คมกริบ 15 วาทะ จากบทสนทนา 64 ในปีแห่งการต่อสู้

เป็นปีแห่งการต่อสู้ที่ยังไม่รู้ผลแพ้ชนะ
ไม่ว่าจะสมรภูมิโควิดอันนำมาซึ่งวิกฤตเศรษฐกิจ สังคมอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยง

ไม่ว่าจะสมรภูมิการเมืองอันเข้มข้นที่ภาคประชาชนประกาศ “สู้ต่ออย่างไร้ขีดจำกัด” ในปี 2565

และอื่นๆ อีกมากมายหลายสมรภูมิที่บทสนทนา “อาทิตย์สุขสรรค์” ตลอดศักราช 2564 บันทึกไว้ในคำตอบอันลึกซึ้งจากถ้อยคำบาดลึก ซาบซึ้ง กระทั่งเจ็บปวด สะเทือนใจ ฯลฯ

ถัดจากนี้ไปคือ 16 วาทะคมกริบที่ขีดเส้นใต้คัดสรรมาให้ฟังซ้ำผ่านตัวอักษรอันสะท้อนซึ่งภาพรวมของบรรยากาศและสถานการณ์ต่างๆ ตลอด 365 วัน ที่ผ่านพ้น

Advertisement

 

“นักกฎหมายบางคนถึงกับท้อ ว่าจะสอนหนังสือไปทำไม เมื่อกฎหมายที่เราสอน ที่เราเชื่อว่าเป็นจริงตามตัวอักษร กลับไมถูกบังคับใช้ หรือถูกบังคับใช้อย่างไม่เท่าเทียม”

เปิดตำรานิติศาสตร์
กับ ‘รณกรณ์ บุญมี’
ในวันที่กฎหมายถูกตั้งคำถาม
24 มกราคม 2564

Advertisement

“แม่บอกเขาเองว่า หนึ่ง พี่พีท (เพนกวิน) ครับเด็กรุ่นใหม่ ต้องเก่งกว่าเด็กรุ่นเก่า ไม่งั้นสังคมจะถอยหลัง สอง ลูกมีสิทธิคิด แม่ก็มีสิทธิผิด วันหนึ่งตอนยังเรียนชั้นประถม เขาพูดว่า มี้ครับ แต่ก่อน
กวิ้นนึกว่าการคิดไม่เหมือนผู้ใหญ่เป็นสิ่งที่ผิดมหันต์ เหมือนเราไปฆ่าคนตาย เราถามว่าแล้วตอนนี้ลูกคิดยังไง เขาบอกว่า ไม่คิดอย่างนั้นแล้ว เราต้องคุยกันด้วยเหตุผล”

สุรีย์รัตน์ ชิวารักษ์
ไม่มีอะไรมีค่าเท่าการพาลูกกลับมาและยืนหยัดสู้ไปกับเขา
21 มีนาคม 2564


“(รถไฟความเร็วสูงจีน-ลาว) ค่าตั๋ว คิดเป็นเงินไทยอยู่ที่ 400 กว่าบาทเท่านั้น ถูกกว่านั่งรถทัวร์จากกรุงเทพฯไปหนองคายอีก รถไฟเหล่านี้จะพาคนจีนมาสู่อินโดจีน สู่อาเซียน สู่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของเรา ปัจจุบันคนจีนไม่ได้มาตัวเปล่าแล้ว ไม่เหมือนในอดีต เสื่อผืนหมอนใบ นี่มาพร้อมเงินหยวน ด้วยกระเป๋าที่มีสตางค์ เป็นนักธุรกิจรุ่นใหม่มาแสวงหาโอกาสใหม่ๆ”

พินิจ จารุสมบัติ อ่านอนาคตจาก “ความจริง”
สัมพันธ์ไทย-จีนในสถานการณ์ท้าทาย
12 กันยายน 2564


“ตอนนี้สังคมไทยตกอยู่ภายใต้บรรยากาศแห่งความหวาดกลัว ถามว่าเรากลัวไหม กลัว แต่จะทำให้หยุดพูด หยุดหายใจไหม ก็ไม่ ถามว่ามันบั่นทอนกำลังใจไหม มีบ้าง แต่ไม่ได้ทำให้เราแพ้”

“กลัว แต่จะไม่หยุดพูด”
คำในใจ หทัยรัตน์ พหลทัพ
กับพรุ่งนี้ของ “เดอะ อีสาน เรคคอร์ด”
2 พฤษภาคม 2564


“ผมรู้จักสลิ่มที่ในบ้านมีหนังสือ 14 ตุลา เยอะแยะเลย อยากให้เขาเห็นว่าในวันที่เขาเคยเรียกร้อง เขาด่าอะไรผู้ใหญ่ ด่าอะไรรัฐบาลไว้ แล้วโดนรัฐบาลด่าอะไรไว้ แล้วมาดูวันนี้ วันที่เขาเป็นผู้ใหญ่กลับแทบจะใช้คำพูดเดียวกับที่รัฐบาลหรือผู้ใหญ่ในวันนั้นด่าเด็กด้วยสิ่งเดียวกัน”

ฐนพงศ์ ลือขจรชัย ย่อไทม์ไลน์
“ปลดแอกชาติ”
ด้วยเรื่องจริงที่เป็นยิ่งกว่านิยาย
25 เมษายน 2564


“ไม่เห็นด้วยกับรัฐประหารอยู่แล้ว คุณพ่อก็เคยพูดว่ารัฐประหารไม่เป็นที่ยอมรับในสากล คนที่ไปร่วมม็อบ กปปส. ส่วนใหญ่ไม่ทราบว่าจะเกิดรัฐประหาร ไม่ทราบว่าวาทกรรมปฏิรูปประเทศของคุณสุเทพจะนำพาประเทศไปอย่างไร”

ธิษะณา ชุณหะวัณ
“ไม่หวั่นไหว”เมื่อวานของวิวาทะ พรุ่งนี้ของเส้นทางการเมือง
3 ตุลาคม 2564


“คนในคลองเตยโดนกระทำซ้ำๆ จากโครงสร้างที่กำกับอยู่ เมื่อมีโรคระบาด สิ่งแรกที่ต้องคิดคือ คนเปราะบาง ซึ่งในที่นี้ไม่ได้หมายถึงเฉพาะผู้สูงอายุ แต่คนจน คนที่ไม่เท่ากัน จะเอาทรัพยากรที่ไหนไปรับมือ
เวลาดูแลคนไข้ ไม่ได้แคร์แค่เชื้อโรค โดยเฉพาะตอนนี้เชื้อโรคทำร้ายจิตใจ ทำลายความเป็นมนุษย์ของคนหลายคน ตอนระดมทุน มีคนบอกว่าจะไม่ช่วย ปล่อยให้ตาย เพราะมันกินเหล้ากันเองเลยติด”

ดร.บุษบงก์ วิเศษพลชัย
#Saveคลองเตย
“เชื้อโรคทำลายปอด แต่ความกลัวทำลายหัวใจ”
9 พฤษภาคม 2564


“วัคซีนที่ดีที่สุด ไม่มี ดีที่สุดคือ มีทางเลือกเยอะที่สุด เพื่อป้องกันได้หลากหลายที่สุด เพื่อกระจายความเสี่ยง อย่าลืมว่าเมื่อไวรัสเปลี่ยน มันเปลี่ยนแบบสุ่ม ไม่มีแพตเทิร์นชัดเจน เมื่อนั้นก็ย่อมไม่รู้ว่าอะไรจะเกิดขึ้น อะไรจะแจ๊กพ็อต”

ผศ.ดร.ป๋วย อุ่นใจ “วัคซีน วอร์”
เปิดเบื้องลึกสมรภูมิโควิด ในสายตานักไวรัสวิทยา
8 สิงหาคม 2564


“ไม่ได้ตกใจเท่าไหร่ แต่ก็เสียดายที่ 10 ปีมาแล้วที่เมียนมามีประชาธิปไตยภิวัฒน์ สุดท้ายก็ถอยหลังเข้าคลอง
ไทยกับเมียนมาเป็นฝาแฝด ที่เป็นคู่เทียบกันหลายประเด็นในการเปลี่ยนสู่ประชาธิปไตยและถอยกลับสู่เผด็จการ”

7 วันรัฐประหารเมียนมา
ดุลยภาค ปรีชารัชช
“เสียดาย แต่ไม่เกินความคาดหมาย”
7 กุมภาพันธ์ 2564


“การรับผิดชอบประวัติศาสตร์ การไม่กระแดะในประวัติศาสตร์ คือสิ่งที่เราต้องเรียกร้องกับรัฐไทย ไม่ใช่บอกว่าชาวบ้านเป็นผู้บุกรุก
การกลับใจแผ่นดินของพี่น้องใจแผ่นดิน เป็นความชอบธรรม”

“ใจแผ่นดินคือความบิดเบี้ยวในการจัดการที่ดินของประเทศ”
คำต่อคำ ณัฐวุฒิ อุปปะ ภาคีSaveบางกลอย
21 กุมภาพันธ์ 2564


“ทันทีที่เปิดอนุสรณ์สถานพฤษภาประชาธรรม เห็นรายชื่อลูกชายที่เสียชีวิตเป็นชื่อแรกๆ เพราะขึ้นต้นด้วย ก. ผมร้องไห้ด้วยความสุขใจ เพราะการตายของลูกมีคุณค่ามากกว่าที่คิด
ผมภูมิใจในความเสียสละนั้น”

อดุลย์ เขียวบริบูรณ์
จาก “พ่อ” ผู้สูญเสียสู่แกนนำ “ไทยไม่ทน”
“เราต้องการการชดใช้ที่มีเกียรติและศักดิ์ศรี”
23 พฤษภาคม 2564


“ตอนนี้หมดตัว แต่ยังมีหัวใจที่ต้องสู้ ไม่ให้ยอมแพ้ หนี้ 2-3 พันล้านที่ลงทุนในสวนลุมไนท์บาซาร์ รัชดาภิเษก เพิ่งคืนแบงก์ไปประมาณ 400-500 ล้าน…
เราเคยจนมาก่อน เริ่มต้นจาก “0 บาท” จนทำธุรกิจ 1,000 ล้าน
ตอนต้มยำกุ้งเหลือเงินไม่กี่บาท ยังต่อยอดมาได้ธุรกิจโรงแรม เรามีประสบการณ์มาเยอะแยะ ไม่ท้อหรอก แค่ขอให้โควิดหายไปเร็วๆ”

โควิดพลิกชีวิต “เจ้าพ่อสวนลุม”
ไพโรจน์ ทุ่งทอง หนี้ท่วม พร้อมกลับมาสู้ใหม่
15 สิงหาคม 2564


“มหาวิทยาลัยต้องเชื่อมโยงกับภายนอกมากขึ้น จะอยู่บนหอคอยงาช้างไม่ได้ หลักสูตรเดิมที่สอนมา 40-50 ปี ถึงเวลาแล้วที่ต้องปรับเปลี่ยน เพราะวันนี้การตอบสนองต่อปัญหาที่เกิดขึ้นในเมืองไทย ในโลกนี้ ไม่ต้องการความรู้เพียงศาสตร์เดียว หลักสูตรข้ามศาสตร์ จะมีความต้องการมากขึ้น”

บัณฑิต เอื้ออาภรณ์
มองทางรอดมหา’ลัยไทย
4 เมษายน 2564


“ปีหน้าเราคิดว่ายังพอไหวอยู่ แต่ถ้าสถานการณ์ไม่ดีขึ้น บขส.ก็คงจะไม่รอด ต้องกู้เงินมาเสริมสภาพคล่องอีก 1,200 ล้านบาท”

เอ็มดี “บขส.” สัญลักข์ ปัญวัฒนลิขิต
เปิดแผนหนีตายท่ามกลางโควิดรอบใหม่
“ขาดทุนสูงสุดในรอบ 91 ปี”
25 กรกฎาคม 2564


“ผมไม่เคยพบประเทศไหนที่ล้มละลาย ด้วยการทำให้คนได้เรียนหนังสือฟรี ไม่เคยพบประเทศไหนที่ล่มจม เพราะดูแลคนป่วย คนแก่ ไม่เคยมีประเทศไหนเช่นเดียวกัน ที่พัง เพียงให้หลักประกันคนว่างงานและเด็กเกิดใหม่ ไม่มีประเทศไหนที่พินาศด้วยการจัดรถเมล์ รถไฟ ให้ประชาชนใช้ถึงหน้าบ้าน
จากประวัติศาสตร์ ประเทศที่ล่มจม พินาศ เกิดจากการที่ชนชั้นปกครองเมินเฉยต่อประชาชน”

ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี
บนความใฝ่ฝันถึง “รัฐสวัสดิการ”
ในวันที่คนรุ่นใหม่อยาก#ย้ายประเทศ
16 พฤษภาคม 2564


QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image