เสียงในใจคนกรุงเทพฯ ความหวังปีหน้า กับผู้ว่าฯกทม.คนใหม่

แม้ยังไม่กำหนดวันเลือกตั้ง

แม้ยังเปิดตัว (ว่าที่) ผู้สมัครกันไม่ทันจะครบ

แต่บรรยากาศความพร้อมในการช่วงชิงตำแหน่งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครคึกคักและมีสีสันอย่างยิ่ง

หลังจากไม่ได้มีการจัดการเลือกตั้งมานานเกือบ 9 ปี ตั้งแต่การที่ชาวกรุงได้เข้าคูหาเลือกผู้ว่าฯ ครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 3 มีนาคม
พ.ศ.2556

Advertisement

ล่าสุด คาดการณ์ว่าคนกรุงเทพฯจะได้จับปากกาอีกครั้งกลางปี 2565 ที่กำลังจะมาถึง

ประชากรกรุงเทพมหานครตามทะเบียนบ้านในวันนี้ มีปัญหาอะไรที่อยากให้ผู้ว่าฯกทม.คนใหม่ช่วยแก้ไขทั้งเฉพาะหน้าและระยะยาว?

ผู้ว่าฯกทม.แบบไหนที่ผู้ใช้ชีวิตและลมหายใจในเมืองหลวงแห่งนี้ต้องการ?

Advertisement

ปัจจัยอะไรบ้างที่มีส่วนในการตัดสินใจ พรรคการเมืองมีผลหรือไม่?

ทายาทสายตรง ความแข็งแกร่งในปฐพี นโยบายที่ก้าวไปไกล แนวคิดทางการเมือง จนถึงสังกัดพรรคเป็นปัจจัยสำคัญมากน้อยแค่ไหน?

มาฟังคำบอกเล่าจากกลุ่มคนหลากหลายอาชีพผู้ที่ใช้ชีวิตจริงในเมืองหลวงแห่งนี้ไปพร้อมๆ กัน

ศานนท์ หวังสร้างบุญ หนึ่งในทีมกลุ่มเมล์เดย์ (Mayday) ผู้ออกแบบปรับปรุงป้ายหยุดรถเมล์รูปแบบใหม่

เรื่อง (ไม่) เล็กของฟุตปาธ น้ำท่วม ขยะ

ปัญหาสาธารณะที่ ‘ไม่มีเจ้าภาพ’

เริ่มต้นที่ ศานนท์ หวังสร้างบุญ ผู้ร่วมก่อตั้ง Once Again Hostel และ Luk Hostel โฮสเทลใจกลางกรุงเทพฯ และเป็นหนึ่งในทีมกลุ่มเมล์เดย์ (Mayday) ผู้ออกแบบปรับปรุงป้ายหยุดรถเมล์รูปแบบใหม่ เล่าถึงปัญหาในกรุงเทพฯที่ตนมองเห็นและประสบพบเจอในการทำงาน รวมไปถึงปัจจัยในการเลือกผู้สมัครผู้ว่าฯกทม.ว่า หากดูบทบาทของผู้ว่าฯจริงๆแล้วไม่ได้มีอำนาจอะไรที่ทำได้กว้างทั้งประเทศเหมือนนายกรัฐมนตรี เพราะฉะนั้นปัญหาที่เกิดขึ้นกับคนกรุงเทพฯน่าจะเป็นปัญหาเล็กๆ เช่น ปัญหาฟุตปาธ ปัญหาขยะ ปัญหาท่อน้ำ ปัญหาที่เป็นงานของสาธารณะที่ไม่มีเจ้าภาพ อย่างกรณีที่ทีมของตนทำเรื่องป้ายรถเมล์ กลุ่มเมล์เดย์ (Mayday) ที่ออกแบบปรับปรุงป้ายหยุดรถเมล์รูปแบบใหม่ ต้องตกลงกับหน่วยงานประมาณเกือบ 20 หน่วยงานเพื่อที่จะทำเรื่องป้ายรถเมล์ ส่วนของทางเท้าก็เป็นเรื่องของกรุงเทพมหานครบ้าง ส่วนของสายไฟเป็นเรื่องของการไฟฟ้านครหลวง ซึ่งต้องเกี่ยวข้องกับคนจำนวนมาก ทำให้งานที่เป็นงานสาธารณะตรงกลางไม่มีคนดูแล

“สำหรับผมปัญหาที่เป็นเรื่องที่ใหญที่สุดคือการให้ผู้ที่เป็นตัวแทนของประชาชนที่อยู่ในกรุงเทพฯดูแลพวกเราจริงๆ เพราะถ้าจะบอกว่าเป็นหน้าที่ใครมันก็แก้ไม่จบต้องแก้ในระดับประเทศ แต่ขอให้ผู้ว่าฯทำหน้าที่เป็นตัวแทนประชาชนแค่นี้ก็พอ

ปัจจัยหลักในการเลือกผู้สมัครผู้ว่าฯกทม.อยู่ที่ 2 ส่วน ปัจจัยที่ 1 คือวิสัยทัศน์ว่าเขาอยากที่จะพัฒนาเมืองไปในทิศทางไหน อย่างตอนนี้มีตัวอย่างของผู้ลงสมัครมี คุณชัชชาติ สิทธิพันธุ์ คุณรสนา โตสิตระกูลและคุณสุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ แต่ละคนก็เน้นคนละเรื่อง คุณชัชชาติเน้นเรื่องนโยบายเส้นเลือดฝอยที่เน้นการแก้ปัญหาเล็กๆ ที่ใกล้ตัวผู้คน คุณรสนาเน้นนโยบายเรื่องคอร์รัปชั่น การใช้เงินอย่างถูกต้องคุณสุชัชวีร์ดูเป็นนโยบายเรื่องของโครงการขนาดใหญ่ ซึ่งแต่ละคนก็มีวิสัยทัศน์ที่มุ่งไปคนละด้าน ตรงนี้เป็นเรื่องแรกที่คนจะตัดสินใจ

ส่วนปัจจัยที่ 2 ที่คนมักไม่พูดถึงแต่คิดว่าสำคัญคือความเข้าใจว่าจะทำอย่างไร ข้อแรกเหมือนเป็น What คืออยากเห็นกรุงเทพฯเป็นแบบไหน อย่างคุณชัชชาติบอกว่าอยากเห็นกรุงเทพฯเป็นเมืองน่าอยู่สำหรับทุกคน คุณสุชัชวีร์พูดเกี่ยวกับกรุงเทพฯที่ทันสมัย ส่วนนี้คือข้อแรก ส่วนข้อสองคือ How หมายความว่าจะทำอย่างไรซึ่งคิดว่าเป็นจุดตัดที่สำคัญในมุมมองของผม

ปัจจัยที่ 3 คิดว่าในช่วงท้ายของการเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม.ส่วนใหญ่จะไปเกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งใหญ่เสมอ อย่างหลายปีก่อนที่ได้เลือกตั้งผู้ว่าฯกทม.ล่าสุดก็เกือบ 10 ปี ก็จะไปอิงว่าถ้าไม่เลือกพรรคฉันอีกพรรคหนึ่งได้แน่ๆ อะไรประมาณนี้ ซึ่งปัจจัยแรกกับปัจจัยที่สองหายไปเลยกลายเป็นเรื่องของการเมืองใหญ่ไปแทน คือหลายคนให้ความสำคัญเรื่องของวิสัยทัศน์และวิธีที่จะปฏิบัติเป็นหลัก และในช่วงใกล้เลือกตั้งผู้คนอาจจะให้ความสำคัญกับเรื่องของการเมืองมากขึ้น” ศานนท์กล่าว

ครั้งแรกในชีวิต รอเลือกผู้ว่าฯ

ขออย่าพัฒนาแบบ ‘กระจุกตัว-ติดหล่มราชการ’

ภูเบศ แสงดี บัณฑิตรัฐศาสตร์
รอเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม.ครั้งแรกในชีวิต

ในขณะที่ ภูเบศ แสงดี บัณฑิตรัฐศาสตร์ อายุ 22 ปี ที่กำลังจะได้เลือกตั้งผู้ว่าฯกทม.เป็นครั้งแรกในชีวิต หลังจากประสบกับระบบการทำงานของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มาเป็นเวลานาน ภูเบศเล่าว่า แน่นอนที่สุดว่าปัญหาในกรุงเทพฯที่คนคาดหวังรวมถึงตนส่วนมากจะเป็นเรื่องน้ำท่วม รถติดและเรื่องสิ่งอำนวยความสะดวกขั้นพื้นฐาน เป็นเรื่องที่ผู้คนพูดกันมานานมากซึ่งมีการพัฒนาแต่ไม่ได้พัฒนาไปครบทุกจุด เป็นการพัฒนาในส่วนที่เป็นเขตสถานที่สำคัญ เขตเมือง หรือเขตพื้นที่เศรษฐกิจ

“เนื่องจากในการทำงานไม่ได้มีแค่กรุงเทพมหานครหน่วยงานเดียวที่ดูแลตรงนี้ยังมีหน่วยงานอื่นๆ ที่มาร่วมกันด้วย อย่างเช่นเรื่องทางเท้าเรื่องเดียวก็พูดได้ถึง 3-4 หน่วยงาน เพราะฉะนั้นเรื่องของการประสานงานแต่ละหน่วยงานก็เป็นเรื่องสำคัญ เป็นเรื่องที่น่าคิดว่าผู้สมัครผู้ว่าฯกทม.แต่ละคนจะมีนโยบายออกมาในรูปแบบไหนและจะทำอย่างไรกับปัญหาต่างๆเหล่านี้

ปัจจัยในการเลือกผู้ว่าฯสำหรับผมมองเรื่องนโยบายที่ใช้หาเสียงดูเรื่องของคุณสมบัติ รวมไปถึงเรื่องของวิธีคิดที่บางครั้งส่งผลกระทบต่อการทำนโยบายหรือการตัดสินใจอะไรหลายๆอย่างในการขับเคลื่อนองค์กรหรือการพัฒนาเมือง ยกตัวอย่างสองผู้สมัครที่ตอนนี้จะลงแน่ๆคือคุณชัชชาติกับคุณสุชัชวีร์ ด้วยความที่สองคนนี้เป็นวิศวกรซึ่งมีกระบวนการคิดแบบเห็นเป็นโครงสร้างโดยรวม ผมเชื่อว่านโยบายแต่ละข้อที่ออกมาน่าจะมีการวิเคราะห์ที่เป็นรูปธรรม สามารถจับต้องได้

แต่ปัญหาที่จะติดคือเรื่องของหล่มระบบราชการ ซึ่งผู้ว่าฯกทม.หลายๆ คนที่ผ่านมามีพื้นฐานจากการเป็นข้าราชการหรืออยู่ในระบบราชการมาก่อน อาจจะทำให้ความคิดริเริ่มหรือความคิดสร้างสรรค์อาจจะไปไม่สุด ตรงนี้ก็เป็นเรื่องของคุณสมบัติส่วนบุคคล และมีเรื่องของการประชาสัมพันธ์ตัวเอง เรื่องของการที่จะทำให้คนคล้อยตาม ซึ่งตรงนี้สำคัญมากว่าจะทำอย่างไรให้คนเข้าใจเรา” ภูเบศเล่า

ข้าราชการ-อาชีพอิสระ ห่วงประชากรแออัด

ค่าครองชีพสูง คนไร้บ้าน

ธัณตวัธ ทับจันทร์
ข้าราชการครูโรงเรียนมัธยมชื่อดังใจกลางกรุงเทพฯ

จากคนรุ่นใหม่ มาฟังเสียงของข้าราชการครูประจำโรงเรียนมัธยมชื่อดังกลางกรุงลำดับต้นๆของประเทศ อย่าง ธัณตวัธ ทับจันทร์ ซึ่งมองว่าปัญหาของกรุงเทพฯ คือจำนวนประชากรที่มีมากเกินไปจึงอยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดระเบียบเพื่อลดความแออัด

“สำหรับผมมองว่าปัญหาเรื่องของประชากรที่มันมากเกินไป เรื่องของการหลั่งไหลของประชากรที่เข้ามาทำงานในกรุงเทพฯ ซึ่งเราอาจจะมองในเรื่องของกฎหมาย แต่จริงๆ เมืองหลวงก็เป็นเมืองของทุกคน เราไม่สามารถที่จะไปจำกัดหรือระบุได้ว่าใครเข้าออกได้หรือไม่ได้ ทำให้มองไปถึงเรื่องการบริหารจัดการของผู้นำ คำว่าผู้นำในความรู้สึกผมก็ไม่ได้หมายถึงรัฐบาลเพียงอย่างเดียว เพราะรัฐบาลเขามองเกี่ยวกับเรื่องของการบริหารระดับประเทศ แต่อาจจะหมายถึงงานในส่วนต่างๆ เช่นผู้ว่าฯ หรือหน่วยงานราชการที่มีความเกี่ยวข้องนั้นจะจัดสรรในเรื่องของการวางระเบียบหรือลดความแออัดของประชากรอย่างไรบ้าง

อีกอย่างคือในฐานะที่อยู่กรุงเทพฯมานาน ในเรื่องของการก่อสร้างอาคารต่างๆ ในบางพื้นที่สามารถสูงได้แต่ในปัจจุบันหลายพื้นที่รู้สึกว่าตึกมันสูงเกินไป คือไม่ได้บอกว่ามันดีหรือไม่ดี แต่อย่างที่บอกว่าเมืองหลวงสำหรับสายตาคนภายนอกมองมาจะต้องดูดีในองค์รวมทั้งหมด ส่วนปัญหาอื่นๆ ก็เป็นปัญหาประปราย เช่น ปัญหารถติด เพราะว่าถ้ามีคนจำนวนมากการจราจรติดขัดมันก็เป็นเรื่องปกติ” ธัณตวัธกล่าว

จักริน จักร์รัตน์พาหุ นักดนตรีอิสระ

ในขณะที่ผู้ทำอาชีพอิสระอย่าง จักริน จักร์รัตน์พาหุ นักดนตรีสถานบันเทิงในกรุงเทพฯ และ บุญมา รุ่งเรือง ผู้ดูแลอพาร์ตเมนต์แห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ ทั้งสองได้เล่าถึงปัญหาในเมืองกรุงที่อยากให้ได้รับการแก้ไข และบอกถึงปัจจัยที่ช่วยในการตัดสินใจเลือกผู้ว่าฯกทม.ในมุมมองของตนเอง

บุญมา รุ่งเรือง ผู้ดูแลอพาร์ตเมนต์แห่งหนึ่ง

“กรุงเทพฯต้องพร้อมที่จะได้เปลี่ยนแปลงและแก้ไขซึ่งนั่นหมายถึงพัฒนาการ ปัจจัยที่คนใช้ในการตัดสินใจเลือกผู้สมัคร คือ นโยบาย พรรคที่สังกัด และรูปพรรณสันฐาน หรือจริงๆแล้วทุกอย่างเกี่ยวข้องหมด ตราบใดก็ตามที่ประชาชนต้องเป็นคนเลือก การที่ผู้สมัครผู้ว่าฯกทม. แต่ละคนมีปฏิกิริยาทั้งทางตรงและทางอ้อม หรือทางกายภาพและทางจิตใจ ทุกอย่างจะถูกนำไปเป็นส่วนในการตัดสินใจของประชาชน” จักรินกล่าว

“ปัญหาสำหรับป้าคือเรื่องค่าครองชีพที่สูง อาหารหรือค่าเดินทางมันแพง อีกเรื่องคือคนไร้บ้านเยอะไม่อยากให้มีเลย อยากให้จัดการให้ดี เรื่องปัจจัยในการตัดสินใจเลือกแต่ละคนก็พูดในแนวว่าจะช่วยแต่ละเรื่องไม่เหมือนกัน แนวทางแต่ละคนก็รอใกล้ๆ วันเลือกตั้งก่อนมันจะมีตัวเลือกออกมาเรื่อยๆ มาให้เห็น” บุญมากล่าว

หมดยุคผู้นำสั่งหันซ้าย-ขวา

เมืองจะพัฒนา ประชาชนต้อง (ได้) ร่วมมือ

ฟังเสียงบุคคลต่างๆ หลากหลายอาชีพและวัยที่กล่าวถึงปัญหาในกรุงเทพฯ ผ่านมุมมองของตัวเองแล้ว ถามว่าประเด็นการเมือง อย่างพรรคที่สังกัดหรือที่ปรึกษาซึ่งว่าที่ผู้สมัครฯ ดึงมาช่วย มีผลต่อการตัดสินใจหรือไม่ ?

ศานนท์ ภูเบศ และ จักริน ทั้งสามเห็นตรงกันว่าพลังทางการเมืองนั้นส่งผลต่อการตัดสินใจของตัวเอง เนื่องจากสนามของการเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม.มีความเชื่อมโยงไปถึงการเลือกตั้งทางการเมืองครั้งใหญ่ในอนาคต

ศานนท์ มองว่า พรรคการเมืองมีผลกับการเลือกผู้ว่าฯกทม.อยู่แล้ว เนื่องจากบางคนจะรู้สึกอินกับการเปลี่ยนในโครงสร้างใหญ่ในการบริหารจัดการ เพราะในโครงสร้างใหญ่นั้นระหว่างผู้ว่าฯกทม.กับอำนาจที่มีไม่สอดคล้องกัน ซึ่งเมื่อเป็นเช่นนั้นคนจะบอกว่าเมื่อมีปัญหาให้ผู้ว่าฯแก้ แต่ส่วนตัวมองว่าผู้ว่าฯกทม.ไม่มีอำนาจที่จะแก้อะไรมากนัก เพราะฉะนั้นบางคนจะมองว่าผู้ว่าฯไม่สามารถแก้ปัญหาประเทศหรือเมืองกรุงเทพฯได้ ต้องเชื่อมโยงไปสู่พรรคการเมืองเท่านั้น ไม่ว่าใครจะประกาศวิสัยทัศน์อะไรก็จะมองว่าผู้ว่าฯทำไม่ได้ต้องไปเชื่อมโยงกับรัฐบาลใหญ่เท่านั้น

“ที่มาของผู้ว่าฯกทม.เป็นเรื่องสำคัญ เมื่อไม่ได้เชื่อมโยงกับประชาชน เขาก็ไม่ได้รับใช้ประชาชนอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นการที่ไม่ได้รับเลือกตั้งเป็นปัญหาใหญ่เพราะถ้าประชาชนมีปัญหาเขาจะรับใช้เราหรือเปล่า เขาไม่ได้แคร์เราเพราะเขาไม่ได้มาจากเรา ที่ผ่านมายังมีความเชื่อมโยงกับประชาชนและสามารถเข้าถึงผู้ว่าฯได้มากกว่า บางคนยังไม่รู้จักผู้ว่าฯกทม.คนปัจจุบันเลยและยังไม่รู้ว่าเขาอยากที่จะทำให้กรุงเทพฯเป็นอย่างไร เมื่อเราไม่รู้ว่าเป้าหมายของผู้ว่าฯเป็นอย่างไร ความร่วมมือของประชาชนที่จะสร้างเมืองให้ดีมันจะเกิดได้อย่างไร เราไม่ได้อยู่ในยุคที่ผู้นำสั่งให้หันซ้ายหันขวาได้อยู่แล้วการที่จะทำเมืองให้ดีขึ้นจำเป็นอย่างยิ่งที่ประชาชนทุกคนจะต้องเห็นด้วยและร่วมมือ” ศานนท์ย้ำ

ด้าน ภูเบศ มองสอดคล้องกันว่า สนามการเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม.ก็มีอิทธิพลและมีบทบาทในระดับหนึ่งเป็นเหมือนสนามจิ๋วของการเมืองระดับชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเขต กทม.

“กทม.ที่มาจากการเลือกตั้งคนล่าสุด ตอนนั้นผมยังอายุ 14-15 ปี ก็ยังจำอะไรไม่ค่อยได้ว่าผลงานเป็นอย่างไร พอมาเจอระบบกับดักของ คสช.ซึ่งลดอำนาจบทบาทของท้องถิ่นไปมากพอสมควร ทำให้คนไม่เห็นภาพว่ายุค คสช.ท้องถิ่นมีบทบาทอะไรบ้าง เพราะฉะนั้นเรื่องของความยึดโยงกับประชาชนเป็นเรื่องที่ขาดหายไป ส่วนเรื่องการรับฟังผมว่ากรณีคุณอัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าฯกทม. คนปัจจุบัน ดูดีเลย์ไปนิดหน่อยซึ่งมันอาจจะตอบโจทย์ประชาชนได้ช้าด้วย” ภูเบศกล่าว

ชี้ชะตาผู้ว่าฯคนใหม่

นโยบาย โปรไฟล์ หรือชื่อพรรค?

ในขณะที่ ธัณตวัธ บอกว่า พรรคการเมืองไม่ได้ส่งผลต่อการตัดสินใจของตัวเองในการเลือกผู้ว่าฯกทม.เนื่องจากการทำงานของตัวบุคลลและภาพรวมของพรรคเป็นเรื่องที่แยกออกจากกัน โดยมองไปที่ผลงานของตัวผู้สมัครมากกว่า

“เรื่องของพรรคการเมืองที่ส่งผลต่อการตัดสินใจสำหรับคนรอบตัวผมมีผลนะ แต่สำหรับผมไม่มีผล เพราะไม่ได้มองที่พรรคการเมืองแต่มองที่ตัวบุคคล บางทีคนอาจะไม่ชอบพรรคแต่ชอบตัวบุคคล ผู้ว่าฯอาจจะทำงานดีแต่พรรคการเมืองทำงานไม่ดี

ที่มาของผู้ว่าฯกทม.คิดว่าต้องมองเหตุการณ์เป็นหลักคือบางครั้งหลายๆ คนอาจจะมองว่าปฏิกิริยาของประชาชนที่มีต่อ คสช.อาจจะเป็นเชิงลบ แต่ปฏิกิริยาของประชาชนกับคุณอัศวินอาจจะเป็นบวก รู้สึกว่ามันอยู่ที่ผลงานของบุคคลมากกว่า

ส่วนเรื่องที่มาของผู้สมัครผู้ว่าฯกทม.ยุค คสช.มาจากการแต่งตั้ง ดังนั้นนโยบายและผลการดำเนินงานอาจไม่สามารถตอบสนองความต้องการของประชาชนในกรุงเทพฯได้อย่างแท้จริง ส่วนผู้ว่าฯที่มาจากการเลือกตั้ง จำเป็นต้องกำหนดนโยบายที่คิดว่าจะสามารถตอบสนองความต้องการของประชาชนได้มากที่สุด เพราะประชาชนมีสิทธิในการเลือกผู้ที่จะเข้ามาดำรงตำแหน่ง” ธัณตวัธกล่าว

ขณะที่ บุญมา มองไปในทิศทางเดียวกันว่า ขอดูที่นโยบายไม่ใช่ชื่อพรรค

“ส่วนใหญ่ป้าจะดูนโยบายเพราะบางครั้งมีหัวหน้าพรรคไม่ดีแต่ลูกน้องดีก็มีหลายแบบ ต้องดูประสบการณ์และหลายๆ อย่าง ตอนนี้ไม่เหมือนเมื่อก่อนเราต้องดูว่าในพรรคมีใครดีบ้างหรือไม่ดีบ้าง ส่วนผู้ว่าฯที่มาจากการเลือกตั้งกับผู้ว่าฯที่มาจาก คสช. ป้าว่าต่างกันในเรื่องของระบบการทำงาน” บุญมากล่าวก่อนปิดท้ายว่า

ผู้ว่าฯกทม.คนปัจจุบันเขาก็ทำงานดีเหมือนกันนะ แต่ยังไม่ดีพอ

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image