เจาะยุทธศาสตร์ ‘ฝรั่งเศส’ยุคใหม่ เบนเข็มทิศเน้นกระชับไทย-อินโดแปซิฟิก

คริสต็อฟ เปอโน

ฝรั่งเศส เป็นชาติมีบทบาทในประเทศไทยและภูมิภาคแถบอินโดแปซิฟิกมาหลายร้อยปี ซึ่งความสัมพันธ์ระหว่างฝรั่งเศสกับกลุ่มประเทศแถวบ้านเรา ก็มีหลากหลายมิติสลับซับซ้อน ฝรั่งเศสเคยเป็นทั้งผู้บุกเบิกสำรวจเส้นทางการค้า ผู้นำเอาอารยธรรม-วิทยาการต่างๆ เข้ามา ขณะเดียวกัน ก็เคยเป็นเจ้าอาณานิคม และมหาอำนาจทางยุทธนาวีที่หลายชาติเอเชียเกรงกลัว
แต่ในยุคปัจจุบัน รัฐบาลฝรั่งเศสกำลังเดินหน้าอย่างเต็มที่ในการกระชับความสัมพันธ์กับกลุ่มประเทศอินโดแปซิฟิกในฐานะ “พันธมิตร” และผู้ร่วมพัฒนาสาธารณประโยชน์ในด้านต่างๆ ดังที่เห็นได้จากการเดินทางมาเยือนประเทศไทยเมื่อต้นเดือนธันวาคมของคุณ คริสต็อฟ เปอโน (Christophe Penot) เอกอัครราชทูตผู้มีภารกิจดูแลความสัมพันธ์ระหว่างฝรั่งเศสกับประเทศในกลุ่มอินโดแปซิฟิกโดยเฉพาะ และแน่นอนว่ารวมถึงไทยด้วย
ตลอดการเยือนประเทศไทยครั้งนี้ คุณเปอโนได้เข้าพบปะหารือกับผู้แทนรัฐบาลและหน่วยงานต่างๆ ระดับสูงของไทย ไม่ว่าจะเป็นคณะกรรมาธิการการต่างประเทศ สภาผู้แทนราษฎร, กระทรวงการต่างประเทศ, วิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร ฯลฯ แสดงให้เห็นถึงความ “จัดเต็ม” และเอาจริงเอาจังของฝรั่งเศส ที่จะมีบทบาทมากยิ่งขึ้นในไทยและเพื่อนบ้านอย่างเห็นได้ชัด
ในโอกาสนี้ คุณเปอโนได้เปิดโอกาสให้ผู้สื่อข่าว “มติชน” ซักถามถึงแง่มุม
ต่างๆ ของยุทธศาสตร์ปักหมุดไทย- อินโดแปซิฟิกอย่างเจาะลึก ไม่ว่าจะเป็นประเด็นเรื่อง การทหาร การพัฒนา อิทธิพลของจีน ประเด็นแตกคอกับชาติพันธมิตรเมื่อไม่นานมานี้ และปัญหาด้านสิทธิมนุษยชนในภูมิภาค

มติชน : ที่มาในการเยือนไทยรอบนี้คืออะไรครับ
เปอโน : ภูมิภาคอาเซียนมีความสำคัญอย่างยิ่งยวดต่อฝรั่งเศสครับ เราต้องการร่วมมือกันมากขึ้น และนอกจากนี้ ฝรั่งเศสจะดำรงตำแหน่งประธานคณะมนตรีแห่งสหภาพยุโรป (อียู) ในช่วงครึ่งแรกของปี 2565 อีกด้วย ฝรั่งเศสให้ความสำคัญกับภูมิภาคอาเซียน ดังนั้น ภารกิจของผมเรียกได้ว่าประสานกันสามส่วนครับ เป็นความสัมพันธ์ระหว่าง ฝรั่งเศส-อียู-อินโดแปซิฟิก

คริสต็อฟ เปอโน พร้อมคณะทำงาน หารือร่วมกับเจ้าหน้าที่ฝ่ายไทย

มติชน : เรื่องใดบ้างที่ฝรั่งเศสอยากร่วมมือกับไทยเป็นพิเศษ
เปอโน : ในการเยือนครั้งนี้ ผมได้ไปบรรยายพิเศษให้นายทหารระดับสูงของไทยที่วิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักรด้วย ซึ่งแน่นอนว่าความร่วมมือด้านหนึ่งที่เราให้ความสำคัญคือ ยุทธศาสตร์
ด้านความมั่นคง แต่ก็มีด้านอื่นๆ ด้วย เช่น วิกฤตสภาวะอากาศเปลี่ยนแปลง (climate change) ซึ่งเป็นเรื่องที่เราต้องร่วมมือกันแก้ไข

มติชน : ฝรั่งเศสไม่ได้เป็นชาติเดียวที่ให้ความสนใจกับภูมิภาคแถบนี้ ประเทศจีนเองก็สนใจด้วย ท่านมองบทบาทของจีนอย่างไร
เปอโน : คำถามดังกล่าวถือว่าเป็น “คำถามใจกลางสำคัญ” ของนโยบายการต่างประเทศฝรั่งเศสในอินโดแปซิฟิกทีเดียว การผงาดขึ้นของจีนในด้านการทหารและเศรษฐกิจได้นำไปสู่การแข่งขันกันเชิงยุทธศาสตร์ระหว่างจีนกับสหรัฐอเมริกา แต่ฝรั่งเศสมีแนวทางของเราเอง นั่นคือเราให้ความสำคัญกับปฏิสัมพันธ์แบบพหุภาคี อันตั้งอยู่บนพื้นฐานของนิติรัฐ และกฎหมายระหว่างประเทศ ผมเชื่อว่านโยบายของเราจะช่วยลดความขัดแย้งได้ดีที่สุด เราไม่ต้องการถูกดึงเข้าไปเป็นคู่ขัดแย้งระหว่างใครกับใครทั้งสิ้น ซึ่งคล้ายคลึงกับนโยบายของอาเซียน ดังนั้น ผมมองว่าความเข้าใจตรงกันเช่นนี้จะเปิดโอกาสให้ไทยและอาเซียนร่วมมือกับฝรั่งเศสได้อย่างใกล้ชิด

Advertisement
ประธานาธิบดีฝรั่งเศส เอ็มมานูแอล มาครง และประธานาธิบดีจีน สี จิ้นผิง ดื่มไวน์ด้วยกันระหว่างการพบปะหารือในปี 2562

มติชน : แต่ดูเหมือนจีนจะตีความคำว่า “กฎหมายระหว่างประเทศ” ต่างกับชาติตะวันตก โดยเฉพาะประเด็นทะเลจีนใต้ แล้วจะเกิดความขัดแย้งระหว่างฝรั่งเศสกับจีนในเรื่องนี้หรือไม่
เปอโน : ผมหวังว่าจะไม่เกิดนะ แต่ก็ต้องย้ำตรงนี้ว่ารัฐบาลฝรั่งเศสให้ความสำคัญกับเสรีภาพในการเดินเรือและบินผ่านในทะเลจีนใต้ เพราะถือว่าเป็นน่านน้ำสากล เราสนับสนุนหลักการนี้ และฝรั่งเศสก็ส่งกองเรือรบไปยังทะเลจีนใต้ทุกปี เพื่อเป็นการแสดงสัญลักษณ์ว่าเรามีสิทธิในการเดินเรือในบริเวณดังกล่าว ฝรั่งเศสจะไม่นิ่งเฉยกับการกระทำของประเทศใดๆ ที่พยายามลิดรอนหลักการนี้เป็นอันขาด

มติชน : แล้วท่านมองจีนอย่างไร
เปอโน : ต้องเข้าใจว่าจีนเคยมีสถานะเป็นมหาอำนาจที่มีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในกลุ่มประเทศแถวนี้ และจีนก็กำลังกลับมาสู่สถานะดังกล่าว เราไม่มีปัญหาตรงนี้ ตราบใดที่จีนเคารพหลักการพหุภาคีและกติกาสากลต่างๆ ฝรั่งเศสกับจีนเห็นไม่ตรงกันในบางเรื่อง แต่เราก็ร่วมมือกันในหลายเรื่องเช่นกัน เช่น การแก้ไขปัญหาวิกฤตสภาวะอากาศเปลี่ยนแปลง และการบริหารจัดการหนี้ของชาติในแอฟริกา
ดังนั้น ในสายตาของเรา จีนมีสามบทบาทครับ หนึ่ง เป็นหุ้นส่วนของเรา สอง เป็นคู่แข่งของเรา และสาม เป็นปฏิปักษ์เชิงโครงสร้าง (systematic rival) ซึ่งอันนี้เราก็ต้องพูดตามสภาพความเป็นจริง จีนมีอุดมการณ์และค่านิยมที่ต่างจากฝรั่งเศส ดังนั้นจึงไม่แปลกที่จะต้องมีความขัดแย้งกัน แต่ขณะเดียวกันเราก็มีหลายเรื่องที่ร่วมมือกันได้ เป็นความสัมพันธ์ที่ซับซ้อนครับ แต่จะว่าไปแล้ว ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศต่างๆ ในยุโรปก็ซับซ้อนเหมือนกัน

มติชน : สหรัฐอเมริกาเป็นชาติพันธมิตรเก่าแก่ของฝรั่งเศส แต่ดูเหมือนจะเห็นไม่ตรงกันในเรื่องวิธีการคานอำนาจกับจีนในภูมิภาคอินโดแปซิฟิก ท่านมองความสัมพันธ์นี้อย่างไร
เปอโน : ก็เป็นความสัมพันธ์ที่เห็นแตกต่างกันบ้าง ยกตัวอย่างกรณี AUKUS [สหรัฐประกาศจะสร้างเรือดำน้ำให้ออสเตรเลีย ทั้งที่ฝรั่งเศสมีข้อตกลงจะขายเรือดำน้ำให้ออสเตรเลียก่อนแล้ว กลายเป็นการ “หักหน้า” ฝรั่งเศสโดยปริยาย] สหรัฐไม่ได้แจ้งเราหรือปรึกษาเราก่อนเลย นี่ไม่ใช่วิธีการทูตที่ถูกต้อง และเราก็ได้แจ้งสหรัฐให้รับทราบประเด็นนี้ไปแล้ว อย่างไรก็ตาม ผมคิดว่าจะไม่มีเหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นอีก เป็นกรณีที่เฉพาะเจาะจงมาก ตอนนี้สหรัฐน่าจะเข้าใจแล้วว่าควรปฏิบัติต่อพันธมิตรอย่างไร

Advertisement
กองเรือรบและเรือดำน้ำฝรั่งเศส แล่นผ่านทะเลจีนใต้ในเดือน ก.พ. 2564

มติชน : ท่านกล่าวว่าจีนมีค่านิยมที่แตกต่างไปจากฝรั่งเศส แต่หลายประเทศในอาเซียนเองก็ดูเหมือนไม่ยึดถือหลักประชาธิปไตย หรือสิทธิ มนุษยชนเช่นกัน แล้วท่านจะจัดการความสัมพันธ์นี้อย่างไร
เปอโน : สิทธิมนุษยชนเป็นหลักการที่สำคัญของฝรั่งเศสอยู่แล้ว ผมเข้าใจหลักการ “ไม่แทรกแซงกันและกัน” ของอาเซียน แต่ขณะเดียวกัน เราก็พร้อมที่จะแสดงท่าทีเกี่ยวกับปัญหาสิทธิมนุษยชนต่างๆ เช่น กรณีเมียนมา

มติชน : เมื่อไม่นานมานี้ เพิ่งมีชาวฝรั่งเศสถูกเนรเทศออกจากไทย เพราะแสดงความเห็นทางการเมืองในโซเชียล มีเดีย ท่านมองเรื่องนี้อย่างไร
เปอโน : คุณต้องถามเรื่องนี้กับท่านเอกอัครราชทูตฝรั่งเศสประจำประเทศไทยโดยตรงนะ เพราะเป็นหน้าที่รับผิดชอบของท่านทูต แต่ผมสามารถกล่าวได้ตรงนี้เลยว่า ประเทศไทยเป็นหุ้นส่วนที่สำคัญของเรา เราต้องการร่วมมือและกระชับความสัมพันธ์กันให้ได้มากที่สุด แต่เราก็สงวนสิทธิ์ในการหยิบยกเรื่องสิทธิมนุษยชนขึ้นมาหารือกับฝ่ายไทยในวาระ หรือโอกาสที่เหมาะสมเช่นกัน ผมว่าสองอย่างนี้สามารถทำควบคู่ไปพร้อมๆ กันได้ครับ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image