให้เหตุผลว่าทวารวดีเป็นเมืองของพระกฤษณะ อวตารที่ 8 ของพระวิษณุ และเทวรูปพระกฤษณะและพระวิษณุก็พบที่ศรีเทพ ผู้เขียนจึงได้นําความคิดนี้มาผนวกกับข้อวินิจฉัยของพระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยาลาภพฤฒิยากร ที่ทรงพระนิพนธ์ในวารสารของสยามสมาคม (Journal of the Siam Society) เมื่อ พ.. 2482 (1939) ว่าทวารวดีเป็นชื่อของกรุงศรีอยุธยาเมื่อแรกสถาปนาจนเสียกรุง และเนื่องด้วยว่าศรีเทพตั้งอยู่ตอนกลางของแม่น้ำป่าสัก ซึ่งปลายน้ำอยู่ที่พระนครศรีอยุธยา จึงเข้าใจได้ว่า ดินแดนแถบนั้นในอดีตกาลเป็นภูมิลําเนาของชาวสยามและเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรทวารวดี

ศรีเทพเป็นเมืองโบราณอยู่ในอําเภอศรีเทพ จังหวัดเพชรบูรณ์ มีการกล่าวถึงครั้งแรกในหนังสือ นิทานโบราณคดี พระนิพนธ์ของสมเด็จฯ กรมพระยาดํารงราชานุภาพ ในนิทานที่ 10 เรื่องความไข้เมืองเพชรบูรณ์ มีเนื้อหาที่กล่าวถึงเมืองศรีเทพว่าชื่อเมืองมีปรากฏในทําเนียบเก่าบอก รายชื่อหัวเมืองและสมุดดําต้นร่างที่ให้คนเชิญตราสารไปบอกข่าวการสิ้นรัชกาลที่ 2 ตามหัวเมืองต่างๆ มีเมืองชัยบาดาล เมืองศรีเทพ และเมืองเพชรบูรณ์ ต่อมาสมเด็จฯ กรมพระยาดํารงราชานุภาพในฐานะเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย ได้เสด็จตรวจราชการมณฑลเพชรบูรณ์ ทรงสอบถามถึงเมืองศรีเทพตามที่กล่าวถึง ในสมุดดําได้ความว่าในสมัยรัชกาลที่ 3 หลังจากปราบกบฏเจ้าอนุวงศ์ ได้มีการยกฐานะเมืองศรีเทพขึ้นเป็นเมืองชั้นตรี และเปลี่ยนนามเป็นเมืองวิเชียรบุรี และเมื่อพระองค์ได้ล่องเรือตามแม่น้ำป่าสักจากวิเชียรบุรีไปสํารวจเมืองโบราณที่พระธุดงค์รูปหนึ่งเรียกว่าเมืองอภัยสาลี จึงทรงวินิจฉัยว่าชื่อเดิมของเมืองโบราณแห่งนี้น่าจะเป็นต้นเค้าของการเรียกชื่อเดิมของเมืองวิเชียรบุรี กรมศิลปากรซึ่งได้ขึ้นทะเบียนเมืองศรีเทพเป็นโบราณสถานเมื่อ พ.. 2478 (1935) “จึงได้เรียกชื่อเมืองโบราณแห่งนี้ว่า ‘เมืองศรีเทพ’ ไปก่อน ในวันข้างหน้าถ้ามีการค้นพบหลักฐานทางด้านเอกสารที่ยืนยันชื่อที่แท้จริงของเมืองโบราณแห่งนี้ได้ก็คงจะมีการเปลี่ยนแปลงกลับไปใช้ชื่อเดิมที่ถูกต้อง” 

ในฐานะที่มูลนิธิพิริยะ ไกรฤกษ์ มุ่งศึกษาและนําเสนอ “ความรู้ใหม่ ความคิดใหม่” จึงขอเสนอว่าเมืองศรีเทพในอดีตคือกรุงทวารวดีซึ่งรุ่งเรืองอยู่ในช่วงกลางพุทธศตวรรษที่ 12-กลาง 13 (คริสต์ศตวรรษที่ 7) ไม่ใช่นครปฐมตามที่เข้าใจกันทุกวันนี้ ศรีเทพสมควรที่จะเป็นราชธานีของอาณาจักรทวารวดี เพราะนอกจากจะเป็นแหล่งโบราณคดีแห่งเดียวที่พบเทวรูปพระกฤษณะผู้สถาปนากรุงทวารกาหรือทวารวดีแล้ว ศรีเทพยังตั้งอยู่บนแม่น้ำป่าสักซึ่งปลายน้ำอยู่ที่พระนครศรีอยุธยา ซึ่งเป็นถิ่นฐานเดิมของชาวสยาม

เมื่อศรีเทพเป็นราชธานีของอาณาจักรทวารวดีซึ่งเป็นอาณาจักรแรกในประวัติศาสตร์ไทย ที่มีความมั่งคั่งและเจริญรุ่งเรืองจนเป็นที่กล่าวขานของชาวต่างประเทศ จึงสมควรที่จะยกย่องให้ศรีเทพเป็นราชธานีแห่งแรกของสยาม


แม้ว่าศิลปะโบราณวัตถุสถานที่ศรีเทพ อําเภอวิเชียรบุรี จังหวัดเพชรบูรณ์ จะชี้ชัดว่าศรีเทพเป็นแหล่งโบราณสถานสมัยทวารวดี ซึ่งเป็นอาณาจักรแรกในประวัติศาสตร์ไทย แต่เมื่อสมเด็จฯ กรมพระยาดํารงราชานุภาพทรง สันนิษฐานว่าทวารวดีมีศูนย์กลางอยู่ที่นครปฐม และศิลปะสมัยทวารวดีสร้างขึ้นในพุทธศาสนานิกายเถรวาท ดังที่เข้าใจกันมาจนทุกวันนี้ จึงทําให้ไม่มีผู้ใดพิจารณาว่าศรีเทพอาจจะเป็นศูนย์กลางของอาณาจักรทวารวดีก็ได้ เพราะว่าศิลปวัตถุสําคัญซึ่งพบที่ศรีเทพมิได้สร้างขึ้นในพุทธศาสนา แต่เป็นเทวรูปที่สร้างขึ้นในศาสนาพราหมณ์ลัทธิไวษณพ อีกทั้งศรีเทพยังตั้งอยู่ในลุ่มแม่น้ำป่าสัก ห่างไกลจากแหล่งโบราณสถานสมัยทวารวดีอื่นๆ ที่ตั้งอยู่ในบริเวณรอบอ่าวไทย

หากแต่ว่าหลักฐานทางประวัติศาสตร์ศิลป์ ประวัติศาสตร์ และภูมิศาสตร์ ขัดแย้งกับความเชื่อดังกล่าว ข้อมูลทางประวัติศาสตร์ศิลป์แสดงให้เห็นว่าศรีเทพเป็นแหล่งโบราณคดีแห่งเดียวในประเทศไทยที่พบเทวรูปพระกฤษณะ เทพเจ้าในลัทธิไวษณพ ผู้สถาปนากรุงทวารกาหรือทวารวดี ข้อมูลทางประวัติศาสตร์ก็ยืนยันว่าทวารวดีเป็นเมืองของพระวิษณุ รวมทั้งทวารวดียังเป็นชื่อของกรุงศรีอยุธยา ราชธานีของชาวสยามตั้งแต่แรกสถาปนาจนถึงเสียกรุง นอกจากนี้ศรีเทพยังมีที่ตั้งทางภูมิศาสตร์อยู่ตอนกลางของแม่น้ำป่าสัก ซึ่งปลายน้ำอยู่ที่พระนครศรีอยุธยา ด้วยเหตุผลข้างต้นจึงไม่มีข้อสงสัยว่าศรีเทพเมื่อ 1,400 ปีที่แล้ว เป็นศูนย์กลางของอาณาจักรทวารวดี ราชธานีแห่งแรกของชาวสยาม ที่มีความมั่งคั่งและเจริญรุ่งเรืองจนเป็นที่กล่าวขานของชาวต่างชาติ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image