“โลกในทุกวันนี้ เป็นโลกของสตาร์ตอัพ โลกของการเป็นผู้ประกอบการ
ดังนั้น เรามีความเชื่อว่าทุกคนสามารถเป็นเถ้าแก่ได้ เราจึงเริ่มจากแนวคิดตรงนี้ ว่าการได้เป็นเถ้าแก่มันดีอย่างไร ทำไมเราถึงต้องเป็น และทำอย่างไรเราถึงจะผลักดันให้ทุกคนได้เป็นเถ้าแก่”
เป็นคำกล่าวของ รศ.เกศินี วิฑูรชาติ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) สมัยที่ 2 ในวันเปิดตัวอย่างเป็นทางการของโครงการ 88 SANDBOX: The Next Unicorn ศูนย์กลางการเรียนรู้ทักษะ ผู้ประกอบการแห่งอนาคต ที่จะมีส่วนสำคัญในการ Startup Ecosystem ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย เมื่อวันที่ 10 ธันวาคมที่ผ่านมา ภายใต้ความมุ่งหวังให้นักศึกษาได้เรียนรู้ทักษะที่จำเป็นต่อยุคสมัย ซึ่งมีการปรับเปลี่ยนไปในทุกวินาที ท่ามกลางยุคทองของผู้ที่สามารถแปลงไอเดีย-ความคิดมาเป็นมูลค่าและเม็ดเงิน
โครงการดังกล่าวจะทำหน้าที่เป็นแพลตฟอร์มที่เปิดโอกาสให้ทุกคน ไม่จำกัดเพศ อายุ ภาษา การศึกษา และเชื้อชาติ ได้เข้ามาเรียนรู้ ทดลอง พัฒนาทักษะ และต่อยอดความคิดสร้างสรรค์ ภายใต้ระบบนิเวศที่เอื้ออำนวยและการสนับสนุนอย่างรอบด้าน โดยมีพันธมิตรธุรกิจยักษ์ใหญ่ร่วมสนับสนุนมากมาย
รศ.ดร.พิภพ อุดร รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ แห่งแม่โดม ย้ำว่า การเรียนรู้ในและนอกห้องเรียนแยกออกจากกันไม่ได้มหาวิทยาลัยจะไม่เป็นที่ผูกขาดความรู้ ถนนทุกสายจะไม่มุ่งสู่มหาวิทยาลัยอีกต่อไป
ดีไซน์การศึกษา ‘ยืดหยุ่น’
ยึดติดรูปแบบเดิมๆ ความฝันไม่อาจเป็นจริง
ตอนหนึ่งในเนื้อหาเสวนา “Future Fast Forward: What’s Next?” โดย 4 ผู้ร่วมก่อตั้งโครงการ ฉายภาพให้เห็นโอกาสและทิศทางการพัฒนา ซึ่ง รศ.เกศินี อธิการบดี มธ. กล่าวว่า ในฐานะสถาบันการศึกษาชั้นนำ แน่นอนว่าการส่งต่อองค์ความรู้เป็นภารกิจหลัก ซึ่งเพียงแค่กับนักศึกษาเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการมอบองค์ความรู้สู่สังคมและประเทศชาติด้วย
“ธรรมศาสตร์ออกแบบระบบการศึกษาไว้แล้วอย่างยืดหยุ่น มีความพร้อมในการปรับและเปลี่ยนรูปแบบการศึกษาและกระบวนการเรียนรู้ไปตามสถานการณ์ต่างๆ ที่เหมาะสมได้ เพราะถ้าเราขาดความยืดหยุ่น ยึดโยงอยู่แต่กับรูปแบบเดิมๆ ความฝันของเราก็ไม่อาจจะสำเร็จเป็นจริงขึ้นมาได้
สิ่งที่สำคัญคืออนาคตของนักศึกษา เราในฐานะผู้นำของมหาวิทยาลัยจึงเล็งเห็นถึงความสำคัญในการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงวิชาความรู้ต่างๆ ให้มีความเหมาะสม ต้องไม่ใช่แค่การเรียนรู้ในห้องเรียน แต่ยังต้องมีการเรียนรู้นอกห้องเรียน ลงมือทำจริง จากสถานที่จริงอีกด้วย
ความมุ่งหวังสูงสุดของ 88 SANDBOX คือการเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้และสนับสนุนความฝันของผู้คน ดังนั้น จึงจำเป็นต้องสานพลังร่วมกับภาคเอกชนเพื่อเพิ่มศักยภาพและขีดความสามารถในการพัฒนาสตาร์ตอัพไปสู่เวทีโลก” อธิการฯ มธ.กล่าว
เรียนจากที่ไหน ก็ถูกนับใน ‘หลักสูตร’
มหา’ลัย ไม่ใช่ที่ผูกขาดความรู้
ด้าน รศ.ดร.พิภพ อุดร รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ มธ. หนึ่งในกำลังหลักผู้บุกเบิกโครงการ 88 SANDBOX บอกว่า มธ. เชื่อว่าการศึกษาจะเป็นแบบเดิมไม่ได้อีกต่อไปแล้ว การเรียนรู้จากในและนอกห้องเรียนจะแยกออกจากกันไม่ได้ ดังนั้นจะทำอย่างไรที่ทำให้แนวคิดแบบธุรกิจมาร่วมกับการเรียนรู้ของนักศึกษา และนำมาสร้างมูลค่าเพิ่มให้เศรษฐกิจของประเทศ
“ม.ธรรมศาสตร์ตั้งเป้าชัดเจนว่าการเรียนรู้ในและนอกห้องเรียนแยกออกจากกันไม่ได้ แต่จะทำอย่างไรให้การเรียนรู้ไม่ว่าจากที่ใดถูกนับให้เป็นส่วนหนึ่งของหลักสูตร ถูกนับให้เป็นการพัฒนาคนให้เติบโต ถนนทุกสายจะไม่มุ่งสู่มหาวิทยาลัยอีกต่อไป มหาวิทยาลัยจะไม่เป็นที่ผูกขาดความรู้อีกต่อไปแล้ว ดังนั้น เราต้องเปิดให้มหาวิทยาลัยกลายเป็น Open Platform เอาการเรียนรู้จากที่ต่างๆ มาร่วมกับองค์ความรู้ของมหาวิทยาลัย และนำทั้งหมดมาใช้เพื่อช่วยให้ผู้เรียนรู้มุ่งไปสู่การเป็นสตาร์ตอัพ
เราต้องการที่จะเป็นแหล่งผลิตสตาร์ตอัพให้กับประเทศ ไม่ใช่การผลิตให้กับธรรมศาสตร์เอง และไม่ใช่ผลิตจากเฉพาะนักศึกษา แต่คนทั้งประเทศสามารถมาใช้ 88 SANDBOX มาเป็นแพลตฟอร์มในการเติบโตและก้าวกระโดด” รศ.ดร.พิภพกล่าว
สตรีทฟู้ด ต้นไม้ ผ้าอนามัย
สู่ ‘แอพพ์ เกม (นวัตกรรม) ของใช้’
แม้เพิ่งตัดริบบิ้นเปิดตัวอย่างเป็นทางการต่อสาธารณชน ทว่าปรากฏสตาร์ตอัพไทยที่เป็นผลผลิตของการบ่มเพาะและพัฒนาผ่าน 88 SANDBOX แล้วอย่างน้อย 3 ชิ้น ได้แก่
Carter แอพพลิเคชั่นที่เชื่อมโยงจุดเด่นของประเทศอย่างร้านขายอาหารรถเข็นริมทาง” ให้เข้าสู่โลกดิจิทัล ทั้งการบริการทางด้านการเงิน เป็น platform ด้าน E-COMERCE และเป็นศูนย์รวมข้อมูลของร้านรถเข็นริมทางให้กับบรรดาลูกค้า โดยเป็นผลงานของ “The Hominians” กลุ่มนักศึกษาชั้นปีที่ 1 คณะศิลปศาสตร์ รั้วธรรมศาสตร์ ร่วมมือกับสมาชิกจากมหาวิทยาลัยอื่นๆ ทั่วประเทศ
Planter เกมจำลองการปลูกต้นไม้ที่ให้ความรู้ ข้อมูล และฝึกฝนแก่ผู้ที่ไม่เคยปลูกต้นไม้มาก่อน หรือประสบปัญหาในการปลูกต้นไม้ ได้ทำการทดลองการปลูกผ่านระบบในเกม ก่อนที่จะได้ไปทำการปลูกต้นไม้จริง
Kimochi สตาร์ตอัพที่พัฒนานวัตกรรม ‘ผ้าอนามัย’ ด้วยความเข้าใจถึงประเด็นปัญหา ‘ก่อนใช้ ระหว่างใช้ และหลังใช้’ โดยการพัฒนาผ้าอนามัยที่สะดวกต่อการพกพา สามารถใช้งานได้สะดวกสบาย รวมถึงกำจัดได้ง่าย เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
จิราพร ขาวสวัสดิ์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ PTTOR ในฐานะพันธมิตร เล่าว่า เรื่องของการลงทุนในอนาคตอันใกล้นี้ ความเปลี่ยนแปลงหนึ่งที่ต้องคำนึงถึงพฤติกรรมของผู้บริโภคได้เปลี่ยนไปแล้ว เทคโนโลยีได้เข้ามา
ดิสรัปต์สิ่งเดิมๆ ที่เคยมีอยู่ ทำให้พฤติกรรมของคนเปลี่ยนไป ยังไม่รวมถึงการเปลี่ยนแปลงเชิงสิ่งแวดล้อมที่มีส่วนสำคัญในการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม ทั้งในส่วนการลงทุนเองและผู้บริโภค
“สิ่งที่สตาร์ตอัพจะได้จาก PTTOR นอกเหนือจากการร่วมลงทุนแล้ว จะได้เติบโตไปกับ PTTOR ด้วย โดยในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา เรามีการขยายการลงทุนขนานใหญ่ ทั้งใน SMEs และในสตาร์ตอัพ มีการปรับโครงสร้างและแยกส่วนองค์กรให้เข้ากับยุคสมัยมากขึ้น เน้นไปในเรื่องของนวัตกรรมและแสวงหาสตาร์ตอัพที่มีศักยภาพให้เข้ามาร่วมมือกับทาง PTTOR และจะร่วมกับสตาร์ตอัพเหล่านั้นไปสู่ความสำเร็จ
อย่างไรก็ดี แม้ว่าภาคการศึกษาและทุนการสนับสนุนจากภาคเอกชนจะช่วยเติมเต็มโครงการให้แข็งแกร่งเป็นอย่างมาก หากแต่การร่วมงานกับผู้ที่มีประสบการณ์ตรงและประสบความสำเร็จจากการเป็นสตาร์ตอัพ จะยิ่งทำให้ 88 SANDBOX กลายเป็นแพลตฟอร์มที่สมบูรณ์แบบมากยิ่งขึ้น”
ดิสรัปต์เพียงหนึ่ง อาจหมายถึงโอกาสนับสิบ
จับตา 1 ทศวรรษหน้า คือ ‘ยุคทอง’
ปิดท้ายที่ กระทิง-เรืองโรจน์ พูนผล เจ้าของฉายา “The Godfather of Thai Startup” อดีต Product Marketing Manager (Global Lead), Google และผู้ก่อตั้งกองทุน 500 TukTuks ซึ่งกล่าวว่า 10 ปีก่อนหน้านี้ คือช่วงเวลาที่เป็นฐานของการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในอีก 10 ปี ข้างหน้า และมันจะเป็นการเปลี่ยนแปลงแบบหักศอก ทุกอย่างจะเปลี่ยนแบบผลิกโฉมอย่างรวดเร็ว
“ทุกครั้งที่มีการดิสรัปต์เกิดขึ้น มันก็จะเกิดโอกาสที่ใหญ่กว่ามหาศาลเสมอๆ มีดิสรัปต์เพียงหนึ่ง อาจหมายถึงโอกาสนับสิบ เช่นในวงการสื่อที่เมื่อเกิดการดิสรัปต์กันขึ้นมา แทนที่จะล้ม มันกลับกลายเป็นเกิดบริษัทใหม่ๆ ที่มีมูลค่ามหาศาล
10 ปีข้างหน้าจะเป็นยุคทอง และที่สำคัญคือมันจะเป็นยุคทองของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพราะภูมิภาคนี้กำลังเป็นเงาสะท้อนกระจกของประเทศจีนเมื่อ 10 ปีก่อน การเปลี่ยนแปลงที่กำลังจะเกิดขึ้นจากการดิสรัปต์ในอุตสาหกรรมต่างๆ กำลังจะพาเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ไปสู่การเป็นจีนในปัจจุบัน ภูมิภาคนี้กำลังมีโอกาสอย่างมหาศาลในการเติบโตทางธุรกิจ” กระทิงกล่าวก่อนทิ้งท้ายว่า 88 SANDBOX จะช่วยสตาร์ตอัพไทยได้มาก ไม่ใช่แค่เป็นเพียงแพลตฟอร์มและระบบนิเวศที่ดีต่อสตาร์ตอัพไทยเท่านั้น ยังมีพันธมิตรจากภาคเอกชนที่ดี มีแหล่งทุนคอยสนับสนุน และยังมีเหล่าผู้มากประสบการณ์และประสบความสำเร็จมาแล้วช่วยเป็น Mentor พัฒนาเหล่าสตาร์ตอัพใหม่ๆ
นี่คือขบวนรถไฟของโอกาสที่รอทุกคนอยู่
ทีมข่าวเฉพาะกิจ