คอลัมน์ โลกสองวัย : ทางออกย่อมมีเสมอ

อินเดียแก้ปัญหาการอ่านให้กับคนของเขา แล้วคนของเรามีวิธีการแก้ปัญหาอย่างไร คำตอบของอาจารย์มกุฎ อรฤดี บอกไว้ว่า

วิธีที่จะเป็นผลและง่ายที่สุด คือ สื่อซึ่งอยู่ในใจของคนมาเป็นเวลา 61 ปีแล้ว ถ้านักจัดการหนังสือที่ฉลาด เขาจะใช้สื่อนี้แหละ

เพราะอะไร เพราะว่าสกุลไทยลงทุนให้รัฐบาลมาตั้ง 61 ปีแล้ว ทำไมรัฐบาลไม่ถามสกุลไทยสักคำว่า คุณขาดทุนเดือนละเท่าไหร่

ถ้าครูเป็นรัฐบาล แค่หยิบเอาค่าโฆษณาของกระทรวงวัฒนธรรมมาสักจำนวนหนึ่ง ค่าโฆษณาของกระทรวงศึกษาธิการอีกสักจำนวนหนึ่ง ค่าโฆษณาของกระทรวงสาธารณสุขอีกสักจำนวนหนึ่ง และค่าโฆษณาจากกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาอีกจำนวนหนึ่ง ฯลฯ ในที่สุดเมื่อรวมทั้งหมดก็พอที่จะให้สกุลไทยไม่ขาดทุนและอยู่ต่อไปได้ โครงสร้างการอ่านก็ไม่สูญสลาย…

Advertisement

แต่บังเอิญรัฐบาลไม่มีคนที่จะมาคิดและรับผิดชอบเรื่องหนังสือและการอ่านของประเทศ จึงปล่อยให้นิตยสารต้องล้มหายตายจากไป

เมื่อ 4-5 ปีที่แล้ว ร้านหนังสือเล็กๆ แห่งหนึ่งในกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ประกาศว่าจะปิดกิจการ เนื่องจากประสบกับภาวะขาดทุน วันรุ่งขึ้น รัฐมนตรีกระทรวงวัฒนธรรมของฝรั่งเศสไปที่ร้านหนังสือแห่งนั้น เพื่อที่จะบอกว่าหยุดไม่ได้นะ แล้วผมจะทำทุกวิถีทางเพื่อให้ร้านหนังสือของคุณอยู่ได้ จะด้วยวิธีไหนก็ตาม

สำหรับนักจัดการเรื่องหนังสือและการอ่าน นิตยสารที่มีคนอ่านมากกว่า 1 หมื่นคนขึ้นไป ถือเป็นเครื่องมือสาธารณะ เพราะเราจะใส่สารอะไรลงไปก็ได้ เพื่อที่จะดึงคนอ่านอย่างพื้นฐานที่สุด จนกระทั่งอ่านสูงขึ้น

Advertisement

ถามว่าอาจารย์มหาวิทยาลัยที่จบปริญญาเอก หรือนักวิชาการระดับสูงถึงระดับศาสตราจารย์เป็นจำนวนมากแค่ไหนหรือไม่ที่อ่านนิตยสารสกุลไทย มีบุคคลที่ประสบความสำเร็จกี่คนที่เริ่มการอ่านจากนิตยสารเล่มนี้ หรือใช้นิตยสารเล่มนี้เป็นองค์ประกอบในชีวิตด้วย

เมื่อรัฐบาลไม่มีหน่วยงานที่จะมาจัดการดูแลเครื่องมือสาธารณะเกี่ยวกับเรื่องหนังสือและการอ่าน แต่นิตยสารสกุลไทย คือเครื่องมือสาธารณะชิ้นหนึ่งที่มีอยู่เป็นเวลานานแล้ว เพียงแต่ไม่มีใครบอกว่านี่คือเครื่องมือของรัฐบาล ถ้าเปิดดูเนื้อหาข้างใน นิตยสารสกุลไทยทำในบางคอลัมน์ได้ดีกว่ากระทรวงการท่องเที่ยวฯ บางคอลัมน์ทำได้ดีกว่ากระทรวงศึกษาธิการ แต่บังเอิญกระทรวงเหล่านั้นไม่รู้จักใช้เครื่องมือ แล้วจะเป็นอย่างไร ถ้าเราหมดเครื่องมือนี้ไป

ความที่กล่าวนี้นำมาจากออนไลน์บอกเป็นของอาจารย์มกุฎ อรฤดี ซึ่งเชื่อว่าเป็นเช่นนั้น ขออนุญาตนำมาเผยแพร่ต่อ เพื่อให้เกิดความคิดความอ่านของใครต่อใคร โดยเฉพาะรัฐมนตรีและนายกรัฐมนตรีชุดนี้

อีกความเห็นหนึ่ง อาริยา สุนธุ ถามว่า สังคมจะช่วยกอบกู้รักษาสกุลไทยได้หรือไม่

คนทั่วไปที่ไม่เคยสัมผัสสกุลไทย ไม่แปลกใจ ไม่กังวล คงคิดว่า ในสภาวะที่สังคมผันผวน ธุรกิจมีล้มมีลุก นิตยสารชื่อดัง สตรีสาร หญิงไทย บางกอก อายุใกล้เคียงกัน ก็เพิ่งปิดไปเมื่อกลางปี

แต่สำหรับคนอ่านสกุลไทย ต่างช็อก ใจหาย เพราะสกุลไทยไม่ใช่ผลิตภัณฑ์ธรรมดา แต่เป็นงานวรรณกรรมพิเศษ เป็นแหล่งรวมความเพลิดเพลิน มีคุณค่าทางนามธรรม ที่จับต้องและประเมินค่าไม่ได้

สกุลไทยเป็นเพื่อนสนิท เป็นอาหารจานโปรด ให้ทั้งความรื่นรมย์และเสริมสติปัญญา

เอกลักษณ์ที่โดดเด่นคือเนื้อหาที่แสดงออกถึงความจงรักภักดีต่อสถาบัน ชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ เป็นสื่อกลางสำคัญระหว่างพระบรมวงศานุวงศ์ กับมวลพสกนิกรชาวไทย

การปิดตัวของสกุลไทยเป็นการปิดสนามนักเขียน ทั้งรุ่นเก่าและรุ่นใหม่

สกุลไทยจึงมิเพียงเป็นสินค้ากระดาษธรรมดาๆ ของบริษัทที่ผลิตขายสินค้า แล้วหมดเรื่องกันไป สกุลไทยใช้เวลา 61 ปี พิสูจน์ว่า เป็นประติมากรรมชิ้นสวยงาม เป็นหน้าเป็นตาของโลกวรรณกรรม

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image