ฤาจะเลือนลบกลบสิ้น 40 ปี “6 ตุลา 19” บันทึกแห่งเหตุการณ์ ‘ลืมไม่ได้-จำไม่ลง’

“ความเข้าใจโดยทั่วไป บันทึกความทรงจำทำหน้าที่บันทึกสิ่งที่ต้องการจำ สิ่งที่ไม่ถูกบันทึกแปลว่าสิ่งนั้นจบหายสิ้นไปก็ได้ กล่าวอีกอย่างก็คือในความเข้าใจทั่วๆ ไป ชั่วขณะที่บันทึกหยุดลงหมายถึงการลืม หมายถึงความทรงจำที่ยุติหรือหายไป

“แต่เราแน่ใจหรือว่าในกรณีนี้การหยุดลงและความเงียบ หมายถึงการลืม

“บันทึกของจินดาที่หยุดลงไม่ใช่การยุติเรื่องลงฉับพลัน ตรงข้ามการหยุดบันทึกเป็นการหยุดเวลาไว้ ไม่ให้เดินต่อไปจนถึงการรับรู้แน่ชัดว่าจารุพงษ์เสียชีวิตไปแล้ว”

-ธงชัย วินิจจะกูล-

Advertisement

นับจากวันนั้นจนถึงวันนี้ ผ่านมา 40 ปีแล้ว หากแต่เรายังรู้อะไรเกี่ยวกับเหตุการณ์ “6 ตุลา 2519” น้อยมากๆ

หนังสือเรียนประวัติศาสตร์ในระบบโรงเรียน แทบไม่มีบันทึก หรือพูดถึงก็เพียงส่วนเสี้ยว ทั้งยังเป็นคำบอกเล่ากระท่อนกระแท่นมากๆ อย่าพูดถึงเรื่องการหาตัว “ผู้ก่อการ” เลย ผ่านมาจนป่านนี้ กี่คนจะรู้ว่าผู้ที่เสียชีวิตครั้งนั้น มีชื่อเสียงเรียงนามว่าอะไรบ้าง

เหตุการณ์ล้อมปราบนักศึกษาที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในเช้ามืดของวันที่ 6 ตุลาคม 2519 เมื่อ 40 ปีที่แล้ว ใครบางคนอาจหลุดปากพล่อยๆ ออกมาว่าเป็น “อุบัติเหตุทางการเมือง” แต่แท้จริงแล้ว เมื่อสืบสาวเรื่องราวกลับไป เราจะพบหลายเหตุ หลายปัจจัย ที่วันนี้อาจจะพูดได้เต็มปากเต็มคำแล้วว่า “เตรียมการล่วงหน้า”

Advertisement

เป็นประวัติศาสตร์การเมืองที่โหดเหี้ยม อำมหิตในประเทศที่ได้ชื่อว่า “เมืองพุทธ”

ประชาธิปไตยที่กำลังเบ่งบานหลังเหตุการณ์วันมหาปิติ “14 ตุลา 2516” ถูกมือที่มองไม่เห็นทุบพังทลายครืนลงฉับพลัน

ก่อนจะเริ่มต้นยุคเผด็จการสืบเนื่องยาวนานมาอีกระยะหนึ่ง

3
เจ้าหน้าที่อาวุธครบมือ สลายการชุมนุม

 ‘ฤาจะเลือนลบกลบสิ้น’ 

บันทึกแห่งกาลเวลาที่ต้อง’ไม่ลืม’

ในวาระครบรอบ 40 ปี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้มีการแต่งตั้ง “คณะกรรมการจัดงาน ครบรอบ 40 ปี 6 ตุลา 2519” ขึ้นมาชุดหนึ่ง

มีการจัดทำหนังสือสำหรับงานนี้ขึ้นชื่อปกว่า “ฤาจะเลือนลบกลบสิ้น” อันจะเป็นหนังสือที่นำเสนอ “ความจริง” ที่เคยเกิดขึ้นในรูปแบบที่รัฐไม่เคยบอกเล่าให้ผู้คนในประเทศนี้ได้รับรู้มาก่อน-ใช่ไหมว่า ที่ผ่านมานั้นมีแต่การทำให้ลืมเหตุการณ์นี้?

ดังที่ ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ ที่ปรึกษาคณะกรรมการจัดงาน ได้กล่าวไว้ในคำนำเสนอของหนังสือตอนหนึ่งว่า…” ‘ความจริง’ ในประวัติศาสตร์ไทยที่ผ่านมา ไม่อาจสร้างและสถาปนาความเป็นจริงในความคิดและความรับรู้ของคนไทยจำนวนมากขึ้นมาได้ เพราะโลกในความคิดและจินตนาการของสังคมไทย ยังสลัดไม่ออกจากกระบวนการคิดแบบไม่สมัยใหม่ ไม่วิทยาศาสตร์ และไม่ประชาธิปไตย…

“ความรู้กับอำนาจนั้นมาด้วยกันและไปด้วยกัน แสดงว่าโครงสร้างอำนาจที่ดำรงและปฏิบัติอยู่ในสังคมไทยนั้น ไม่ได้มีความรู้ที่เป็นความจริงทางภววิสัยหรือประจักษ์นิยม มากเท่ากับที่เป็นแบบไสยศาสตร์และแบบจารีตประเพณี โครงสร้างอำนาจแบบจารีตไม่อาจสร้างให้เกิดปรัชญาและความคิดวิธีคิดเชิงจริยธรรมในข้อเท็จริงทางประวัติศาสตร์ 6 ตุลาขึ้นมาได้…”

7
นักศึกษาถูกเจ้าหน้าที่ควบคุมตัว

เพราะตระหนักในความจริงประจักษ์นี่เอง หนังสือเล่มนี้จึงได้ย้อนไปสืบค้น “ข่าวหนังสือพิมพ์” ที่นำเสนอในช่วงเหตุการณ์

ไล่เรียงมาตั้งแต่วันที่ จอมพลถนอม กิตติขจร บรรพชาเป็นสามเณรที่ประเทศสิงคโปร์ แล้วเดินทางเข้าประเทศไทยในวันที่ 19 กันยายน 2519 ท่ามกลางเจ้าหน้าที่รัฐให้ความคุ้มครองเป็นจำนวนมาก พาไปอุปสมบทเป็นพระภิกษุ ขณะเดียวกับที่กลุ่มนักศึกษาออกมาประท้วง และให้รัฐบาลส่งตัวผู้มีส่วนสำคัญที่ทำให้มีนักศึกษาประชาชนเสียชีวิตจากเหตุการณ์ 14 ตุลา 2516 ผู้นี้ ออกนอกประเทศโดยเร็วที่สุด

คำตอบจากรัฐบาลในขณะนั้นยังไม่มีออกมาชัดเจน

แต่สิ่งที่ชัดเจนกลับเป็นการที่ 2 ช่างไฟฟ้า จ.นครปฐม ถูกฆาตกรรมและแขวนคออย่างโหดเหี้ยม ในขณะที่ออกไปติดโปสเตอร์ต่อต้านพระถนอม โดยการเสียชีวิตครั้งนี้ คาดว่าเจ้าหน้าทีตำรวจอาจมีส่วนรู้เห็นด้วย

ลำดับข่าวจากหนังสือพิมพ์ ประชาชาติ, สยามรัฐ, ไทยรัฐ, ประชาธิปไตย หรือแม้แต่ หนังสือพิมพ์ดาวสยาม รายงานเหตุการณ์เหล่านี้ จนไม่อาจปฏิเสธได้เลยว่าเคยเกิดขึ้น

เหตุฆาตกรรม 2 ช่างไฟฟ้า ที่ยังจับตัวผู้กระทำผิดไม่ได้นี่เอง ทำให้นักศึกษารวมตัวกันและแสดงละครเรื่องการบวชเข้ามาของพระถนอม การฆ่าแขวนคอ กระทั่งสุดท้ายหนังสือพิมพ์ดาวสยาม ตีพิมพ์ภาพการแสดงละครที่ลานโพธิ์ โดยกล่าวหาว่าเป็นการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ

ฝ่ายต่อต้านนักศึกษาประกาศชัดว่า กรณีพระถนอมและผู้ที่ถูกแขวนคอเป็นเพียงข้ออ้างในการชุมนุมก่อความไม่สงบเท่านั้น แต่ความจริงต้องการทำลายชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ วิทยุยานเกราะ ชมรมวิทยุเสรี ร่วมประโคมข่าว เรียกกลุ่มนักศึกษาที่อยู่ในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ว่า “ผู้ก่อความไม่สงบ” ดึงเอากลุ่มไม่เห็นด้วยกับนักศึกษาอย่าง กลุ่มกระทิงแดง กลุ่มลูกเสือชาวบ้าน ออกมาร่วมต่อต้านเป็นจำนวนมาก

นี่คือ “ความจริง” ที่เคยเกิดขึ้น

และก็นำมาสู่ “ความจริง” ที่ว่า มีการล้อมปราบนักศึกษาในเช้ามืดวันที่ 6 ตุลาคม 2519 อย่างโหดเหี้ยมอำมหิต โดยเจ้าหน้าที่รัฐ และกลุ่มผู้ที่ถูกปลุกปั่น ยั่วยุ หรือแม้แต่เชื่ออย่างสุดจิตสุดใจว่านักศึกษาเหล่านี้ฝักใฝ่ลัทธิคอมมิวนิสต์

การฆ่าอย่างไม่รู้สึกผิดจึงเกิดขึ้นอย่างที่หลายคนรับรู้

 

‘ธงชัย วินิจจะกูล’ เขียน

ว่าด้วยบทบันทึกแห่ง ‘ความหวัง’

คิดถึงเหตุการณ์ “6 ตุลา 2519” นอกจากภาพความโหดร้ายป่าเถื่อนแล้ว มักจะคิดถึงชื่อหนังสือของ ธงชัย วินิจจะกูล หนึ่งในนักศึกษาที่อยู่ร่วมในเหตุการณ์ครั้งนั้น

ปัจจุบัน ธงชัยมีงานศึกษาเกี่ยวกับเหตุการณ์นี้ออกมาหลายชิ้น หลายเล่ม ที่รวมอยู่ใน “ฤาจะเลือนลบกลบสิ้น” ซึ่งจัดพิมพ์ในวาระ 40 ปีนี้ก็เช่นกัน กับบทความที่มีชื่อว่า “ตามหาลูก : จดจำและหวังด้วยความเงียบ” ที่อ่านแล้วยอมรับว่าน้ำตาซึมไปหลายครั้งทีเดียว

กว่าจะทำใจ ปาดน้ำตา และอ่านจนจบ ยอมรับว่าไม่ใช่เรื่องง่าย

“แม้จะผ่านไป 4 ทศวรรษแล้ว 6 ตุลายังถือเป็นเรื่อง ‘ละเอียดอ่อน’ ที่ผู้คนจำนวนมากยังไม่กล้าพูดถึงอย่างเต็มปากเต็มคำ ยิ่งมิต้องพูดถึงการหาความยุติธรรม คุณค่าของการเสียสละชีวิตจึงยังกำกวมไปด้วย ปกติสังคมไทยไม่ได้เคารพให้เกียรติแก่ผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์ทางการเมืองในแง่ปัจเจกชนที่มีชื่อ มีหน้าตา มีครอบครัวสักเท่าไหร่ พวกเขามักถูกจดจำเป็นเพียงตัวเลข…

“ผู้เสียชีวิต 6 ตุลา ยิ่งถูกละเลย ในภาวะเช่นนี้มีแค่ครอบครัวของพวกเขาแต่ละคนที่ยังจดจำได้ไม่ลืม และครอบครัวของเขาส่วนมากกลับยังต้องเก็บงำความทุกข์จากการสูญเสียและจดจำไว้อย่างเงียบๆ เพราะไม่แน่ใจว่า หากเปิดเผยตัวจะมีผลกระทบต่อชีวิตของพวกเขาอย่างไร ทั้งๆ ที่เขาควรได้รับเกียรติอย่างน่าภาคภูมิใจ” ธงชัยให้หมายเหตุเกี่ยวกับงานชิ้นดังกล่าว

9
จินดา ทองสินธุ์

งานเขียนที่ตั้งต้นจากบันทึกของ จินดา ทองสินธุ์ ที่เดินทางจากปักษ์ใต้เข้ามาตามหาลูกชาย คือ จารุพงษ์ ทองสินธุ์ นักศึกษาคณะศิลปศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ หลังจากที่เหตุการณ์นองเลือดผ่านพ้น และยังไม่มีใครรู้ว่าจารุพงษ์เป็นตายร้ายดีอย่างไร

บันทึกดังกล่าวให้รายละเอียดตั้งแต่การเดินทาง แม้แต่วันที่มาขอให้ลูกกลับบ้านก่อนจะเกิดเหตุการณ์นี้ การต้องกลับมาอีกครั้งแล้วก็พบว่าห้องพักของลูกว่างเปล่า ข่าวคราวต่างๆ เท่าที่พอจะรู้จากปากใครก็ไปติดตาม ไปค้นหา เรื่อยมาอย่างมีความหวัง แม้แต่กลุ่มนักศึกษาที่หนีเข้าป่าในเขตภาคใต้ มีคนบอกว่าใช่ลูกชาย จินดาก็ยังไปสอบถามหาตัว ก่อนที่บันทึกจะจบลงห้วนๆ หลังจากที่ครอบครัวได้รับบัตรประจำตัวนักศึกษา ที่เพื่อนของจารุพงษ์คนหนึ่งส่งมาให้ หลายเดือนหลังจากเหตุการณ์

บันทึกจบเพียงแค่นี้ แต่เรื่องราวการตามหาลูกชายของจินดา และ ลิ้ม ทองสินธุ์ ยังคงดำเนินต่อไป นับจากปลายปี 2519 (ที่หยุดบันทึก) ไปจนถึงปี 2539 (ในวาระครบรอบ 20 ปี เหตุการณ์) ทั้งคู่ยังคงออกตามหาลูกชายในทุกที่ที่มีคนแจ้งข่าว

เรารับรู้และค่อนข้างจะแน่นอนแล้วในวันนี้-จารุพงษ์ เสียชีวิตเมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2519 ในวันเกิดเหตุการณ์ล้อมปราบดังกล่าว รูปภาพของนักศึกษาชายคนหนึ่งที่ถูกลากไปตามสนามฟุตบอล ซึ่งถูกเผยแพร่ไปทั่วโลกนั้นคือ เขา

ธงชัยเขียนไว้ในบทความชิ้นนี้ตอนหนึ่งว่า…

“ผมได้เห็นรูปนั้นในปี 2521 ไม่นานหลังออกจากคุก ยังจำได้ดีว่าผมกับเพื่อนอีกสามสี่คนเคยนั่งถกเถียงกันที่ตึก อ.ม.ธ. ว่า ชายในภาพนั้นใช่จารุพงษ์หรือไม่ ไม่มีใครสักคนที่แน่ใจ แถมสิ่งที่เราคิดว่าน่าจะเป็นจารุพงษ์กลับไม่ใช่หน้าตารูปร่างซึ่งไม่ชัดเจนพอ แต่กลับเป็นเสื้อผ้าของชายที่ถูกลากคอซึ่งเหมือนกับจารุพงษ์ที่เราคุ้นเคย อย่างไรก็ตาม พวกเรามิได้ตระหนักแต่อย่างใดว่า พ่อแม่ของจารุพงษ์ยังไม่เคยได้รับข่าวคราว ไม่เคยมีใครบอกท่านเลยว่าลูกชายท่านเสียชีวิตแล้ว พวกเราไม่รู้เลยว่าท่านยังพยายามตามหาลูกชายอยู่”

อีกตอนหนึ่ง ซึ่งสะเทือนอารมณ์เป็นอย่างยิ่ง ธงชัยพาเราไปทำความเข้าใจกับบันทึกของผู้เป็นพ่อ

บันทึกการตามหาจารุพงษ์ ของจินดา ที่บอกว่าจบลงห้วนๆ ซึ่งธงชัยได้คำตอบเกี่ยวกับเรื่องนี้และเข้าถึงหัวอกหัวใจของผู้สูญเสียแล้ว…

ดังบทเปิดเรื่องของรายงานชิ้นนี้

OLYMPUS DIGITAL CAMERA
จารุพงษ์ ทองสินธุ์
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image